โรคหมอนรองกระดูก (Intervertebral Disc Disease : IVDD)

ไขสันหลังจัดเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สำคัญและอ่อนไหวได้ง่ายในร่างกาย หากได้รับความเสียหายเซลล์ประสาทจะไม่สามารถสร้างใหม่ แต่จะถูกทดแทนด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน

การบาดเจ็บของไขสันหลังมักจะไม่สามารถกลับมาทำงานปกติแบบเดิมได้ ดังนั้นเพื่อปกป้องไขสันหลัง ไขสันหลังจึงอยู่ภายในบริเวณกระดูกสันหลังที่มีกระดูกรอบข้างปกคลุมในทุกด้าน ยกเว้นบริเวณที่มีรอยต่อของกระดูกสันหลัง บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของหมอนรองกระดูก (Intervertebral Discs) ที่มีลักษณะคล้ายยางนิ่ม ๆ ซึ่งกระดูกสันหลังและหมอนรองกระดูกช่วยให้บริเวณหลังสามารถขยับขึ้นลงได้หรือไปด้านข้างได้ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับไขสันหลัง โรคหมอนรองกระดูก

ตำแหน่งปกติของไขสันหลังและหมอนรองกระดูก (ขอบคุณภาพจาก : vitalvet.org)

หมอนรองกระดูกประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนด้านนอก เรียกว่า Annulus Fibrosus ทำหน้าที่คล้ายกับเปลือกหอย ซึ่งมีส่วนประกอบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เหนียวทำให้สามารถปกป้องและรักษาส่วนด้านในไว้ได้ โดยส่วนด้านใน เรียกว่า Nucleus Pulposus มีลักษณะนุ่มกว่าด้านนอก เนื้อสัมผัสคล้ายกับเยลลี่

หมอนรองกระดูกส่วนปลายทั้งสองข้างมีลักษณะบางเรียว ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ด้านใต้ของไขสันหลัง การเกิด โรคหมอนรองกระดูก มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของหมอนรองกระดูกส่วนด้านนอก หรือเกิดการฉีกขาดทำให้ส่วนด้านในทะลักออกมา เรียกว่า slipped disc หรือ herniated disc ซึ่งทำให้สัตว์แสดงอาการปวด สูญเสียการทำงานของขาจนทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ หรือถึงขั้นเป็นอัมพาตได้ และบางครั้งรุนแรงจนถึงขั้นไม่มีความรู้สึกที่ขาได้

แสดงการกดทับไขสันหลังสุนัข (ขอบคุณภาพจาก : vitalvet.org)

ความผิดปกติของหมอนรองกระดูกสามารถเกิดได้หลายตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งกระดูกสันหลังส่วนคอ (cervical), ส่วนอกและเอว (thoraco–lumbar region), หรือตำแหน่งเอวต่อก้นกบ (lumbosacral)

ลักษณะการกดทับมีอยู่ 2 แบบได้แก่

1. การกดทับแบบ Hansen Type I หรือแบบที่มีการแตกของ Annulus Fibrosus จนเนื้อเยื่อของ Nucleus Pulposus ทะลักขึ้นมากดไขสันหลัง โรคนี้พบได้บ่อยในสุนัขกลุ่ม chondrodystrophoid คือกลุ่มพันธุ์ที่ขาสั้นและหลังยาว เช่น ดัชชุน, ปักกิ่ง, ชิสุ, บาสเซต ฮาวน์, อเมริกัน คอร์กเกอร์ สแปเนียล, เฟรนช์ บูลด็อก หรือบีเกิล เป็นต้น และส่วนใหญ่เป็นสุนัขพันธุ์ดัชชุนถึง 45-70% โดยปกติจะเกิดความผิดปกติในช่วงอายุระหว่าง 3-6 ปี นอกจากนี้ยังสามารถพบในสุนัขพันธ์อื่นที่ไม่ใช่สายพันธุ์ chondrodystrophoid ได้ เช่น พูเดิ้ล ชิวาวา ปอมเมอร์เรเนียน เป็นต้น อาการเด่นของการเกิดหมอนรองกระดูกชนิดนี้คือจะเกิดขึ้นแบบฉียบพลันทันที เช่น ขณะกระโดด หรือขึ้นลงบันได เป็นต้น

2. การกดทับแบบ Hansen Type II คือ มีการเสื่อมที่ไม่ได้มีการแตกของ Annulus Fibrosus แต่ไม่สามารถคงรูปได้ก็จะเกิดการปลิ้นขึ้นมากดไขสันหลังของ Annulus Fibrosus พบสุนัขในกลุ่ม Nonchondrodystrophoid หรือกลุ่มสุนัขขายาว ขนาดใหญ่ เช่น ลาบราดอร์, เยอรมัน เชพเพิร์ด เป็นต้น สามารถเกิดได้ที่อายุระหว่าง 5 ถึง 12 ปี โดยตำแหน่งที่มักเกิดคือตำแหน่งตรงกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว (thoraco–lumbar region) คิดเป็น 65% และกระดูกสันหลังตำแหน่งคอ (cervical region) 18% อาการเด่นของการเกิดหมอนรองกระดูกชนิดนี้คือจะเกิดขึ้นแบบเรื้อรังค่อยเป็นค่อยไป ใช้ระยะเวลานาน เช่น มีอาการลุกลำบากอยู่ช่วงระยะแรกและตามมาด้วยลุกเดินอีกไม่ได้ เป็นต้น

