inspection

การรีโนเวต ซ่อมแซม และปรับปรุงโครงสร้าง ค.ส.ล.

inspection
inspection

โครงสร้างเป็นสิ่งแรกที่ต้องตรวจสอบก่อนการรีโนเวต เพราะหากเสียหายมาก จำเป็นต้องรีบซ่อมแซมก่อนทำอย่างอื่น มาดูแนวทางการซ่อมแซมและปรับปรุงโครงสร้างบ้านคอนกรีตเสริมเหล็กฉบับเบื้องต้น ซึ่งเจ้าของบ้านควรรู้ให้ลึก เพื่อเข้าใจขั้นตอนการรีโนเวตอย่างรอบด้าน

เข้าใจงานรีโนเวต

การรีโนเวตบ้าน (House Renovation) เป็นการปรับปรุงบ้านเดิมให้กลับมาดีอีกครั้ง อาจมีทั้งการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้กลับมาดีเหมือนเดิม ปรับปรุงส่วนต่างๆให้ดีขึ้น ปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ใหม่ และเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์บ้าน โดยใช้โครงสร้างบ้านเดิม ทั้งนี้อาจมีการต่อเติมเพิ่มพื้นที่ไปพร้อมกัน จึงเป็นการทำงานภายใต้เงื่อนไขของโครงสร้างและข้อจำกัดของอาคารเดิม จึงควรเข้าใจการรีโนเวตเบื้องต้นกันก่อน แต่ขอย้ำว่าการซ่อมแซมและปรับปรุงงานโครงสร้างอาคาร ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่ควรให้ผู้รับเหมาทำเองแม้จะมีประสบการณ์ก็ตาม รีโนเวท ซ่อมโครงสร้าง คอนกรีต

  • การรีโนเวตไม่มีสูตรตายตัว เป็นการปรับและแก้ไขไปตามปัญหาและความต้องการของแต่ละบ้าน และมักมีข้อจำกัดในพื้นที่ก่อสร้างแตกต่างกันไป จึงไม่มีวิธีการแก้ปัญหาที่ตายตัว ต้องอาศัยหลักการและประสบการณ์จากผู้ออกแบบและผู้รับเหมา ทำให้ไม่สามารถนำวิธีการรีโนเวตของบ้านหนึ่งไปใช้กับอีกบ้านได้เสมอไป แต่ต้องวิเคราะห์ปัญหาและบริบทของบ้านแต่ละหลังเป็นกรณีไป
  • การเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวอาคารอาจสร้างปัญหาใหม่ ต้องยอมรับว่าทั้งการต่อเติม การเปลี่ยนการใช้งานอย่าง การเพิ่มห้องน้ำ เปลี่ยนตำแหน่งครัว เป็นสิ่งที่ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับอาคารนั้นแต่แรก จึงอาจทำให้เกิดปัญหาที่ต้องแก้ไขตามมาได้ และแน่นอนว่าการแก้ไขย่อมไม่แนบเนียนเสมอไปและมักมีราคาสูงกว่า
  • การซ่อมแซมต้องหาต้นเหตุ หากการซ่อมแซมไม่ได้วิเคราะห์หาต้นเหตุที่แท้จริง ก็อาจทำให้ต้องกลับมาทุบรื้อเพื่อซ่อมแซมซ้ำ หรือทำให้บ้านเสียหายมากขึ้น และการรื้อค้นหาต้นเหตุย่อมมีค่าใช้จ่ายตามมาอีก และอาจเจอต้นเหตุที่ไม่คาดคิดอื่นๆ หากใครเจอผู้รับเหมาที่ไม่มีวิศวกรมาเป็นที่ปรึกษา อาจเลือกการเก็บงานเฉพาะหน้าให้เรียบร้อย แต่ทิ้งปัญหาไว้กับเจ้าของบ้าน
  • เตรียมเงินและเตรียมใจ เจ้าของบ้านควรเข้าใจว่าบ้านเก่าจะมีปัญหาที่ไม่คาดคิดซึ่งอาจพบระหว่างการรื้อ และมักมีปัญหาหน้างานจุกจิกมากกว่าการสร้างบ้านใหม่ จึงควรเผื่อระยะเวลาก่อสร้างและเตรียมงบเพิ่มเติม โดยเผื่อไว้อย่างน้อยอีก 10 เปอร์เซ็นต์
รีโนเวท ซ่อมโครงสร้าง คอนกรีต

