ANXIETY STORAGE รสชาติปะแล่มของงานศิลป์ที่ตั้งอยู่บนความวิตก

Anxiety Storage หรือ รุ้ง-นภัสกร นิกรแสน นักออกแบบที่ผันตัวมาสร้างงานศิลปะในแบบที่ตัวเองคิดว่า “นี่แหละ…ฟิน” งานของรุ้งในคอลเล็กชั่นขนาดยาวนามว่า “Error Object” คือเหล่าอุปกรณ์ของใช้ใกล้ตัวในแบบที่ใครเห็นต้องขมวดคิ้ว ร่มที่กันฝนไม่ได้ มีดที่ด้ามเป็นคม หรือไดร์เป่าผมที่พ่นควันออกมาแทนลมร้อน ด้วยสไตล์กราฟิกเรียบเกลี้ยง ผลงานเหล่านี้กระตุกต่อมวิตกในแต่ละคนต่างกัน แต่นั่นคือการตั้งคำถามกับระบบที่ไหลลื่น สร้างจุดสะดุดเปลี่ยนกับคำถามว่า “อย่างนี้ก็ได้หรือ?” เผื่อความแตกต่างเหล่านี้ จะเป็นอีกรสชาติที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

“เพราะโลกอาจต้องการความไม่สมประกอบเสียบ้าง” รุ้งตั้งคำถามกับตัวเองจากการเลี้ยงแมลงในกล่องกระดาษและเริ่มคิดว่าจักรวาลนี้ช่างดูสมบูรณ์ ลื่นไหล และเป็นไปอย่างลงตัวเสียเหลือเกิน แบบนั้นมันง่ายดายเกินไป เรียบลื่นเกินไป ภารกิจการลุกขึ้นมาสร้างจุดบกพร่องให้กับโลกใบนี้จึงเกิดขึ้น

เราทุกคนต่างเป็นมดตัวเล็ก ๆ ในจักรวาลอันสมบูรณ์แบบ

“ถ้าถามว่าที่มาของ Error Object และ Anxiety Storage เริ่มต้นมายังไง รุ้งอาจต้องเท้าความกลับไปไกลสักหน่อย คือเราเป็นคนชอบตั้งคำถามกับ Human Being และการมีอยู่ของจักรวาล เราสงสัยมากว่าทำไมทุกสิ่งทุกอย่างถึงได้ลงตัวขนาดนี้ ความเป็นไปของชีวิตที่สอดคล้องเข้าด้วยกัน ทำไมถึงไม่มี Bug หรือ Error ใด ๆ เลย ใครเป็นคนสร้างขึ้นมานะ มันมีคนสร้างรึเปล่า หรืออยู่ดี ๆ เป็นอย่างนี้เลย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เหนือความรู้ของเราที่จะรู้ได้ มันเป็นอจินไตย เลยทำให้คิดว่าสมมตินะว่า ถ้าเราเป็นมดในกล่อง แล้วมีคนนั่งศึกษาพฤติกรรมของเราอยู่ รุ้งก็อยากเป็นมดที่แหกคอก มดตัวเล็ก ๆ ที่คิดว่า อยากทำให้มันเพอร์เฟ็กต์นักใช่ไหม ของพวกนี้แหละ ถ้าเปรียบกับ Stimulation Game ที่เพอร์เฟ็กต์มาก ๆ อย่างตอนที่เราเล่นเกม The Sim ก็จะมีตัวละครบางตัวที่ขวางทางไว้ แล้วเดินข้ามไม่ได้ ซึ่งโลกที่เราอยู่มันสมจริงมาก ๆ เราไม่เห็น Error แบบนั้นเลย เราก็เลยคิดว่า ถ้าระบบดีมากจะเป็นคนทำให้รวนเอง เพื่อความสะใจของตัวเอง เป็นเหมือนการตะโกนเบา ๆ ของมดในระบบ เพราะเรารู้สึกว่าตัวเองเป็นมดที่ถูกขังอยู่ในกล่อง ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการเกิดมาเป็นมนุษย์ว่า ทำไมเราถึงต้องเกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องใช้ชีวิตดำเนินไปเรื่อย ๆ เช่นนี้

