ISAN CUBISM หยิบศิลปะคิวบิสม์จากแดนอีสาน สู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยบอกเล่าอัตลักษณ์ไทย

ISAN Cubism หยิบศิลปะคิวบิสม์จากแดนอีสานพัฒนาสู่โปรดักต์ดีไซน์ ที่มีต้นทุนมาจากวัฒนธรรมการทอผ้าลายขิด งานไม้ และฮูปแต้มในสิม เพื่อบอกเล่าภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าทึ่ง ในการสร้างสรรค์ลวดลายอย่างง่าย ผ่านรูปทรงเรขาคณิตอันเต็มไปด้วยเสน่ห์ จากคุณค่าดังกล่าวได้รับการบอกเล่าผ่าน ดร.ขาม จาตุรงคกุล และ ผศ.ดร. ณัฏฐพงศ์ พรหมพงศธร ภายใต้แบรนด์ ISAN Cubism หนึ่งในแบรนด์ไทยจากโครงการ Talent Thai โดย DITP หรือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ดร.ขาม จาตุรงคกุล และ ผศ.ดร. ณัฏฐพงศ์ พรหมพงศธร

จุดเริ่มต้น

ดร.ขาม จาตุรงคกุล และ ผศ.ดร. ณัฏฐพงศ์ พรหมพงศธร ทั้งคู่คืออาจารย์ผู้สอนด้าน Industrial design สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากอุดมการณ์ร่วมกันที่อยากให้งานดีไซน์รับใช้ท้องถิ่น โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ ได้มีความเข้าใจและภูมิใจ ในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน นำมาสู่แนวทางการสอนและการลงมือทำจริง อันเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ “ISAN Cubism”

เรามีความคิดกันว่าจะสอนอะไรพวกเขาดี เพราะในกรุงเทพฯ เราจะเห็นงานดีไซน์ที่มีความเป็นสากล แต่พอมาอยู่ที่อีสาน ผมมองว่านักศึกษาที่เรียนออกแบบในพื้นที่ พวกเขามีวัตถุดิบ ไม่ค่อยมีคนดีไซด์งานใหม่ ๆ ออกมา ก็เลยมานั่งคิดว่าเราจะเริ่มจากการตั้งใจศึกษาศิลปวัฒนธรรมอีสาน แล้วนำมาใช้ในการออกแบบ หนึ่งก็คือเพื่อจะได้เรียนรู้และทำความเข้าใจกับนักศึกษาว่าเราจะสอนอะไรเขา และสองเพื่อแสดงให้เห็นว่าบริบทของพื้นที่นี้มีอิทธิพลอย่างไร  โดยเราได้ลงไปยังชุมชน แล้วนำสิ่งที่เห็นมาใช้ในการออกแบบ เชื่อมโยงกับโปรดักต์ที่สามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน”

เริ่มต้นจากการนำลายผ้าขิดที่ถอดออกมาเป็นลายกราฟิก นำมาออกแบบเป็นชิ้นงานลักษณะคล้ายกระเบื้อง แต่ถ้าเราจำหน่ายเป็นกระเบื้อง ราคากับคุณค่าของงานอาจดูต่ำลง จึงปรับฟังก์ชันให้สามารถจำหน่ายได้ง่ายขึ้น มีความเป็นของใช้ และมีราคาที่แหมาะสม โดยมีไอเดียจากลายผ้าขิด จริง ๆ เราออกแบบงานชุดนี้ให้กับทางศูนย์ศิลปาชีพกุดนาขาม  จากงานบริการวิชาการที่ทำงานกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 5 แต่ทางโน้นไม่ได้ทำออกมา เราจึงนำมาพัฒนาต่ออยู่ถึง 5 รอบในส่วนของกระบวนการผลิต โดยใช้แม่พิมพ์รูปแบบต่างๆ  ตั้งแต่อัดด้วยมือ หล่อน้ำดิน เพื่อให้ชิ้นงานออกมาสมบูรณ์ที่สุด  ในที่สุดจึงได้ทำเป็นแม่พิมพ์ที่ใช้กับเครื่องอัดแรมเพลส (ram press) แบบโรงงาน โดยใช้วัสดุทำแม่พิมพ์ที่ประหยัดที่สุด”

