เจาะลึกสถานีกรุงเทพ สถาปัตยกรรมหลังคาโค้งกว้างที่สุดเมื่อ 105 ปีก่อน

50 เมตร คือความกว้างของหลังคาโค้งที่พาดช่วงยาวโดยไม่มีเสากลางของสถานีกรุงเทพ คงไม่น่าตื่นเต้นเมื่อเทียบกับสมัยนี้ แต่เมื่อกว่า 105 ปีก่อนนั้น เป็นที่น่าตื่นตาที่สุดแห่งหนึ่งในพระนครเลย และเชื่อไหมว่าโครงสร้างหลังคานี้ยังไม่เคยต้องซ่อมครั้งใหญ่เลยจนปัจจุบัน

สถานีกรุงเทพ ก่อสร้างในยุคสร้างเมืองที่เปิดรับความรู้และเทคโนโลยีทางวิศวกรรมและศิลปสถาปัตยกรรมจากต่างชาติ จึงมีความผสมผสานและเป็นสิ่งบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้น่าสนใจพอๆกับสถาปัตยกรรมที่เป็นสถานีต้นทาง เป็นจุดเริ่มต้นการสร้างเส้นทางไปยังหัวเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อรักษาเอกราชในยุคล่าอาณานิคม และเป็นอีกจุดเปลี่ยนของเมือง เมื่อเกิดชุมทางการขนส่งขนาดใหญ่ ณ ทุ่งวัวลำพอง แห่งนี้ มารู้จัก สถานีกรุงเทพ ซึ่งมีรหัสสถานี 1001 ในอีกมุมมองกัน

สถานีกรุงเทพสถานีกรุงเทพสถานีกรุงเทพสถานีกรุงเทพ

สถานีกรุงเทพ
มุมมองจากจุดขึ้นลงรถไฟฟ้า MRT คาดว่าเป็นตำแหน่งใกล้เคียงกับที่ตั้งสถานีหัวลำโพงเดิม ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายปากน้ำ (เมื่อรื้อสถานีหัวลำโพงออก คนก็ยังติดปากเรียกสถานีกรุงเทพว่าสถานีหัวลำโพง)

สถานีกรุงเทพ

ลำดับการก่อสร้างและอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของสถานีกรุงเทพ

สถานีกรุงเทพ มีรูปแบบเป็นทรงประทุนเรือ หรือ อาร์คโค้ง หรือ ทรงกระบอกฝ่าซีกสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซอง วางผังอาคารเป็นรูปตัวอี (E) มีลักษณะคล้ายกับสถานีรถไฟในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี มีจุดเด่น คือ กระจกสีช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งติดตั้งกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่า ๆ กับตัวอาคารสถานี มีนาฬิกาเรือนใหญ่ที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านในเป็นเอกลักษณ์ เป็นเครื่องบอกเวลาที่ทันสมัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น นาฬิกาทั้งสองเรือนถูกสั่งทำพิเศษให้มีไฟส่องสว่างในตัว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหน้าปัด 120 เซนติเมตร และเข็มนาฬิกามีขนาดยาวประมาณ 60 เซนติเมตร

อาคารที่มีอายุมากกว่าชั่วอายุคน และมีผู้คนเข้าใช้งานแบบที่เรียกได้ว่า “สมบุกสมบัน” ที่ไม่ใช่เพียงขนส่งคนโดยสารเท่านั้น ยังเคยเป็นวิธีการขนส่งสินค้าทั้งใหญ่เล็กที่เร็วที่สุดอีกด้วย เป็นอาคารที่ดีไซน์ทันสมัย ทรงคุณค่า และดีไซน์เหล่านั้นยังคงมีให้เห็นอยู่แต่น้อยคนที่จะรู้ บ้านและสวน มีโอกาสได้คุยกับ คุณวรุตม์ กี่จนา สถาปนิกฝ่ายการช่างโยธา การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ทำงานที่นี่มาร่วม 24 ปี มีส่วนในการปรับปรุง และซ่อมบำรุงหลายต่อหลายครั้ง

สถานีกรุงเทพ
สถานีไม่ได้สร้างเสร็จในคราวเดียว โดยในช่วงที่ 1 สร้างเฉพาะอาคารหลังคาโค้งเป็นโถงชานชาลาก่อน ส่วนอาคารข้างเคียงมีการออกแบบและสร้างในระยะต่อมา

