82 District จุดเริ่มของชุมชนครีเอทีฟแห่งใหม่ย่านเจริญกรุง 82

เมื่อสำนักงาน คาเฟ่ ร้านค้า และม็อกเทลบาร์แห่งใหม่ได้สร้างความเคลื่อนไหวล่าสุดให้กับหัวมุมซอยเจริญกรุง 82 ที่นี่จึงได้ชื่อว่า 82 District ย่านใหม่ของชุมชนนักสร้างสรรค์ ที่ดูเหมือนจะมีจุดเริ่มต้นมาจากการขยับขยายสำนักงานใหม่ของ Trimode Studio หนึ่งในสตูดิโอออกแบบแนวหน้าของไทย

อาจกล่าวได้ว่า การย้ายสำนักงานมายังอาคารแห่งใหม่ของ Trimode พร้อม ๆ กับการเปิดตัว Tangible ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่คาเฟ่ และไลฟ์สไตล์ช็อปในที่เดียวกันคือจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่ช่วยปลุกบรรยากาศของปากซอยเจริญกรุง 82 หรือ 82 District ให้เริ่มคึกคัก ทีมงานจึงอยากต่อยอด พร้อมความตั้งใจที่จะส่งเสริมความเป็นย่านสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ใหม่ให้ผู้คนมาเยี่ยมเยือน พร้อมเสพงานดีไซน์ดี ๆ

“ตั้งแต่มีร้าน Tangible คนก็เริ่มมาเดินเล่นในซอยกัน เราเลยนึกถึงโมเดลในต่างประเทศ ที่ร้านรวงต่าง ๆ จะช่วยสร้างความเป็นย่าน จึงพยายามดึงงานดีไซน์ หรือศิลปะมาสร้างจุดสนใจให้ย่านนี้”

คุณชินภานุ อธิชาบดี หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Trimode Studio เริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่าเมื่อผู้เช่าอาคารพาณิชย์ฝั่งตรงข้ามของร้าน Tangible ย้ายออกไปพอดี ทางทีมงานจึงทำการขยับขยายให้ภาพของย่านสร้างสรรค์แห่งนี้ชัดเจนขึ้น โดยปรับเปลี่ยนชั้นล่างของอาคารใหม่แห่งนี้ ให้กลายเป็นงานออกแบบร้านค้าหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ในแบบที่ Trimode ไม่เคยทำมาก่อน จนกลายเป็น 3 จุดหมายใหม่อย่างม็อกเทลบาร์กึ่งอาร์ตสเปซ ร้านแบรนด์เครื่องหอม และร้านค้าสินค้าไลฟ์สไตล์

VOID BKK

พื้นที่ภายใน VOID BKK ปรับปรุงมาจากห้องประชุม และห้องเก็บของของอาคารเดิม Trimode ออกแบบภายใต้โจทย์ใหม่ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แนวคิดในการออกแบบจึงพลิกมุมมองจากแนวทางการทำงานรีเทลช็อปให้ลูกค้า กลายมาเป็นการค้นหานิยามของ “รีเทล” ในแบบของตัวเอง ผ่านรูปแบบของม็อกเทลบาร์ ควบคู่กับพื้นที่จัดงานอเนกประสงค์ คุณภารดี เสนีวงศ์ ณ อยุธยา เล่าถึงแรงบันดาลใจของโปรเจ็กต์ อันมีที่มาจากตัวอาคารเอง

“พอเราจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง เราก็มาคิดว่า เราจะใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างประสบการณ์ใหม่ออกมาให้ได้อย่างไร โดยใช้ของเดิมที่มีอยู่ เราเริ่มวิเคราะห์จากสภาพของตัวอาคารกับแสงที่เข้ามา ผังอาคารทรงประหลาด ความเตี้ยของฝ้าเพดาน อารมณ์ของแสงแบบ Indirect Light ที่ส่องผ่านเข้ามา บางคนอาจจะเห็นเหมือนเป็นแสงที่ไม่มีโฟกัส ซึ่งเราก็มองว่า มันคือเสน่ห์ภายใต้แสงโทนอุ่น ๆ นุ่มนวล หรือเป็นอารมณ์ธรรมชาติ”

ด้วยแสงภายในสเปซที่ดูสลัวตลอดทั้งวัน ทีมออกแบบมองเห็นความอ่อนโยนและผ่อนคลาย จึงหยิบยกแนวคิดของ ‘แสงแรกและแสงสุดท้ายของวัน’ มาคลี่คลาย กลายเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและเป็นนิรันดร์