กระทั่งในปี 2016 มีงานประกวด “การประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์ จากทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา Cultural and wisdom talent 2016” ภายใต้โครงการ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา  โดยสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในปีนั้นมีผลงานส่งเข้าประกวดจากทั่วประเทศรวม 191 ผลงาน  และหนึ่งในนั้นคืองานชุดจานรองแก้วของอาจารย์ทั้งสองท่านผ่านเข้ารอบแรก และในรอบที่ 2 ทั้งคู่ได้มีการต่อยอดผลงานจากงานเดิม เกิดเป็นโปรดักต์เตาอโรมารูปสัตว์ และการตั้งชื่อแบรนด์ว่า ISAN Cubism

“เพราะเรามีไอเดียมาจากภูมิปัญญาลายขิด ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ลวดลายที่ถูกลดทอนลงมาเป็นรูปทรงเรขาคณิตที่เรียบง่าย ตรงกับศิลปะแบบคิวบิสม์ ซึ่งเกิดจากชาวบ้านอีสานธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้ร่ำเรียนศิลปะใด ๆ มาก่อนเลย” อาจารย์ณัฏฐพงศ์ เป็นตัวแทนเล่าถึงที่มาของแบรนด์

ศิลปะแบบ Cubism กับลายขิดจากผ้าทอแดนอีสาน

“ลายขิด เป็นภูมิปัญญาการดีไซน์ของชาวบ้านในอดีตที่มีมานานแล้ว บางลายมีอายุหลายร้อยปี เช่น ลายช้าง ม้า สิงห์ หงส์ และคน โดยเลือกลายคนมาใช้ 2 ลาย คือ ลายคุณยายถือเชี่ยนหมากกำลังจูงหลาน และมีผู้ชายอีกคน ทั้งหมดมี 6 ลาย สำหรับเซ็ตที่เป็นลายจานรองแก้ว

“นอกจากนี้ลายขิดอีสาน ยังปรากฎอยู่ในผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน ความพิเศษที่มาพร้อมเรื่องราว และผมมองว่าเราจะทำโปรดักต์นี้ ให้สื่อสารกับนานาชาติอย่างไร หรือว่าจะทำอย่างไร ให้คนอื่นเข้าใจเหมือนอย่างที่เราเข้าใจ ลวดลายที่เกิดขึ้นนี้คือ ศิลปะแบบคิวบิสม์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับสากล บอกเล่าว่านี่คือศิลปะพื้นบ้านของประเทศเรา ฝรั่งเขาก็จะเข้าใจ และคนไทยทั่วไปก็จะได้รู้ว่านี่มาจากวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งเกิดจากชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนศิลปะมาเลย แต่เขาสามารถทำงานศิลปะแบบคิวบิสม์ได้”

นอกจากลายขิด ยังหยิบอัตลักษณ์ท้องถิ่นอื่น ๆ ที่มีความ Cubism มาใช้งาน

“ต่อจากลายผ้าขิด สิ่งที่เราสนใจต่อมา คือ งานไม้ ฝีมือชาวบ้านที่ใช้เครื่องมือง่าย ๆ ซึ่งพบทั้งบนเชี่ยนหมาก บานประตู หน้าต่างของสิม ฐานพระพุทธรูป หน้าบัน โหง่ หรือช่อฟ้า โดยส่วนใหญ่มักแกะสลักลวดลายเป็นลายสามหลี่ยม สี่เหลี่ยม และลายดอกไม้ ลวดลายที่ปรากฏเป็นลายผสมผสานที่เข้าใจง่าย บางทีก็เป็นลายเชิงวัฒนธรรม เช่น ลายพญานาค ลายดาว ฯลฯ เรามองว่ามันมีเสน่ห์ มีความหมายรวมอยู่ในอีสานคิวบิสม์ ก็เลยเป็นคอนเซ็ปต์ให้แก่งาน

ซึ่งโชคดีมากที่ผมกับอ.ขาม เราได้เดินทางไปถ่ายภาพและเก็บข้อมูลของวัดทั่วอีสาน จากโครงการของม.ขอนแก่น ที่มีการทำฐานข้อมูลเหล่านี้ช่วงปี 2011-2012 ทำให้เรามีคลังข้อมูลเหล่านี้ที่ได้สัมผัสมาด้วยตัวเอง  เราจึงหยิบเอาภาพถ่ายและข้อมูลเหล่านี้มาใช้งาน เช่น ลายจิตรกรรมฝาผนัง งานไม้  เรียกว่าไปรวบรวมข้อมูลมา แล้วค่อยคัดเลือกจากรูปเก่า ๆ คิดอะไรออก ค่อยหยิบนำออกมาใช้ทำงานครับ”