สถานีกรุงเทพสถานีกรุงเทพ

สถานีกรุงเทพ

จากการศึกษาของคุณวรุตม์ ได้สรุปเป็น “โน้ตย่อประวัติทางสถาปัตยกรรมสถานีกรุงเทพ” แบบเข้าใจง่ายๆ โดยสถานีกรุงเทพริเริ่มก่อสร้างปลาย ร.5 พ.ศ.2449 และเริ่มก่อสร้าง พ.ศ.2553 โดยมีการสร้างเป็น 2 ช่วงคือ

ช่วงที่ 1  

สร้างอาคารหลังคาโค้งเป็นโถงชานชาลา มีลักษณะโชว์โครงสร้างเหล็กเหล็กทรัสพาดช่วงกว้าง 50 เมตร ยาว 150 เมตร และทำแผงกระจกซึ่งใหญ่ที่สุดในยุคนั้น สร้างเสร็จ พ.ศ.2455 แบบร่างโดย นายคาร์ล ดือห์ริ่ง (K.S. D’hring)  สถาปนิกชาวเยอรมัน และแบบก่อสร้างโดย นายเกอร์เบอร์ (Mr.Gerber) วิศวกรชาวเยอรมัน

ช่วงที่ 2

สร้างอาคารโถงระเบียงโดยรอบ ออกแบบในปีพ.ศ.2455 โดย มาริโอ ตามานโย (Mr. Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี ซึ่งเก่งด้านรายละเอียดงานปั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก ยุคฟื้นฟูเรอเนสซองส์ (Renaissance Revival) สร้างเสร็จในปีพ.ศ.2459

เสาคู่ไอโอนิค(ด้านนอกอาคาร)
เสาคู่ไอโอนิค(ด้านในอาคาร)


ดีไซน์ที่ซ่อนอยู่ในสถานีกรุงเทพ

สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นมาล้วนเริ่มต้นบนกระดาษ แต่ด้วยกาลเวลากว่าร้อยปีทำให้แบบก่อสร้างของอาคารเก่าๆมักสูญหาย จึงมีการศึกษารายละเอียดของอาคารอีกครั้ง คุณวรุตน์ เล่าถึง สถานีกรุงเทพ ว่า “แบบก่อสร้างของอาคารเก่าหาไม่ค่อยเจอแล้ว จึงทำการสำรวจ รังวัดและเขียนแบบขึ้นใหม่ มียังหลงเหลืออยู่ที่นี่เป็นบางส่วนของแบบก่อสร้างโรงแรมราชธานี (มีภาพในหัวข้อถัดไป) ส่วนอาคาร สถานีกรุงเทพ นี้เป็นการก่อสร้างที่นำเทคโนโลยีมาจากยุโรปซึ่งคาดว่ามาจากประเทศเยอรมัน โดยใช้โครงสร้างเหล็ก ผนังกระจก และน่าจะเป็นการทำโครงสร้างช่วงเสากว้างโดยไม่มีเสากลางเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตัวอาคารมีการสร้างหลายยุค ซึ่งจากคำบอกเล่าของพนักงานรุ่นเก่าๆ และเทียบเคียงกับอาคารในยุคเดียวกัน จึงสันนิษฐานว่าก่อสร้างฐานรากด้วยระบบฐานแผ่โดยใช้ไม้ซุง เนื่องจากสมัยก่อนไม้เป็นวัสดุที่มีมาก ส่วนโครงสร้างเหล็กน่าจะขนส่งมาเป็นชิ้นๆจากผู้ผลิตแล้วมาประกอบภายหลัง อย่างโครงหลังคาเหล็กโค้ง ถ้าสังเกตจะเป็นชิ้นสั้นๆ ยาว 2.50 เมตรนำมาต่อกัน”

ผมเคยมีส่วนในการปรับปรุงเมื่อปีพ.ศ. 2559 ได้ขึ้นไปดูหลังคาเดิมซึ่งเป็นหลังคาเหล็กลอนที่หนาหลายมิลลิเมตร ซึ่งผ่านการใช้งานมาแล้ว 100 ปี จึงปรับปรุงโดยไม่ได้รื้อของเดิมออก แต่ใช้วิธีการมุงหลังคาเมทัลชีตของปัจจุบันทับลงไปอีกชั้น ดังนั้นถ้ามองจากภายในอาคาร ท้องหลังคาที่เห็นคือหลังคาดั้งเดิม หลังคาที่เห็นว่าโค้งนั้น จริงๆเป็นการมุงหลังคาโค้ง 4 ระดับ สันนิษฐานว่าเพราะในอดีตไม่สามารถผลิตแผ่นหลังคาเหล็กได้ยาวๆ หรืออาจเพื่อความสะดวกในการขนย้าย จึงทำเป็นแผ่นยาว 5-6 เมตร ปูซ้อนทับกันฝั่งละสี่ช่วง โดยแต่ละช่วงมีการยกปลายหลังคาขึ้นให้เกิดช่องว่าง อาจเพื่อช่วยระบายอากาศหรือเผื่อการขยายตัวของเหล็กเมื่อโดนความร้อน ส่วนตรงกลางหลังคามีการทำสกายไลต์ และช่องระบายอากาศด้านบนเพื่อระบายควันจากรถไฟ”


