ผนังดินอัด La Terre (ลาแตร์) วัสดุธรรมชาติจากเทคโนโลยีโบราณสู่วัสดุสถาปัตยกรรมโมเดิร์น

ผนังดินอัด หนึ่งในวิธีการดั้งเดิมตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ของมนุษย์ในการสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ด้วยความสนใจในความเป็นธรรมชาติทั้งความงามและในแง่ของวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่คุณปัจจ์ บุญกาญจน์วนิชา แห่ง บริษัท ลาแตร์ จำกัด ได้เลือกศึกษาในระดับปริญญาโท ณ สถาบันวิจัยดินเพื่อการก่อสร้างนานาชาติ CRA-Terre ซึ่งเป็นที่ปรึกษาขององค์การ Unesco และดูแลหลักสูตร Post Master in Earth Architecture ณ โรงเรียนสถาปัตยกรรมชั้นสูง เมืองGrenoble ประเทศฝรั่งเศส (Ecole Nationale Superieure D’architecture De Grenoble, France) และในวันนี้ room Magazine ก็ได้ขอมาเยี่ยมเยือนออฟฟิศของสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญในทาง “ดิน” ที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวในไทยคนนี้กันเลยทีเดียว

เริ่มต้นกับดิน

“ผมเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตช่วงปี 2542 เป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งพอดี ซึ่งงานหายากมาก พอจบออกมาก็ไปทำงานอยู่บริษัทรับเหมา ทำได้อยู่ช่วงหนึ่งก็ย้ายไปทำงานสถาปนิกที่ภูเก็ต ช่วงนั้นก็ทำหลายอย่าง เป็นดีเจบ้าง รับวาดภาพบ้าง สุดท้ายก็ตัดสินใจย้ายไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เรียนอยู่ 4 ใบ เรียนจบก็ลงเรียนใหม่ต่อวีซ่าไปเรื่อย ๆ จริง ๆ ตอนนั้นก็ไม่ได้มุ่งมั่นอยากเรียนอะไรชัดเจน ก็เหมือนเรียนไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่ได้รู้มา คือที่นั่นมีสาขาเฉพาะทางให้เลือกเยอะมาก อย่างกระจกก็มีสาขาให้เลือกเลย การออกแบบเวทีก็แยกสาขาไปเลย มีเยอะมาก เราก็เรียนจบไป 3 ตัว ตั้งแต่การจัดการสิ่งแวดล้อมในงานก่อสร้าง แล้วก็ไปเรื่องงานอคูสติก แล้วก็ทำเรื่องการออกแบบบรรยากาศ เกี่ยวกับการเสริมสร้างบรรยากาศในงานสถาปัตยกรรม แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้อินมาก เรียนจบก็คิดที่จะกลับ แต่อยากอยู่ต่ออีกซักระยะ พอปรึกษากับอาจารย์ก็เลยได้มาเรียนที่ สถาบันวิจัยดินเพื่อการก่อสร้างนานาชาติ CRA-Terre ซึ่งสถาบันนี้เน้นการผลิตสถาปนิกที่จะออกไปเป็นผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์โบราณสถานให้กับองค์การ Unesco นั่นเอง”

“จากเดิมที่ไม่ได้สนใจมากนัก แต่ด้วยการเรียนการสอนของ CRA-Terre ในทุกวันที่เริ่มเข้าห้องเล็คเชอร์ พอตกบ่าย อาจารย์ก็จะพาขึ้นรถบัสออกไปนอกเมือง ไปยังพื้นที่โบราณสถานจริง ไปดูสิ่งที่ได้เรียนมาในห้อง สิ่งที่เขาสอนทำให้เราว้าวตลอดเวลา จากเดิมที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจ เราก็เริ่มลงลึกลงไปในสิ่งนี้ เริ่มจากพื้นฐานของดินในทุกประเทศเลย แล้วค่อยไปถึงวิธีการในการปรับใช้ในงานสถาปัตยกรรมต่อไป ก็เรียนไปได้ 1 ปี แล้วพอปีที่ 2 ก็กลับมาเก็บข้อมูลที่ประเทศไทยต่อ เพื่อเตรียมทำวิทยานิพนธ์จบ ตอนนั้นในไทยก็เริ่มมีความสนใจบ้านดินกันแล้ว แต่สิ่งที่พบคือในไทยเองยังมีการลองผิดลองถูกอยู่ ทั้ง ๆ ที่มีผลวิจัยที่ต่างประเทศรองรับอยู่ก่อนแล้ว เราก็มีความคิดว่า ทำไมเราไม่ศึกษาจากผลวิจัยเหล่านั้น และทำให้งานมันพัฒนาไปมากกว่านั้น ตอนนั้นก็เลยเข้าไปร่วมเติมในสิ่งที่เราคิดว่าขาดตรงนี้

