10 พื้นที่สวนจัดยาก ปลูกต้นไม้ลำบาก พร้อมแนวทางการแก้ปัญหา

เนื่องจากบ้านแต่ละหลังมีการออกแบบโครงสร้างและบริเวณรอบบ้านที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งบางหลังยังมีการต่อเติมตัวอาคารจนเต็มพื้นที่ ทำให้พื้นที่จัดสวนส่วนใหญ่มักจะมีลักษณะเล็ก แคบ เป็นเศษพื้นที่ หรือ พื้นที่สวนจัดยาก มีความยากในการปลูกต้นไม้ที่แตกต่างกัน

ดังนั้น พื้นที่สวนจัดยาก หลักการออกแบบและการเลือกชนิดของพรรณไม้จึงมีความจำเป็นต่อการจัดสวนเป็นอย่างมาก เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่ ตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ และสร้างร่มเงาเพิ่มความสวยงามได้

1. พื้นที่ร่ม แดดน้อย

โดยปกติแล้วการจัดสวนควรออกแบบพื้นที่ให้มีแสงแดดส่องถึง เพื่อให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ แต่หากพื้นที่ว่างที่ต้องการจัดสวนเป็นพื้นที่ร่มที่มีแสงแดดค่อนข้างน้อย หรืออยู่ในตำแหน่งที่แสงแดดส่องถึงได้ยาก อย่าง พื้นที่ใต้ชายคา พื้นที่ใต้ร่มเงาของตึกสูงหรือต้นไม้ใหญ่ รวมถึงพื้นที่ในอาคาร อาจเลือกการจัดสวนในสไตล์ทรอปิคัล โดยใช้พรรณไม้ที่สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ร่ม หรือไม่ต้องการแสงแดดจัด เช่น กระทิง ยางอินเดีย คล้า เศรษฐีเรือนใน เดหลี ลิ้นมังกร ว่านเขียวหมื่นปี พรมออสเตรเลีย ริบบิ้นดำ กนกนารี เฟิน หรือบีโกเนีย เพื่อให้พื้นที่สีเขียวดูร่มรื่น นอกจากนี้ ยังอาจเลือกใช้เป็นการโรยหิน กรวด หรือปูหญ้าเทียมแทนการปลูกหญ้าจริงที่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นที่ร่ม รวมถึงการวางผังบริเวณจัดให้เป็นพื้นที่ฮาร์ดสเคป เพื่อการใช้งานในสวนแทน เช่น ทำเป็นลานนั่งเล่น หรือมุมศาลาพักผ่อนหย่อนใจ

2. พื้นที่แสงแดดจัด

แม้ว่าแสงแดดจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ต้นไม้สามารถสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโตได้ดี แต่แสงแดดที่มากจนเกินไปก็อาจทำให้ต้นไม้ที่ปลูกมีอาการป่วยได้เช่นเดียวกัน อย่าง อาการใบไหม้ แห้ง หรือเหี่ยวเฉาจนในที่สุดก็ล้มตายจากไป โดยเฉพาะต้นไม้บางชนิดที่ไม่ทนความร้อนและแสงแดดจัด ดังนั้นหากมุมสวนของบ้านตั้งอยู่ในทิศตะวันตก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รับแสงแดดในช่วงบ่ายแรงและยาวนานถึง 6 ชั่วโมง การจัดสวนจึงควรปลูกต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นจิกน้ำ พะยอม ปีบ หมากเขียว หลิวจีน หรือกลุ่มไม้เลื้อย อย่าง คอนสวรรค์ พวงประดิษฐ์ เล็บมือนาง จันทร์กระจ่างฟ้า พวงแสด และสร้อยอินทนิล เพื่อช่วยกรองฝุ่นละออง บดบังแสงแดด และลดแสงสะท้อน ทำให้บ้านเย็นสบาย แถมยังประหยัดพลังงานได้ดี นอกจากนี้ อาจเลือกต้นไม้อื่นๆ ที่สามารถทนร้อน ทนแดด อย่าง โมก เฟื่องฟ้า วาสนา ผกากรอง ชวนชม โกสน หญ้าน้ำพุ รวมถึงกลุ่มแคคตัสและไม้อวบน้ำ มาช่วยสร้างบรรยากาศของสวน และควรหลีกเลี่ยงวัสดุที่เก็บความร้อน อย่าง ซีเมนต์ เช่น แผ่นทางเดิน บล็อกปูพื้น ลานทำกิจกรรม ลานจอดรถ เป็นต้น