ข้อสันนิษฐานอิทธิพลของรูปแบบสถาปัตยกรรมสถานีกรุงเทพ 

สันนิษฐานว่าการออกแบบ สถานีกรุงเทพ ได้อิทธิพลจากสถานีรถไฟในต่างประเทศ 3 แห่งดังนี้

  • สถานีรถไฟแฟรงค์เฟิร์ต อามมาน (Frankfurt Am Main) พ.ศ.2424-2431 สถานีรถไฟในเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนี
  • สถานีรถไฟโรม (Stazione Termini, Rome 1866-1874)
  • สถานีรถไฟพอร์ตานูวา ตูริน (Pota Nuova) ออกแบบโดย สถาปนิก คาร์โล เชปปิ (Carlo Ceppi) ซึ่งมีข้อน่าสังเกตคือ เมืองตูรินเป็นบ้านเกิดของ มาริโอ ตามานโย และมาริโอ ตามานโย เคยร่วมงานกับคาร์โล เชปปิ
แฟรงค์เฟิร์ต อามมาน (Frankfurt Am Main)
สถานีรถไฟโรม (Stazione Termini, Rome)
สถานีพอร์ตานูวา ตูริน (Pota Nuova)

โรงแรมราชธานี

อาคารโรงแรมราชธานี ออกแบบโดยนายเอ ริกาซซิ (Mr. A. Rigassi) สถาปนิกชาวอิตาลี สร้างขึ้นในปีพ.ศ.2470 แม้ปัจจุบันจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานเป็นส่วนสำนักงาน แต่ยังสามารถจินตนาการได้ถึงความหรูหราจากเสาหินอ่อนและโถงบันไดที่ตกแต่งฝ้าดานไม้ประดับคิ้วบัว หนังสือ 100 ปี สถานีกรุงเทพได้เล่าถึงโรงแรมราชธานีว่า ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวมีมุขยื่นที่ปลายทั้งสอง กว้าง 13.50 เมตร ยาว 130 เมตร แบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็น 3 ส่วน ส่วนห้องพักอยู่ตรงกลาง อาคารแบ่งเป็น 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างเป็นส่วนบริการประกอบด้วย ห้องโถงทางเข้าตั้งอยู่ปลายสุดทิศใต้ มีบันไดใหญ่ผังตัวยู (U) แบบ 3 ตอนขึ้นตรงกลางแล้วหมุนกลับแยกซ้ายขวา ติดกับโถงทางเข้าเป็นภัตตาคารขนาดใหญ่ ส่วนกลางอาคารเป็นห้องครัว ที่พักพนักงาน และส่วนบริการซักล้าง พื้นที่ส่วนทิศเหนือเป็นที่ทำการไปรษณีย์ ปลายสุดทิศเหนือเป็นสำนักงานศุลกากรสำหรับตรวจกระเป๋าและหีบห่อที่จะต้องเสียภาษี

โถงพักคอยบริเวณโถงบันได ซึ่งปัจจุบันปรับเป็นทางเข้าห้องน้ำ
พื้นที่ใช้สอยชั้นบนส่วนห้องพักโรงแรมมี 10 ห้อง เรียงต่อกันเป็นแถวเชื่อมกันด้วยระเบียงทางเดินกว้าง 3.25 เมตร หันหน้าเข้าสถานี ประกอบด้วยห้องธรรมดา 9 ห้อง โดยแต่ละห้องแบ่งพื้นที่ภายในเป็นห้องนอนใหญ่ ห้องเก็บของ ห้องน้ำ และระเบียง ส่วนปลายอาคารทิศเหนือเป็นห้องสวีทมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของห้องธรรมดา โดยมีการเพิ่มห้องนั่งเล่น ห้องผู้ติดตาม และห้องแต่งตัว ปลายสุดทิศเหนือเป็นดาดฟ้าคอนกรีตเหนือสำนักงานศุลกากร สำหรับการขนส่งสัมภาระขึ้นลงมีการใช้ลิฟต์บริการ 2 ตัว ตั้งอยู่ที่หัวและท้ายอาคาร

รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบคลาสสิกที่เรียบง่าย หลังคาทรงปั้นหยามีพนักขอบหลังคาแบบโปร่งประดับลูกกรงล้อมรอบ การตกแต่งภายในอาคารเป็นอย่างเรียบง่าย เน้นการแสดงโครงสร้างคอนกรีตเสาลอยตัว คาน และพื้น ที่หัวเสาตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นรูปดอกกุหลาบศิลปะแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) พื้นห้องโถงและทางเดินปูด้วยกระเบื้องเคลือบบันไดบริเวณห้องโถงปูด้วยแผ่นหินอ่อน

แบบก่อสร้างอายุกว่า 105 ปี ของโรงแรมราชธานีที่ยังเหลืออยู่

รูปด้านอาคาร
แปลนชั้นล่าง
แปลนชั้นล่าง มีห้องเก็บกระเป๋าหน้าห้อง
แปลนชั้นบน
การจัดแปลนห้องและวางเฟอร์นิเจอร์ชั้นนบ
ขยายรูปตัด ซึ่งมีการเขียนแบบวิศวกรรม(การเสริมเหล็ก) ในรูปตัดทางสถาปัตยกรรมเลย
รูปตัดอาคาร
ออกแบบทุกอย่างแม้กระทั่งโคมไฟ

โถงบันไดในปัจจุบัน
ลวดลายข้างขั้นบันได
ปูนปั้นหัวเสา

ผนังบริเวณโถงบันไดกรุไม้ส่วนล่างผนัง


การรักษาอาคารให้คงความงาม

คุณวรุตม์ ได้เล่าถึงการบำรุงรักษาอาคารว่า “มีการซ่อมบำรุงแทบทุกปี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องระบบระบายน้ำและการรั่วซึม อย่างในปีพ.ศ.2559 ทำวัสดุคลุมหลังคาใหม่ โดยปูเมทัลชีตทับหลังคาเดิม มีการจ้างวิศวกรมาตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างด้วย อาคารโดยรวมอาจมีการทุรดตัวบ้าง แต่ด้วยโครงสร้างที่เป็นฐานแผ่จึงทรุดอยู่ในระนาบเดียวกัน ในประวัติยังไม่มีโครงสร้างส่วนใดเสียหายหนัก มีแต่ส่วนอาคารข้างเคียงที่เป็นโรงแรมราชธานีเดิมซึ่งมีความชื้นแทรกซึมจากพื้นดินเข้าไปในผนังอาคารทำให้สีบวม จึงได้ทำระบบกันซึมในปีเดียวกัน แผงกระจกที่เห็นเป็นสเตนกลาส ซึ่งเป็นกระจกสีมีการพิมพ์ลายและเสริมตะแกรงลวด จึงค่อนข้างทน มีการแตกน้อย และเปลี่ยนชิ้นที่เสียหายด้วยกระจกสเตนกลาสแบบเดิม”

ทางเซอร์วิสสำหรับขึ้นไปซ่อมบำรุง

“สีของอาคารไม่มีข้อมูลว่าสีเดิมเป็นสีอะไร เพราะรูปถ่ายที่มีเป็นขาวดำ อีกทั้งมีการปรับปรุงซ่อมแซมเรื่อยมา ในปัจจุบันเป็นการเทียบเคียงสีเดิมเท่าที่สืบค้นได้ คือ เป็นการใช้สีทูโทนครีม-น้ำตาล ส่วนบนสีครีม ส่วนล่างเป็นสีน้ำตาล ซึ่งน่าจะมาจากการออกแบบสีของตู้โดยสารในอดีตที่ทาสีท่อนล่างเป็นสีน้ำตาล เนื่องจากผู้โดยสารกินหมาก จึงมีการบ้วนน้ำหมากแล้วเปื้อนตัวรถ จึงออกแบบสีให้ดูไม่เลอะเทอะ และเป็นที่มาของสีที่นิยมใช้กับอาคารของการรถไฟ”

สังเกตว่าโครงสร้างเสาและหลังคาชานชาลาใช้เหล็กรางรถไฟเก่ามาทำเป็นโครงสร้าง เนื่องจากในอดีตมีการเปลี่ยนรางรถไฟใหม่ จึงนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ที่นั่งอันเป็นเอกลักษณ์คู่สถานีกรุงเทพ ยังคงได้รับการรักษาไว้และใช้งานจนทุกวันนี้