“เรามานั่งคิดกันว่า ช่วงเวลาที่เราเองมีความสุข มักจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เสมอ แล้วธรรมชาติสิ่งไหนล่ะที่คนโหยหา? เรามองว่า แสงแรกกับแสงสุดท้ายของวันเป็นแสงของความหวัง แสงที่ทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอคอยพระอาทิตย์ขึ้น หรือคนนั่งทิ้งเวลาเพื่อรอพระอาทิตย์จะตก แล้วเวลาที่สวยที่สุดของวันก็จะหายวับไปอย่างรวดเร็ว เราก็เลยได้คีย์ตรงนี้ว่า นี่คือสิ่งที่ทุกคนตั้งตารอ” คุณชินภานุเสริม

สเปซภายในตรงนี้จึงเป็นเหมือนกับพื้นที่ที่ให้ผู้คนได้ทิ้งตัวจมจ่อมไปกับความรู้สึกผ่อนคลาย โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่า ข้างนอกเป็นอย่างไร ด้วยแสง และการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ที่ซื่อตรง เรียบง่าย เป็นธรรมชาติ โดยมีประติมากรรมขนาดใหญ่วางตัวขวางอยู่ตรงกลางห้อง ทำหน้าที่เป็นจุดนำสายตา แต่เป็นจุดนำสายตาที่ทำหน้าที่พร้อมกับการพักสายตาไปในตัว ด้วยรูปทรงกลมเกลี้ยง สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มของแสงตั้งแต่เป็นเงาไปจนถึงสว่างจ้า และยังเป็นตัวแบ่งพื้นที่ให้เกิดความเป็นส่วนตัว แต่ไม่ตัดขาด หรืออึดอัดจนทึบตัน ตามบทสรุปดุจบทกวีของคุณชินภานุ

“งานนี้เราพยายามหนีออกจากกรอบทั้งหมด แล้วใช้อารมณ์ล้วน ๆ ในการตัดสินใจ ให้พื้นที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การจัดวางสิ่งที่มีแล้วปรุงแต่งกลับไปให้น้อยที่สุด เพราะเรารู้สึกว่าห้องนี้คืออารมณ์ของความไม่มีพันธะ”

Copenn.

แบรนด์เครื่องหอมที่เกิดจากหุ้นส่วนสี่คน ซึ่งทำงานอยู่ในสายงานออกแบบ ทั้งการออกแบบภายใน ออกแบบผลิตภัณฑ์ แฟชั่นดีไซเนอร์ และกราฟิกดีไซเนอร์ ที่อยากทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากความถนัดของตนเอง มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ไปพร้อม ๆ กับการสร้างสุนทรียภาพที่ดี บนความตั้งใจที่อยากทำ Design Concept Store ที่มีเรื่องเล่าผ่านกลิ่น สอดประสานไปกับชื่อเต็มของ Copenn. ที่มาจาก Creative of perception engage with new narrative – สัมผัสจากความสร้างสรรค์ที่สัมพันธ์กับเรื่องเล่าแบบใหม่

เริ่มต้นผลิตภัณฑ์แรกด้วยเจลแอลกอฮอล์ ผสมเอสเซนเชียลออยล์ธรรมชาติ ของใช้ที่กลายมาเป็นของจำเป็นในยุคนี้ ก่อนต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องหอม ตอบโจทย์ผู้คนที่อยู่บ้านกันมากขึ้น เครื่องหอมของ Copenn. จึงเป็นความหอมที่มาพร้อมกับงานดีไซน์ และกลายเป็นหนึ่งในพร็อปส์ตกแต่งบ้านไปในตัว หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน รับอาสาเป็นตัวแทนบอกเล่าแนวคิดของแบรนด์

“ตรงนี้เราทำเป็นเหมือนป็อปอัพสโตร์ เราสามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ของแบรนด์ไปได้เรื่อย ๆ โดยเราอยากให้คนจดจำเราผ่านภาพของร้านที่กระจายตัวไปตามย่านต่าง ๆ ที่เข้าถึงง่าย และเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่สนุกไปกับดีไซน์มากกว่า”

สำหรับร้านแรกนี้อยู่บนคอนเซ็ปต์ที่ว่า ‘Term of Cultivation – ระยะของการเพาะปลูก’ จึงหยิบองค์ประกอบที่อยู่ในบริบทของวัสดุตั้งต้น (raw materials) มาผสมผสานในงานออกแบบร้าน ไปจนถึงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ที่เน้นดีไซน์ และงานคราฟต์แสนละเมียด เริ่มตั้งแต่บรรจุภัณฑ์อย่าง กล่องสเตนเลส และสังกะสีทำมือ ผลงานจากช่างฝีมือในชุมชน พร้อมกับป้ายฉลากสแตมป์ด้วยมือ และที่สำคัญคือกลิ่นเครื่องหอม ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์เบลนด์เฉพาะของร้านนี้เท่านั้น