3. พื้นที่ลาดชัน หรือมีระดับ

อาจเป็นบ้านที่อยู่ตามพื้นที่ใกล้เนินเขา ตั้งอยู่บนเนิน หรือบนพื้นที่ลาดเอียง  รวมถึงบ้านทั่วไปที่มีระดับความสูงของพื้นที่รอบบ้านไม่เท่ากัน เช่น หน้าบ้านสูงกว่าหลังบ้าน ตัวบ้านที่มีการยกระดับจากพื้นที่โดยรอบ ซึ่งยากที่จะปรับหรือถมดินให้เป็นพื้นที่ราบได้เท่ากันทั้งหมด

การจัดสวนอย่างมีระดับ จึงมักใช้การเล่นระดับชั้นของขั้นบันได โดยค่อยๆ เพิ่มสเต็ปการเดินให้ลื่นไหล เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมหรือเปลี่ยนถ่ายระดับพื้นที่ภายในสวนได้อย่างแนบเนียน อีกทั้งยังทำหน้าที่คล้ายกับกำแพงกันดิน กันไม่ให้ดินไหล รวมถึงช่วยให้การออกแบบสวนน่าสนใจและดูมีมิติมากขึ้น แต่ทั้งนี้ควรออกแบบขั้นบันไดให้มีขนาดกว้างขวางเพื่อไล่ระดับ ค่อยๆ ลดความชัน มีความสูงและระยะที่พอดีจังหวะก้าวเพื่อไม่ให้สะดุด และควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้สวนในเวลากลางคืน นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการจัดการทางระบายน้ำ เพราะบริเวณจุดต่ำสุดของพื้นที่อาจมีปัญหาเกิดน้ำท่วมขังเป็นแอ่ง ทำให้รากของต้นไม้เน่าได้ 

4. พื้นที่เหลี่ยมมุมหรือเศษพื้นที่

โดยปกติแล้ว บ้านจัดสรรมักจะมีพื้นที่รอบบ้านเป็นพื้นที่แคบระหว่างอาคารกับแนวรั้ว และหน้าบ้านส่วนใหญ่มักจะถูกออกแบบมาให้เป็นที่จอดรถเกือบทั้งหมด จึงเหลือพื้นที่จัดสวนบริเวณด้านข้างเพียงเล็กน้อย การเลือกใช้สวนแนวตั้ง (Vertical Garden) จึงกลายมาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะใช้พื้นที่ในแนวราบน้อยและช่วยสร้างมุมมองสายตาได้เป็นอย่างดี หรือบ้านบางหลังยังอาจอยู่ในตำแหน่งมุมของโครงการ มีการต่อเติมลานหน้าบ้านหรือหลังบ้าน ทำให้พื้นที่จัดสวนไม่ได้เป็นผืนสวยงาม เราสามารถปิดมุมแหลมหรือมุมอับได้ด้วยการปลูกต้นไม้ ใช้เส้นโค้งหรือรูปทรงฟรีฟอร์ม แทนสี่เหลี่ยมหรือเส้นตรงที่ดูตัดและแข็งทื่อ จัดพื้นที่ให้เป็นสวนหิน หรือเติมรายละเอียดที่เป็นจุดหมายตา เช่น น้ำพุ รูปปั้นประติมากรรม และกระถางต้นไม้ใบใหญ่ แต่ทั้งนี้ไม่ควรปิดให้ทึบหรืออัดแน่นจนเกินไป ควรเปิดช่องแสงให้แสงสว่างส่องถึงโคนต้น เพื่อลดการเกิดเชื้อราและการดูแลที่ไม่ทั่วถึง

5. พื้นที่รับน้ำจากหลังคา

การต่อเติมหลังคากันสาดทั้งบริเวณที่จอดรถและพื้นที่รอบบ้าน ควรออกแบบให้มีระบบรางน้ำฝนต่อลงมายังพื้น หรือติดตั้งโซ่ระบายน้ำ เพื่อควบคุมทิศทางการระบายน้ำให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ชะลอการกระแทกของผิวน้ำ ลดการทรุดพังของหน้าดิน ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นบนพื้นผิวผนัง เช่น คราบน้ำ ตะไคร่ หรือเชื้อรา น้ำกระเด็น รวมถึงการไหลออกไปรบกวนเพื่อนบ้านข้างเคียง ส่วนพื้นที่ด้านล่างอาจตั้งเป็นโอ่งน้ำ กระถางต้นไม้ พื้นโรยหินกรวด หรือปลูกไม้พุ่มที่มีโครงสร้างใบหนาและแข็ง อย่าง ชาฮกเกี้ยน ว่านงาช้าง หรือลิ้นมังกร ให้เป็นแนว เพื่อช่วยซับแรงของน้ำก่อนที่จะกระทบลงพื้น ทั้งยังช่วยกันดินโคลนที่จะกระเด็นจากพื้นมาเลอะผนังบ้าน