ชุมทางการขนส่งที่คับคั่งและใหญ่ที่สุด

รถไฟในอดีตเป็นการขนส่งที่สำคัญที่สุด เพราะเชื่อมต่อเส้นทางไปยังทุกภูมิภาคที่ห่างไกลและประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ด้วยปริมาณการขนส่งที่คับคั่ง ทำให้พื้นที่กว่า 120 ไร่ ที่เรียกว่า “ย่านสถานีกรุงเทพ” เกิดความแออัดเพราะไม่สามารถขยายพื้นที่ได้ เนื่องจากล้อมรอบด้วยถนนและคลอง โดยทิศใต้จรดถนนพระราม 4 ทิศเหนือจรดคลองมหานาค ทิศตะวันออกจรดถนนรองเมือง และทิศตะวันตกจรดคลองผดุงกรุงเกษม ในปีพ.ศ. 2503 จึงย้ายกิจการขนส่งสินค้าไปอยู่ย่านสินค้าพหลโยธิน คุณวรุตม์เล่าว่า “แต่เดิมไม่มีถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม แต่เป็นรางรถไฟซึ่งเป็นย่านขนส่งสินค้า มีรถไฟมาจอด สินค้าก็มาบรรจุข้างคลอง และเป็นที่ทำการรับ-ส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดจอดรถแท๊กซี่  ต่อมาจึงย้ายที่ทำการรับ-ส่งสินค้าไปที่บางซื่อ ซึ่งในอดีตเรียกว่า ย่านสินค้าพหลโยธิน โดยให้สถานีกรุงเทพขนส่งเฉพาะผู้โดยสาร และสินค้าขนาดเล็กที่ขนไปกับตู้โดยสารได้ซึ่งเรียกว่า สัมภาระ จากนั้นได้ยกเลิกย่านสินค้าพหลโยธิน และเปลี่ยนเป็นสถานีกลางบางซื่อในปัจจุบัน

อาคารด้านซ้ายของภาพ ที่ยาวขนานสถานีกรุงเทพ คือที่ทำการรับส่งสินค้าในสมัยก่อน
สมัยก่อนมีรางรถไฟขึ้นมาถึงด้านหน้าสถานี

อาคารไปรษณีย์ที่อยู่ในบริเวณย่านสถานีกรุงเทพ มีการออกแบบสะพานสำหรับขนของมายังชานชาลาได้สะดวก ปัจจุบันไม่ได้มีการใช้งานแล้ว

รู้จัก “ย่านสถานีกรุงเทพ”

ย่านสถานีกรุงเทพ มีพื้นที่กว่า 120 ไร่ เป็นชื่อเรียกพื้นที่ทำการของการรถไฟฯ บริเวณนี้ทั้งหมด ประกอบด้วยหลายส่วน เช่น สถานีกรุงเทพ โรงรถดีเซลรางกรุงเทพ (โรงซ่อมบำรุง) กองกำกับการตำรวจรถไฟ อาคารตึกบัญชาการ (ตึกขาว) สโมสรรถไฟ อาคารพัสดุยศเส (ตึกแดง) ซึ่งมีทั้งที่สร้างในยุดเดียวกับสถานีกรุงเทพและต่อมาหลังจากนั้น มารู้จักอาคาร 4 อาคารในย่านสถานีกรุงเทพกัน


อาคารพัสดุยศเส (ตึกแดง)

อาคาร 3 ชั้น วางแปลนเป็นรูปตัวยู ก่อด้วยอิฐสีแดง ตั้งอยู่ติดกับสะพานยศเส ริมคลองผดุงกรุงเกษม สันนิฐานว่าก่อสร้างในช่วงเวลาใกล้เคียงกับอาคารสถานีกรุงเทพ คือ ปี พ.ศ. 2453 เดิมตัวอาคารด้านเหนือและใต้เป็นสองชั้น มีลิฟท์ที่ใช้ในการขนพัสดุ จำนวน 3 ตัว จุดประสงค์ในการก่อสร้างเพื่อใช้เป็นที่เก็บรวบรวมพัสดุหรือเป็นโกดังเก็บของ รวมถึง วัสดุที่เหลือจากการสร้างอุโมงค์ขุนตานและการก่อสร้างทางสายใต้ มีช่วงเวลาหนึ่งที่รัฐบาลได้รวมกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงคมนาคมเข้าด้วยกัน ทำให้อาคารพัสดุยศเส ต้องรับภาระหนักในการเป็นผู้เก็บรักษาเครื่องใช้ต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลทำให้มีการรื้อถอนและต่อเติมอาคารมาแล้วหลายครั้ง ตามความจำเป็น อาคารออกแบบโดยหลวงสุขวัฒน์ ในสมัยที่พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ เป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2471 และสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2474 และต่อเติมเป็นสามชั้นในปี พ.ศ. 2494 หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 จนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้จัดตั้งกรมพัสดุแห่งชาติขึ้น โดยใช้อาคาพัสดุรถไฟแห่งนี้เป็นที่ทำการ

