รวมทุกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับงานฮาร์ดสเคป หรือ งานก่อสร้างในสวน

นอกจากการปลูกต้นไม้ในสวนแล้ว งานฮาร์ดสเคป หรือการก่อสร้างองค์ประกอบภายในสวนที่ต้องใช้โครงสร้างถาวรหรือกึ่งถาวรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนควรรู้ เพื่อนำไปใช้ในการลงมือก่อสร้างด้วยตัวเอง หรือนำไปคุยกับช่างก่อสร้าง เพื่อให้ก่อสร้างส่วนต่าง ๆ ในสวนได้อย่างถูกต้อง

งานฮาร์ดสเคป หรืองานก่อสร้างในสวน ไม่ว่าจะเป็น ส่วนทางเดิน ศาลา บ่อปลา หรือระบบให้แสงสว่าง บ้านและสวน มีเรื่องที่ต้องรู้มาแนะนำดังนี้

สวนน้ำตกดูเป็นธรรมชาติเหมือนน้ำตกจริงๆโดยใช้ระดับความสูงของตัวน้ำตกที่เกิดจากการวางแผนปรับพื้นที่ให้มีระดับความสูงต่ำไม่เท่ากัน แล้วใช้ดินขุดบ่อไปถมในส่วนน้ำตก

การปรับระดับพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญ

การปรับระดับพื้นที่ควรเป็นสิ่งแรกที่ทำหลังจากการออกแบบสวนและเริ่มจัดสว นเพื่อให้ได้ระดับความสูงต่ำ เนินดิน ตลิ่งริมน้ำ หรือทางระบายน้ำ ไม่ควรออกแบบให้ทางลาดสูงชันมาก โดยเฉพาะพื้นที่แคบ ๆ เพราะ เสี่ยงต่อดินพังทลายจากการกัดเซาะของน้ำฝน และไม่สะดวกต่อการตัดแต่งดูแล

สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณที่ต่ำมีน้ำท่วมถึง อาจไม่จำเป็นต้องเลือกแนวทางการถมดินให้มีระดับสูงกว่าระดับน้ำท่วมเสมอไป อาจใช้การปรับระดับโดยการขุดดินในบริเวณหนึ่งให้สามารถรับน้ำเพิ่มและรองรับน้ำที่ระบายไป แล้วนำดินที่ขุดได้ไปถมในบริเวณที่จำเป็นสำหรับใช้งาน โดยไม่ต้องเสียค่าดินในการถมและช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ หลีกเลี่ยงผลกระทบที่ไม่ดีต่อพื้นที่ใกล้เคียงและรบกวนสิ่งแวดล้อมเดิมให้มากที่สุด

ที่นั่งสามารถใช้ระดับความสูงเดียวกับกระบะปลูกได้ โดยทำระยะขอบแปลงให้ลึกเข้าไปเพื่อใช้งานฮาร์ด สเคปร่วมกัน ทำให้สวนเกิดลูกเล่นมากขึ้น

การกำหนดระยะงานฮาร์ดสเคป

ต้องเหมาะสมกับลักษณะการใช้งานของมนุษย์ เช่น ทางเดินในสวนควรมีขนาดพื้นให้คนปกติและรถเข็นสามารถผ่านได้ โดยทั่วไปควรมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 80 เซนติเมตร ถ้าเล็กกว่านี้คนจะเดินทางผ่านกันลำบาก และยังเบียดทำลายต้นไม้ข้างทางเดินได้ และควรมีระยะทางไม่ยาวเกินไป รวมถึงต้องมองเห็นได้ชัดเจน

มุมที่นั่งบนขอบกระบะปลูกต้นไม้ควรออกแบบให้มีระยะความสูง 45-50 เซนติเมตร ลึก 40-60 เซนติเมตร หากต้องการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนที่เดินผ่านหรือให้คนที่อยู่ใกล้กันหันหน้าเข้าหากัน แต่หากต้องการความเป็นส่วนตัว เพียงเว้นที่นั่งไว้ในระยะคนนั่งหนึ่งคนและหันหน้ามองไปทางเดียวกันก็ทำให้รู้สึกแบ่งแยกออกจากกัน แม้วางที่นั่งไว้ในบริเวณใกล้กัน