“วิทยานิพนธ์ที่เราทำก็เลยเป็นเรื่องของการพัฒนาการใช้งาน ซึ่งแตกต่างจากคนอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกัน เพราะเราไม่ได้เน้นอนุรักษ์ แต่ก็ค้นพบวัฒนธรรมบ้านดินในพื้นที่ของเรา เช่นการนำไม้ไผ่มาสานแล้วโบกดินลงไป แต่สุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของ Contemporary Architecture ที่ใช้ดินเป็นองค์ประกอบหลัก อย่างน้อยเราก็ไปเติมคลังความรู้ถึงเทคนิคที่ใช้และลักษณะดินในพื้นที่นี้ เอกลักษณ์หนึ่งที่โดดเด่นคือเรามีการใช้ไม้เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย ก็เป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่น่าสนใจ”

สู่ La Terre ผู้ชำนาญการผนังดินอัด

“พอจบวิทยานิพนธ์เราก็กลับมาเมืองไทย งานแแรกผมลองทำผนังดินอัดกับดินฉาบ ในชื่อ La Terra ช่วง 3 ปีแรก นี่เฟลเลยนะ คือคนก็ตกใจเรียนอะไรตั้ง 3 ปี เขาอบรมกัน 3 วัน ก็ทำบ้านดินกันแล้ว แต่ไม่ใช่แบบนั้นสิ่งที่เราทำคือมันลึกซึ้งกว่านั้น เราก็มาตั้งต้นก่อนต้องสื่อสารให้ได้ก่อน เราก็เลยเริ่มจากการทำบ้านหลังนี้เป็นบ้านดิน ใช้สิ่งที่เราจะขายนี่แหละมาทำผนังดินอัดกับดินฉาบ ใช้องค์ประกอบร่วมกับทั้งไม้ ดิน และการใช้งานแบบโมเดิร์น อีกอย่างบ้านหลังนี้เป็นบ้านเดิมอายุประมาณ 25 ปี ได้แสดงให้เห็นว่า ผนังดินเหล่านี้ก็ใช้กับงานรีโนเวตได้ด้วยเช่นกัน

“เราเริ่มต้นนำเสนอดินฉาบก่อน เพราะคิดแล้วว่าการทำ ผนังดินอัด คนยังเข้าใจได้ยาก การทำดินฉาบมันเปิดโอกาสให้คนใช้งานได้มากกว่า ทำบนผนังอิฐ หรือ ไม้ หรือผนังเบาใด ๆ ก็ยังได้ มันเป็นทางลัดในการได้มาซึ่งบ้านดิน และเราก็ใช้ดินจริง ๆ มาเป็นวัตถุดิบด้วย ซึ่งผนังตัวนี้ก็จะมาคอยตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่คนกังวลเกี่ยวกับ “ดิน” ในงานสถาปัตยกรรมได้

“เราไปออกหลายงาน แต่เหมือนคนยังไม่รับกับผลิตภัณฑ์นี้ก็เงียบอยู่ 3 ปี ตอนนั้นก็ท้อไปบ้างเหมือนกัน ก็แว่บไปสอนหนังสือบ้าง ไปหารายได้จากความรู้ที่มีเพื่อประคองธุรกิจต่อไป ตอนนั้นคนยังไม่กล้าใช้ เพราะไม่เข้าใจในคุณลักษณะหลาย ๆ อย่างในความเป็นดิน ก็เรียกได้ว่ายังกลัวอยู่”