การตรวจเนื้อคอนกรีตและรอยร้าว 

การตรวจสอบโครงสร้างอาคารควรทำโดยวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญ และทำได้หลายวิธี เพื่อให้ได้ผลและการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง โดยมีวิธีการตรวจสอบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเบื้องต้นสำหรับบ้านทั่วไป ดังนี้

การสังเกตและประเมินสภาพเนื้อคอนกรีต 

  • ทดสอบโดยใช้มือลูบ ควรล้างคอนกรีตให้สะอาดก่อน แล้วใช้มือลูบ ถ้าคอนกรีตหลุดออกมาเป็นผง เป็นชิ้น  หรือถ้าเนื้อคอนกรีตมีการขยับตัว แสดงว่าเนื้อคอนกรีตมีความผิดปกติ
  • ทดสอบโดยใช้อุปกรณ์ขูด เช่น เกรียง แปรง จะทำหลังจากพบจุดที่มีความผิดปกติ ถ้าเนื้อคอนกรีตร่วน ไม่เกาะตัว หรือหลุดออกมาเป็นชิ้น ยิ่งหลุดชิ้นใหญ่แสดงว่ากำลังคอนกรีตยิ่งลดน้อยลง
  • เนื้อคอนกรีตร่วน หลุด มีหลายสาเหตุ เช่น เนื้อคอนกรีตไม่ได้คุณภาพตั้งแต่แรก การบ่มคอนกรีตไม่ได้ตามเวลาหรือไม่ได้มาตรฐาน ทำให้กำลังคอนกรีตน้อยกว่าที่ควรเป็น หรือโครงสร้างคอนกรีตรับน้ำหนักมากเกินกำลัง
  • การทดสอบความแข็งแรงของคอนกรีต จะทำเมื่อพบแล้วว่าคอนกรีตมีปัญหา เช่น เนื้อร่วน ร้าว มีอาการผิดรูป บิดตัว เอียง หรือมีเหล็กด้านในโผล่ออกมา การทดสอบหน้างานที่นิยมทำกันคือ การใช้ Concrete Test Hammer เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดค่าความแข็งแรงของคอนกรีต ทั้งนี้ยังมีวิธีตรวจสภาพคอนกรีตด้วยอุปกรณ์อีกหลายชนิด ซึ่งวิศวกรจะเป็นผู้พิจารณา
รีโนเวท ซ่อมโครงสร้าง คอนกรีต

การตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้าง

ไม่ได้ดูเฉพาะคอนกรีตเท่านั้น แต่เหล็กเสริมที่อยู่ภายในก็เกิดปัญหาได้ โดยจุดที่พบบ่อย คือ หลังคาดาดฟ้าของตึกแถวที่พื้นคอนกรีตแตกล่อนจนเห็นเหล็กเสริม ซึ่งมักเกิดจากความชื้น โดยสาเหตุหลัก คือ ดาดฟ้ามีการระบายน้ำไม่ดี พื้นลาดเอียงไม่พอหรือมีน้ำขัง และไม่มีการดูแลท่อระบายน้ำ เมื่อมีน้ำขัง คอนกรีตมีคุณสมบัติอุ้มน้ำและน้ำซึมได้ ทำให้เหล็กเสริมภายในเป็นสนิมและดันเนื้อคอนกรีตให้แตกออก การรีโนเวตในกรณีแบบนี้จะไม่ใช่เพียงการซ่อมแซมโครงสร้าง แต่ต้องย้อนกลับไปดูถึงระบบอาคารและการใช้งานของเจ้าของ ซึ่งเป็นต้นเหตุจริงๆที่ทำให้โครงสร้างเสียหาย กรณีปัญหาความชื้น ควรไล่เช็กจากด้านบนลงด้านล่าง ตั้งแต่ปริมาณน้ำ จุดรับน้ำ ความลาดเอียงที่ระบายน้ำได้เร็วไม่ท่วมขัง และท่อระบายน้ำ รีโนเวท ซ่อมโครงสร้าง คอนกรีต
 
