103PAPER ของตกแต่งที่สร้างความหมายใหม่ให้เศษกระดาษไร้ค่า

คอลเล็กชั่นประติมากรรมจาก 103PAPER โดยคุณวิทยา ชัยมงคล และคุณอัจฉรา ตันนี นำเสนอแนวทางใหม่ของผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน ด้วยวัสดุเรียบง่ายอย่างดินกระดาษ ที่ทำมาจากเศษกระดาษใช้แล้ว ผสานกับความงามเชิงศิลป์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มได้อย่างน่าสนใจ และนี่คืออีกหนึ่งในแบรนด์ไทยน่าจับตาจากโครงการ Talent Thai โดย DITP หรือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

หลังจากจบการศึกษาจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คุณวิทยาทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มาตลอด เขาคือผู้กำกับศิลป์ที่อยู่เบื้องหลังหนังดังหลายเรื่องไปจนถึงภาพยนตร์โฆษณามากมาย และเมื่ออาร์ตไดเร็กเตอร์หันมาสร้างแบรนด์ของตกแต่งบ้านจากงานอดิเรกที่เขาหลงใหล 103PAPER จึงเป็นเหมือนคอลเล็กชั่นงานศิลปะ ที่ถ่ายทอดแนวคิด และตัวตนของคุณวิทยาได้อย่างชัดเจน

คุณวิทยา ชัยมงคล และคุณอัจฉรา ตันนี ผู้ก่อตั้งแบรนด์

ก่อนเกิด 103PAPER

“สิบกว่าปีก่อน ตอนที่ทำงานฟรีแลนซ์เป็นอาร์ตไดเร็กเตอร์ พอมีเวลาว่าง ผมมักหาพื้นที่แสดงออกด้านศิลปะของตัวเอง ลองหางานอดิเรกที่เราสนใจ ซึ่งช่วงนั้นผมสนใจงานปั้นเป็นพิเศษ แต่อย่างเซรามิกเราก็พอเข้าใจกระบวนการอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่มีทักษะ ก็เลยลองหาวัสดุที่ทำงานง่ายกว่านั้น”

เมื่อโจทย์เริ่มต้นคืองานอดิเรก คุณวิทยาจึงเลือกทำงานปั้นด้วยวัสดุที่หาง่ายใกล้ตัวอย่างกระดาษใช้แล้วหลากหลายชนิด โดยนำมาทดลองหาส่วนผสม เพื่อขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่าง ๆ หลังจากลองผิดลองถูก และสนุกกับงานอดิเรกนี้อยู่หลายปี จนเกิดผลงานจำนวนหนึ่ง พาให้เขาลองหาแนวทางใหม่ในเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก

“ย้อนกลับไปตอนนั้นเราไม่ได้คิดหรอกว่าทำแล้วจะขายได้ เพราะเราไม่ได้ตั้งใจสร้างสรรค์เพื่อการตลาด ไม่ได้โฟกัสเลยว่าคนซื้อจะชอบอะไร เราแค่ทำในแบบที่เราชอบไปเรื่อย ๆ พองานเริ่มเยอะเลยลองเอาไปวางขายดู ที่แรกเป็นตลาดกลางคืน ช่วงนั้นเลยต้องทำงานถ่ายหนังกลางวัน ขายของกลางคืนอยู่ประมาณหกเดือนได้ แต่ก็คุ้มเพราะเราได้รู้ผลลัพธ์ว่า มันขายได้ และขายได้ในราคาที่เราพอใจด้วย ทำให้เราเริ่มจริงจังกับมัน ชิ้นแรกที่ขายได้ดีใจมาก น้ำตาไหลเลย และก็ใจหายด้วยที่งานเราต้องไปอยู่กับคนอื่น”

สร้างความหมายใหม่ให้เศษกระดาษ

งานแต่ละชิ้นของคุณวิทยาเกิดจากกระบวนการงานฝีมืออย่างค่อยเป็นค่อยไป หากมองในแง่ธุรกิจ ก็อาจกล่าวได้ว่า “เวลา” คือหนึ่งในต้นทุนหลักของงานทุกชิ้น เริ่มตั้งแต่การรวบรวมวัตถุดิบกระดาษเหลือใช้ชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษใช้แล้วจากสำนักงาน หรือจากกองถ่ายภาพยนตร์ เศษกระดาษใบเสร็จหรือตั๋วหนัง ไปจนถึงฝุ่นกระดาษลังละเอียดโดยแยกประเภทกระดาษที่มีสีสันแตกต่างกันออกจากกัน แช่ในถังหมักให้เปื่อยยุ่ย ก่อนนำไปผสมตามสูตรให้ได้สีสัน และเนื้อดินกระดาษที่ต้องการ เพื่อใช้ในการขึ้นรูปชิ้นงาน จากนั้นทิ้งชิ้นงานไว้ 5-7 วัน จนแห้งสนิท ซึ่งต้องปล่อยให้ค่อย ๆ แห้งตามธรรมชาติ เพื่อให้ผิวชิ้นงานเรียบเสมอกันไม่มีรอยแตก