“จุดเปลี่ยนคือมาถึงตอนที่เราเริ่มรู้ว่า จริง ๆ แล้ววัสดุเราเป็นสิ่งที่สถาปนิกเลือก ไม่ใช่เจ้าของบ้านเลือกเอง เพราะมันไม่ได้ใช้ได้ทันทีด้วยตัวเจ้าของบ้านเอง ยิ่งพอถ้าสถาปนิกเลือก เขาก็จะอธิบายถึงการใช้งานให้กับลูกค้าอีกทอดหนึ่ง จากตรงนั้นเราก็ใส่ใจกับความเป็นวัสดุก่อสร้างคุณภาพดีให้สถาปนิกมั่นใจ วิ่งไปคุยเอง สร้างให้เป็นโปรดักต์ High End มากขึ้น แล้วพอได้ไปแสดงที่งานสถาปนิก(ASA Expo) ก็ลองทำผนังดินอัดไปแสดงด้วย เป็นเหมือนตัวอย่างก็เอาไปวางอยู่หน้าบู็ธทีแรกยังไม่กะขายผนังดินอัด ยังอยากรอไปก่อน แต่คนก็สนใจกันมาก ก็ติดต่อเข้ามา เราก็เลยทำตัวอย่างไปวางตามออฟฟิศสถาปนิก แล้วมันมีอยู่ก้อนหนึ่งเอาไปวางไว้ที่อาศรมศิลป์ (สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์) แล้วอาจารย์เล็ก-กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล กับ คุณแบน-ธีรพล นิยม ได้เห็นเข้า ก็เลยเรียกเราเข้าไป ปรากฏว่านั้นเป็นทีมออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งก็กลายเป็นประชุมใหญ่เลย

“ผลก็คือวัสดุของเราก็กลายเป็นส่วนตกแต่งหลัก ใช้เป็นผนังดินอัดที่อยู่ภายในรัฐสภาอย่างที่เห็น หลังจากนั้นอาจารย์เล็กก็เลือกนำไปใช้ในโครงการของมูลนิธิป่าในกรุงตามมา ซึ่งระหว่างนั้นก็มีการนำวัสดุไปใช้ในโครงการที่จัดการได้ก่อนอาจารย์เล็กกับอาศรมศิลป์ก็เลือกนำไปใช้ในโครงการบ้านพักอาศัย ก็เหมือนได้ลองมือกันและกัน ได้เรียนรู้หน้างานจริงมีผิดพลาดบ้าง ได้เรียนรู้ที่จะสร้าง และแก้ไข ปรับกันจนชำนาญ ได้พัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ

“จากตรงนั้นก็เริ่มมีคนเข้าใจมากขึ้น ผ่านมา 10 ปีได้ ได้พัฒนากรรมวิธีต่าง ๆ มาโดยตลอด ได้ลงพื้นที่ลองใช้ดินในหลายพื้นที่ มีการพัฒนาทั้งผนังดินอัด และดินฉาบที่หลากหลายยิ่งขึ้น ดินแต่ละที่ก็จะมีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกันไป ทุกวันนี้ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่ตลอด”

ผนังดินอัด ก็คือ บ้านดิน

กรรมวิธีการทำบ้านดินนั้นมีอยู่หลายวิธี แต่สิ่งที่ทำให้สนใจ “ผนังดินอัด” หรือที่เรียกว่า Rammed Earth ก็เพราะวิธีการสร้างบ้านดินเกือบทุกวิธีในโลกนั้นมักจะต้องจบด้วยการฉาบผิว แต่ Rammed Earth นั้นไม่ต้องฉาบสามารถโชว์ชั้นผิวดินได้เลยทันที แต่ก็ได้คิดดินฉาบที่สามารถใช้งานไปด้วยกันได้เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการ

อีกส่วนที่สนใจ Rammed Earth เพราะวิธีการนี้สามารถต่อยอดไปใช้งานในอาคารแบบโมเดิร์นได้หลากหลาย เช่นในงานของมูลนิธิป่าในกรุงที่ทำเป็นผนังดินอัดขนาดใหญ่ หรืออย่างโรงแรม Tara Villa ก็เป็นผนังสูงหลายเมตร แต่ในขณะเดียวกันเมื่อผสมผสานกับดินฉาบก็สร้างบรรยากาศและการใช้งานในพื้นที่ได้หลากหลายเช่นกัน แม้แต่งานพื้นกับงานภูมิสถาปัตยกรรมก็สามารถนำไปใช้ได้นั่นคืองานที่รัฐสภาแห่งใหม่

นอกจากความงามแล้ว การใช้ดินในงานสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะกับที่อยู่อาศัยมันมีความพิเศษอยู่ เพราะการได้สัมผัสดินหรืออยู่อาศัยในบ้านดินมันมีคุณสมบัติที่ดีอยู่หลายอย่าง อย่างแรกคือไม่มีสารระเหยเป็น VOC คลีน แน่นอนว่าไม่มีกลิ่น แต่ถ้ามีความชื้นมาสัมผัสมันก็จะมีกลิ่นดินออกมา เป็นกลิ่นที่ผ่อนคลายเรียกว่า Geosmin ช่วยให้หลับง่ายมากขึ้น เรื่องต่อมาคือเป็นผนังที่หายใจได้มีความชื้นที่พอเหมาะต่อการอยู่อาศัยสามารถช่วยฟอกอากาศได้ด้วย ดินจะมีการดูดซับความชื้นและคลายออก ไม่อึดอัดอับอู้ สุดท้ายคือการที่สัมผัสของการได้อยู่กับดิน พาให้ผู้อยู่อาศัยได้ผ่อนคลายอย่างมีความสุข

