ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ Material & Design Innovation Center – TCDC

คลังข้อมูลวัสดุ หรือที่หลายคนที่เคยไปจะคุ้นชื่อกับ Material ConneXion Bangkok จนกระทั่งเมื่อ TCDC ได้ย้ายมาอยู่ที่เจริญกรุงจึงได้มีการปรับเปลี่ยนขยายพื้นที่ เป็นศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ Material & Design Innovation Center – TCDC โดยมี Material ConneXion Bangkok อยู่ภายในนั้นอีกที โดยหลังจากที่ย้ายมาได้มีแนวทางการทำงาน รวมทั้งขอบเขตการทำงานที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งมีความน่าสนใจทั้งต่อผู้ประกอบการและนักออกแบบเป็นอย่างมาก

โดยครั้งนี้ room magazine ได้รับเกียรติจาก ดร.ดารารัตน์ เมฆเกรียงไกร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยวัสดุจาก TCDC และเป็นผู้ดูแลศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ Material & Design Innovation Center รวมทั้ง Material ConneXion Bangkok มาบอกเล่าถึงสิ่งที่น่าสนใจ และสิ่งที่ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ จะสามารถช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการและนักออกแบบได้อย่างไรบ้าง

ดร. ดารารัตน์ เมฆเกรียงไกร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยวัสดุจาก TCDC และเป็นผู้ดูแล ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ Material & Design Innovation Center รวมทั้ง Material ConneXion Bangkok

จาก Material ConneXion Bangkok สู่ Material & Design Innovation Center – TCDC

“ก่อนอื่นคงต้องขอเล่าถึงที่มาก่อนจะกลายเป็น ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ Material & Design Innovation Center – TCDC แห่งนี้ ย้อนไปในปี พ.ศ 2548 Material ConneXion Bangkok ได้ก่อตั้งขึ้นที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ โดยตอนนั้นตั้งใจให้มีวัสดุที่มาจากทั่วโลก สำหรับเป็นคลังข้อมูลให้แก่นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และประชาชนทั่วไป ให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรม หรือเกิดการต่อยอดเทคโนโลยี ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบที่มีทั้งนิทรรศการและห้องสมุด ส่วนเหตุผลที่เลือก Material ConneXion เพราะเป็นบริษัทที่มีคลังข้อมูลที่ใหญ่ แล้วก็มี Physical Library เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสวัสดุจริงมากกว่าจะอยู่ในออนไลน์ รวมถึงก็มีฐานข้อมูลที่สามารถติดต่อกับผู้ประกอบการได้โดยตรง ทำให้สามารถนำไปต่อยอดความสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น

“นอกจากนี้เรายัง Sourcing วัสดุของไทย สำหรับไว้ใช้เป็นฐานข้อมูลระดับโลก เพื่อเปิดประตูให้กับผู้ประกอบการไทย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ก็มีเกณฑ์การพิจารณาหลัก ๆ เช่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านั้นถ้าผ่านการคัดเลือกแล้วก็จะได้อยู่ในฐานข้อมูลของโลก ซึ่งนักออกแบบทั่วโลกจะใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน รวมถึงไปจะได้รับโอกาสนำผลงานไปจัดแสดงต่อในสาขาต่าง ๆ เมื่อตอนปี พ.ศ 2548 เราถือเป็นสาขาแรกในเอเชียเลยก็ว่าได้

“สำหรับภารกิจในการพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการและนักออกแบบ ที่จริงแล้วศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบยังมีพันธกิจเกี่ยวกับ Design Thinking และ Service Design เพื่อเข้ามาช่วยในการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมไปถึงการพัฒนางานในส่วนอุตสาหกรรม เราจึงช่วยจับคู่นักออกแบบและผู้ประกอบการให้เติมเต็มและสร้างสรรค์งานที่ดีขึ้น อันมาจากนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานออกแบบ ที่จะเข้าไปมีบทบาทตั้งแต่กระบวนการแรกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ว่ามีความตอบโจทย์กับลูกค้าหรือไม่ หรือจะพัฒนาไปในทิศทางใดให้ตอบโจทย์ตลาดมากที่สุด ทั้งยังมีการพัฒนาต้นแบบเพื่อนำเข้าสู่นิทรรศการ โดย เรามีโครงการ The Cooperation ซึ่งเราคัดเลือกผู้ประกอบการจากฐานข้อมูล และจับคู่กับนักออกแบบ ที่สามารถตอบโจทย์ที่ต้องการของผู้ประกอบการนั้นๆ ได้ นอกจากจะจับคู่ให้แล้ว ก็ยังมีการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับวัสดุ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆโดยร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและหน่วยงานต่างๆ เช่น MTEC ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ซึ่งจะมีองค์ความรู้เกี่ยวกับวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก โลหะ หรือเซรามิก ทั้งยังมีการจัดทำสัมมนาร่วมกัน และมีการทำเวิร์กชอปอยู่ตลอด

“ปัจจุบันศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ Material & Design Innovation Center – TCDC ในห้องนี้ (TCDC resource center) เป็นส่วนงานหนึ่งของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) Creative Economy Agency หรือที่คุ้นกันในชื่อ CEA ซึ่งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC (Thailand Creative & Design Center) และศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ Material & Design Innovation Center ก็ทำงานภายใน CEA นี้อีกที เพื่อช่วยบ่มเพาะผู้ประกอบการ ให้หน่วยงานที่ให้องค์ความรู้และให้โอกาส ซึ่งถ้าเป็นในส่วนของวัสดุในการให้ความรู้ก็จะเป็นหน้าที่ของเราโดยตรง”

คลังข้อมูลวัสดุประสานธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักออกแบบ

“ในช่วงแรก ๆ นั้น เราต้องการให้เป็นผู้ประกอบการมากกว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษา แต่ผู้ใช้ส่วนมากจะเป็นนักเรียนนักศึกษานี่แหละ โดยเฉพาะนักเรียนออกแบบ ซึ่งเรามองเห็นว่าเป็นกลุ่มที่จะต้องได้รับข้อมูลและองค์ความรู้เหมือนกัน แถมงานของเรายังเป็นที่เข้าใจได้ยาก แต่สำหรับนักเรียนนักศึกษา หรือนักออกแบบจะเข้าใจง่ายกว่า แต่ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ หรือบริษัทก็ยังเป็นอะไรที่เขาเข้าใจยากอยู่ เราจึงต้องมีการค่อย ๆ สร้างการรับรู้ ทำเวิร์กชอปบ่อย ๆ ค่อย ๆ Recruit ผู้ประกอบการเข้ามา นอกจากจะจับคู่ผู้ประกอบการกับดีไซเนอร์แล้ว เรายังช่วย Crossing ดีไซเนอร์กับดีไซเนอร์ด้วยกันเองด้วย ทำให้พวกเขาได้คอมเม้นต์จากท่านอื่น ๆ และเขายกให้เห็นศักยภาพของการใช้วัสดุ การผลิต และการออกแบบ ซึ่งเขาสามารถไปจับคู่กันเอง และรู้จักดีไซเนอร์มากขึ้น พอตอนนี้ก็เริ่มมีคนมาถามว่า ถ้าอยากได้ดีไซเนอร์แบบนี้ จะไปหาได้ที่ไหน เช่น อยากออกแบบแพ็คเกจจิ้งให้เป็นรูปทรงที่ดี รบกวนให้เราช่วยแนะนำดีไซเนอร์ให้หน่อย ซึ่งจริง ๆ โครงการของสำนักอื่น นอกจาก Material connexion bangkok ก็ยังมี Design incubation การจับคู่ผู้ชำนาญการต่าง ๆ ให้เหมาะกับธุรกิจด้วยเช่นกัน