รั้วบ้านปลูกไทรเกาหลีเป็นรั้วต้นไม้และฉากหลังที่ดูสบายตา พร้อมทำกำแพงน้ำพุที่ปลูกเหลืองชัชวาลให้เลื้อยเกาะกำแพงเป็นชุดเด่นแก่สวน

รั้วบ้าน

รั้วถือได้ว่าเป็นทั้งหน้าตาของบ้านและยังเป็นส่วนที่ช่วยบ่งบอกอาณาเขตบ้าน รวมถึงสร้างความรู้สึกปลอดภัย โดยที่นิยมทำกันคือการออกแบบรั้วคอนกรีตกรุด้วยผิววัสดุหรือทาสีสันตามที่ต้องการ โดยเลือกใช้ให้เหมาะตามรูปแบบของบ้านและสวน บ้างก็ใช้รั้วจากตะแกรงเหล็ก ระแนงไม้  ลวดหนาม หรือเหล็กดัดตามความเหมาะสม โดยมักเพิ่มเติมความมีชีวิตชีวาด้วยเหล่าไม้เลื้อยสีสันสดใส ซึ่งบางชนิดจำเป็นต้องมีผิวสัมผัสหรือสิ่งพยุงให้ยึดเกาะ เช่น เส้นลวด หรือเส้นเอ็น

นอกจากไม้เลื้อยแล้ว ยังนิยมปลูกไม้พุ่มทรงสูงที่พุ่มแน่นแนบไปกับรั้วโปร่ง เช่น ไทรเกาหลี ชาดัด โมก ซึ่งช่วยกรองฝุ่นละออง ลดความร้อนให้บ้าน และสร้างความเป็นส่วนตัวได้ แต่ควรหมั่นตัดแต่งให้แตกกิ่งใหม่และทรงพุ่มหนาอยู่เสมอ

หลีกเลี่ยงการปูพื้นด้วยอิฐดินเผาในบริเวณที่มีความชื้นมากและแสงแดดรำไร เนื่องจากในช่วงฤดูฝนจะเกิดตะไคร่ขึ้นเกาะจนพื้นลื่นเป็นอันตรายได้ หากจำเป็นต้องใช้ควรหมั่นขัดทำความสะอาดและโรยทรายหยาบที่พื้นผิวอิฐ

การปูพื้นทางเดิน

วิธีการปูพื้นทางเดินแบ่งออกเป็น 2 แบบหลัก ๆ  ไม่ว่าจะใช้กับแผ่นหินทางเดิน อิฐดินเผา กรวด แผ่นคอนกรีต บล็อกตัวหนอน ฯลฯ

– วางไปกับพื้นดิน โดยจะใช้พลั่วเซาะผิวดินให้มีความหนาและขนาดตามแผ่นทางเดินที่ต้องการปู ส่วนใหญ่จะมีความลึก 5 เซนติเมตร จากนั้นเททรายหยาบหนา 2-3 เซนติเมตร เพื่อรองพื้นและใช้เกรียงปาดเพื่อปรับระดับ จากนั้นจึงนำแผ่นทางเดินมาปูทับ และเคาะเบาๆให้กระเบื้องเรียบไปกับผิวดิน อย่าให้เอียงทรุดไปด้านใดด้านหนึ่ง วิธีนี้เหมาะกับทางเดินที่รับน้ำหนักเล็กน้อย

– รองรับด้วยพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก มักใช้กับบริเวณทางเดินที่ใช้งานบ่อยและต้องรับน้ำหนักมาก โดยเตรียมพื้นที่ด้วยดินบดอัดแน่น จากนั้นทำพื้น ค.ส.ล.หนา 10 เซนติเมตร เสริมด้วยเหล็กเส้นกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 มิลลิเมตร ผูกเป็นตะแกรงขนาด 15 x 15 เซนติเมตร จากนั้นวางขอบทางเดินสำเร็จรูปบริเวณขอบทางเดินและเททรายหยาบหนา 5 เซนติเมตรทั่วทางเดิน จากนั้นจึงนำแผ่นทางเดินที่ต้องการมาวางทับ