“ถึงจะทำจากกระดาษเหมือนกัน แต่งานของผมต่างจากเปเปอร์มาเช่ ที่เกิดจากการทาสีเคลือบผิวกระดาษไว้ ผมตั้งใจจะเผยให้เห็นเนื้อกระดาษที่แท้จริง มันจึงสร้างความแตกต่างในแต่ละชิ้นได้ งานทุกชิ้นผ่านมือเรา เราส่งต่อพลังงานสู่ทุกชิ้นงาน เลยเป็นเหมือนความผูกพัน ซึ่งผมว่านี่คือคาแรกเตอร์ของแบรนด์ เราจะปล่อยให้ตัววัสดุ ได้มีพื้นที่ในการทำงานหรือแสดงตัวตนของมันเอง บางจุดบนพื้นผิวชิ้นงานเราก็ปล่อยให้ด่าง เป็นร่องรอยของวัสดุ ไม่ควบคุมหรือพยายามทำให้เรียบร้อยไปเสียหมด”

คุณวิทยาจำหน่ายงานสร้างสรรค์แบบผลิตตามคำสั่งซื้อ (Custom-made) จึงเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในชิ้นงานเหล่านั้นได้ผ่านการนำกระดาษ ที่มีความหมายส่วนตัวมาเป็นใช้เป็นวัตถุดิบ สะท้อนถึงความผูกพัน และที่มาของเศษกระดาษที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นลอตเตอรี่ ตั๋วหนัง ตั๋วเรือ จดหมาย ฯลฯ กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์จึงมักเป็นกลุ่มคนซื้อบ้านใหม่ เริ่มต้นตกแต่งบ้าน มีเป้าหมายในการซื้อเพื่อการตกแต่งชัดเจน รวมไปถึงลูกค้าส่งออกในตลาดต่างชาติอย่างฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ที่มักพรีออเดอร์ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบประติมากรรม

“ผมรู้ตัวว่างานของเราจะอาร์ตก็ไม่อาร์ตเสียทีเดียว จะทำแบบอุตสาหกรรมก็ไม่ได้เพราะผลิตได้ทีละไม่เยอะ ดังนั้น เรารู้สึกเหมือนอยู่ตรงกลาง ระหว่างงานศิลปะและสินค้าเชิงพาณิชย์ แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราจำเป็นต้องเลือกไปทางใดทางหนึ่ง ผมอยากให้เป็นงานอาร์ตกึ่งคอมเมอร์เชียลแบบนี้แหละ ผมมองว่านี่คืองานศิลปะ ผมเพิ่มฟังก์ชันของการเป็นแจกันเป็นฟังก์ชั่นรองด้วยซ้ำ การที่เราสร้างสรรค์งานไว้เพื่อชื่นชม ก็เป็นฟังก์ชั่นอย่างหนึ่งสำหรับผมเหมือนกัน”

อีกก้าวกับ Talent Thai

ถ้าคุณวิทยาคือศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน คุณอัจฉราก็คงไม่ต่างจากผู้จัดการส่วนตัว และที่ปรึกษาของแบรนด์ พวกเขาสานต่อความเป็นไปได้ของธุรกิจใหม่นี้ โดยเริ่มจากการส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีต่าง ๆ ด้วยจุดประสงค์หลักคือการเผยแพร่ผลงานให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น คุณอัจฉราเล่าให้ฟังถึงช่วงที่พาแบรนด์ใหม่เอี่ยมนี้ก้าวผ่านประตูแห่งโอกาสบานแรก

“หลังจากทดลองขายของไปได้สักพักเราก็เริ่มจริงจัง และเริ่มส่งงานเข้าประกวด ซึ่งจุดประสงค์หลักคือการทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ตอนส่งประกวดรางวัล DEmark ปีแรก ๆ ก็ไม่ได้รางวัล แต่แค่ได้ร่วมแสดงผลงานก็ดีใจมากแล้ว ส่งประกวดอยู่ 3 ปี จนได้รางวัลในปี 2019 จนถึงวันนี้ ทีมเจ้าหน้าที่ที่กรมส่งเสริมการส่งออกก็เหมือนเป็นเพื่อนเรามาตลอด จะชวนไปออกบู๊ธ ชวนไปร่วมโครงการต่าง ๆ จนมีหน่วยงานต่างๆ มาชวนไปทำกิจกรรมด้วย อย่างโครงการ Material Japan จนถึงวันนี้ ก็ยังคงร่วมกิจกรรมกับเขาอยู่”