“พอการที่เราศึกษาเรื่องจักรวาลเยอะ รุ้งรู้สึกว่ามันปลอดภัยมาก ๆ ไม่กลัวที่จะเจ็บปวด เพราะว่าเรามันก็แค่ฝุ่นเล็ก ๆ เอง ถึงแม้เราจะกรีดร้องดังแค่ไหน คนที่มันสร้างระบบนี้ (ถ้ามันมีนะ) เขาก็ไม่ได้ยินเราหรอก เพราะอย่างนั้นรุ้งก็เลยคิดว่าในทางกลับกัน ถ้าเรารู้สึกเจ็บปวดทางจิต หรือกายมาก ๆ ก็จะรู้สึกว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล็กมาก ใครจะมาสนใจกับสิ่งเหล่านี้ เลยอยากอัปโหลด Bug อะไรบางอย่างเข้ามาในโลกนี้ Simulation นี้ เพราะมันเสมือนจริงเกินไป Anxiety Storage ก็เหมือนเป็นโรงงานสร้าง bug ที่ต้องนี้เราโฟกัสกับ Error Object อยู่นั่นแหละ” 

วิตกกังวลจนได้งาน

“เหมือนงานเราจะเป็นสิ่งที่มาจากอารมณ์ล้วน ๆ ก็ว่าได้ Anxiety Storage นี้ มันก่อตั้งขึ้นในตอนที่ตัวเองรู้สึกว่า Useless ที่สุดในชีวิตเลย ประมาณ 2 ปีที่แล้ว ช่วงจบจากมหาวิทยาลัย แล้วเริ่มทำงาน รู้สึกว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จจากที่ไหนเลย ก็คิดว่าทำไมตัวเองถึงทำไม่ได้ คนอื่นยังเป็นกันได้เลย เพื่อนคนอื่นเขาก็ไปเป็นกราฟิกดีไซเนอร์กันได้ เจ้าของบริษัทที่เคยทำ ก็บอกนะว่าเราทำได้ แต่ต้องรับการฝึกฝนอีกมาก แต่ว่าต้องฝึกให้มากพอ แต่ว่ารุ้งเองรู้สึกว่าเราไม่อยากทำงานให้คนอื่นแล้ว และค่อนข้างจะเครียด แล้วเนื้องานจุกจิกเยอะ ทั้งการไดคัท หรือการออกแบบให้แสงวิ้งวับอะไรแบบนี้ เรียกว่าทำอะไรที่เราไม่เชื่อ ทำไปก็เหมือนฝืน

“มันเหมือนเราถูกตีกรอบให้วิตกกังวลในสิ่งที่ทำ เพราะตั้งแต่เรียนมาก็ Play Safe มาโดยตลอด ทำงานใน Safe Zone ที่คนอื่นคิดว่าดี แต่เรากลับคิดว่า มันไม่เหมาะกับเรา สิ่งที่เรียกว่างานบริษัท งานประจำ เราว่ามันไม่เหมาะกับเรา ไม่อยากทำแล้ว แม้จะมีความปลอดภัยในเรื่องของรายได้ แต่ไม่ได้เซฟในสภาวะด้านความรู้สึกเลย

“สุดท้ายก็ค้นพบว่าเราชอบการสร้างงาน First Priority คือการสร้างงาน เลยออกมาทำเอง เป็นเครดิตของเราเองจริง ๆ จะให้สิ่งนี้เป็นอันดับหนึ่งเลย พอได้อยู่หน้าคอมฯ แล้ว รุ้งเหมือนเด็กเนิร์ด ไม่พูดจากับใครจนกว่าจะทำงานเสร็จ หลายคนอาจจะมองว่างานเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเครียด แต่รุ้งมองว่าตัวงานที่ทำมันฮีลเรา ถ้าไม่มีงาน หรือไม่ได้สร้างอาร์ตเวิร์กออกไป รุ้งก็ไม่มีอะไรแล้วนะในชีวิต เป็นเหมือนการ Distract ตัวเองจากการซึมเศร้า แล้วก็วิตกกังวลเรื่องคนอื่นเสียมาก ถ้าเราทำงานนี้ออกไป มันจะโอเคไหมนะ จะส่งผลเอฟเฟ็กต์กับใคร พูดอะไรผิดไปรึเปล่า รู้สึกแย่ไหม เป็นภาระของใครรึเปล่า อะไรแบบนี้นี่เองคือความวิตกกังวลของรุ้ง ส่งผลให้เกิดการซึมเศร้า ในการกลับกันความวิตกกังวลเหล่านี้ ก็ทำให้เราอยากสร้างความวิตกให้คนอื่นบ้าง จึงเป็นคอนเซ็ปต์งานกว้าง ๆ ตลอดมาอย่างที่เห็น ซึ่งก็ดูย้อนแย้งเหมือนกัน”