6. พื้นที่แคบ

ต่อให้มีพื้นที่จำกัดแค่ไหนก็มีวิธีจัดสวนให้ดูกว้างขึ้นได้เสมอ ด้วยเทคนิคลวงตา อย่าง การเลือกใช้ผนังสีอ่อนที่ดูสว่าง หรือใช้สีเข้มบนผนังด้านใดด้านหนึ่งเพื่อให้รู้สึกว่าพื้นที่ลึกกว่าความเป็นจริง การลวงตาด้วยการจัดวางองค์ประกอบ ปลูกต้นไม้ให้ชิดริมหรืออยู่บริเวณรอบๆ และเปิดพื้นที่ตรงกลางให้โล่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่การใช้งานได้มากขึ้น การลวงตาด้วยวัสดุที่มีลวดลายขนาดเล็ก เช่น แผ่นปูพื้นคอนกรีต อิฐมอญ แผ่นไม้เทียมร่องเล็ก หรือกระเบื้องชิ้นเล็ก ปูพื้นหรือตกแต่งผนัง เพื่อช่วยให้พื้นที่ดูกว้างขึ้น หรือใช้วัสดุที่มีลักษณะมันวาว อย่าง กระจกใสและกระจกเงา ตกแต่งภายในสวน

นอกจากนี้ แนวคิดในการออกแบบ แบบ “Inside out-Outside in” หรือการออกแบบพื้นที่ให้เชื่อมต่อกันได้ทั้งภายในและภายนอกบ้านก็ช่วยให้พื้นที่สวนดูกว้างขวางขึ้นได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากจะสามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องกันมากขึ้น เช่น จากห้องนั่งเล่นเชื่อมไปยังพื้นที่สวนเพื่อใช้รองรับแขกและมิตรสหาย จากห้องทานอาหารเชื่อมไปยังพื้นที่สวนหลังบ้าน หรือจากห้องนอนเชื่อมไปยังระเบียงที่มีต้นไม้รายล้อม แต่ทั้งนี้การกำหนดฟังก์ชันการใช้งานหรือการเลือกองค์ประกอบภายในสวนควรเหมาะสมกับความต้องการและขนาดของพื้นที่ ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป เพื่อลดความแออัดของต้นไม้และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งสวน 

พื้นที่สวนจัดยาก

7. พื้นที่ดินเลว

พื้นที่ที่ปลูกพืชเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น ปลูกพืชได้ไม่ดี หรือปลูกสักพักแล้วตายไป พื้นที่บริเวณนั้นอาจเป็นพื้นที่ที่ดินมีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีไม่เหมาะสมต่อการปลูกต้นไม้ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการถมดิน เพื่อให้ระนาบดินเรียบเสมอกันก่อนปลูกสร้างบ้าน โดยดินที่ใช้ถมที่นั้น อาจเป็นดินทรายที่ทำให้เกิดปัญหาดินทรุดได้ง่ายและไม่อุ้มน้ำ ดินลูกรังที่ยิ่งแห้งยิ่งแข็ง หรือดินเหนียวที่การระบายน้ำไม่ดี ก่อนปลูกต้นไม้จึงควรสำรวจดินเดิมและหากพบว่าดินมีสภาพที่ไม่ก็ควรปรับสภาพดินให้เรียบร้อย

ซึ่งเราสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องดินได้หลากหลายวิธี เช่น การถมด้วยดินประเภทหน้าดินที่มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมในการเพาะปลูกต้นไม้มากที่สุด  การไถพรวนเพื่อทำให้ดินมีความร่วนซุยและอากาศถ่ายเทได้สะดวก การปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยชีวภาพ หรือการปลูกพืชคุมดิน อย่าง กระดุมทองเลื้อย หญ้าเกล็ดหอย บุษบาฮาวาย แพรเซี่ยงไฮ้ เกล็ดแก้ว ดาดตะกั่ว ถั่วบราซิล เป็นต้น ซึ่งการปลูกพืชคลุมดินแม้จะเป็นพืชที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่ก็สามารถปกคลุมพื้นดินที่ว่างเปล่าให้มีความเขียวขจีได้ นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่ช่วยเพิ่มความชื้นในดิน ทำให้ดินสามารถปรับตัวกับสภาพอากาศได้ รวมถึงส่งผลดีต่อต้นไม้น้อยใหญ่ใกล้เคียงให้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้อีกด้วย