ปัจจุบันอาคารพัสดุ แห่งนี้ ใช้เป็นที่ทำการของฝ่าย/สำนักงานต่าง ๆ ของการรถไฟฯ แต่มักจะถูกเรียกตามลักษณะเด่นที่เห็นคือ “ตึกแดง” ตามวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ด้วยความงดงามของโครงสร้างสถาปัตยกรรมอย่างยุโรป แนวผนังก่ออิฐบางบัวทอง ผสมผสานกับบันไดไม้สักแผ่นโตอย่างโบราณ ทำให้อาคารพัสดุยศเสแห่งนี้ ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคาร ประจำปี 2549

แม้อาคารจะสร้างเมื่อกว่าร้อยปี แต่มีการใช้พื้นระบบคอนกรีตอัดแรงกำลังสูง (Post Tension) โดยออกแบบหัวเสารูปทรงต่างๆ สถาปนิกการรถไฟสันนิษฐานว่ารูปทรงหัวเสามีผลตามการรับกำลังของโครงสร้าง
สมัยก่อนจะมีรางรถไฟเข้ามาใต้อาคารสำหรับขนของ ในปัจจุบันมีการทำพื้นใหม่ แต่ยังคงเห็นรางรถไฟเก่าอยู่บ้าง


อาคารตึกบัญชาการ (ตึกขาว)

“กรมรถไฟ” ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟ อยู่ภายใต้การควบคุมของกรมโยธาธิการ ที่ทำการกรมรถไฟนี้ เดิมเป็นตึก 2 ชั้น อยู่ด้านเหนือสถานีหัวลำโพง ซอยริมคลองตรงข้ามกับวัดเทพศิรินทราวาส ขณะนั้นมี นาย คาร์ล เบ็ทเก (Karl Bethge) หรือ เค เบธเก้ ชาวเยอรมันเป็นเจ้ากรม เป็นเหตุผลให้ชาวรถไฟรุ่นเก่าเรียกที่ทำการรถไฟรุ่นเก่าเรียกที่ทำการรถไฟหลังนี้ว่า “ตึกเบธเก้”

ในปี พ.ศ. 2460 ขณะที่ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมกำแพงเพชรอัครโยธิน มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ พระองค์แรก จึงได้รวมกิจการรถไฟทั้ง 2 กรม คือ กรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เข้าด้วยกัน จากนั้นทรงเล็งเห็นว่าตึกเก่านั้นไม่กว้างขวางพอ จึงก่อสร้างเพิ่มเติมอีกติดต่อกับหลังเก่า ขนานกับทางรถไฟอีกข้างหนึ่ง และขนานกับลำคลองอีกด้านหนึ่ง เป็นรูปตัวยู (U) เมื่อทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้เสร็จฯ มาเปิดและทอดพระเนตรตึกที่ทำการกรมรถไฟ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2462 พร้อมกันนี้ได้เสด็จไปเปิดใช้สถานีจิตรลดาด้วย

ต่อมาราว พ.ศ. 2482 ได้มีการก่อสร้างตึกที่ทำการกรมรถไฟเป็นตึก 3 ชั้น ตามแบบสถาปัตยกรรมทันสมัย ประสานกับตึกที่ทำการเดิม และประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2491 กรมรถไฟได้รับงบประมาณสร้างตึกบัญชาการ เป็นอาคารชั้น 3 บนฐานรากเดิมของตึก 2 ชั้น รูปตัว U มีทางเข้าลอดตัวตึกนี้ และเชื่อมอาคารทั้ง 2 เข้าหากัน แต่แล้วเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2495 เกิดไฟไหม้ที่ตึก 3 ชั้นทางทิศใต้ จึงมีการซ่อมแซมและต่อเติมตึกที่เชื่อม 2 ชั้น ทางด้านตะวันออกให้เป็น 3 ชั้น เหมือนกันหมดทุกด้าน และได้อัญเชิญตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 ขึ้นติดตั้งที่หน้าตึกบัญชาการชั้น 3 และนำตราล้อปีกสัญลักษณ์ของกรมรถไฟติดตั้งที่ชั้น 2 อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่พนักงานรถไฟฯ นับเป็นเกียรติอันสูงสุดของชีวิต เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนิน ณ อาคารตึกบัญชาการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อทำการเปิดอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน


โรงรถดีเซลรางกรุงเทพ (โรงซ่อมบำรุง)


หอสัญญาณสถานีกรุงเทพ(หอควบคมรถไฟเข้าออก)

ที่ให้สัญญาณไฟยุคก่อน สำหรับรถไฟเข้าออก ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว


เปิดไทม์ไลน์ 134 ปี

ความเป็นไปของกิจการรถไฟและสถานีกรุงเทพ 2430-2564

ลำดับเหตุการณ์สำคัญของสถานีกรุงเทพ ที่บอกเล่าทั้งด้านการก่อสร้างและสะท้อนวัฒนธรรม และสังคมในสมัยนั้นโดยย่อ

  • พ.ศ.2430 สำรวจพื้นที่เพื่อสร้างทางรถไฟหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชโองการสำรวจพื้นที่เพื่อทำการสร้างทางรถไฟหลวง จากกรุงเทพฯ ถึงเมืองนครเชียงใหม่ โดยเหตุผลที่ต้องสร้างทางรถไฟหลวง เพราะได้รับแรงกดดันจากลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกโดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งในขณะนั้นกำลังแพร่อิทธิพลไปทั่วทวีปเอเชีย และเข้าปกครองประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐกันชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนโยบายของประเทศในขณะนั้นเป็นไปเพื่อการป้องกันประเทศเป็นหลัก และการก่อสร้างทางรถไฟเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันประเทศ เนื่องจากสามารถลำเลียงทหาร อาวุธและอาหาร ระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดตามแนวชายแดนได้สะดวกและรวดเร็วกว่าการคมนาคมทางอื่น
  • พ.ศ.2433 ประกาศสร้างทางรถไฟสยามและก่อตั้งกรมรถไฟ หลังการสำรวจเส้นทางรถไฟเสร็จสิ้น รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าเส้นทางแรกที่ควรสร้าง คือ เส้นทางกรุงเทพมหานครถึงเมืองนครราชสีมา ในวันที่1 มีนาคม มีพระบรมราชโองการ ประกาศสร้างทางรถไฟสยามจากกรุงเทพมหานครถึงเมืองนครราชสีมา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งกรมรถไฟขึ้นในเดือนตุลาคม โดยสังกัดอยู่กับกระทรวงโยธาธิการ มีนาย คาร์ล เบ็ทเก (Karl Bethge) ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรมรถไฟคนแรก
  • พ.ศ.2434 เริ่มการก่อสร้างรถไฟหลวงในราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม เวลา 17.00 น. เศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์เริ่มการก่อสร้างรถไฟหลวงในราชอาณาจักรไทย ณ ปะรำพิธีที่ฝั่งคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตรงข้ามวัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ปะรำพิธี คือ ตึกบัญชาการการรถไฟแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ.2439 เปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรก ระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในราชอาณาจักร ซึ่งมีระยะทาง 71 กิโลเมตร และเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟหลวงสายนครราชสีมา
  • พ.ศ.2443 เปิดทางรถไฟสายนครราชสีมา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดทางรถไฟสายนครราชสีมา มีระยะทางทั้งหมด 265 กิโลเมตร
  • พ.ศ.2449 กรมรถไฟริเริ่มที่จะสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพใหม่ เพื่อให้มีความทันสมัยและสวยงามเป็นศรีสง่าแก่
    พระนคร ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมได้สะดวกมากขึ้นกว่าเดิม โดยใช้พื้นที่ซึ่งห่างจากสถานีเดิมไปทางทิศใต้ประมาณ 500 เมตร และอยู่ใกล้กับปลายรางรถไฟสายปากน้ำ  (อาคารสถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อแรกสร้างนั้นเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น มี 2 ชานชาลา ตั้งอยู่หลังอาคารที่ทำการกรมรถไฟหลวง)
  • พ.ศ.2453 เริ่มการก่อสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพ โดยกรมรถไฟได้ว่าจ้างให้นายคาร์ล ดือห์ริ่ง (K.S. D’hring) สถาปนิกชาวเยอรมันเป็นผู้ออกแบบอาคาร แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้แบบของคาร์ล ดือห์ริ่ง ไม่ได้สร้าง แต่กลายเป็นแบบของนายมาริโอ ตามานโญ (Mr. Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี ที่ได้รับการพิจารณาให้สร้างแทน โดยการออกแบบได้รับแนวความคิดจากสถานีรถไฟตอนครึ่งหลังศตวรรษที่ 19 ของยุโรปที่ต้องมีหน้าตาสวยงามเพื่อเป็นศรีสง่าแก่พระนครและแสดงถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ทันสมัย