บ่อปลาแบบคอนกรีตดูเป็นธรรมชาติขึ้น โดยการตกแต่งขอบบ่อด้วยหินฟองน้ำที่ปล่อยให้มอสส์และเฟินขึ้นเกาะอย่างเป็นธรรมชาติ

ทำบ่อปลาและลำธาร

บ่อปลาในสวนมีทั้งแบบบ่อธรรมชาติและบ่อคอนกรีต สำหรับบ่อแบบธรรมชาตินิยมใช้แผ่นพลาสติกกันน้ำซึมไว้ภายใน ส่วนแบบคอนกรีตจะต้องเตรียมทำโครงสร้างด้วยการคำนวณ จากการสำรวจสภาพดิน ความกว้าง ความลึก หากดินแข็งสามารถทำฐานเทคอนกรีตเสริมเหล็กลงในพื้นที่ โดยไม่ต้องใช้เสาเข็ม ถ้าดินมีลักษณะเป็นดินอ่อนอย่างในบริเวณกรุงเทพมหานคร ควรตอกเสาเข็มยาว 1 เมตรต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ในการเทคอนกรีตควรผูกเหล็กให้มีระยะห่าง 30 เซนติเมตร และอย่าลืมเก็บขอบบ่อให้เป็นธรรมชาติด้วยหินธรรมชาติสลับก้อนเล็กใหญ่ และปลูกต้นไม้แทรก

แบบบ่อปลาและน้ำตกในสวน พร้อมพรรณไม้ปลูกสำหรับรอบๆ [บอกชื่อต้นไม้]

นอกจากทำระบบกรองที่ดีแล้ว ยังใช้ร่มเงาจากต้นไม้และบ้านช่วยลดการเกิดตะไคร่น้ำ ทำให้น้ำในบ่อดูใสเสมอ

วิธีทำให้บ่อปลาใส

สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำในบ่อขุ่นส่วนใหญ่มาจากการที่บ่อมีตะไคร่น้ำมากเกินความจำเป็น ซึ่งตะไคร่น้ำก็เกิดมาจากจุลินทรีย์ในน้ำย่อยสลายของเสียที่ปลาขับถ่ายออกมาจนกลายเป็นปุ๋ยไนเตรต เมื่อทำปฏิกิริยากับแสงแดดและน้ำ จึงเกิดเป็นพืชน้ำจำพวกสาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่าตะไคร่น้ำนั่นเอง

เราสามารถแก้ปัญหาได้โดยการพรางแสงให้บ่อปลาเพื่อลดการเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำ โดยใช้ต้นไม้ใหญ่ที่ใบมีขนาดใหญ่ ร่วงไม่มาก และเก็บกวาดง่าย อย่างจิกทะเล ตีนเป็ดน้ำ ไคร้ย้อย เป็นต้น หรืออาจออกแบบบ่อปลาให้ได้ร่มเงาจากบ้านหรือศาลาก็ได้

ตะไคร่น้ำที่เกาะผนังบ่อเป็นกลุ่มแน่นช่วยให้น้ำใสขึ้นแสดงว่าบ่อปรับสภาพได้ดีแล้ว ไม่ควรขัดออก แต่ตักเพียงเศษใบไม้และตะไคร่ที่ลอยน้ำออก ที่สำคัญควรมีบ่อกรองที่หมั่นตรวจสอบระบบไหลเวียนอยู่เสมอ

ผิววัสดุที่เป็นธรรมชาติอย่างไม้เป็นที่นิยมใช้สำหรับทำสะพานและท่าน้ำมาก เนื่องจากให้ผิวสัมผัสและสีสันเหมาะสม แต่ก็ตามมาด้วยการดูแลรักษาที่มากตามไปด้วย ส่วนมากใช้แค่ทำตัวพื้นเท่านั้น ส่วนที่แช่น้ำจะใช้วัสดุอื่น