มาถึงวันนี้คุณวิทยาบอกว่า 103PAPER กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเริ่มเป็นที่รู้จัก พวกเขาก็พบกับกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่การเรียนรู้เพื่อต่อยอดยังคงต้องดำเนินต่อไป และการเข้าร่วมโครงการ Talent Thai ในปีนี้ ก็อาจเป็นเหมือนการเปิดประตูอีกบานสู่โอกาสครั้งใหม่ในการเรียนรู้เชิงธุรกิจ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างแบรนด์ไทยด้วยกัน

“การร่วมงานกับโครงการ Talent Thai ช่วยให้เรามีโอกาสใหม่ ๆ เพราะผมเองก็อยากไปเจอผู้ประกอบการแบรนด์อื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งมีประโยชน์มาก ที่เราได้รู้ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง ประยุกต์แนวคิดกันอย่างไร ยิ่งในโครงการ Talent Thai มีคนที่มีประสบการณ์สูง การที่ผมได้พูดคุยก็เหมือนได้กำลังใจ ได้แรงบันดาลใจ ได้หวนกลับมาคิดทบทวน ทำความเข้าใจสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อมาต่อยอดงานของเราเอง อย่างเราไปเจอคนทำผ้าคราม ทำสีธรรมชาติ เราก็แลกเปลี่ยนความรู้กัน เป็นการสร้างความร่วมมือใหม่ ๆ ระหว่างแบรนด์ มันคือการเปิดโอกาสให้ตัวเองด้วย”

“เนื่องจากจุดเริ่มต้นของเรามันไม่ใช่เรื่องของธุรกิจเลย ดังนั้นในเรื่องของการทำแบรนด์ นอกจากทำผลิตภัณฑ์ให้ดีแล้ว มันก็มีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เราต้องเรียนรู้เพิ่ม ซึ่งเราก็คาดหวังว่าการเรียนรู้ไปพร้อมกับโครงการ Talent Thai จะช่วยให้เราทำงานได้อย่างเป็นระบบขึ้น สื่อสารแบรนด์ได้ดีขึ้น แต่ก่อนเราก็มุ่งเน้นแต่ด้านผลิตภัณฑ์ แต่พอลองทำธุรกิจจริง เราพบว่าเราต้องรู้ให้รอบในภาพรวม ต้องเรียนรู้สิ่งที่เราไม่เคยรู้ มันถึงจะไปต่อได้”

ความท้าทายของแบรนด์รักษ์โลก

103PAPER กลายเป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์ที่ใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดขยะจากวัสดุเหลือใช้ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและถือเป็นเรื่องท้าทาย ที่แบรนด์ขนาดเล็กจะควบคุมปัจจัยทุกอย่างให้ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน คุณวิทยากำลังพัฒนาทุกขั้นตอน และกระบวนการผลิต รวมถึงที่มาที่ไปของวัตถุดิบทั้งหมด ให้เป็นไปตามแนวทางนี้อย่างแท้จริง
“เราพยายามใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นจริง ๆ ทุกชิ้นงานเราเคลือบผิวแค่ 70-80% เพื่อคงผิวสัมผัสจริงของวัสดุไว้ เวลาใช้งานแจกันก็สามารถเช็ดทำความสะอาดได้ แต่ก็ไม่ได้กันน้ำ 100% จึงเน้นการตกแต่งด้วยดอกไม้แห้ง นอกจากนี้ ผมก็พยายามสร้างสีสันจากวัสดุธรรมชาติอย่างคราม ขมิ้น เปลือกมังคุด กระเจี๊ยบ ซึ่งช่วยให้เกิดผิวสัมผัสพิเศษ สีสันแปลกใหม่ บางครั้งให้ลวดลายเหมือนสายแร่ในชั้นหิน บางทีก็ใช้กากกาแฟ ใบชา ก็ช่วยสร้างผิวสัมผัส และลดกลิ่นของกระดาษได้ด้วย”