“นอกจากนี้ ยังมีงานบริการอื่น ๆ อีกที่คนอาจจะไม่รู้ อย่างการเป็น Material Consult ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องวัสดุ อยากได้คุณสมบัติแบบนี้ หรือมีวัตถุดิบแล้ว อยากพัฒนาต่อไปควรจะทำอย่างไร ในช่วงแรกๆ เราเคยมีผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวัสดุและการออกแบบ เหมือนให้ Consult เบื้องต้น และกลับมาให้ Consult ให้พัฒนาต่อก็ไม่มีปัญหา แต่พอมีโจทย์ให้ทำต่อก็มีหายไปบ้าง ซึ่งปัจจุบัน เราก็ยังมีบริการให้คำปรึกษา “Business Consulting Service” ในหัวข้อ Material Solution ให้กับสมาชิกและผู้ใช้บริการทั่วไป ซึ่งจะเป็นวันพฤหัสบดีของในแต่ละเดือน หนึ่งเดือนก็จะมีครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเกิดต้องการนอกรอบก็สามารถแจ้งได้

“และในส่วนสุดท้าย ก็คือการพัฒนางานออกแบบโดยวัสดุ Design Thinking ให้กับองค์กรต่าง ๆ เพราะถ้ามองในมุมอุตสาหกรรมที่เน้นเรื่องวัสดุแล้ว มีเรื่องการออกแบบอยู่ในหลายระดับเหมือนกันอย่าง สถาบันวิจัยที่เขาทำอยู่เรื่อย ๆ พัฒนาอยู่เรื่อย ๆ อาจจะยังไม่ออกมา หรือว่าพอออกมาแล้ว มีคนรับช่วงไปแล้ว แต่เขาออกสู่ตลาดไม่ได้ ก็จำเป็นต้องปิดตัวไปก็มี เราก็มีกิจกรรมและโปรเจ็กต์อยู่ตลอด มีการจัดเสวนาเบื้องต้น Incubation Program หรือเรื่องการทำ Workshop Service Design หรือเป็นโปรเจ็กต์พิเศษก็มีเช่นกัน เช่น เราก็ได้เข้าไปทำ Design Thinking เกี่ยวกับไบโอพลาสติกด้วยกัน ได้ระดมความคิดร่วมกัน ซึ่งในตอนปี 58 หรือ 59 เรื่องของไบโอพลาสติกคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น แต่มันยังไม่บูม เขาจึงอยากจะพัฒนา Application ว่ามันจะไปในทิศทางไหนได้บ้าง เพื่อจะนำไปทำ Marketing และนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ ทาง PTTGC ก็มีส่วนในการช่วยหา Owner Coordinator และดีไซเนอร์ที่จะมาระดมความคิดกันเป็นกลุ่ม ๆ จนสุดท้ายก็ได้ผลงานตัวอย่าง หรือ Prototype ออกมา”

“จะเห็นได้ว่าภารกิจหลักของเรา ก็คือการผลักดันการพัฒนาเกี่ยวกับวัสดุ ที่จะไปเสริมให้กับทั้งผู้ประกอบการ โรงงาน และนักออกแบบ ผ่านการสร้างความร่วมมือและส่งเสริมการค้นคว้าวิจัย ร่วมทั้งเผยแพร่เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในวงการนั่นเอง”

เข้าใจวัสดุ ออกแบบครบ จบในที่เดียว

“ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC นั้นเหมือนเป็นเป็นหน่วยงานกลางที่จะมีข้อมูลทั้งหมดอยู่ สามารถเข้ามาหาได้ว่า ถ้าเราอยากได้แบบนี้ จะต้องใช้ใครเป็นดีไซเนอร์ หรืออยากหาผู้เชี่ยวชาญแบบไหน เราก็มีที่ TCDC Connect หรือปัจจุบันในชื่อว่า Connect by CEA มีโปรไฟล์ของนักออกแบบให้เลือกเป็นการแนะนำเบื้องต้น ถ้าถูกใจก็สามารถติดต่อกันได้

“Consult ของ Material ConneXion Bangkok ยังมีอยู่ แต่ว่าไม่ค่อยมีคนรู้ เรามีเครือข่ายความร่วมมือกับ Material ConneXion สาขาต่าง ๆ ทั่วโลก ในการหาข้อมูลเราก็คิดเป็น Operation Time ในโปรเจ็กต์นั้น ๆ ให้ เรทราคาจะขึ้นอยู่กับแต่ละโปรไฟล์ว่า ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านไหน หรือแล้วแต่โปรเจ็กต์ และขึ้นอยู่กับดีไซเนอร์หรือผู้ประกอบการ ว่าจะเห็นโอกาสอะไร และมีความต้องการแบบไหน

“แล้วก็มีเคสที่เป็นของต่างประเทศ ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ของนิวยอร์ก หรือที่มิลาน โดยเขาต้องการหา Supplier หรือวัสดุในเมืองไทย เราก็ทำการ Sourcing หาให้ เขาจะแบ่งพาร์ทมาให้เรา สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ส่งมาที่ Material ConneXion Bangkok ให้เราเข้ามาดูแล และช่วยในการ sourcing ข้อมูล แล้วส่งไปให้เขา

“แต่เรื่องของวัสดุมันมากกว่าแค่รูปลักษณ์ เป็นเรื่องการพัฒนา ไม่ใช่เรื่องกล่องพัสดุใหม่หวือหวา แต่เกิดจากการพัฒนาโดยองค์รวม จากวัสดุในท้องถิ่นนั้น ถิ่นนี้ คือทำให้สิ่งที่มีอยู่ดีขึ้นดีขึ้น ให้ตอบโจทย์ขึ้น มีประเด็นอะไรที่ควรรู้ไหม ซึ่งเป็นฐานข้อมูลวัสดุที่เรารวบรวมจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย และทุกคนสามารถใช้งานฟรีได้จากภายนอก นั่นก็คือ ฐานข้อมูลวัสดุไทย TCDC Material Database (www.tcdcmaterial.com) ที่จะเพิ่มช่องทาง โอกาสการเข้าถึงนักสร้างสรรค์ และสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้ต่อยอดมากขึ้น สนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้ต่อยอดมากกว่า ในขณะที่ฐานข้อมูล Material ConneXion ต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น “

วัสดุไทยๆในคลังข้อมูล “ย่านวัสดุ”

“วัสดุท้องถิ่นเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จ แต่จริง ๆ แล้วเราเหมือนเป็นตัวกลาง เป็นตัวเชื่อมในการที่จะเชื่อมผู้ประกอบการกับนักออกแบบ เวลาผู้ประกอบการอยากได้ข้อมูล เราก็สามารถให้คำปรึกษาในเรื่องของวัสดุได้ เช่น เรื่องแพ็คเกจจิ้งก็มีเข้ามาเยอะเหมือนกัน เราจึงแนะนำวัสดุที่สามารถทำแพ็คเกจจิ้งตามที่เขาต้องได้ อยากใช้วัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ก็ช่วยเขาทำข้อมูล และเชื่อมโยงให้เขาสามารถติดต่อกับเจ้าของวัสดุ เกิดการซื้อขายกัน

“ก่อนที่จะย้ายมาที่เจริญกรุง เราก็มี Local Material จริง ๆ แล้วเรามีการ Sourcing วัสดุอยู่แล้ว จากทุก ๆ ภาคของประเทศไทย ในทุก ๆ ปี รวมไปถึงวัสดุในกรุงเทพฯ แต่ละย่าน ซึ่งแรกเริ่มโจทย์ของย่านในกรุงเทพฯ ก็คือมีผู้สนใจถามมาว่า ผ้าแบบนี้สามารถที่จะไปหาได้ที่ไหน หรืองานบริการแบบนี้ ฉันจะต้องไปหาที่ไหน ซึ่ง Material Connexion ก็ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะไม่ใช่ล็อตใหญ่ Minimum Order ไม่พอ หรือต้องเป็นต่างประเทศ แล้วอย่างวัสดุไทย ๆ เองบางรายก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งทำให้นักออกแบบ หรือนักศึกษาที่ต้องการทำ Prototype เล็ก ๆ ไม่สามารถที่จะผลิตชิ้นงานเหล่านั้นได้

“ซึ่งตรงนี้เป็นพฤติกรรมเฉพาะของพวกเราไปเดินตามย่านช้อปปิ้ง จึงกลายเป็น “ย่านวัสดุกรุงเทพ” ขึ้นมา และทำการ Sourcing วัสดุจากย่านที่สำคัญ เริ่มจากย่านชั้นในของกรุงเทพฯ14 ย่านก่อน แล้วค่อยพัฒนาเพิ่มขึ้นก่อนที่จะย้ายมาอยู่ที่เจริญกรุง เราก็ได้มีการจัดเป็นนิทรรศการ และเปิดตัวย่านวัสดุเหล่านี้ไว้ใน https://www.tcdcmaterial.com หรือฐานข้อมูลวัสดุไทย กระแสตอบรับดีมาก มี Google Map มีแผนที่ให้ไปสืบหาต่อได้

