ปัญหากับเพื่อนบ้านที่ป้องกันและแก้ไขได้

บ้านที่อยู่ดีมีสุข นอกจากจะขึ้นอยู่กับการจัดการภายในบ้านแล้ว สภาพแวดล้อมและเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย มีปัญหากระทบกระทั่งมากมายที่เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้ชีวิตในบ้านขาดความสุขไปเลย มาดูกันว่าปัญหาเหล่านั้นคืออะไร และมีวิธีจะรับมือกับเรื่องเหล่านั้นอย่างไรบ้าง

ปัญหาเพื่อนบ้าน

ต่อเติมตามใจ เพราะบ้านใครบ้านมัน

“ข้างบ้านต่อเติมจนบ้านเราอึดอัด ดูแล้วต้องผิดกฎหมายแน่ อยากทราบว่าการต่อเติมที่ถูกต้องเป็นอย่างไร”

ปัญหาเพื่อนบ้าน

ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากแต่ละบ้านศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมายในการก่อสร้างอย่างถูกต้อง นอกจากจะต่อเติมได้อย่างสบายใจแล้วก็จะไม่รบกวนเพื่อนบ้านของเราด้วย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างหรือดัดแปลง เราต้องขออนุญาตในการกระทำดังกล่าวก่อน โดยต้องขออนุญาตเมื่อ
1. สร้างอาคารใหม่ทั้งหมด
2. ต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารที่มีอยู่แล้วเกินกว่า 5 ตารางเมตร
3. ก่อสร้าง ดัดแปลงอาคาร ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต
4. รื้อถอน เคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนการใช้งานอาคาร เช่น เปลี่ยนจากบ้านเป็นหอพัก

จริงๆแล้วต่อเติมห้องต่างๆ ออกมาจากอาคารเดิม ต้องมีระยะถอยร่นจากรั้วด้วยนะ
– ชั้น 1 ผนังด้านติดรั้วเป็นผนังทึบ ต้องห่างจากรั้วอย่างน้อย 0.50 เมตร
– ชั้น 1 ผนังด้านติดรั้วมีหน้าต่าง ประตู หรือช่องเปิดต้องห่างจากรั้วอย่างน้อย 2 เมตร
– ชั้น 2 ผนังด้านติดรั้วมีหน้าต่าง ประตู หรือช่องเปิดต้องห่างจากรั้วอย่างน้อย 2 เมตร


ต่อครัว เติมปัญหา

“ข้างบ้านต่อห้องครัวภายนอกแบบโปร่งๆ ไม่มีผนัง มีแต่เสาเพื่อรับหลังคามาจนชิดรั้ว

ทั้งกลิ่นอาหารและน้ำฝนที่ไหลมาทางบ้านเรา ทำอย่างไรดี”

ปัญหาเพื่อนบ้าน
ในทางกฎหมายเขาไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะถือว่าพื้นและเสาของครัวนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของอาคารเช่นกัน การต่อเติมดังกล่าวอาจทำได้โดยการก่อผนังทึบให้ห่างจากรั้ว 0.50 เมตรเป็นอย่างน้อย แล้วค่อยทำเป็นส่วนของครัว หลังคาก็ไม่ควรให้ยื่นยาวเกินเขตรั้ว และต้องมีรางน้ำไม่ให้น้ำไหลหรือกระเด็นไปยังบ้านข้างเคียงด้วย ส่วนเรื่องของกลิ่นอาหารนั้น คงต้องใช้หลักการ “ใจเขาใจเรา” วันไหนที่ข้างบ้านมีการใช้ครัว เราอาจยอมปิดหน้าต่างสักพัก หากเห็นว่าไม่มีกลิ่นรบกวนแล้วค่อยเปิดตามปกติ หรืออาจพูดคุยกับบ้านข้างเคียงนั้นๆเลย เพราะคนไทยด้วยกันน่าจะเห็นใจกันอยู่แล้วครับ


ต้นไม้ข้า ใบของใคร

“ข้างบ้านปลูกต้นไม้ใหญ่ติดรั้ว ใบไม้ร่วงลงมาที่บ้านของเราเยอะมาก ต้องเก็บกวาดอยู่เป็นประจำ จะแก้
ปัญหาได้บ้างไหม”

จริงๆแล้ว หากลองมองในอีกแง่มุมหนึ่งคือ มองว่าต้นไม้นั้นคือธรรมชาติ ธรรมชาติของต้นไม้ก็ต้องมีใบร่วง แต่สิ่งที่เราจะได้รับมากกว่านั้นคือร่มเงาและความร่มรื่น อาจเป็นการดีด้วยซ้ำที่ข้างบ้านปลูกต้นไม้ใหญ่ แล้วเราได้ร่มเงาและความร่มรื่นไปด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการพูดคุยกันครับ ถ้าต้นไม้มันใหญ่จนทั้งคุณและเจ้าของต้นไม้ไม่สามารถจะขึ้นไปตัดได้ ก็ให้ใช้บริการจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เช่น พนักงานของกรุงเทพมหานคร เขาจะคิดราคาตามขนาดของต้น และเมื่อตัดจนได้ความสูงที่ดูแลง่ายแล้ว ก็คอยเตือนกัน ต้องตัดแต่งไม่ให้มันโตจนเกินดูแลด้วยนะครับ

ขยะหน้าบ้าน

“ขยะหน้าบ้าน แม้จะมาจากหลายบ้าน แต่สุดท้ายก็มากองรวมกัน ดูไม่น่ามองเอาเสียเลย”