“นอกจากเรื่องวัตถุดิบ กระบวนการ ในฐานะที่เป็นงานฝีมือล้วน ๆ มันก็มีความท้าทายในการผลิตที่ต่างจากงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ถึงจะมีงานต้นแบบอยู่ แต่เราก็ไม่สามารถทำให้ได้เหมือนเดิมเป๊ะ เราทำได้แค่จดจำเรื่องราวของงานต้นแบบให้มากที่สุด เพื่อทำให้เหมือนเดิมมากที่สุด ซึ่งลูกค้าก็เข้าใจ บางชิ้นผ่านไปหลายปี กลับมาผลิตซ้ำอีกครั้ง วิธีการหรือความคิด ก็อาจเปลี่ยนไปแล้ว” คุณอัจฉรากล่าวเสริม

ก้าวต่อโดยไม่หยุด

“มาถึงปัจจุบัน ผมพยายามออกแบบชิ้นงานให้เหมาะสมกับคนหลายๆ กลุ่ม โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก ก็ยังคงเน้นวัยทำงาน คนที่ชอบการแต่งบ้าน มองหาของที่สะท้อนตัวตนของเขา แต่เราก็เข้าใจว่านี่คือสินค้าฟุ่มเฟือย ผมจึงพยายามสร้างอารมณ์ให้กับชิ้นงาน ให้ทุกคนอยากเป็นเจ้าของส่ิงนี้ ถ้ามีองค์ประกอบทางอารมณ์อยู่ในงาน มันจะไปสะดุดตาคนที่เห็นคุณค่าแล้วคลิกเอง ผมเชื่อว่างานของเรามีจิตวิญญาณหรือพลังงานบางอย่าง ที่เลือกลูกค้าด้วยตัวมันเองได้”

จากการสร้างสรรค์ชิ้นงานแบบชิ้นต่อชิ้น ตอนนี้คุณวิทยาทดลองแนวทางใหม่ ในการสร้าง “วัสดุ” จากดินกระดาษ ก่อนนำมาต่อยอดเป็นชิ้นงาน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงขยายโอกาสสู่ตลาดใหม่ ๆ สำหรับวัสดุตกแต่ง

“แนวคิดในการออกแบบตอนนี้ต่างจากเมื่อก่อน เมื่อก่อนเอาดินกระดาษมาขึ้นรูปชิ้นงานเลย แต่ทุกวันนี้คือเราเอาดินมาสร้างเป็นชิ้นวัสดุก่อน แล้วค่อยนำมาสร้างชิ้นงาน เช่น เอาดินกระดาษมาทำเป็นทรงกรวย แล้วค่อยนำทรงกรวยหลาย ๆ ยูนิตมาสร้างประติมากรรมอีกที อยากให้เป็นลายเซ็นของเรา ในช่วงแรก ๆ ผมลองทำเป็นกระเบื้อง เราพยายามต่อยอดมาหลายครั้ง จนตอนนี้เราก็พยายามคลี่คลายให้กลายเป็นงานศิลปะบนผนัง (Wall art) ซึ่งผมมองว่าก็มีศักยภาพสำหรับงานโปรเจ็คต์อย่างโรงแรม รีสอร์ต ในอนาคต แต่เราก็ยังคงไว้ซึ่งความเป็นงานฝีมือ ไม่อยากให้กลายเป็นอุตสาหกรรม”

จากงานอดิเรกส่วนตัว มาสู่แบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ​ 103PAPER เป็นเหมือนทั้งบทพิสูจน์ และผลลัพธ์ของความหลงใหลในการสร้างสรรค์ และท่ามกลางความเป็นไปได้ใหม่ ๆ มากมายบนเส้นทางสู่ความสำเร็จในอนาคตนั้น บางทีความมุ่งมั่น และเจตนารมณ์อันแน่วแน่อาจคือคำตอบในการสร้างแบรนด์สักแบรนด์

“ตั้งแต่มาทำแบรนด์นี้ คือผมไม่มีวันหยุด เราทำต่อไปเรื่อย ๆ ผมว่ามันยังอยู่ในช่วงเวลาการเดินทางของแบรนด์ เรายังหยุดไม่ได้ มันไม่มีเหตุผลให้หยุด คนที่เก่งกว่าเรายังไม่หยุดเลย ผมคิดแบบนั้น แต่ถ้าทุกอย่างมั่นคง ก็คงรีแล็กซ์ได้มากขึ้น”

——

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
โทร: 063 635 9905
เว็บไซต์: www.103paper.com
FB และ IG: @103paper
อีเมล: [email protected]


VANZTER เปลี่ยนเศษไทเทเนียมเป็นของตกแต่งเปี่ยมจิตวิญญาณเด็กแว้น