“งานหลอดไฟขนดก ตอนทำฟินมาก สบถกับตัวเองหลายรอบ ว่าทำไมมันน่าเกลียดได้ขนาดนี้ คิดว่าเราทำสำเร็จแล้ว งานชิ้นนี้น่าเกลียดสุด ๆ ภูมิใจมาก เหมือนมีพลังงานบางอย่าง” 

รักจะให้คนเกลียด(ในผลงาน)

“งานเป็นเหมือนการขบถกับตัวเอง การนั่งหัวเราะในคอมเมนต์ แล้วดูว่าคนแชร์ไปด่าว่ายังไงบ้าง ก็ตลกดี อย่างตัวหลอดไฟมีขน ทุกคนเกลียดอันนี้ เป็น “ที่สุด” ที่ทุกคนเกลียดมากในเพจ แต่รุ้งภูมิใจในตัวมันมาก จริง ๆ แล้วเพื่อนจะบอกว่า เราเป็นคนกวน__มาก ซึ่งก็เป็นปกติของเราที่ชอบเล่นมุขตลกร้าย คนอื่นจะมองว่ามันกวนตีน แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น เลยคิดว่าน่าจะเป็นธรรมชาติของรุ้งเอง คนอื่นที่มองเข้ามาในตัวเรา เขาจะมองว่าเรากวน มั่นใจในตัวเอง แต่ภายในเราอ่อนแอมาก เซ้นสิทีฟ เก็บทุกคำคิดไปพูดว่า ด่าเรารึเปล่านะ กลัวโดนเกลียด ก็เลยมีคนเคยบอกว่า รุ้งสร้างตัวตนที่กวน__ตรงนี้ เพื่อปกป้องตัวตนอ่อนแอรึเปล่า ซึ่งไม่เคยคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนเลย ได้ยินว่าเคยมีคนเป็นแบบนี้ แต่ไม่คิดว่าจะเป็นตัวเองด้วย เพราะว่ารู้สึกว่าเราใช้ชีวิตไปตามอารมณ์ของตัวเอง คิดแบบนี้ ทำแบบนี้ โดยที่พยายามไม่ไปทำร้ายความรู้สึกใคร แต่กลายเป็นว่ามุขตลกร้าย เรากลายเป็นความก้าวร้าวในบางเรื่องไปโดยไม่รู้ตัว” 

“เหมือนจะไม่แคร์ หลายครั้งงานเรา Punk มาก เราก็เลยจริงเหรอ งานก็ Punk ซึ่งเราก็ไม่รู้หรอกว่าอาจจะมีตัวตนที่เรา Protect อยู่ข้างใน อะไรสักอย่างที่อ่อนแอมาก ๆ และเรากลัวที่จะปล่อยมันออกมา ควบคุมมันไม่อยู่ เลยสร้างเกราะที่มันหนามาก ๆ”  

