ปรับปรุงบ้านพักครูอายุ 50 ปี ด้วยดีไซน์ใหม่แบบจัดเต็ม แต่ลดทอนให้เรียบง่าย งบไม่บานปลาย ใช้งานได้ดีกว่าเดิม

บ้านพักครู อาคารไม้เก่า ๆ ไร้การดูแล ที่อยู่ของครูบรรจุใหม่ เหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายที่มักเห็นได้ตามนิยาย หรือละครไทย แต่นี่คือเรื่องจริงที่ครูหลายคนต้องพบเจอ และอาคารหลังนี้ก็เช่นกัน อาคารบ้านพักครูอายุ 50 กว่าปี ของโรงเรียนเฉลิมมณีฉายวิทยาคาร จากเดิมที่เป็นอาคารเก่าทรุดโทรม วันนี้ได้รับการบูรณะใหม่ โดยฝีมือการออกแบบของ Parin+Supawut ซึ่งเป็นการออกแบบปรับปรุงอาคารด้วยความคาดหวังว่า จะให้เป็นต้นแบบในการนำไปประยุกต์ออกแบบปรับปรุงอาคารบ้านพักครูในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป

#เน้นซ่อมไม่เน้นสร้างใหม่ให้งบประมาณทำงานได้จริง “บ้านพักครูของโรงเรียนเฉลิมมณีฉายวิทยาคารหลังนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2513 จากแบบสำเร็จโดยเป็นอาคารบ้านพักครูแบบกรมสามัญตามพิมพ์เขียนที่ถูกใช้ในโรงเรียนอีกหลายแห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บ้านพักครูมักจะเป็นส่วนที่งบประมาณการปรับปรุงนั้นไม่เคยตกลงมาถึง นั่นทำให้บ้านพักครูเหล่านี้ไม่สามารถใช้งานได้จริง และเป็นผลให้ภาระกลับไปตกอยู่กับครูทั้งหลายต้องออกไปเช่าบ้านพักด้วยเงินของตัวเองเดือนละหลายพันบาท

“การออกแบบในครั้งนี้จึงเป็นการเน้นกระบวนการซ่อมแซม และรักษาโครงสร้างเก่าของบ้านไว้แทนที่การออกแบบอาคารใหม่ทั้งหมด เพื่อเป็นต้นแบบในการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารในรูปแบบเดียวกันนี้ในที่อื่น ๆ ของประเทศ ด้วยความคาดหวังที่จะทำให้ บ้านพักครู เป็นอาคารที่ใช้ได้จริง อยู่ในงบประมาณที่เป็นไปได้ และมีการปรับปรุงพื้นที่หลาย ๆ ส่วนให้ลงตัวต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น เช่น การขยายพื้นที่ครัวให้เชื่อมต่อกับห้องนั่นเล่น การเปิดช่องแสงเพิ่ม เพื่อสร้างส่วนพักผ่อน และอ่านหนังสือที่รับแสงธรรมชาติไม่อุดอู้อย่างเดิม โดยในการใช้งานวัสดุนั้น ก็นำไม้อัดที่เลือกใช้ไปออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ ตู้ เตียง ที่มีขนาดสัดส่วนเหมาะกับการใช้งาน ร่วมกับบ้านพักครูหลังนี้ไปพร้อมกัน”

#ดีไซน์ให้มากเพื่อลดภาระงานก่อสร้างให้น้อย ในการออกแบบปรับปรุงครั้งนี้ ได้ถูกกำหนดวิธีการไว้ 2 แนวทางควบคู่กัน นั่นคือการออกแบบให้ซ่อม เสริม ลดทอนโครงสร้าง และขนาดช่องเปิด โดยอ้างอิงสัดส่วนจากโครงสร้างเดิมเพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้มากที่สุด ไม่รื้อทิ้ง อีกส่วนคือการออกแบบให้ใช้แผ่นไม้อัดให้ลงตัวให้มากที่สุด เพื่อไม้ให้เหลือเศษที่สิ้นเปลือง เป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า.นอกจากนี้ เพื่อควบคุมงบประมาณ การเลือกไม้อัดเกรด B-C ผสมกับไม้อัดเก่า จึงต้องมีการออกแบบการจัดวาง และเลือกโทนสี กระบวนการย้อมที่จะพรางตำหนิเหล่านี้ โดยเป็นการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ไปในตัวอีกด้วย

#เปลี่ยนสวนรกเป็นสนามเด็กเล่นอเนกประสงค์ อีกส่วนที่เหมือนจะเป็นภาระของครูที่เข้ามาพักก็คือสวนข้างบ้าน ด้วยบริบทที่มีธรรมชาติรายล้อมอยู่แล้ว การมีพื้นที่สวนที่มักจะมีหญ้าขึ้นรกทำให้ต้องคอยจัดการนั้น จึงปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นลานอเนกประสงค์ที่ดูแลได้ง่ายขึ้นแทน พื้นที่ส่วนนี้จะเชื่อมต่อกับอาคารเรียน และกลายเป็นสนามเด็กเล่นของนักเรียนอนุบาล และคุณครูใช้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนได้อีกด้วย.และนี่ก็คืออีกหนึ่งตัวอย่างดี ๆ ของการใช้วิธีคิดในการออกแบบปรับปรุงอย่างแยบยลและลงตัว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของ “ครู” ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญของประเทศ ก็หวังว่าบ้านพักครูแห่งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้มองเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างสวัสดิการแก่เหล่าครูในที่อื่น ๆ และปลุกชีพอาคารดีๆเหล่านี้ให้กลับมาใช้งานได้ดีอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่า room เองก็ขอรอชมโครงการอื่น ๆ ในอนาคตแบบเดียวกันนี้ เช่นกัน

ออกแบบ: Parin+Supawut

ภาพ: Parin + Supawut

เรื่อง: Wuthikorn Sut