“เหมือนเราเจอทางของเราแล้วเหมือนกัน เพราะเมื่อเราขยับมาที่เจริญกรุงพื้นที่ก็ขยายใหญ่ขึ้น นอกจาก Material Connexion แล้วก็ต้องเอา Local Material เข้ามา ตั้งแต่ที่เราตั้งศูนย์ เราก็ตั้งใจที่จะรวบรวมวัสดุ ทางผู้บริหารก็อยากให้เรารวบรวม เราควรจะมีข้อมูลของวัสดุไทย อาจจะไม่ได้ใช้ Material Connexion ไปตลอด เราควรจะมีข้อมูลของเราเอง ตอนนี้มีทั้งหมด 20 กว่าย่านแล้ว ซึ่งโครงการก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นการทำงานกับหลายกลุ่มที่เขาเข้ามาช่วยเรา

“นอกจากนี้ ยังมีวัสดุที่ผลักดันจากภาครัฐอยู่เรื่อย ๆ เช่น วัสดุในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เราก็ได้ไปทำกรณีศึกษา หรือรถไฟไทยเราเคยมีนิทรรศการรถไฟสายความสุข ที่มีการตกแต่งด้วยวัสดุท้องถิ่นให้รถไฟสายท่องเที่ยว ก็ไปศึกษาถ้าเป็นวัสดุไทยว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่จะนำไปใช้ในการตกแต่งรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเราก็มีการรวบรวมวัสดุจาก OTOP ต่าง ๆ เพื่อใช้ในงานบริการสถานีและอื่น ๆ ด้วยระยะเวลาที่สั้น เราจึงเริ่มจากใช้ฐานข้อมูลจาก Material ConneXion ก่อน ด้วยวัสดุไทยที่เรา sourcing เข้าไป ก็เลยคัดเลือกวัสดุตรงนั้นออกมา 25 ชิ้น มีการทดสอบเพื่อดูคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการตกแต่ง ไม่ว่าจะเป็นม่าน ผ้าหุ้มเบาะ ฯลฯ หลังจากนั้นเราก็คัดเลือกนำไปตกแต่งเพิ่มเติม ให้สามารถสะท้อนน้ำ หรือต้านแบคทีเรียได้ แล้วจึงค่อยส่งไปทดสอบที่ญี่ปุ่น อันนั้นก็เป็นระบบทดสอบวัสดุขอระบบรางตามมาตรฐานของรถไฟที่ญี่ปุ่น ผลที่ได้ก็มีตัวที่ผ่านการคัดเลือกด้วย จึงเห็นความเป็นไปได้ว่าจริง ๆ แล้ว วัสดุของไทยเราก็มีศักยภาพ หากมีการพัฒนาและวิจัยกันอย่างจริงจังรับรองสู้ต่างประเทศได้แน่นอน แต่ก็คงไม่ทุกชิ้นเพราะว่าการทดสอบก็ค่อนข้างมีราคาสูง และผู้ประกอบการไม่ได้สนับสนุนตรงนั้น เพราะว่าเรามีผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับ sme บริษัทใหญ่รวมไปถึง Local อย่าง OTOP ด้วย ถ้าไม่ใช่ลูกค้าสั่ง หรือต้องมีมาตรฐานตัวนี้ เขาก็ไม่ได้ทำ

“ซึ่งถ้าไม่ติดล็อกดาวน์ก็จะมีการจัดแสดงวัสดุภาคตะวันออกในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งเราเคยทำไปแล้วในหลายภูมิภาค เช่น ภาคใต้ เมื่อปี 2 ปีที่แล้ว และเมื่อปีที่แล้วเราได้ทำที่ภาคกลางจากข้อมูลที่เราไปรวบรวมมา”

สู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆของวัสดุที่ส่งเสริมความยั่งยืน

“สำหรับนวัตกรรมวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ กับการใช้งานที่หลากหลาย เรื่องของ Sustainability และ Eco Materials หรือ Waste ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมก็ครอบคลุมเป็นเกณฑ์หลัก ๆ ในการทำให้วัสดุมีความน่าสนใจมากขึ้นอยู่แล้ว 

“ยกตัวอย่างที่เคยมีเข้ามาแต่ไม่ค่อยมีคนรู้จักอย่าง ไบโอพลาสติก ณ ตอนนี้ก็เหมือนยังเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก เราจึงมีหน้าที่ทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีการให้ข้อมูลเพื่อที่จะนำไปพัฒนาต่อ หรือไปติดต่อซื้อขายต่อได้

“ที่น่าสนใจคือประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติเยอะมาก วัสดุเหลือจากธรรมชาติก็เยอะมากเช่นกัน เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีคู่แข่งในเรื่องนี้มากนัก เราจะไปสู้กับการความไฮเทคแบบของต่างประเทศไม่ได้ อย่างไบโอพลาสติกเราก็จะมาทำได้แต่ไม่ตอบโจทย์ ต่างประเทศเขาทำกันมาเป็นสิบปี เขาก็สามารถต่อยอดไปถึงไหนได้หลากหลายวิธี ทางผู้ใช้ของเขาก็เข้าใจและมีการสนับสนุน ซึ่งในเมืองไทยก็ทำมานานเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่เห็นผลถึงผู้ใช้ เพราะยังไม่สามารถทำราคาต้นทุนได้ และเหตุผลอีกหลาย ๆ อย่าง มันเป็นในรูปแบบของเชิงโครงสร้าง แต่อย่างที่บอกในเรื่องของวัสดุทางการเกษตรเยอะมาก และเป็นเรื่องของความยั่งยืนที่สามารถปลูกแล้วก็ทดแทนใหม่ได้ ซึ่งเป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมใน Material Connexion กับวัสดุการเกษตรพวกนี้มีคนสนใจกันมาก เช่น พวกกระดาษใยกล้วย หรือเป็นวัสดุทดแทนจากจุลินทรีย์โดยการนำเชื้อมาเลี้ยง แล้วก็ทำเป็นมาร์คหน้า เป็น Cosmetic เป็นไบโอเซลลูโลส เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือจุดเด่นของวัสดุที่ยั่งยืนในไทยก็ว่าได้”

ในอนาคตอันใกล้ และเศรษฐกิจ BCG

“พอกลับมามองถึงภาพอันใกล้ ความยั่งยืนที่ตอบโจทย์ BCG (Bio-Circular-Green Economic Model) เราพยายามจะทำอยู่เหมือนกัน อย่างที่เห็นใน Design Week ที่มีการนำวัสดุมารีไซเคิล หรือนำวัสดุทางการเกษตรมาสร้างสรรค์ใหม่ หรือบางสตูดิโอมีการเลือกคุณสมบัติของวัสดุประเภท Bio อย่างเชื้อรามาทดแทนเครื่องหนัง ซึ่งมีมานานกว่า 5 ปีแล้ว ในรูปแบบของแพ็คเกจจิ้ง ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวัสดุในแวดวงสิ่งทอได้

“นอกจากมีการทำเวิร์กชอปเรื่องวัสดุ พอมาอยู่ที่เจริญกรุง ด้วยพื้นที่ที่มากขึ้น เราจึงสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้นำวัสดุมา Show Case ได้ ยกตัวอย่างกรณีนี้ เราได้ร่วมกับบริษัทโรงทออยู่ในจังหวัดราชบุรี ซึ่งได้มีการส่งต่อองค์ความรู้ และการพัฒนาวัสดุ โดยเปิดโอกาสให้เขามาจัดแสดงผลงานได้ โดยเน้นไปทางเนื้อหาความรู้มากกว่า เขาก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ วางแผนกันตั้งแต่กระบวนการรีไซเคิลพลาสติก จนออกมาเป็นโปรดักต์ แล้วก็มีการให้ความรู้ตรงนี้เผยแพร่ออกไป