Anxiety ที่แตกต่างของผู้คน

“เราสร้างงานอยู่บน Anxiety Trigger ของคน ตอนดูงานก็รู้สึกว่าตัวเองผ่อนคลาย คือดูแล้วมันฟิน งานอาจจะไปหนักหัวเขา ไม่ได้หนักหัวเรา ซึ่งนั่นมันก็ย้อนแยงตรงที่ อ้าว!ไหนบอกว่าเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจสูงไม่ใช่เหรอ ไม่อยากให้ใครรู้สึกวิตกกังวล แต่ดันสร้างงานที่ทำให้คนวิตกแทน ซึ่งเราก็ไม่รู้จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร บางชิ้นก็ทำขึ้นมาเฉย ๆ ไม่ได้คาดหวังว่า ปล่อยออกไปแล้วจะเป็นไวรัล หรือมีคนมาขโมยไป หรือแม้แต่บางที่ก็ไม่รู้ว่างานเราไปกระทบคนอื่นขนาดนี้เลยเหรอ รู้สึกเซอร์ไพร้ส์นะ เพราะไม่รู้เลยว่า คนจะตอบกลับงานอย่างไรบ้าง งานมันมาจากมุมมองของเราคนเดียว คือทำงานไปบางทีแทบไม่มีคนแชร์ บางอันคนแชร์เป็นร้อย บางอันเป็นพัน” 

“ทุกคนเวลามองมาที่งาน เขาจะมีความขนลุกแตกต่างกันไป มันเป็นความแตกต่างของผู้คนจริง ๆ นะ อย่างงานมีดด้ามคมนี่เราก็เฉย ๆ คุณก็บอกว่ามันน่าขนลุกใช่ไหม บางคนก็รู้สึกหงุดหงิดกับรอยสักยุงบนแก้มแทน ทุกคนแตกต่างกัน มีมุมอ่อนแอที่ไม่เหมือนกัน จริง ๆ เราว่าก็ดีนะที่งานได้เล่าความอ่อนแอของทุกคนออกมา เหมือนทุกคนก็อ่อนแอได้ มันอยู่ที่ว่าเผชิญกับอะไร”

งานมีมที่สร้างชื่อให้กับรุ้ง แต่กลับโดนขโมยเครดิตในโลกอินเทอร์เน็ตไป ทำให้งานนี้ไม่สามารถวางขายงาน Original ใน NFT ได้

งานศิลป์ที่ขบถตั้งแต่แนวคิดจนถึงวิธีการ

“ตั้งแต่เรียนมหาลัย เรียนภาคประยุกต์ศิลป์มา จิตรกรรมประยุกต์ เราวาดรูปมาโดยตลอด 4 ปี แต่ก่อนงานเราไม่ใช่แบบที่เห็นนี่เลยนะ งานจะมีอารมณ์ความรู้สึกมาก มีแต่ความดาร์ก ซึมเศร้า เกิดมาทำไม อารมณ์มนุษย์ แต่อยู่ ๆ ก็มีจุดเปลี่ยนบางอย่างตอนปี 4 ปีสุดท้าย รู้สึกว่าน่าเบื่อมาก มีแต่งานแบบนี้ แล้วรุ้งก็เลยเสนอตัวจบไปที่ฉีกออกไปอีกแบบเลย นึกถึงก็แล้วยังขำเลย ในการทำธีซิสแบบประยุกต์ศิลป์ มันต้องดูจิตรกรรม สิ่งเราเสนอคือการปั้นงานสามมิติไปส่งเลย ในโปสเตอร์เป็นคนใส่ชุดปลาฉลาม แล้วจะทำเป็นอาร์ตเวิร์กเขียนว่า ชุดพลางตัว สำหรับคนที่อยากไปทะเล แต่ไม่อยากให้ใครเข้าใกล้ อะไรประมาณนี้ แล้วก็รู้สึกเลยว่านี่แหละมันใช่ ที่ผ่านมาไม่ใช่ ที่ผ่านมาแค่ต้องการให้งานมีคนชอบ แล้วก็รู้ว่าอาจารย์น่าจะไม่ชอบแน่ แต่เราชอบไง เราอยากทำงานที่เราเชื่อ เอาไปนำเสนอเลย ไม่มีอาจารย์ให้ผ่านสักคน โดนด่าด้วย ส่วนอาจารย์ที่เคยชอบงานเราตอนแรก เราเลือกเขาเป็นที่ปรึกษา อยากเห็นว่าเขาจะตอบสนองยังไง เขาไม่รับเราเป็นเด็กในสังกัดเขา โยนให้คนอื่นเลย โอเค! นี่เลยเป็นสkเหตุที่ทำให้เราขบถขึ้นทุกวัน เรารู้สึกว่าทำไมถึงแคบขนาดนี้ งานศิลปะจะเป็นสามมิติไม่ได้เหรอ” 