รีโนเวท ซ่อมโครงสร้าง คอนกรีต

การตรวจรอยร้าว

  • ประเมินความเสียหาย โครงสร้างปกติไม่ควรร้าว ไม่ว่าจะร้าวแบบไหนก็ตาม ซึ่งการร้าวที่ไม่เป็นอันตราย คือ การร้าวผิว เบื้องต้นทดสอบได้ด้วยการเคาะ ถ้าเคาะแล้วเสียงแน่นๆ แสดงว่าเนื้อคอนกรีตยังติดกันอยู่ แต่ถ้าเคาะแล้วเสียงกลวงๆ โหวงๆ แสดงว่าเนื้อคอนกรีตไม่ติดกันแล้ว ขั้นต่อไปจึงต้องแคะเนื้อคอนกรีตที่ร้าวบางส่วนออกมา เพื่อตรวจดูเนื้อภายในต่อไป
  • วิเคราะห์ต้นเหตุรอยร้าว บางครั้งการร้าวไม่ได้เกิดจากเนื้อคอนกรีต แต่เกิดจากเหล็กเสริมภายในระเบิดซึ่งที่พบบ่อยมักเกิดจากความชื้น
  • ตรวจสอบก่อนซ่อมแซม เช่น การสกัดเนื้อคอนกรีตเพื่อตรวจภายในโครงสร้าง จะทำเมื่อพบว่าโครงสร้างมีปัญหาเท่านั้น โดยก่อนการสกัดต้องปลดการรับแรง (Unloading) ของโครงสร้างส่วนนั้นออกก่อน ด้วยการติดตั้งค้ำยันถ่ายน้ำหนักของโครงสร้างที่จะซ่อมแซมไปยังโครงสร้างอื่นให้ช่วยรับแรงแทน หากไม่ปลดการรับแรงอาจทำให้โครงสร้างพังลงมาได้ง่ายๆเลย และย้ำว่าการปลดการรับแรงโครงสร้าง ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

อ่านต่อ : รวม 24 ปัญหารอยร้าว รู้ไว้ป้องกันบ้านพัง 

รีโนเวท ซ่อมโครงสร้าง คอนกรีต

การซ่อมเหล็กเสริม

  1. ปลดการรับแรง (Unloading) ส่วนที่จะซ่อมแซม โดยติดตั้งค้ำยันชั่วคราวให้ถ่ายน้ำหนักไปยังโครงสร้างข้างเคียง
  2. สกัดคอนกรีตที่เสียหายออก เพื่อดูเนื้อเหล็กเสริมและเนื้อคอนกรีตภายใน ให้เห็นจุดที่เสียหายแท้จริง ตรวจสอบสภาพเหล็กอย่างระมัดระวัง วัดขนาดเหล็กเสริมเพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลแบบก่อสร้าง เพื่อให้วิศวกรประเมินความเสียหาย
  3. ทำความสะอาดเหล็กเสริมกำจัดสิ่งสกปรกออก เช่น คราบน้ำมัน สนิม เช่น การใช้แปรงทองเหลืองหรือเครื่องขัด การพ่นด้วยทราย หรือฉีดด้วยน้ำแรงดันสูง
  4. ปรับปรุงเหล็กเสริมด้วยวิธีที่เหมาะสม ถ้าพบว่าเป็นสนิมที่ผิวเหล็ก ให้ซ่อมโดยขัดด้วยแปรง แล้วเคลือบด้วยวัสดุป้องกันสนิมชนิดที่สามารถยึดเกาะกับวัสดุซ่อมและเหล็กเสริมได้ดี แต่ถ้าเหล็กเสริมคอนกรีตเป็นสนิมทำให้พื้นที่หน้าตัดเหล็กเสริมลดลงเกินร้อยละ 10  ควรเปลี่ยนเหล็กเสริมหรือดามเสริมความแข็งแรง
  5. ทาเคลือบผิวเหล็กเสริมใหม่ที่ติดตั้งเพิ่ม และเหล็กเสริมเดิมภายหลังทำความสะอาด เช่น อีพ็อกซี่เรซิน  สารประกอบพอลิเมอร์ซีเมนต์ หรือสารที่มีส่วนผสมของสังกะสี เพื่อป้องกันการเกิดสนิมขึ้นใหม่ เมื่อซ่อมแซมเสร็จแล้ว ทำโครงสร้างให้กลับสู่สภาพเดิมด้วยวัสดุที่วิศวกรกำหนด
รีโนเวท ซ่อมโครงสร้าง คอนกรีต

การเสริมกำลังโครงสร้างให้แข็งแรงมากขึ้น

ทำใน 3 กรณี คือ อาคารมีการใช้งานเกินพิกัด และโครงสร้างเดิมแข็งแรงไม่พอสำหรับการใช้งาน หรือมีการเปลี่ยนการใช้งานอาคารทำให้ต้องรับน้ำหนักมากขึ้น โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