ความงามและคุณสมบัติเฉพาะตัวของ “ดิน”

“สุดท้ายเรื่องความงามของดินฉาบและผนังดินอัด เป็นสิ่งที่ถ้าคนชอบก็จะชอบเลย แต่บางคนก็ยังมีความไม่สบายใจในความเป็นธรรมชาติของมันอยู่ แต่สิ่งที่เราจะพัฒนาต่อไปในอนาคต คือคุณสมบัติที่ทำให้ผนังเหล่านี้สามารถนำไปใช้งานได้ดีขึ้น ง่ายขึ้น และจัดการหลังก่อสร้างได้ง่าย เช่นผนังตัวใหม่ที่หากมีรอยขูดขีด สามารถพ่นละอองน้ำ และเกลี่ยเก็บให้กลับมาดูเรียบร้อยได้ทันที เหมือนกับสามารถซ่อมตัวเองได้

“ส่วนผนังดินอัดเราก็พัฒนาสูตรการเคลือบการจัดการลวดลายให้ต่อยอดได้หลากหลายมากขึ้น เช่นที่ Tara Villa ก็ใช้การอัดดินที่มีชั้นดินถี่ขึ้น เพื่อกำหนดลวดลายตามที่ผู้ออกแบบต้องการ ในที่สุดแล้วการใช้วัสดุเหล่านี้ทั้งดินฉาบ และผนังดินอัด จะหลายเป็นวัสดุที่ไม่ใช่วัสดุทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นวัสดุที่สามารถใช้งานได้จริงในงานสถาปัตยกรรม ในกรณีผู้ออกแบบ หรือเจ้าของบ้านต้องการ “ดิน” และ “คุณลักษณะของดิน” ให้เข้าไปอยู่ในงานสถาปัตยกรรมของเขา นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาทดลองร่วมกับเราได้ เช่น อย่างน้องที่เรียนคณะสถาปัตย์ฯ ม.รังสิต ได้นำขยะทางทะเลมาลองผสมกับดินอัด เป็นวัสดุทางเลือกที่ช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม”

“สุดท้ายแล้ว “ดิน” ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าทำให้เราสัมผัสถึงธรรมชาติได้อย่างชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่ง ได้เหยียบดิน ได้กลิ่นดินหลังฝนตก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นธรรมชาติที่เราเองอาจต้องการและโหยหา ซึ่งหาได้ยากในสังคมเมือง La Terra ก็เหมือนเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนสามารถสัมผัสถึงสิ่งเหล่านี้ได้ในทุกวัน

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ คุณปัจจ์ บุญกาญจน์วนิชา บริษัท ลาแตร์ จำกัด โทร. 08-3788-3266