ขั้นตอนการต่อยอด และเพิ่มความน่าสนใจให้ผลิตภัณฑ์

จากงานสองมิติมาสู่งานสามมิติที่ต่อยอดให้มีฟังก์ชันอื่น ๆ เพิ่มเติมจากการเป็นแค่ที่รองแก้ว  สู่เตาน้ำมันหอมผลิตภัณฑ์อโรมา เพื่อจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ

“จากจานรองแก้ว พัฒนาเป็นเตาน้ำมันหอมรูปสัตว์ที่สามารถใส่เทียน วางประดับตกแต่งได้ หรือนำถาดไปวางด้านบนก็จะกลายเป็นเตาน้ำมันหอมได้ ออกแบบให้มีลูกเล่นมากขึ้น อย่างเช่นรูปสัตว์ที่เห็นเป็นสี่เหลี่ยม สามารถนำมาวางเรียงต่อกันได้

“ส่วนเรื่องสีสันอย่างชุดจานรองแก้ว เราเน้นใช้สีสันสดใส เช่น เขียว เหลือง แดง ฟ้า น้ำตาล ม่วง ตามสีสันของลายขิดเป็นหลัก และมีชุดที่เป็นเคลือบเซลาดอน หรือเคลือบเขียวไข่กา ที่เป็นเคลือบจากขี้เถ้าไม้  การเผาจะแตกต่างจากงานเซรามิกทั่วไป (ชุดนี้ทำเฉพาะที่ส่งประกวด ไม่ได้มีจำหน่าย) โดยเราได้นำชิ้นงานของเรา ส่งไปเคลือบที่โรงงานสยามศิลาดล  ที่เชียงใหม่ เป็นผู้เคลือบและเผาให้ เพราะเราอยากได้ตัวจริงทางด้านนี้มาทำให้  ซึ่งนำเสนอเป็นงานเซรามิกจากประเทศไทยที่ต่างชาติคุ้นเคย  และสำหรับคนที่ไม่ชอบงานสีสดใส ก็จะมีชุดนี้ที่เป็นสีเรียบ ๆ เป็นตัวเลือก

“ผมมองว่างานของ ISAN Cubism เราไม่ได้ต้องการทำแค่บอกความอีสาน แต่เราต้องการทำให้เข้ากับความเป็นไทยทั่วไปได้ พอต่างชาติมาเห็นเขาก็จะรู้สึกว่าอันนี้คือสิ่งหนึ่งของประเทศไทย ประเทศไทยเรามีอัตลักษณ์เยอะ เราไม่ได้บอกว่าตรงนี้มันแทนทุกอย่าง ผมว่าอันนี้ก็คืออัตลักษณ์อันหนึ่งของไทย เป็นวัฒนธรรมอีสานที่สามารถผสมผสานกับรูปแบบศิลปะอื่นๆในประเทศไทยได้

ผลงานชิ้นถัดไปของ ISAN Cubism

ตอนนี้เรากำลังผลิตแจกันที่เป็นรูปจากฮูปแต้มอีสานจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ซึ่งงานชุดนี้เราทำมาตั้งแต่ปี 2015 ก่อนชุด Isan Cubism และส่งประกวดในงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในปี 2015 ได้เข้ารอบ 40ทีม แต่ไม่ได้รับรางวัล ในปีถัดมาเราจึงส่งจานรองแก้วไปประกวด