ทำศาลาท่าน้ำและสะพาน

เนื่องจากงานฮาร์สเคปลักษณะนี้เป็นสิ่งก่อสร้างใกล้แหล่งน้ำหรือสัมผัสกับน้ำโดยตรง ดังนั้นในส่วนที่ใช้วัสดุทำจากเหล็ก เช่น ราวกันตก ราวลูกกรง หรือส่วนอื่น ๆ จำเป็นต้องทาสีกันสนิมทับอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือชุบสีกันสนิม เพื่อป้องกันและรองพื้นวัสดุก่อนทาสีตกแต่งผิวภายนอก ส่วนที่สัมผัสน้ำโดยตรง เช่น เสาตอม่อ หรือขั้นบันไดควรเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หากเป็นไม้จริงจะผุ โดยเฉพาะบริเวณที่สัมผัสกับน้ำและในบริเวณอื่น ๆ ควรทาน้ำยาเคลือบผิวไม้และกันปลวก หรือทาสีทุก 2 ปี หมั่นตรวจซ่อมแซมความเสียหายเสมอ และทำความสะอาดคราบตะไคร่น้ำ พร้อมมีราวกันตกเพื่อความปลอดภัยกับผู้ใช้งานโดยเฉพาะผู้สูงอายุ

สปริงเกลอร์แบบหัวมินิสเปรย์ใช้สำหรับให้ความชุ่มชื้นในระหว่างวัน ไม่สามารถให้ความชื้นกับต้นไม้ใหญ่ที่รากลึกได้ อีกทั้งยังควบคุมรัศมีการกระจายได้น้อยต่างจากสปริงเกลอร์แบบอื่น

งานประปาและรดน้ำต้นไม้

การรดน้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ถือว่าเป็นเรื่องที่หลายสวนนิยมทำกัน โดยแยกออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ได้แก่

-ท่อพีอีที่ต่อเชื่อมกันด้วยความร้อนหรือข้อต่อพีอีสำเร็จรูป นิยมเดินท่อให้เกาะไปกับแนวรั้วรอบสวนหรือฝังลงดินลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร เพื่อกระจายน้ำรอบๆสวนอย่างทั่วถึง ปลายท่อต่อกับหัวสปริงเกลอร์ที่มีให้เลือกหลายชนิดตามลักษณะและรัศมีการกระจายน้ำที่ต้องการ

-ตัวควบคุมหรือคอนโทรลเลอร์เป็นอุปกรณ์สำหรับตั้งเวลารดน้ำต้นไม้เชื่อมต่อกับจุดจ่ายน้ำโดยตรงและวาล์วไฟฟ้าหรือโซลีนอยด์วาล์วเพื่อเป็นจุดเปิด-ปิดน้ำ มีให้เลือกทั้งแบบกำหนดเองในแต่ละวัน แบบตั้งเวลาในแต่ละวัน หรือแบบที่เชื่อมกับอุปกรณ์ตรวจจับความชื้นในอากาศและในดิน

-ปั๊มน้ำและแท็งก์สำรองน้ำ ส่วนมากจะแยกแท็งก์น้ำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการรดน้ำแบบสปริงเกลอร์ สำหรับบ้านที่มีพื้นที่ขนาด 100 ตารางว่าควรมีถังสำรองน้ำที่มีความจุ 1,000 ลิตร และควรมีปั๊มที่มีแรงดันเหมาะสม ขึ้นอยู่กับลักษณะหัวปริงเกลอร์หากเป็นแบบฝอยควรใช้ปั้มแรงดัน 40 psi หากเป็นหัวแบบหมุนกระจายฉีดน้ำควรมีแรงดันไม่ต่ำกว่า 45 psi และสำหรับน้ำหยุดใช้เพียงแรงดัน 30 psi ก็เพียงพอ

การระบายน้ำในบ้าน ท่อระบายน้ำในบ้าน
ท่อระบายน้ำ ระบายน้ำ

ข้อควรระวังสำหรับงานประปาและระบายน้ำ

-การเพิ่มจำนวนสปริงเกลอร์จำเป็นต้องเพิ่มขนาดแท็งก์น้ำสำรองจ่ายด้วย ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากตามไปด้วย

-ไม่ควรปลูกต้นไม้ยืนต้นใกล้บ่อพัก บ่อบำบัด หรือท่อระบายน้ำ เพราะรากต้นไม้อาจไปสร้างความเสียหาย

-การทำสวนจำเป็นต้องคิดหาพื้นที่สำหรับจัดเตรียมเพื่อวางปั๊มน้ำและตู้ควบคุมระบบรดน้ำต้นไม้ไว้ด้วยกันเสมอ

-การออกแบบสนามหญ้าที่มีความราบควรวางบ่อพักระบายน้ำหรือท่อระบายน้ำใต้ดิน ฝังไว้ใต้สนามหญ้าเพื่อช่วยระบายน้ำฝนจากดินไปสู่บ่อพักที่ใกล้ที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจเกิดน้ำขังที่สนามหญ้าได้ไม่ยาก

-หากต้องสร้างพื้นลานหรือเฉลียงทับกับบ่อพัก บ่อเกรอะ-บ่อซึม บ่อบำบัดสำเร็จรูป ต้องทำฝาที่พื้นที่ทำใหม่ด้วย เพื่อง่ายต่อการเปิดไปบำรุงรักษาได้ ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ทับไปเลยโดยเด็ดขาด

ไฟสนามยิ่งติดสูงยิ่งให้แสงสว่างแบบกระจาย ไม่เจาะจง ทำให้เห็นภาพรวมของสวนในตอนกลางคืนได้ชัด แต่จะเห็นเงามืดและรายละเอียดบางส่วนมีเงาไม้บดบัง

ดวงไฟให้แสงสว่างในสวนแบบต่างๆ

ส่วนใหญ่โคมไฟที่นิยมนำมาติดตั้งในสวนจะแบ่งออกเป็น

– โคมไฟกิ่ง ช่วยให้แสงสว่างในระดับสายตา มีทั้งแบบสาดขึ้นและสาดบนเพื่อลดการแยงตา หรือใช้โป๊ะแก้วแบบกระจายแสง ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการใช้งาน โดยจะยึดกับผนังบ้าน ผนังหรือเสา หรือศาลาในสวน ส่วนใหญ่ควรทำในขั้นตอนการก่อสร้างส่วนนั้นๆเลยจะดูเรียบร้อยการการเดินท่อสายไฟในตอนหลัง และจำเป็นต้องใช้โคมไฟสำหรับใช้ภายนอกอาคารเท่านั้น

-โคมไฟส่องเท้า ช่วยให้ความปลอดภัยกับการเดินในตอนกลางคืน มีทั้งแบบฝังผนังและจมไปกับพื้น ซึ่งมักติดตั้งให้สูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร และประเภทเสาไฟแบบเตี้ย โดยทั่วไปจะสูงตั้งแต่ 40-90 เซนติเมตร ซึ่งจำเป็นต้องสร้างฐาน ค.ส.ล.รูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลมขนาดประมาณ 30x30x40 เซนติเมตร เพื่อยึดสกรูเสาไฟกับฐานเสา

-ไฟสปอตไลต์ สำหรับให้แสงสว่างตามโคนต้นไม้หรือจุดที่ต้องการให้เห็นเป็นจุดเด่น ส่วนใหญ่จะมาพร้อมอุปกรณ์ขาแฉกปักดิน ตัวหลอดเป็นแบบแฮโลเจน กับกล้องหม้อแปลงขนาด 10x30x10 เซนติเมตร

-เสาไฟสูง สำหรับช่วยให้แสงสว่างแบบกระจายกว้างๆ และส่องทาง จะมีความสูงอยู่ประมาณ 2-2.40 เมตร มักทำจากโลหะอบสี การติดตั้งควรทำฐาน ค.ส.ล. ขนาด 40x40x15 เซนติเมตร ฝังดินยึดด้วยสกรูเพื่อความแข็งแรง