“เพราะกลิ่นที่ดี ไม่ได้เริ่มจากการสกัดอย่างเดียว มันเริ่มมาจากการปลูก ถ้าดินดี น้ำดี ภูมิอากาศดี หรือแม้แต่การจัดระบบดี ต้นไม้ก็จะดีด้วย กลิ่นก็จะดีด้วย เพราะกลิ่นเกิดจากธรรมชาติ”

ในอนาคตธีมของร้านก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ตามช่วงเวลาของการผลิดอก แตกยอด หรือเก็บเกี่ยว ซึ่งล้วนเป็นแนวทางของเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกัน พร้อมกับการสร้างสรรค์กลิ่นใหม่ โดยมีงานดีไซน์เป็นพื้นฐานของทุกสิ่ง

Garden Atlas x TRIMODE.C

โปรเจ็กต์ที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง Garden Atlas ร้านต้นไม้และอุปกรณ์แต่งสวน กับ Trimode ที่สนุกกับงานออกแบบ เพื่อหาคำตอบของกระถางต้นไม้สำหรับคนเมือง

ตั้งต้นจากคุณสมบัติของกระถางที่หลาย ๆ คนมองหา นั่นคือต้องมีน้ำหนักเบา ง่ายต่อการจัดส่งทางไปรษณีย์ และสามารถยกย้ายได้ง่าย ทีม Trimode จึงใช้งานดีไซน์เข้ามาตอบคำถามเรื่องนี้ ทั้งในแง่วัสดุในการทำกระถาง และฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดีขึ้น จนออกมาเป็นคอลเล็กชั่นใหม่นี้ คุณภิรดา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของโปรเจ็คต์นี้บอกเล่าให้เราฟังว่า

“กระถางตัวนี้จะทนน้ำ น้ำหนักเบา สวมกับอะไรก็ดูดี จะตั้งในบ้านก็ได้ หรือแม้กระทั่งไม่ได้ใช้ปลูกต้นไม้ แต่ใช้เป็นอุปกรณ์ใช้งานอย่างอื่นก็ได้ เพื่อช่วยจัดการพื้นที่ในบ้านให้เป็นระเบียบ ขาตั้งสามารถพับเป็น Flat Pack ได้ ขนส่งได้ง่าย และเคลื่อนย้ายสะดวก โดยมีหูจับที่เป็นตัวแขวน สามารถย้ายต้นไม้ออกไปรับแสง หรือหลบแสงกลับเข้ามาในบ้านก็ทำได้ และหูจับนี้ยังเป็นหลักให้ไม้เลื้อยเจริญเติบโตได้ด้วย”

ภายในร้านนอกจากจะเป็นส่วนของ Garden Atlas ในตอนนี้แล้ว ยังจัดสรรเป็นส่วน Showcase Store วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทาง Trimode ร่วมงานกับแบรนด์ต่าง ๆ และส่วนขยายของผลิตภัณฑ์จากร้าน Tangible ที่นำมาจัดแสดง เพื่อให้เลือกชมได้ง่ายขึ้น โดยยังคงคอนเซ็ปต์เดิมนั่นคือ สินค้าที่เลือกเข้ามาทั้งจากดีไซเนอร์ไทยและต่างชาติ จะต้อง Functional & Durable – ใช้งานได้ดีและมีฟังก์ชั่นที่ดี

ตามมาเปลี่ยนบรรยากาศ สำรวจจุดเริ่มต้นของย่านใหม่ และสนุกกับงานดีไซน์ที่ 82District ได้เกือบตลอดวัน ด้วยพื้นที่สร้างประสบการณ์ท้าทายความรู้สึกอันหลากหลาย ตั้งแต่ความแอ็กทีฟที่โลดแล่นที่ Tangible สนุกกับการเลือกซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์จาก Garden Atlas x TRIMODE.C ผ่อนคลายไปกับกลิ่นหอมของ Copenn. และซึมซับบรรยากาศสงบนิ่ง ที่ให้คุณได้ใช้เวลากับตัวเองที่ VOID BKK

VOID BKK
เปิด: 11.00 น.-19.00 น. (นัดหมายเวลาล่วงหน้าเป็นรอบ ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)
Copenn.
เปิด: 11.00 น.-19.00 น.(ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)
Garden Atlas x TRIMODE.C
เปิด: 11.00 น.-19.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)

ภาพ: ศุภกร
เรื่อง: skiixy


KiddNap ออฟฟิศสเปซที่เปิดให้คุณทั้ง “คิด” และ “Nap” ได้ 24 ชั่วโมง