เราเสนอคือการปั้นสามมิติไปส่งเลย ในโปสเตอร์ เป็นคนใส่ชุดปลาฉลาม แล้วจะทำเป็นอาร์ตเวิร์กเขียนว่า ชุดพลางตัว สำหรับคนที่อยากไปทะเล แต่ไม่อยากให้ใครเข้าใกล้ รู้สึกเลยว่านี่แหละมันใช่ ที่ผ่านมาไม่ใช่ ที่ผ่านมาแค่ต้องการให้งานมีคนชอบ แล้วก็รู้ว่าอาจารย์น่าจะไม่ชอบแน่ แต่เราชอบไง เราอยากทำงานที่เราเชื่อ

“ชุดความคิดเก่าแบบนี้ มันเลยทำให้วงการศิลปะในไทยไม่ไปไหนสักที อะไรที่ไม่ดูเป็นศิลป์ และบางคนไม่ถือว่านี่เป็นงานศิลป์ เป็นแค่ภาพวาดประกอบบ้าง อะไรแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ นี่แหละงานศิลปะ ทำไมเราไปให้ค่ามันแค่นั้น เราก้าวข้ามตรงนี้ไม่พ้น คนก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นงานศิลปะ จนมีพี่คนหนึ่งมาดึงสติไว้ ในตอนที่เราโดยขโมยงานมีมเยอะมาก เรารู้สึกไม่พอใจ แล้วไม่ได้มองว่ามันเป็นมีม แต่มองว่าเป็นงานที่เราสร้าง แต่คือคนเห็นว่าเป็นภาพแค่นั้น ไม่ได้คิดว่าเป็นงานอาร์ตเวิร์ก ตอนนั้นเราไม่ได้ใส่เครดิตไว้ เพราะรู้สึกว่ามันจะทำลายภาพรวมของงาน มีพี่คนหนึ่งที่รู้จักมาเบิกเนตรบอกเราว่า ช่างมันเหอะ ปล่อยให้งานมันไปตามทางของมันดีกว่า แล้วดูว่ามันจะเติบโตไปในทิศทางใดในโลกอินเทอร์เน็ตน่าจะดีกว่า เครดิตก็ไม่ต้องใส่หรอก เดี๋ยววันหนึ่งถ้าจัด Solo Exhibition แล้วคนมาเห็น เขาจะรู้ว่างานที่ทำ ๆ ไป มันเป็นของคนนี้เหรอ แล้วรุ่นน้องอีกคนหนึ่งก็มาถามเราว่า แล้วมีมเนี่ยมันเป็นงานศิลปะไม่ได้เหรอ ก็เลยเปลี่ยนความคิด เครดิตก็ยังใส่ลงไปอยู่ เพราะตอนนั้นยังไม่ดัง ถ้ารีโพสต์คนจะได้ตามมาติดตามได้ สุดท้ายก็ปล่อยไปเรื่องการก๊อปงาน 

