MoMA สถาปัตยกรรมร่วมสมัยกับความเป็นไปได้ใหม่ของอะลูมิเนียม

Museum of Modern Aluminum หรือ MoMA คือโครงการอาคารสำนักงานและโชว์รูมแห่งใหม่ของบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เปลือกอาคารโลหะที่โดดเด่นบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัทในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมของไทย ด้วยฝีมือการออกแบบของ HAS design and research โครงการ MoMA จึงนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ของการใช้วัสดุอะลูมิเนียมในยุคศตวรรษที่ 21

โครงการนี้ตั้งอยู่บนถนนราชพฤกษ์ ย่านชานเมืองที่พลุกพล่าน และแวดล้อมด้วยห้างสรรพสินค้า โรงเรียนนานาชาติ และย่านที่อยู่อาศัยระดับไฮเอนด์ ตลอดสองข้างทางของถนนราชพฤกษ์เต็มไปด้วยป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ป้ายสินค้าลดราคา ป้ายโฆษณาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ซึ่งเป็นบริบทที่สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของ HAS design and research ภายใต้ชื่อ Bangkok Chameleon ที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ตั้งข้อสังเกตกับภาพรวมของพื้นที่เมืองในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเรามักพบว่าสถาปัตยกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตึกอพาร์ตเม้นต์ หรือร้านรวงบนถนนใหญ่ เปลือกอาคารมักถูกห่อหุ้มด้วยป้ายโฆษณาต่างๆ ไม่ต่างจาก “กิ้งก่า” ที่เปลี่ยนสีได้ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในมุมต่าง ๆ ของเมือง ป้ายและภาพต่างๆ เหล่านี้ครอบคลุมพื้นผิวทั้งหมดของเมืองในช่วงเวลากลางวัน และกลับเปล่งแสงเรืองรองยามค่ำคืน สร้างความตื่นตาตื่นใจทางทัศนียภาพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

Bangkok Chameleon งานวิจัยของ HAS ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นเมืองของกรุงเทพฯ ตั้งข้อสังเกตกับภาพรวมของพื้นที่เมืองในภูมิภาคเอเชีย ที่เรามักพบว่าสถาปัตยกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตึกอพาร์ตเม้นต์ หรือร้านรวงบนถนนใหญ่ เปลือกอาคารมักถูกห่อหุ้มด้วยป้ายโฆษณาต่างๆ ไม่ต่างจาก “กิ้งก่า” ที่เปลี่ยนสีได้

งานวิจัยชิ้นนี้จึงนำไปสู่แนวคิดการสร้างสรรค์เปลือกอาคารโลหะโดยใช้ส่วนประกอบอะลูมิเนียม เป็นหลัก โดย HAS ค้นพบว่าวัสดุอะลูมิเนียมส่วนใหญ่ถูกใช้งานเป็นองค์ประกอบของโครงสร้างอาคาร บานกรอบประตู-หน้าต่าง ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มีประโยชน์ใช้สอยที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่กลับมักถูกมองข้ามในเชิงการออกแบบรูปลักษณ์ 

ในกระบวนการผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียม วัสดุจะถูกรีดหรือพับไปมาเพื่อให้เกิดโครงสร้างที่แข็งแรง ทำให้มีลักษณะโปรไฟล์หรือหน้าตัดตามแนวขวาง ที่มีลักษณะเฉพาะตัวน่าสนใจ ดังนั้นในโครงการนี้ ชิ้นส่วนของอะลูมิเนียมเส้นหน้าตัด ที่เคยเป็นถูกซ่อนอยู่ในโครงสร้างอาคาร จึงกลายเป็นพระเอกที่สร้างความโดดเด่นให้เปลือกอาคารภายนอก สะท้อนแนวคิดในการพลิกมุมมองสิ่งสามัญสู่ความพิเศษผ่านพลังแห่งการออกแบบ