8. พื้นที่ที่มีคอมเพลสเซอร์แอร์หรือถังน้ำขนาดใหญ่

อีกหนึ่งปัญหาที่มักพบในการออกแบบ-จัดสวนคือ การมีคอมเพลสเซอร์แอร์ ถังขยะ ที่เก็บเครื่องมือสวน เครื่องปั๊มน้ำ และถังน้ำขนาดใหญ่นอกบ้านที่ต้องการอำพรางสายตา และปกปิดให้ดูกลมกลืนกับพื้นที่สวน เราอาจใช้ระแนงไม้ ระแนงเหล็ก หรือไวนิลสำเร็จรูปตีเป็นกล่องครอบปิดไว้ โดยเว้นระยะกล่องครอบให้ห่างออกจากของที่ต้องการซ่อนเล็กน้อย เพื่อให้สามารถระบายอากาศได้ดี  แล้วทำเป็นม้านั่งหรือโต๊ะวางของอย่าง ต้นไม้ ของประดับ ตกแต่ง หรืออาจปลูกไม้เลื้อยเพื่อช่วยให้ดูกลมกลืนกับพื้นที่สวนมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับคอมเพลสเซอร์แอร์ที่ต้องมีการระบายความร้อน ควรตีช่องระแนงให้ห่างสักหน่อย และไม่ควรปลูกต้นไม้ใกล้เกินไป โดยให้ปลูกต้นไม้ห่างออกมาประมาณ 0.60-1 เมตร และเลือกใช้พรรณไม้ที่สามารถทนลมร้อนได้พอสมควร อย่าง ลิ้นมังกร ชาฮกเกี้ยน ส่วนบริเวณข้างใต้แนะนำให้โรยกรวยแทนการปลูกต้นไม้

พื้นที่สวนจัดยาก

9. พื้นที่ดาดแข็ง 

การมีพื้นที่ดาดแข็ง ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า ระเบียง ลานปูน หรือลานจอดรถที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่รอบบริเวณบ้านมากๆ จะส่งผลต่อสภาวะน่าสบายของผู้อยู่อาศัย เพราะ ทำให้เกิดความร้อนและแสงสะท้อน ซึ่งหากอยากเปลี่ยนพื้นที่ที่แห้งแล้งเหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ชอุ่มไปด้วยสวนเขียวๆ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการปูหญ้าเทียม ปูพื้นไม้ หรือติดตั้งแผ่นทางเดินให้มีดีไซน์ลวดลายแปลกตาเพื่อช่วยกรองแสง พร้อมทั้งปลูกต้นไม้มีรูปทรงสีสันสวยงามลงในกระถางทั้งแบบตั้งพื้นและแบบแขวน หรืออาจก่อคอนกรีตเป็นขอบสำหรับปลูกต้นไม้ลงไปในแปลงแบบเล่นระดับสูง-ต่ำเพื่อสร้างมิติให้กับพื้นที่ พร้อมจัดวางเฟอร์นิเจอร์เอ้าท์ดอร์ อย่าง ชุดโต๊ะเก้าอี้ ม้านั่ง ชิงช้า และตกแต่งเพิ่มเติมน้ำพุหรืออ่างน้ำนก เพื่อให้กลายเป็นมุมนั่งเล่นน่ารักๆ ที่ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่บ้าน

10. พื้นที่ที่มีโครงสร้างและงานระบบใต้ดิน

สำหรับบ้านเก่าที่ต้องการปรับปรุงสวนใหม่ ก่อนลงมือขุดดินจัดสวนควรสำรวจให้แน่ใจก่อนว่า ข้างใต้พื้นดินบริเวณที่ต้องการจัดสวนมีตำแหน่งของท่อระบบไฟและระบบสปริงเกลอร์หรือไม่ หากไม่มีข้อมูลควรเปิดหน้าดินดูให้แน่ใจ เพื่อป้องกันความเสียหายและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากรากของต้นไม้อาจทำลายงานระบบใต้ดิน หรือขั้นตอนในการขุดหลุมปลูกทำให้โครงสร้างได้รับการกระทบกระเทือน อีกทั้งบ้านจัดสรรส่วนใหญ่มักจะมีฝาท่อระบายน้ำปรากฏอยู่รอบบ้าน ทำให้พื้นที่สวนดูไม่เรียบร้อยหรือปลูกต้นไม้ได้ยาก ในการออกแบบพื้นที่สวนจึงอาจเลือกออกแบบให้กลายเป็นพื้นที่ดาดแข็ง โดยเลือกใช้วัสดุและลวดลายเดียวกันกับฝาท่อเพื่อให้ดูกลมกลืน หรือทำเป็นลานกรวด แล้วนำกระถางทรงสวยหรือประติมากรรมที่ชื่นชอบมาวางไว้บนตำแหน่งของฝาเพื่อระบุตำแหน่งและอำพราง ซึ่งในอนาคตหากต้องการเปิดฝาท่อ ก็จะสามารถเปิดใช้งานได้สะดวก

พื้นที่สวนจัดยาก

ติดตาม บ้านและสวน