THE BARISTRO ASIAN STYLE รีโนเวตบ้านเก่าเชิงดอยสุเทพ เป็นคาเฟ่ไม้กลิ่นอายโมเดิร์นเอเชียน

The Baristro Asian Style คาเฟ่สาขาใหม่ภายใต้แบรนด์ The Baristro ที่เกิดจากการรีโนเวตบ้านเก่าชั้นเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ ให้กลายเป็นคาเฟ่ไม้ โดดเด่นอยู่บนเนินหญ้าสีเขียว

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: pommballstudio

ผลงานการออกแบบโดย pommballstudio ภายใต้คอนเซ็ปต์การนำภาพจำของบรรยากาศแบบเอเชียหลากหลายประเทศมาผสมผสานกันแบบหยิบเล็กผสมน้อย โชว์วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น เพื่อบอกเล่าภาพความเป็น Asian Style ให้ยิ่งชัดเจนขึ้น

The Barissian

ต้อนรับทุกคนด้วยอาคารหลักด้านหน้า โดยออกแบบให้เป็น Speed Bar สถาปนิกเล่าว่า เดิมพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นบ้านคอนกรีตชั้นเดียวมีสภาพทรุดโทรมมาก่อน หลังจากสำรวจพื้นที่แล้ว จึงนำมาสู่แนวคิดการออกแบบอาคาร ด้วยการยังคงเก็บรายละเอียดโครงสร้างที่แข็งแรงไว้บางส่วน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเสาเดิม และหลังคาแบบ Flat Slab เสมือนเป็นเครื่องช่วยย้ำเตือนถึงที่มาก่อนเปลี่ยนโฉมใหม่ ให้บ้านเก่ากลายเป็นคาเฟ่ไม้บนเนินหญ้า ที่มองทะลุเห็นบรรยากาศด้านในผ่านผนังกระจกใสรอบทิศ

“ตอนวางมาสเตอร์แปลนเราพยายามวางอาคารให้แยกกัน รวมถึงอาคารหลังอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในเฟสต่อไป โดยมีแรงบันดาลใจมาจากหมู่บ้านของชาวเอเชีย ซึ่งมีอาคารอยู่คนละหลัง แล้วถูกเชื่อมด้วยคอร์ตยาร์ด ลานวัด หรือลานกลางหมู่บ้าน ดังนั้นเมื่อเข้าด้านในแล้ว เหมือนเรากำลังเดินอยู่ในหมู่บ้าน ผ่านเส้นทางสัญจรที่ลื่นไหล และค่อนข้างกว้าง สำหรับให้ลูกค้าได้ใช้เวลาพักผ่อนเดินเล่น ออกไปสัมผัสกับมุมมองภายนอกต่าง ๆ ได้เยอะขึ้น ไม่ว่าจะเดินรอบคอร์ต เดินผ่านกำแพง หรือเดินผ่านอาคาร Speed Bar หลังนี้ เพื่อไปหา Slow Bar ที่อยู่ด้านหลัง และอาคารหลังอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต”

“เราไม่ได้ระบุตรง ๆ ว่า เป็นการหยิบบรรยากาศความเป็นเอเชียมาจากประเทศไหน เพียงแต่เราพยายามหยิบยก หรือนำภาพจากสิ่งที่คนเห็นแล้วจะทำให้เขาจำได้ง่าย ๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์แบบญี่ปุ่น เกาหลี จีน และไทยล้านนา โดยนำมาเล่าแค่พอคร่าว ๆ ไม่ได้ลงรายละเอียดลงไปชัดเจนนัก ภายใต้บรรยากาศรวมที่บอกถึงความเป็นเอเชีย”

เลือกสื่อถึงความเป็นเอเชียผ่านองค์ประกอบโครงสร้างและเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ไม้สัก และไม้เต็ง ซึ่งหาได้ง่ายในท้องถิ่น ทั้งจากจังหวัดลำพูน และแพร่ เมื่อกล่าวถึง Speed Bar พอเข้ามาแล้วจะรู้สึกเหมือนอยู่ในพื้นที่ใต้ถุนบ้านที่โล่งกว้าง มองเห็นท้องใต้ถุนที่ทำจากไม้ หรือแม้กระทั่งหลังคาก็ทำให้เหมือนหลังคาของบ้านสมัยก่อน มองขึ้นไปจะเห็นเป็นโครงไม้ทั้งหมด ชวนให้เกิดประสบการณ์ร่วมคล้ายกำลังอยู่ในบ้านไม้จริง ๆ ส่วนเสาเปลี่ยนจากเสาคอนกรีตมาหุ้มด้วยไม้ทั้งหมด แล้วกรุผนังด้วยกระจกใสโดยรอบให้มองเข้ามาแล้วเห็นการใช้งานภายใน นอกจากนั้นยังมีการใช้วัสดุอย่างเดียวกันจากข้างนอกไหลเข้ามาข้างในอย่าง หินภูเขา ที่นำมากรุเป็นกำแพงข้างนอก แล้วไหลต่อเข้าไปยังผนังด้านหลังบาร์ เป็นมุมมองที่เรียกว่า “Inside Out – Outside In”
ลดความเลี่ยนของบรรดาวัสดุจากธรรมชาติ ด้วยเคาน์เตอร์บาร์สเตนเลสขนาดใหญ่ สำหรับวางเครื่องทำกาแฟเอสเปรสโซ นอกจากช่วยเบรกบรรยากาศให้รู้สึกถึงความเป็นสมัยใหม่ สเตนเลสยังมีข้อดีคือ ทำความสะอาดง่าย และดูเรียบร้อยสวยงาม
ทั้งยังมีสีสันที่ลงตัวกับสีของพื้นหินและผนัง เพื่อให้บรรยากาศดูโมเดิร์นขึ้น เป็นงานออกแบบที่จับความเป็นเอเชียมาคลี่คลาย ชวนให้นึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ แต่ก็ไม่ลืมสอดแทรกความโมเดิร์นตามยุคสมัยลงไปด้วยในที ท่ามกลางบริบทชวนผ่อนคลายของหมู่แมกไม้ที่เติบโตอยู่ในพื้นที่เดิม และธรรมชาติงาม ๆ ของเมืองเชียงใหม่
ที่ตั้ง
200 ซอย 8 บ้านหลังมอ หมู่ที่ 14 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่
เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 8.00 น. – 18.00 น.
ข้อมูลการออกแบบ
ออกแบบสถาปัตยกรรม : กานต์ คำแหง , ธนชาติ สุขสวาสดิ์ , แพรพลอย มหาธงชัย จาก pommballstudio pommballstudio
ออกแบบภายใน : pommballstudio , พิชชานี ค้อมคำพันธุ์
ออกแบบโครงสร้าง : พิลาวรรณ พิริยะโภคัย
ทีมงานก่อสร้าง : จิตราภรณ์ วุฒิการณ์ , ยุทธการ กันทยานภัทร

เรื่อง : Phattaraphon
ภาพ : pommballstudio