“กลับมาที่เรื่องของสไตล์ การทำสามมิติมันมีหลายสเต็ปมากเลยนะ บางคนสมจริงมากระหว่างภาพถ่าย หรือสามมิติ ซึ่งรุ้งไม่อยากให้มันถึงขั้นนั้น เพราะเราชอบความแข็ง หยาบกระด้างตรงนี้ รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์มาก แต่ว่าหลายคนรู้สึกไม่ชอบ มันไม่สมูทไร้ความรู้สึก เราอยากทำให้ภาพ 3d Rendering ตรงนี้ คนดูแล้วให้มันรู้สึกขึ้นมาได้จริง ๆ ให้มันทำงานด้วยตัวชิ้นงานของมันจริง ๆ ไม่ใช่เพราะภาพของมัน หรือด้วย Concept Object ของมัน ก็เลยเลือกที่จะทำสามมิติ ซึ่งเกิดมาจากการที่เราชอบดูงานสามมิติอยู่แล้ว ที่มันแข็ง ๆ นี่แหละ มองไปว่าทำไมในไทยยังไม่มีคนทำงานแนวนี้ 2 ปีที่ผ่านมาที่เริ่มทำ คนยังไม่ค่อยเริ่มทำ ก็เลยคิดว่า why not? ทำออกมาเลย อะไรอย่างนี้ แล้วทำไมต้องวาดรูปอย่างเดียว เราขี้เกียจ ก็เราปั้นมันออกมาได้ หามุมที่สวยที่สุด แล้ว render มันออกมาเลย ไม่ง่ายกว่าเหรอ ซึ่งจริงว่าการลงมือวาดรูปสำหรับบางคน มันง่ายสำหรับเขา แต่ว่ารุ้งชอบสามมิติอยู่แล้ว คิดว่ามันสนุกดี ในการใส่แมททีเรียลใหม่ ๆ ใส่นู่น ใส่นี่ มาจากเพราะเราชอบ Visual ของงานสามมิติล้วน ๆ เลย” 

ถึงเวลาเปลี่ยนโลกสมมติให้เป็นจริง

“ถ้าถามว่างานจะพัฒนาไปทางไหน น่าจะเป็นในเรื่องของการนำเสนอมากกว่า อยากทำใน Error Object เนี่ยแหละ เพราะว่าไลน์การทำงานของเราคือการผลิตสินค้าแปลก ๆ มาโดยตลอด แล้วทีนี้ในอนาคตอันใกล้ อยากให้สิ่งของพวกนี้มันมีชีวิตขึ้นมาจริง ๆ เพราะฉนั้นเราอยากสร้างมันออกมา ชิ้นแรกกำลังคิดอยู่เลยว่าจะให้มันออกมาเป็นอะไรดี ถ่ายทำเป็นคอนเทนต์ short film อะไรแบบนั้น 

“จริง ๆ รู้สึกรัก และขอบคุณ Follower ของรุ้งทุกคนมาก ๆ เลยนะ รู้สึกว่าโชคดีมากที่มีพวกเขาเป็น Follower Page ลูกเพจเขาสนับสนุนเรามาก มีช่วงหนึ่ง ช่วงขั้นระหว่างก่อนที่จะใส่เครดิต โพสต์ภาษาอังกฤษลงไปประมาณว่า หลังจากนี้คงต้องใส่เครดิตในงานของฉันแล้วนะ ฉันขอโทษนะ ถ้าเกิดว่ามันจะไปทำลายมู้ดของงาน เพราะมีบางเพจขโมยงายของเราไปโดยที่ไม่มีเครดิตให้ฉันเลย หวังว่าจะไม่ทำให้รู้สึกรำคาญตา ก็มีคนต่างชาติ 3-4 คนมาคอนเมนต์ อย่ากังวลไปเลย ไม่เป็นไร โลโก้เธอไม่ได้แย่เลย น่ารักดี ประมาณนี้ รู้สึกดีจังเลย ทำไมแฟนเพจเราน่ารักและสนับสนุนเราขนาดนี้ ขอบคุณมาก ๆ ทั้งคนไทยและต่างชาติเลย จริง ๆ รุ้งก็รู้สึกว่า พอมันมาเป็น 3D คนก็มองว่า ก็ทำง่ายนี่ แค่ปั้น แต่ถ้าออกมาเป็นของจริง คนจะรับรู้ว่าสิ่งมันมีกระบวนการมากกว่าจะทำออกมาได้ อยากให้มองถึงขั้นตอนตรงนี้ด้วย

“เพราะฉะนั้นการจัดแสดงงานในอนาคตอันใกล้ ก็น่าจะทำให้เราได้มาแชร์ความวิตก แชร์มุมอ่อนแอร่วมกัน และได้เห็นว่าในแต่ละขั้นตอนของงานของรุ้งมันเกิดขึ้นมาอย่างไรมากขึ้น” 


ผลงานทั้งหมดโดย Anxiety Storage
ภาพ : Anxiety Storage
เรื่อง : Wuthikorn Sut, เหมือนแพร สุรารักษ์