การกำจัดขยะเป็นหน้าที่ของหน่วยปกครองท้องถิ่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนตำบล ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการเก็บ ขน ขยะ ซึ่งจะกำหนดพื้นที่ให้หมู่บ้านนำมาทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง แล้วทางเทศบาลจะเก็บไปกำจัดอีกครั้ง โดยผู้อาศัยอาจต้องเสียค่าเก็บขยะ หรือที่เรียกว่าค่าส่วนกลางในการเก็บขยะ หากหมู่บ้านใดไม่มีการจัดเก็บจากทางเทศบาลก็สามารถแจ้งให้เทศบาลทราบเพื่อให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้ครับ

ขอเสนอที่เก็บขยะของแต่ละบ้าน พนักงานที่เก็บขยะสามารถเก็บไปได้จากภายนอกรั้วบ้าน ถ้าแต่ละบ้านมีพื้นที่นี้ก็จะช่วยให้หน้าบ้านของแต่ละบ้านไม่มีขยะมากองอีกต่อไป
– ทำประตูปิดไม่ให้ดูรกตา แล้วใครก็แอบมาฝากไม่ได้
– ทำหลังคาปิดไม่ให้โดนฝนหรือแมวมาคุ้ยเละเทะ


ความเป็นส่วนตัวและความงามทางสายตา

“ตำแหน่งระเบียงพักผ่อนหลังบ้านตรงกับระเบียงชั้นสองของบ้านข้างๆพอดี แต่ข้างบ้านมีการตากผ้าและวางของไม่เป็นระเบียง เวลามานั่งที่ระเบียงหลังบ้านก็จะเห็นภาพที่ไม่สวยงาม แก้ไขได้ไหม”

เราคงไปห้ามข้างบ้านไม่ให้ตากเสื้อและบอกให้เขาจัดของให้เป็นระเบียบไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างมุมมองที่ดีและหาสิ่งปิดบังได้ ขณะที่ข้างบ้านก็ยังสามารถตากผ้าได้อยู่ โดยการทำแผงระแนงไม้ ปลูกไม้เลื้อยเป็นธรรมชาติ หรือปลูกต้นไม้เพิ่มเติมบริเวณนี้ ทั้งบังสายตาและได้ความร่มรื่นด้วย


จอดได้จอดดีที่หน้าบ้าน (คนอื่น)

“เข้าบ้านลำบากมาก เพราะมีรถคนอื่นมาจอดขวางประตู จะจัดการอย่างไรดี”

หากถนนหน้าบ้านเป็นถนนสาธารณะที่ทุกคนใช้ร่วมกัน ในแง่ของกฎหมายนั้นไม่ผิดครับ เพราะที่สาธารณะคือที่ที่ทุกคนสามารถใช้ได้ ผู้ใดจะโอนหรือยึดมาเป็นของตนเองไม่ได้ ยกเว้นส่วนที่ขวางทางเข้าออกบ้านที่ห้ามจอด แต่ในแง่ของการอยู่ร่วมกันในสังคมก็ต้องนึกถึงใจเขาใจเราเป็นเรื่องสำคัญ อาจมีการอะลุ่มอล่วยกันบ้างตามความเหมาะสม เช่น เวลาบ้านไหนมีแขกมาก็เดินไปบอกเพื่อนบ้านเสียหน่อย แต่ถ้าบังเอิญว่าบ้านของคุณอยู่ติดกับบริษัทที่มีรถเข้า-ออกตลอดเวลา (จนเกินจะทนแล้ว) ลองหากรวยจราจรเล็กๆ สีส้มๆ มาวางกั้นไว้แทน หรือถ้าอยากจะติดป้าย ลองคิดประโยคฮาๆ สัก 2- 3 ประโยคเล่นๆ ดูก่อน น่าจะช่วยให้บรรยากาศระหว่างเรากับเพื่อนบ้านดูน่ารักน่าเอ็นดูยิ่งขึ้น…ไม่ต้องถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลหรอกครับ สุดท้ายจะเสียหายทั้งคู่ แถมยังมองหน้ากันไม่ติดอีกต่างหาก
อย่างไรก็ดี ปัญหาเพื่อนบ้าน กระทบกระทั่งกัน ไม่สามารถป้องกันหรือยุติกันด้วยเรื่องทางกฎหมายหรือกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้ด้วยสามัญสำนึกของคนดีๆ นั่นคือเอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดว่าถ้าเป็นเราถูกเพื่อนบ้านกระทำอย่างนั้นจะมีความสุขหรือไม่ ทางที่ดีพยายามผูกมิตรกันเอาไว้ ถ้าทำความรู้จักกัน มีอะไรบอกกล่าวกัน เช่น จะมีงาน จะมีรถมาจอด จะมีปาร์ตี้เสียงดัง จะต่อเติมบ้าน ขอโทษหากจะมีการรบกวนซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย การบอกกล่าวกันอย่างเกรงใจจะลดความโมโหโทโสในเหตุการณ์สุดวิสัยที่เกิดขึ้นได้มาก ข้อสำคัญต้องอยู่บนพื้นฐานของจิตสำนึกแห่งความเกรงอกเกรงใจ
มีคำกล่าวที่ว่า “รั้วที่ดีที่สุดคือเพื่อนบ้านที่ดี” ขอให้ทุกท่านมีเพื่อนบ้านที่ดีและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเพื่อนบ้านด้วยครับ

เรื่อง  : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์

ภาพประกอบ  : เอกราช , ปันปัน