การเสริมกำลังภายในโครงสร้าง ทำด้วยการติดตั้งวัสดุเสริมกำลังให้พาดผ่านรอยแตก เช่น การติดตั้งสลักเดือยอย่าง เหล็กข้ออ้อย เหล็กกลม คาร์บอนไฟเบอร์ หรือสลักเกลียว ในรูที่เจาะตั้งฉากกับพื้นผิวรอยร้าว แล้วยึดติดด้วยสารช่วยยึดเกาะอย่าง อีพ็อกซี่เรซิน อีพ็อกซี่มอร์ตาร์ฃ

การเสริมกำลังภายนอกโครงสร้าง สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้แผ่นเหล็ก โครงสร้างเหล็ก คอนกรีตเสริมเหล็ก หรือวัสดุอื่นๆ อย่างคาร์บอนไฟเบอร์ ปะกับผิวภายนอกโครงสร้างคอนกรีตเดิม และอาจหุ้มด้วยคอนกรีต สารกันไฟ หรือสารเคลือบผิว พร้อมซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย หรือถ้าโครงสร้างยังอยู่ในสภาพดี อาจยึดด้วยวัสดุเสริมกำลังใหม่เข้ากับผิวคอนกรีต โดยมีการเตรียมพื้นผิวอย่างถูกต้อง แต่การเสริมกำลังเข้าไปเพิ่มจะทำให้โครงสร้างมีความแข็งแกร่งมากขึ้น มีผลให้การกระจายแรงในโครงสร้างเปลี่ยนไป จึงต้องอยู่ในการพิจารณาของวิศวกร

การใส่ปลอก (Jackets and Collars) คือ การหุ้มโครงสร้างด้วยวัสดุต่างๆ เพื่อเสริมกำลังโครงสร้างเดิมบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งมักทำให้โครงสร้างมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยต้องซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้กลับมารับน้ำหนักได้ตามเดิมก่อน และเตรียมพื้นผิวให้เหมาะกับการใส่ปลอกแต่ละประเภท

การรัดด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon-Fiber Reinforced Polymer) ซึ่งตัววัสดุนี้ไม่ได้ทำหน้าที่รับแรงโดยตรง แต่รัดให้โครงสร้างส่วนนั้นแน่น จึงเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างได้มากขึ้น ใช้ได้ทั้ง เสา คาน และพื้น มีข้อดีคือ มีความสามารถรับแรงได้มากกว่าเหล็ก แต่น้ำหนักเบาไม่เพิ่มภาระให้อาคาร และไม่ทำให้รูปทรงของโครงสร้างเดิมเปลี่ยนไป แต่ก็มีราคาและค่าติดตั้งสูงเมื่อเทียบกับวิธีปกติ จึงนิยมใช้ในอาคารสาธารณะเป็นส่วนใหญ่

การเพิ่มโครงสร้าง เช่น เสา คาน ค้ำยัน หรือแผ่นผนังใหม่ เพื่อรองรับโครงสร้างที่ชำรุดเสียหาย โดยทั่วไปจะเสริมด้านใต้ของโครงสร้างเดิม มักใช้ในกรณีที่การเสริมกำลังด้วยวิธีอื่นไม่เพียงพอที่จะทำให้โครงสร้างแข็งแรงตามต้องการ การติดตั้งทำได้เร็ว แต่การติดตั้งเสา คาน ค้ำยันใหม่อาจขวางการใช้งานเดิมหรือไม่สวยงาม จึงมักใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือชั่วคราว


ขอบคุณข้อมูล

หนังสือมาตรฐานปฏิบัติในการซ่อมแซมคอนกรีต โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2551

-คุณปวัน สุทธิพินิจธรรม  สถาปนิกและ Director

  • บริษัทเฮดรูม เอสเตท จำกัด (บริษัทรับก่อสร้าง) โทรศัพท์ 09-7040-8528, 09-7274-4257 www.headroomestate.com FB : Headroom Estate
  • บริษัทรีโน เอสเตท จำกัด (บริษัทรับออกแบบและต่อเติมอาคาร) โทรศัพท์ 09-5530-9265, 06-2529-9009, 02-102-1771 www.reno-estate.com
  • บริษัทเพ้นท์โปร จำกัด (บริษัทรับงานทาสี ซ่อมแซมสีครบวงจร) โทรศัพท์ 08-7770-0977, 09-5945-1919 www.paintpro.co.th FB : Paint Pro ทาสีมืออาชีพ 087-770-0977

คอลัมน์สถาปัตยกรรม ต.ค. 64

เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล


เหล็กเส้นคอนกรีตขึ้นสนิม ผุ แตก แก้ไขอย่างไร?

10 จุดการรีโนเวตบ้านที่ไม่ควรพลาด

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag