รีวิวใบกระท่อม ต้องปลูกพันธุ์ไหนดี และมีสรรพคุณอย่างไร

ตอนนี้กระท่อมถูกปลดล็อกออกจากยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือนโดยเฉพาะช่วงสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19แพร่ระบาด ทำให้เราสามารถปลูก จำหน่ายและบริโภคใบกระท่อมได้อย่างเสรี แต่ยังใช้ทำอาหารหรือแปรรูปเป็นเครื่องดื่มเพื่อจัดจำหน่ายไม่ได้ การแปรรูปต้องได้รับการตรวจสอบและขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 แต่ในฐานะมือใหม่หัดปลูกเราควรปลูกกระท่อมสายพันธ์ุไหนดี แล้วใบกระท่อมมีสรรพคุณดีงามอย่างไร มีวิธีบริโภคอย่างไรให้ปลอดภัย เราหาคำตอบมาให้แล้วครับ พันธุ์กระท่อม

กระท่อมเป็นต้นไม้ที่ชอบแดดและน้ำปริมาณมาก ดังนั้นการทำสวนแบบท้องร่องจึงเหมาะกับการปลูกเพื่อเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตไปจำหน่าย
คุณผดุง ช่างต่อ และคุณวิทยา พลอยเจ๊ก เจ้าของสวนกระท่อมที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันจำหน่ายใบกระท่อมสดและต้นพันธุ์กระท่อมสายพันธุ์ต่างๆ
ใบกระท่อมมีสรรพคุณที่ทำให้สามารถทำงานกลางแดดแรงๆได้โดยไม่รู้สึกร้อน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผู้เสพใบกระท่อมจะมีผิวสีคล้ำหมองกว่าปกติ

เราออกเดินทางมาหาความรู้ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี หนึ่งในพื้นที่ที่มีการปลูกกระท่อมมายาวนานตั้งแต่ในอดีต ณ สวนของ คุณผดุง ช่างต่อ ผู้ที่ปลูกและสะสมต้นกระท่อมหลากหลายสายพันธุ์จากภูมิภาคต่างๆในประเทศมาเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันคุณผดุงกลายเป็นผู้จัดจำหน่ายกล้าพันธุ์ของต้นกระท่อมด้วยวิธีการต่อตอหลายสายพันธุ์ แต่จะมีสายพันธุ์เด่นๆ 8 สายพันธุ์ที่กำลังเป็นที่นิยม ได้แก่ แตงกวา(ก้านเขียว) ก้านแดง แมงดา ตะพาบ ยอดธง เหรียญทอง โพธิ์ทองและเหลืองทอง พันธุ์กระท่อม

สรรพคุณของกระท่อมอย่างถูกวิธี

กระท่อมเป็นสมุนไพรท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้กันมาอย่างยาวนาน แพทย์แผนโบราณนิยมใช้ใบกระท่อมมาปรุงเป็นยาเพื่อใช้รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องร่วง ปวดเมื่อยร่างกาย และทำให้นอนหลับ ในมุมมองของแพทย์แผนไทยส่วนใหญ่จะนำกระท่อมมาใช้เป็นยารักษาอาการเกี่ยวกับระบบขับถ่ายเป็นหลักจำพวกยาประสะกระท่อม ยาหนุมานจองถนนปิดมหาสมุทร ยาแก้บิดลงเป็นเลือด ยาแก้บิดหัวลูก ยาประสระกาฬแดง ฯลฯ

ในใบกระท่อมพบว่ามีสารสำคัญ คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) และเซเว่น-ไฮดรอกไซไมทราใจนิน (7-hydroxymitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดบางชนิด เช่น psilocybin LSD และ ยาบ้า  มีฤทธิ์ลดอาการเจ็บปวดเช่นเดียวกับมอร์ฟีน แต่ฤทธิ์อ่อนกว่ามอร์ฟีน 10 เท่า ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้ เมื่อใช้เป็นเวลานานจะเกิดการดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณที่ใช้ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ จนเกิดการติดยาในที่สุด

การบริโภคกระท่อมในปัจจุบันส่วนใหญ่คือการทานใบสดโดยจะเคี้ยวไปเรื่อยๆ 5-10 นาทีแล้วคายกากทิ้งหรือนำใบไปต้มเป็นน้ำชาดื่ม นอกจากนั้นยังมีการนำใบไปตากในที่ร่มประมาณ 7 วัน ทำให้ใบแห้งเพื่อเก็บไว้ใช้ได้ระยะเวลานานยิ่งขึ้น  เพื่อให้มีแรงทำงาน รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร ทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการหนาวสั่นเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน ในคนที่รับประทานใบกระท่อมเป็นครั้งแรกอาจจะมีอาการมึนงง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน หากใช้ในปริมาณมากและเสพไปนานๆอาจจะมีฤทธิ์กล่อมประสาทและเสพติด ทำให้เกิดอาการเมา เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อทรงตัว ระบบประสาทรับสัมผัสตอบสนองต่อสิ่งต่างๆลดลง มีอาการทางจิต หวาดระแวง เห็นภาพหลอน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ความดันสูง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ

การรับประทานใบกระท่อมไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5-10 ใบโดยรูดก้านใบออกแล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก และไม่ควรกลืนกากเพราะกากใบเป็นเส้นใยหรือเซลลูโลสเมื่อรับประทานบ่อยๆ อาจทำให้เกิด “ถุงท่อม” ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องและทำให้ปวดท้องได้ ซึ่งร่างกายของคนเราไม่สามารถย่อยก้านกระท่อมได้ การบริโภคก้านใบกระท่อมในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการอุดตันในลำไส้ในที่สุด มีการทดลองดื่มกาแฟควบคู่ไปกับการทานใบกระท่อมสด 2-3 ใบทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า

ข้อควรระวังคือบริโภคกระท่อมเป็นระยะเวลานานติดต่อกับหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น การทำงานของสารสำคัญในใบกระท่อมที่มีสรรพคุณช่วยให้ผู้เสพกระปรี้กระเปร่าและมีแรงทำงานมากขึ้นตามที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการไปดึงสารให้พลังงานในร่างกายอย่างน้ำตาลกลูโคสและไขมันมาใช้มากกว่าปกติ ซึ่งจะออกฤทธิ์หลังจากบริโภคไปนานราว 4 ชั่วโมง เมื่อหมดฤทธิ์หากร่างกายไม่ได้รับน้ำตาลกลูโคสในปริมาณที่เหมาะสมเติมเข้าไปจะเกิดอาการภาวะสมองขาดกลูโคสหรือขาดพลังงาน ได้แก่ ง่วงนอน อ่อนเพลีย วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจหวิว ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะ และซึมได้ ซึ่งหากบริโภคกระท่อมต่อไปก็จะสามารถทำงานกลางแดดได้เรื่อยๆ ดังนั้นแม้ขณะที่กระท่อมยังออกฤทธิ์ทำให้ผู้บริโภคไม่อยากอาหารหรือเครื่องดื่ม แต่ก็ยังจำเป็นต้องบริโภคอาหารและน้ำดื่มตามปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสพติดควรเว้นการบริโภคใบกระท่อมอย่างน้อย 2 วันทุกสัปดาห์หรือหนึ่งเดือน โดยแนะนำให้ควรบริโภคเมื่อจำเป็นต้องทำงานหรือกิจกรรมกลาแจ้งที่ต้องใช้เรี่ยวแรงมากกว่าปกติเท่านั้น การบริโภคกระท่อมเพื่อรักษาโรคเบาหวานนั้นถือว่าผิดจุดประสงค์เพราะใบกระท่อมช่วยให้ร่างกายทำงานและเผาผลาญน้ำตาลในเลือดได้มากกว่าปกติเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยให้ตับอ่อนสามารถสร้างอินซูลินได้ปกติซึ่งเป็นสาเหตุของโรคนี้จริงๆได้ การบริโภคกระท่อมควรทำเพียงช่วยบรรเทาอาการเท่านั้นและเมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็ควรหยุดใช้ ที่สำคัญการนำกระท่อมไปผสมกับสิ่งเสพติดชนิดอื่น รวมถึงจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีมีความผิดตามกฎหมาย นอกจากนั้นยังเป็นอันตรายต่อผู้ที่เป็นโรคหัวใจอีกด้วย

คุณผดุงเก็บสะสมกระท่อมสายพันธุ์ต่างๆต่างทั่วประเทศเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ที่หลากหลายของกระท่อมในประเทศไทยซึ่งมีชื่อเสียงมากในระดับโลก
กระท่อมจัดเป็นยาสมุนไพรที่ให้รสเมาเบื่อ เช่นเดียวกันสะแกนา สลอด มะเกลือ หัวข้าวเย็น กลอย หรือทองพันชั่ง ซึ่งต้องบริโภคแต่พอสมควรไม่มากเกินไปจึงจะเป็นคุณ
ปัจจุบันต้นกล้ากระท่อมโดยเฉพาะด้วยการต่อตอเป็นที่ต้องการของตลาดมากและเป็นการสร้างรายได้แก่เกษตกรได้เป็นกอบเป็นกำ
พันธุ์กระท่อม
ใบกระท่อมสายพันธุ์ต่างๆ