สาเหตุ (Cause)

ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นได้เอง ซึ่งถือเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม เมื่อส่วนนอกของหมอนรองกระดูกมีการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ส่วนที่อยู่ตรงกลางแตกปลิ้นออกมาด้านนอก เนื่องจากส่วนของหมอนรองกระดูกอยู่ติดกับด้านล่างของไขสันหลัง เมื่อส่วนด้านในไหลออกมาด้านนอก ทำให้เกิดแรงดันไปกดส่วนของไขสันหลัง และเนื่องจากไขสันหลังอยู่ภายในร่องของกระดูกสันหลังทำให้ไม่สามารถขยับเขยื้อนหนีแรงกดดังกล่าวได้ ทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า Pinched หรือ การจิกกด

ลักษณะอาการที่พบ

เนื่องจากแรงที่กดบนไขสันหลังตลอดเวลา ทำให้สุนัขมีความเจ็บปวดร่วมกับอาจมีปัญหาเรื่องการส่งกระแสประสาท ส่งผลให้เกิดอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาตบางส่วนหรืออัมพาตอย่างสมบูรณ์ อาจมีอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ ร่วมด้วยขึ้นอยู่กับตำแหน่งของกระดูกสันหลังที่เกิดความผิดปกติ
ตัวอย่างอาการที่พบได้ เช่น
– มีการเจ็บบริเวณคอหรือหลัง ทำให้มีปัญหาเรื่องการหมุน หรือเลี้ยวตามมา
– ขาหลังทำงานไม่สัมพันธ์กัน คือ ขาหลังหนึ่งข้างไขว้สลับมาอีกฝั่งในขณะเดิน
– สูญเสียการทำงานของขาหลังทั้งสองข้าง ซึ่งมักจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมปัสสาวะร่วมด้วย
– การรับรู้ความเจ็บปวดหายไป มักเกิดในกรณีที่ไขสันหลังได้รับความเสียหายรุนแรง ซึ่งการพยากรณ์โรคอยู่ในระดับแย่
หมอนรองกระดูกรอบนอกจะเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ และการทะลักของส่วนด้านในเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่นกัน อาจนานเป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ ซึ่งในระยะเริ่มแรกสุนัขจะเริ่มมีอาการเจ็บและไม่ค่อยอยากขยับตัวโดยเฉพาะในกรณีของ Hansen type II แต่ในสุนัขบางตัวความผิดปกติเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทำให้สุนัขจากที่เดินปกติเกิดอัมพาตทั้ง 4 ขาได้ภายในไม่ถึง 1 ชั่วโมงในรายที่เกิดการกดทับแบบ Hansen type I

แนวทางการวินิจฉัย (Diagnosis)

การตรวจวินิจฉัยอาศัยการตรวจร่างกายทั่วไปร่วมกับการตรวจทางระบบประสาท และการซักประวัติสัตว์ป่วยก็เป็นสิ่งที่สำคัญ นอกจากการตรวจร่างกายแล้วการวินิจฉัยจากการถ่ายภาพทางรังสีที่ตำแหน่งของกระดูกสันหลังสามารถช่วยในการวินิจฉัยได้ นอกจากนี้สามารถทำ myelogram คือ การฉีดสารทึบรังสีเข้าไปบริเวณรอบ ๆ ไขสันหลัง หลังจากนั้นทำการถ่ายภาพทางรังสี เพื่อดูตำแหน่งที่ผิดปกติของหมอนรองกระดูกที่เห็นได้จากสีในภาพเอกซเรย์ หรือถ้าเป็นโรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลสัตว์เฉพาะทางศัลยศาสตร์ระบบประสาทจะใช้ MRI (magnetic resonance imaging) เป็นการสร้างภาพเสมือนจริงของอวัยวะภายในต่าง ๆ ของร่างกาย โดยใช้คลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ข้อดีของการใช้ MRI คือสามารถเห็นหมอนรองกระดูกที่ขึ้นไปกดทับไขสันหลังได้โดยไม่ต้องฉีดสี ที่อาจจะมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดการชักหลังการฉีดได้

โรคหมอนรองกระดูก
ภาพ MRI แสดงการกดทับไขสันหลังสุนัข (ขอบคุณภาพจาก : fitzpatrickreferrals.co.uk)

แนวทางการรักษา (Treatment)

การรักษาขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรค โดยสามารถแบ่งระดับความรุนแรง (paretic grade) ของ โรคหมอนรองกระดูก ได้ ดังนี้
– ระดับที่ 1: ก่อให้เกิดความเจ็บปวดในบริเวณที่มีการกดทับ
– ระดับที่ 2: ลดการรับรู้ตำแหน่งของขา การก้าวย่างไม่สัมพันธ์กันและมีขาอ่อนแรงร่วมด้วย แต่ยังสามารถลุกเดินได้อยู่
– ระดับที่ 3: อัมพาต ไม่รับรู้ตำแหน่งขาและไม่สามารถลุกเดินได้
– ระดับที่ 4: อัมพาต เริ่มสูญเสียการควบคุมปัสสาวะ แต่ยังรับรู้ถึงความรู้สึกบริเวณปลายเท้าอยู่
– ระดับที่ 5: อัมพาต ไม่สามารถควบคุมปัสสาวะและอุจจาระได้ และไม่รับรู้ความรู้สึกบริเวณปลายเท้า
สุนัขที่อยู่ในระดับ 1 และ 2 นิยมรักษาด้วยการให้ยาแก้อักเสบเพื่อช่วยลดปวด ร่วมกับการกายภาพบำบัดต่าง ๆ เช่น เลเซอร์ อัลตราซาวด์ ลู่วิ่งใต้น้ำ ฝังเข็ม เป็นต้น สำหรับระดับที่ 3 สัตวแพทย์อาจจะเริ่มด้วยการรักษาทางยาและกายภาพบำบัดก่อน แต่ถ้า 7 วันผ่านไปแล้ว สัตว์ยังแสดงอาการเจ็บ หรือไม่สามารถขยับตัวอาจพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดต่อไป
ในสุนัขที่ป่วยในระดับ 4 และ 5 ควรได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ยิ่งสุนัขได้รับการผ่าตัดเร็วเท่าไหร่ยิ่งเพิ่มโอกาสในสุนัขกลับมาปกติได้มากขึ้นเท่านั้น ในทางทฤษฏีสุนัขควรได้รับการผ่าตัดทันทีภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากสัตว์แสดงอาการอัมพาต

การดูแลหลังการผ่าตัด (Postoperative treatment)

สุนัขส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านได้ใน 7-10 วันหลังผ่าตัด แต่จะมีการนัดมาเพื่อตรวจร่างกายและตัดไหม และควรมีการให้ยาแก้อักเสบ เพื่อลดปวดให้สุนัขกินทุกวันจนกว่าจะนัดมาตรวจร่างกาย นอกจากนี้ควรมีการกายภาพบำบัดให้สุนัขหลังจากได้รับการผ่าตัด เช่น
– บีบนวดกระเพาะปัสสาวะ 3-4 ครั้งต่อวัน
– กายภาพบำบัดบริเวณกล้ามเนื้อด้วยการนวดเพื่อลดแรงตึงและช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ
– จำกัดการออกกำลังกาย ให้สุนัขอยู่ในกรงอย่างน้อย 4 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงอื่นๆที่อาจตามมาได้ เช่น น้ำหนักลด, หมุนหรือขยับตัวโดยที่ไม่ใช้คอและกระโดดเล่นลดน้อยลง

อาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด (Postoperative complication)

– การติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัด
– สุนัขบางตัวเกิดปัญหาหมอนรองกระดูกผิดปกติได้หลายตำแหน่งในตลอดช่วงชีวิต
– สุนัขบางตัวยังคงแสดงอาการเดินขาหลังไม่สัมพันธ์กันหรืออ่อนแรงหลังจากได้รับการผ่าตัดแก้ไขแล้ว

การพยากรณ์โรค (Prognosis)

ในสุนัขที่แสดงอาการทางประสาทเพียงเล็กน้อย และสามารถควบคุมความเจ็บปวดได้ด้วยยาลดอักเสบการพยากรณ์โรคจะอยู่ในระดับดีถึงดีมาก ส่วนในกรณีที่แสดงอาการรุนแรงมีการกดบริเวณไขสันหลังรุนแรงแต่ยังสามารถรับรู้ความรู้สึกได้ การรักษาโรคด้วยการผ่าตัดการพยากรณ์โรคอยู่ในระดับปานกลางถึงดี และสำหรับการพยากรณ์โรคที่ลดลงเมื่อสุนัขได้รับการผ่าตัด คือ สุนัขสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกก่อนที่จะทำการรักษา

บทความโดย

อ.น.สพ. วรรณสิทธิ์ จันทรวงศ์ (อว.สพ. ศัลยศาสตร์)
Wannasit Chantornvong, DVM, MS, BVSc, DTBVS
โรงพยาบาลสัตว์ปาริชาต สุวินทวงศ์
Parichart Suwinthawong Animal Hospital

ผศ.น.สพ.ดร. นิรุตติ์ สุวรรณณา (อว.สพ. อายุรศาสตร์)
Assoc. Prof. Nirut Suwanna, DVM, MS, PhD, DTBVM
ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Department of Companion Animal Clinical Sciences, Faculty of Veterinary Medicine, Kasetsart University

ติดตามข้อมูลจาก บ้านและสวน PETS ได้ที่นี่