แต่ก็ไม่ได้ทิ้งงานแจกัน ยังคงพัฒนาต่อ จุดเด่นของงานชุดนี้อยู่ที่รูปทรงฟรีฟอร์ม ล้อไปกับรูปฮูปแต้มที่เลือกมา ให้อารมณ์เป็นงานแฮนด์เมด เหมือนภาพฮูปแต้ม เราทำต้นแบบไว้กว่า 22 แบบ ที่มีที่มาจากฮูปแต้มที่เป็นงานจิตรกรรมของชาวบ้านอีสานมีอายุราว 50-100 ปี หรืออาจมากกว่านั้น  เช่น ภาพทหาร ที่ถูกวาดอยู่ด้านหน้าประตูของสิมอีสาน (อุโบสถ) 2 ฝั่ง อาจมีความหมายถึงผู้เฝ้าประตู หรือทวารบาล  สาเหตุที่เป็นรูปทหาร อาจเนื่องมาจากชาวบ้านต้องการให้มีผู้เฝ้าประตู จึงวาดรูปทหารเป็นคนเฝ้าหน้าประตูสิม นอกจากนี้เรายังหยิบเรื่องของการเล่าเรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิตประจำวัน งานบุญ เช่น พะเวสสันดรชาดก หรือแม้เเต่ชาดกนอกนิบาตที่เป็นนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องสังข์สินไซ หรือสังข์ศิลป์ชัย เราหยิบภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละวัดมาใช้ โดยเขาจะเขียนไม่เหมือนกัน ฝีมือแตกต่างกัน เราก็หยิบภาพที่เราดูว่าสวยมาเพ้นต์ลงบนแจกัน เป็นทั้งของที่ระลึกและสามารถใช้งานได้ด้วย บ่งบอกถึงสถานที่ของจังหวัดนั้น ๆ ที่เขามีวัดนี้อยู่

“เหมือนหิมพานต์มาร์ชเมลโล่ ผมว่าแนวคิดเราจะคล้าย ๆ กัน อย่างภาพที่เป็นงานจิตรกรรมฝาผนัง ถ้าได้เห็นภาพนี้บนแจกันแล้ว ก็อาจจะอยากมาดูของจริง หรือว่าอย่างน้อยก็ได้รับรู้ว่า มีจิตกรรมรูปแบบนี้อยู่ ซึ่งมีความเรียบง่าย บางวัดวาดแบบศิลปะเซอร์เรียลลิสม์เลยนะ แบบเหนือจริงมาก”

อีกก้าวของแบรนด์เมื่อเข้าร่วม Talent Thai

“เรื่องการทำธุรกิจเป็นแค่ผลพลอยได้หนึ่ง แต่จุดประสงค์จริง ๆ ก็คืออยากนำตรงนี้มานำเสนอเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็น หรือเกิดอะไรบางอย่าง เกิดการตระหนักว่ามันมีแบบนี้ด้วยหรอ อย่างบางคนเห็นศิลปะแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เกิดความชิน ไม่รู้สึกอะไร จนกระทั่งเรานำสิ่งนี้ออกมาสู่โลกของงานดีไซน์ในวงกว้างมากขึ้น เกิดการพูดถึง เขาก็จะได้หันกลับไปมองวัฒนธรรมที่บ้านเขา ทำให้เขาหันกลับไปมองคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ที่ท้องถิ่นตนเองมี

“ด้วยความที่ผมกับอาจารย์ขามเป็นอาจารย์ เราไม่ถนัดงานขาย พอเข้าร่วมกับโครงการ Talent Thai เราก็ต้องไปจดทะเบียนการค้าทำตามขั้นตอนทุกอย่าง เราคิดว่ามันเป็นเวทีสำหรับการเรียนรู้ ถามว่าคาดหวังอะไรไหม ในใจไม่ได้คาดหวังอะไร แต่ก็อยากรู้ว่าเราจะไปต่อได้ถึงไหน ตอนนี้สิ่งที่ได้คือความรู้ แล้วเราในฐานะอาจารย์สามารถนำไปแชร์ต่อให้กับนักศึกษาที่เขายังไม่มีโอกาสมายืนตรงนี้ได้ว่า วงการออกแบบ ณ วันนี้ เป็นอย่างไร เมื่อจบไปแล้วคุณสามารถต่อยอดความรู้ไปสู่ทิศทางไหนได้บ้าง

“ตอนนี้เรากำลังพัฒนาและปรับปรุงเรื่องการใช้ดินในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นสำหรับนำมาใช้ผลิตผลงาน และทำเตาเผาเอง เรียกว่าทำทุกระบวนการที่นี่เพื่อบอกว่าผลงานนี้มาจากพื้นถิ่นอีสานแท้ ๆ รวมถึงหวังไปถึงอนาคตว่าอยากให้เกิดการสร้างงานทั้งนักศึกษาและคนในพื้นที่ต่อไปครับ”

ข้อมูลเพิ่มเติม
www.facebook.com/Isancubism
ติดต่อ ผศ.ดร. ณัฏฐพงศ์ พรหมพงศธร โทร. 08-1632-3143

ภาพ : ISAN Cubism
เรื่อง : Phattaraphon