ปลูกกระท่อมพันธุ์ไหนดี

คำว่า “ดี” ขึ้นอยู่กับว่าดีของแต่ละคนคืออะไร เพราะแต่ละคนก็มีความชื่นชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบใบกระท่อมที่รสชาติมัน เคี้ยวง่าย บางคนชอบกระท่อมที่มีฤทธิ์แรง ซึ่งก็จะไม่เหมือนกัน คล้ายกับต้นไม้ชนิดอื่นๆอย่างมะม่วง บนโลกใบนี้มีมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ บางคนชอบอกร่อง บางคนชอบน้ำดอกไม้ บางคนชอบขุนศรี ฯลฯ สำหรับคุณผดุงเองได้จัดอันดับความแรงของกระท่อมสายพันธ์ุต่างๆที่มีดังต่อไปนี้ เริ่มจากสายพันธุ์ที่ใบมีฤทธิ์รุนแรงที่สุดคือ ก้านแดง โพธิ์ทอง แมงดา เหรียญทอง เหลืองทอง ตะพาบ ยอดธง และแตงกวาที่มีฤทธิ์น้อยที่สุด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นรสชาติหรือฤทธิ์สรรพคุณของใบขึ้นอยู่พื้นที่ที่ปลูกด้วย ในแต่ละภูมิภาคถึงแม้จะปลูกด้วยสายพันธุ์เดียวกันแต่ก็ให้คุณภาพของผลผลิตที่ต่างกันออกไป มีผลงานวิจัยที่ค้นพบว่าปริมาณของสารสำคัญในกระท่อมจะมีปริมาณมากขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องแสงแดดที่เต็มวันและจุดที่ปลูกมากกว่าชนิดพันธุ์ ดังนั้นการเลือกชนิดพันธุ์สำหรับปลูกจึงต้องย้อนกลับไปถามถึงจุดประสงค์ของการปลูก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีดังต่อไปนี้

  1. ปลูกเพื่อจัดจำหน่าย ในปัจจุบันการจำหน่ายใบกระท่อมทำได้เพียงขายใบกระท่อมสดเท่านั้น ซึ่งในท้องตลาดยังไม่ค่อยสนใจชนิดพันธุ์หรือแหล่งที่มาเท่าใดนัก โดยจำหน่ายเป็นราคาต่อน้ำหนัก ดังนั้นสายพันธุ์ที่เลือกปลูกจึงควรให้ใบที่มีขนาดใหญ่ หนาและมีน้ำหนัก เช่น พันธุ์แมงดาหรือพันธุ์ตะพาบ
  2. ปลูกเพื่อบริโภคใบสด สำหรับผู้ที่เริ่มต้นบริโภคใบกระท่อมควรเริ่มที่กระท่อมพันธุ์แตงกวาหรือก้านเขียวก่อน เพราะเป็นสายพันธุ์ที่รสชาติไม่ขม ทานง่าย และมีรสมันอร่อยกว่าพันธุ์อื่น รองลงมาคือพันธุ์ยอดธงที่มีน้ำหนักเบาและเนื้อใบบางทำให้เคี้ยวง่าย มีฤทธิ์ไม่รุนแรง จากนั้นจึงค่อยไปบริโภคสายพันธุ์อื่นๆต่อไป
  3. ปลูกเพื่อชงเป็นชา สำหรับการนำใบกระท่อมทั้งสดหรือตากแห้งไปต้มน้ำเพื่อดื่มจะทำให้สารที่ออกฤทธิ์เจือจางลงและละลายในน้ำ ดังนั้นส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับกระท่อมสายพันธุ์ที่เชื่อว่ามีฤทธิ์มากที่สุดคือพันธุ์ก้านแดงและพันธุ์ที่กลายมาจากก้านแดงอีกทีอย่างโพธิ์ทอง เพื่อให้ได้สรรพคุณเต็มที่ตามต้องการ
  4. ปลูกเป็นต้นไม้ประดับ ปัจจุบันเริ่มมีหลายคนมองหาต้นกระท่อมเพื่อขุดล้อมไปปลูกหรือใช้ในการจัดสวนตามสถานที่ต่างๆ เพราะจัดว่าเป็นต้นไม้ที่ให้รูปทรงต้นเป็นทรงกรวยหรือทรงปิระมิดที่สวยงามชนิดหนึ่ง อีกทั้งยังให้ใบเขียวสดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ รวมถึงปลูกง่ายและทนต่อทุกสภาพแวดล้อม นอกจากนั้นยังมีการนำต้นกระท่อมมาเริ่มตัดแต่งเป็นบอนไซอีกด้วย โดยกระท่อมทุกสายพันธุ์สามารถนำมาปลูกเพื่อความสวยงามได้ตามที่เจ้าของสวนชื่นชอบ
พันธุ์กระท่อม
กระท่อมสายพันธุ์ตะพาบเป็นกระท่อมที่กลายมาจากกระท่อมสายพันธุ์หลักอย่างแมงดาหรือใบหยัก
กระท่อมที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (แมงดาหรือหางกั้ง) และก้านแดง ต่อมาจึงมีการกลายพันธุ์และเริ่มมีการตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
พันธุ์กระท่อม
ใบกระท่อมที่เก็บมาเพื่อนำไปส่งขายยังพ่อค้าคนกลาง

ขอขอบคุณข้อมูลและสถานที่ : กระท่อมพันธุ์แมงดา ปทุม

สวนคุณผดุง ช่างต่อ โทรศัพท์ 092-667-6299

สวนคุณวิทยา พลอยเจ๊ก

เรื่อง : ปัญชัช

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

เจาะลึกเรื่องราวของ “กระท่อม” ปลูกอย่างไรให้ไม่ตาย?