-โคมไฟใต้น้ำ ใช้ในบ่อปลาหรือสระน้ำ ตัวโคมไฟต้องเป็นชนิดสำหรับใช้ใต้น้ำเท่านั้น มีทั้งแบบผังไปกับผนังบ่อแล้วเดินไฟฝังไว้ก่อนตั้งแต่เริ่มหล่อคอนกรีตผนังบ่อ และแบบยึดลอยกับพื้นและผนัง

ปัจจุบันมีวัสดุสังเคราะห์มากมายที่ใช้ทำโคมไฟทั้งพลาสติกและไฟเบอร์แบบพิเศษ แต่ก่อนซื้อต้องสอบถามและอ่านที่ฉลากให้ชัดเจนว่าเป็นโคมไฟชนิดภายนอกอาคารเท่านั้น ไม่สามารถนำโคมไฟสำหรับในอาคารมาใช้ในสวนได้

การเลือกอุปกรณ์สำหรับการเดินไฟในสวน

-การเลือกโคมในสวนควรทำจากอุปกรณ์สำหรับใช้งานภายนอกเฉพาะ ส่วนใหญ่ทำจากโลหะอบสี หรือสเตนเลสอบสี และตัวครอบแก้วกระจายแสงที่ทนทาน ล้างทำความสะอาดง่าย

-เลือกซีลกันน้ำที่มีคุณภาพดี สังเกตจากเนื้อยางที่ยืดหยุ่นได้ดีไม่ขาดง่าย

-นอต-สกรูสำหรับโคมภายนอกต้องเป็นสเตนเลสเท่านั้น

-หากเดินไฟซ่อนในผนังหรือกำแพงต้องแจ้งช่างก่อสร้างให้เดินสายไฟฝัง เพื่อเตรียมกล่องไฟและท่อร้อยสายในจุดที่ต้องการอย่างแม่นยำ ไม่ควรสกัดทำให้ภายหลัง

-เลือกเดินสายไฟ NYY ที่มีฉนวนหุ้มอย่างดีและร้อยอยู่ในท่อให้เรียบร้อย เพื่อเดินจ่ายไฟฝังในสวนลึก 20-30 เซนติเมตร

-ดวงโคมสนามส่วนใหญ่มักมีอุปกรณ์หม้อแปลงไฟฟ้าติดมาด้วย ควรคำนึงจุดติดตั้งหม้อแปลงเหล่านี้ด้วย

ระเบียงที่ยกระดับพื้นให้สามารถใช้งานและนั่งเล่นได้โดยไม่เฉอะแฉะหลังฝนตก ทั้งยังซ่อนงานระบบได้อย่างแนบเนียน แต่ก็มีช่องเปิดเข้าไปซ่อมแซมแก้ไขงานระบบได้

สิ่งที่ต้องระวังบริเวณพื้นรับน้ำหนัก

-การต่อเติมเฉลียงนั่งเล่น ทางเดิน บ่อน้ำ ฯลฯ ที่ติดกับตัวบ้านควรผ่านการออกแบบจากวิศวกรและสถาปนิกอย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดผลต่อโครงสร้างของบ้านและโครงสร้างใหม่ โดยปกติจะทำโครงสร้างคนละชุดกันโดยไม่เชื่อมต่อกัน

-การใช้พื้นที่ระเบียงบ้านหรือดาดฟ้ามาเป็นพื้นที่สวน ควรคำนึงถึงน้ำหนักของดินและต้นไม้ที่จะนำไปปลูก เพราะ ง่ายต่อการแตกร้าวรั่วซึม หากเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีน้ำหนักมากมักวางให้อยู่ในตำแหน่งของเสาหรือคานโครงสร้าง

-ขณะก่อสร้างทางเดินในสวนสามารถฝังท่อสำหรับงานประปาและไฟฟ้าลอดใต้ดินในบริเวณดังกล่าว จะช่วยให้ง่ายต่อการดูแลตรวจบำรุงภายหลัง และสามารถลดงานสกัดหรือรื้อทุบได้