“ตรงนี้ก็จะถูกเลือกมาก่อนต่อยอดในเรื่องนโยบายรัฐ ประเด็น BCG ก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนโยบายอันนี้ ที่จะคัดเลือกเข้ามารวมกับวัสดุที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเองก็กระเตื้องกับเรื่องนี้เหมือนกัน

“วัสดุเหล่านี้เริ่มมีเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ อย่างของไทยก็มีติดต่อวัสดุอย่างพวกใยมะพร้าว ซึ่งวัสดุไหนที่เราเข้าไปร่วมด้วยก็จะได้รับการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เช่น เซิร์ฟสเก็ตใช้วัสดุธรรมชาติ เราได้ร่วมทำกับ Fabcafe โดยพยายามติดต่อผู้ประกอบการในการขอตัวอย่างมาทดลองทำอย่าง ใยบวบ และกระดาษฟางข้าว ถ้าปลูกเมล็ดในสเก็ตแล้วจะเป็นรูปแบบยังไง พอวัสดุเสื่อมไปจะกลายเป็นยังไง ซึ่งบางเทคนิคก็ยากในการประกอบเข้าด้วยกัน”

วัสดุคือรายละเอียดที่ส่งเสริมงานออกแบบในหลากมิติ

“จริง ๆ วัสดุนั้น มีความสำคัญต่อการเป็นโปรดักต์ หรือสินค้า วัสดุที่ดีวัสดุที่ตอบโจทย์ทำให้วัสดุมีคุณค่าและเพิ่มมูลค่าทางการค้าได้ รวมถึงสตอรี่ต่าง ๆ จริง ๆ วัสดุก็เป็นหนึ่งในวงจร คนอาจจะไม่ได้มองว่าสำคัญ คนอาจจะมองว่าดีไซน์สำคัญกว่า กระบวนการสำคัญกว่า แต่ถ้าหากเรามีในเรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือวัสดุเข้าไปช่วย ก็จะทำให้โปรดักต์นั้นดีขึ้นไปอีก สามารถยกระดับได้

“ทิศทางของ Material & Design Innovation Center น่าจะเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการเป็นหลัก เพราะถ้ามองถึง Material กลับ Design เลยก็ต้องตอบว่าใช่ โดยทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับวัสดุที่ดีที่สุดในระดับเอเชีย แต่ตอนนี้เราก็พัฒนาในระดับภูมิภาคก่อน ซึ่ง ณ ตอนนี้เราเป็นหน่วยข้อมูลที่มีข้อมูลทางวัสดุทั่วภูมิภาคของประเทศ และพัฒนาฐานข้อมูลให้มีฟังก์ชั่นมากขึ้น ส่วนมากก็จะเป็นโปรดักต์ มันก็จะมีแหล่งข้อมูลไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่เป็นพวกความยั่งยืน หรือที่เป็นวัสดุใหม่ ๆ ด้วย User ของตัว TCDC เอง ก็จะเน้นโปรดักต์มากกว่า และก็มีพื้นที่ให้สำหรับในการจัดแสดง หรือสามารถที่จะมาให้เป็นช่องทางเข้าถึงผู้ประกอบการรวมถึงเป็นแหล่งข้อมูลวัสดุให้กับนักสร้างสรรค์ได้นำไปต่อยอด

“ซึ่งเราก็มีข้อมูลใหม่อัพเดตทุก ๆเดือน ต้องเข้ามาอ่านและเข้ามาอัพเดต และถ้าผู้ประกอบการมีวัสดุที่น่าสนใจก็สามารถมานำเสนอได้ ซึ่งเราเปิดรับตลอด โดยสามารถส่งเข้ามาในอีเมล [email protected] หรือโทรเข้ามาสอบถามที่ศูนย์ฯ แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ส่งสายเข้ามาให้ที่นี่ เพื่อที่จะทำข้อมูลเบื้องต้นและนัดคุยกันต่อไป”


ติดต่อ Material & Design Innovation Center
ชั้น 2 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ
โทร. 0-2105-7400 ต่อ 254 อีเมล [email protected]

ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, พรปวีณ์ ผาจันทร์

เรื่อง: วุฒิกร สุทธิอาภา, j – bob