HAS พัฒนาชิ้นส่วนอะลูมิเนียมสำหรับเปลือกอาคารร่วมกับ AB&W Innovation ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้ ได้รับการออกแบบให้ทำหน้าที่เป็นทั้งโครงสร้าง รองรับระบบแสงสว่าง ระบบเครื่องกลอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการกรองแสงธรรมชาติ โดยติดตั้งอุปกรณ์สำหรับฟังก์ชั่นต่างๆ ไว้ภายในชิ้นส่วนอะลูมิเนียม ทำให้ภาพรวมดูสมบูรณ์แบบ ส่วนประกอบอะลูมิเนียม ที่มีความยาวแตกต่างกันจะถูกผสมผสาน พลิกมุมไปมา เพื่อให้เกิดระบบการจัดเรียงใหม่ๆ และมีเอฟเฟ็กต์หลากหลาย โดยไม่ต้องลงทุนหรือใช้วัสดุสิ้นเปลืองจนเกินไป

จากด้านหน้าอาคาร ทางเข้าของ MoMA  อยู่ชิดทางด้านซ้าย โดยมีส่วนประกอบอะลูมิเนียมที่แขวนเชื่อมต่อกับเปลือกอาคาร สร้างลักษณะเหมือนชายคาที่ยื่นออกมาเพื่อนำทางผู้ใช้งานเข้าสู่ตัวอาคาร สเปซบริเวณทางเข้าเป็นเหมือนอุโมงค์ ที่เปลี่ยนผ่านระหว่างสเปซภายในและภายนอก ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการต้อนรับ การให้คำปรึกษา และจัดแสดงสินค้า

อุโมงค์นี้สร้างประสบการณ์การเข้าถึงที่แตกต่าง ปรับอารมณ์ผู้ใช้งานก่อนเข้าสู่ภายใน ไปพร้อมๆ กับองค์ประกอบจากภายนอกที่ไหลต่อเนื่องเข้ามาสู่ภายในอาคาร ซึ่งน่าสนใจด้วยเอฟเฟ็กต์ของแสงแบบพิเศษ นอกจากนี้ ในโซนจัดแสดงสินค้า มีการออกแบบให้ส่วนประกอบของเปลือกอาคารให้ยาวปิดคลุมผนังกระจก เพื่อปิดกั้นสภาพแวดล้อมภายนอกให้ภายในสงบ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงเปิดรับแสงธรรมชาติให้เข้ามาภายในได้

นอกจากนี้ การผนวกธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อาคารถือได้ว่าเป็นแนวทางสำคัญของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในมุมมองของ HAS ด้านการออกแบบแสงสว่าง พวกเขาจึงทำงานร่วมกับ Light Is ในการติดตั้งระบบไฟ LED ในแต่ละชิ้นส่วนอะลูมิเนียม สร้างมิติของแสงที่ชวนให้นึกถึงวิวสวยของเกาะเกร็ดที่เต็มไปด้วยแสงระยิบระยับของหิ่งห้อยยามค่ำคืน รวมถึงการร่วมกับ TROP: terrains + open space ค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ที่สอดแทรกและสอดคล้องไปกับวัสดุอะลูมิเนียมทั้งบริเวณทางเข้า และดาดฟ้า

ในอนาคต HAS ตั้งใจให้ส่วนประกอบอะลูมิเนียมเหล่านี้ กลายเป็นผลิตภัณฑ์ในระบบโมดูลาร์ที่ผู้ออกแบบทั่วไปสามารถสั่งซื้อเพื่อใช้ในการออกแบบอาคารใหม่ โดยสามารถจัดเรียงชิ้นส่วนความยาวต่างๆในรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ ยังเป็นการขยายขอบเขตสถาปัตยกรรมร่วมสมัยให้กว้างกว่าเดิมอีกด้วย

ออกแบบ:HAS design and research
ทีมผู้ออกแบบ:Jenchieh Hung, Kulthida Songkittipakdee, Jiaqi Han, Qin Ye Chen
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม: TROP : terrains + open space
ออกแบบแสงสว่าง: Light Is
ภาพ: W Workspace

Façade Construction Consultant:AB&W Innovation Co., Ltd.
Aluminum Technology Development:Goldstar Metal Co., Ltd.
Lighting Product:Neowave Technology
Façade Constructor : SL Window Co., Ltd.

เรียบเรียง: MNSD


TROP ออฟฟิศแลนด์สเคปที่สัมผัสความเขียวชอุ่มได้จากทุกมุม