วัสดุดินอัดลาแตร์ผสมพลาสติก
งานทดลองใหม่ในการนำเอาขยะที่รีไซเคิลไม่ได้จากทะเลมาผสมเข้าด้วยกัน
.
"ถ้าทำเป็นผนังขึ้นมา เลเยอร์นี้ที่เห็นขยะแทรกอยู่ ก็คงจะเหมือนภาพแทนของยุคสมัยนี้ของเรา ที่มีปัญหาขยะล้นโลก แต่พอผ่านไปอีกเลเยอร์ พอขยะหายไป นั่นอาจเป็นเพราะเราได้แก้ปัญหานี้สำเร็จแล้วก็เป็นได้" คุณปัจจ์ บุญกาญจน์วนิชา แห่ง บริษัท ลาแตร์ จำกัด กล่าว โดยตัวอย่างผนังดินอัดนี้ เป็นโครงการทดลองร่วมกับคุณไชยทัศน์ บู่ทอง นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขา สถาปัตยกรรมศาสตร์หลัก มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในวิทยานิพนธ์ โรงเรียนสอนศิลปะจากขยะ (Precious Trash & Art school) 
.
ผนังดินอัด หรือ Rammed Earth เป็นวัสดุก่อสร้างที่ใช้วิธีธรรมชาติและวัตถุดิบจากดินในพื้นที่ มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีคุณสมบัติสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย สามารถรักษาอุณหภูมิภายในให้คงที่ได้เหมือนบ้านดินทุกประการ โดยใช้วิธีการเฉพาะนำเข้าอัดในแบบ จนออกมาเป็นพื้นผิวที่เป็นธรรมชาติดูสวยงามโดยไม่ต้องเติมแต่ง
.
เมื่อคุณไชยทัศน์ ได้ติดต่อขอความร่วมมือมายังคุณปัจจ์ คำตอบของลาแตร์ในการที่จะลองใช้วัสดุจากขยะพลาสติกผสมลงไปในวัสดุธรรมชาติ เป็นวัสดุไร้สารพิษเช่นนี้ คำตอบคือ "ทำไมจะไม่ลองดูละ"
.
"ไชยทัศน์เขามาพร้อมกับโครงการวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับโรงเรียนศิลปะที่ใช้ขยะ จึงมาพร้อมกับขยะหลายชนิดมากมายเลย เราก็มาคุยกันว่า เราจะเลือกใช้อะไรมาผสมกับดินอัด หลังจากลองพูดคุยศึกษากันอยู่ระยะหนึ่ง ก็มาจบที่ขยะพลาสติก ซึ่งเก็บได้จากทะเลไทย เป็นขยะที่ยากจะนำไปรีไซเคิล การนำมาผสมเป็น Filler ในดินอัดเเบบนี้ นอกจากการทดลองว่า วัสดุพลาสติกจะแสดงคุณลักษณะอย่างไรเมื่อนำมาใช้ผสมแล้ว จริง ๆ มันก็ไม่ได้ช่วยให้ประหยัดวัสดุอะไรมากขึ้น แต่เราสนใจในการผนึกพลาสติกเหล่านี้ไปใช้ในงานสถาปัตยกรรม มันเป็นความน่าสนใจในการส่งสารบางอย่างว่า นี่คือขยะที่อยู่ในทะเลของเรานะ เลเยอร์นี้คือภาพแทนของยุคนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ก็เลยออกมาเป็นวัสดุผสมพลาสติกตัวนี้"
.
"ผมสนใจการนำเอาขยะมาผสมผสานในสถาปัตยกรรมผ่านแนวคิดแบบศิลปะ" ไชยทัศน์อธิบายให้เราเพิ่มเติม "สิ่งที่เราทิ้งจากบนบก สุดท้ายมันไหลไปรวมกันในทะเล เราเลือกที่จะหยิบเอาพลาสติกเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดเป็นความงามในกำแพง จากตอนแรกที่ดูเป็นขยะ ก็พัฒนาร่วมกับพี่ปัจจ์ จนออกมาเป็นผนังที่ดูเรียบเกลี้ยงมีพลาสติกแทรกตัวอยู่ภายใน ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับจากอาจารย์และผู้สนใจดีขึ้น นำไปใช้ได้จริง ๆ ตอนนี้ก็เลยเตรียมนำไปทดสอบการรับแรงต่อไปว่า เมื่อผสมลงไปแล้ว ยังแข็งแรงเพียงพอหรือไม่ครับ" 
.
"อย่างไรก็ตามงานชิ้นนี้ไม่ได้มุ่งเน้นการจัดการขยะเชิงปริมาณ เพราะเรามองว่าเป็นการทำแบบนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งยากที่จะทำให้หมดไปได้ในเร็ววัน แต่ความตั้งใจคืออยากให้ตัวสถาปัตยกรรมนั้นได้สื่อสารถึงปัญหา และสร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาขยะในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่าครับ" คุณปัจจ์กล่าวทิ้งท้ายแก่ room
.
ข้อมูลเพิ่มเติม : บ้านดิน ลาแตร์ la terre
.
ภาพ: นันทิยา
เรื่อง: Wuthikorn Sut
.
#roomDesignUpdate #Betterism #PlasticTrash

บ้านไม้ชั้นเดียวกลางสวนผลไม้ที่ออกแบบตามความพอดีของชีวิต

โครงการ ป่าในกรุง

BAANSOMTAM BANG NA ร้านส้มตำที่เติมความแซ่บและเป็นพื้นที่สีเขียวให้เมือง

TARA VILLA การตีความใหม่ของเสน่ห์เมืองกาญจนบุรี

TARA VILLA IDIN ARCHITECTS
TARA VILLA IDIN ARCHITECTS

ภาพ: นันทิยา
เรื่อง: Wuthikorn Sut