  • พ.ศ.2459 เปิดสถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน และเวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีกดปุ่มสัญญาณไฟฟ้าให้รถไฟขบวนแรกเดินเข้าสู่สถานี
  • พ.ศ.2460 ตั้งกรมรถไฟหลวง เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการรถไฟทั้ง 2 กรม คือ กรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เข้าด้วยกัน และเรียกว่า กรมรถไฟหลวง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงพระองค์แรก
  • พ.ศ.2468 กรมรถไฟหลวงเปิดโรงแรมชั้นหนึ่งที่วังพญา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เพื่อรองรับชาวต่างชาติ
  • พ.ศ.2470 เปิดโรงแรมราชธานี เมื่อวันที่ 24 มกราคม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงแรมราชธานี ถือเป็นโรงแรมขนาดเล็กมีจำนวน 10 ห้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานีกรุงเทพ แต่มีความทันสมัย ห้องนอนแต่ละห้องมีระเบียงส่วนตัว มีห้องอาบน้ำพร้อมน้ำประปาชนิดร้อนและเย็น พร้อมพัดลมและไฟฟ้า อำนวยความสะดวกแก่ผู้พักซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาด้วยรถไฟ
  • พ.ศ.2494 ตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม
  • พ.ศ. 2503 ย้ายกิจการขนส่งสินค้าไปอยู่ย่านสินค้าพหลโยธิน โดยปรับปรุงให้สถานีกรุงเทพมีภารกิจบริการด้านขนส่ง
    มวลชนเพียงอย่างเดียว เนื่องจากกิจการรถไฟมีการขยายตัวด้านการโดยสารและการขนส่งสินค้ามากขึ้น และไม่สามารถขยายพื้นที่ได้อีก
  • พ.ศ. 2512 ปิดตัวโรงแรมราชธานี เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับโรงแรมใหม่ๆ ที่สามารถอำนวยความสะดวกได้ดีกว่าทั้งด้านบริการและทำเลที่ตั้ง โดยต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดัดแปลงอาคารโรงแรมราชธานีเพื่อใช้เป็นที่ทำการของกองงานต่างๆ สำนักงานและห้องรับรอง
  • พ.ศ. 2513-2540 ปรับปรุงต่อเติมอาคารสถานีรถไฟกรุงเทพอีกหลายครั้ง เพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การขยายความยาวของชานชาลา สร้างชานชาลาและหลังคาคลุมชานชาลาเพิ่มเติม ปรับปรุงห้องจำหน่ายตั๋วโดยแยกเป็นห้องจำหน่ายตั๋วประจำวันและห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและร้านค้าต่างๆ สำหรับผู้โดยสารและผู้ที่มารับส่ง เป็นต้น
  • พ.ศ. 2541 ปรับปรุงอาคารครั้งใหญ่เพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีการปรับปรุงพื้นที่ 2 ข้างของโถงพักคอยให้เป็นร้านอาหาร ร้านค้าและบริษัทที่ให้บริการด้านการท่องเที่ยว พร้อมสร้างชั้นลอยเพื่อเพิ่มพื้นที่นั่งคอยสำหรับผู้โดยสาร มีการสร้างห้องจำหน่ายตั๋วประจำวันขึ้นใหม่โดยชั้นบนเป็นพื้นที่ทำงานของพนักงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสะดวกในการปฏิบัติงาน และเพิ่มพื้นที่ด้านข้างทางทิศตะวันตกของอาคารสำหรับรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น
  • พ.ศ. 2547 ติดตั้งระบบปรับอากาศ โดยกั้นผนังกระจกและปรับปรุงอาคารให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย
  • พ.ศ.2559 ปรับปรุงอาคารในวาระครบรอบ 100 ปี ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารสถานีกรุงเทพ ทั้งด้านใน ด้านนอก และบริเวณรอบตัวอาคารใหม่ทั้งหมด เช่น ปรับปรุงและซ่อมแซมหลังคา พร้อมทั้งต่อเติมหลังคาคลุมบริเวณชานชาลารถไฟด้านนอก ปรับปรุงผนังด้านในและด้านนอก ดาดฟ้า พร้อมทั้งทาสีตัวอาคารใหม่เพื่อความสวยงาม
  • พ.ศ.2564 ย้ายสถานีหลัก จากสถานีกรุงเทพ เป็นสถานีกลางบางซื่อ

ขอบคุณข้อมูล : การรถไฟแห่งประเทศไทย


เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, ศุภกร ศรีสกุล, หทัยรัตน์ ดีนวลพะเนาว์, การรถไฟแห่งประเทศไทย


UNFOLDING BANGKOK งานแสดงแสงสีเสียงที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถาปัตยกรรมสมัยเรอเนสซองอันทรงคุณค่า

บันทึกภาพ ‘สถานีรถไฟ กรุงเทพ’ ก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ตึกแดง-ตึกขาว สำนักงานอายุร้อยปีของการรถไฟฯ

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag