ขายหัวเราะ ครึ่งศตวรรษบันทึกความขำรอบ บ้านและสวน

รถยนต์ กับชีวิตสามัญบนท้องถนน

ข้อมูลจาก TomTom Traffic Index ผู้สำรวจและจัดทำดัชนีการจราจรในเมืองใหญ่ต่าง ๆ ของโลกระบุว่าในปีพ.ศ.2563 กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่มีการจราจรคับคั่งเป็นอันดับที่  5 ของเอเชีย (อันดับ 1 คือมุมไบ ประเทศอินเดีย) และติดเป็นอันดับที่ 10 ของโลก (อันดับ 1 คือมอสโก ประเทศรัสเซีย)

แต่แม้อาจไม่ต้องใช้สถิติใด ๆ มายืนยัน ผู้ที่ใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพมหานครอยู่เป็นประจำก็คงบอกได้ว่า การจราจรในกรุงเทพฯ นั้นเป็นปัญหามากเพียงใด เหมือนกับที่มันถูกล้อโดยแก๊กขายหัวเราะในลักษณะต่าง ๆ อยู่เสมอ

“ถนนในเมืองไทยเป็นถนนที่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนจน” บทความโดย ฮันนา บีช ชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ใน The New York Times ในปี พ.ศ.2562 ทั้งเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่สะท้อนจากการใช้รถใช้ถนน โดยยกตัวอย่างอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยที่สูงติดอันดับต้น ๆ ของโลกมาวาดให้เห็นภาพ โดยสรุปไว้ว่าคนจนที่ไม่ได้ครอบครองรถยนต์ แต่ใช้จักรยานยนต์ หรือใช้การเดินเท้าเป็นหลัก มักตกเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือมีโอกาสที่จะถูกลงโทษทางกฎหมายในการใช้รถใช้ถนนมากกว่าผู้ที่มีฐานะดี

ผศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อบทความดังกล่าวว่า เป็นเพราะนโยบายของภาครัฐที่มักมองไม่เห็นสิทธิพื้นฐานของการใช้ถนนของประชาชนทุกคน โดยนโยบายส่วนใหญ่มักเอื้อต่อคนขับรถยนต์มากกว่าคนเดินเท้า ทั้งนี้เราอาจสรุปเพิ่มเติมได้ว่า ปัญหายังครอบคลุมไปถึงการขาดขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพและราคาถูก ที่ทำให้การใช้รถยนต์ยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะง่ายและคุ้มค่ากว่าสำหรับผู้ที่มีกำลังพอจะสามารถซื้อหาได้ 

เราจึงได้เห็นแก๊กตลกมากมายในขายหัวเราะ ที่เล่นล้อกับความไม่เท่าเทียมบนท้องถนน โดยมีรถยนต์เป็นส่วนประกอบ เช่น แก๊กคนเดินถนนถูกเอาเปรียบโดยคนขับรถยนต์ หรือแก๊กที่วาดภาพคนขายของ หรือผู้ให้บริการเช็ดกระจกที่พยายามพึ่งพาคนขับรถยนต์ ซึ่งแง่มุมในการเล่าเรื่องตลกเช่นนี้ยังสอดคล้องกับงานศึกษา “ค่านิยมที่สะท้อนในมุขตลกในการ์ตูนช่องของไทย” โดย ภาวดี สายสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ว่าค่านิยมหนึ่งที่แฝงอยู่ในการ์ตูนตลกไทย คือ “ค่านิยมการแสดงตัวเหนือผู้อื่น” ที่กล่าวว่า ความเหนือกว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนไทยปรารถนา และเรามักแสดงตัวเหนือกว่าผู้อื่นโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว ดังที่เห็นได้จากสำนวน ยกตนข่มท่าน เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้ หรือเหนือฟ้ายังมีฟ้า ซึ่งบอกว่ายังมีคนที่เหนือกว่าเราเสมอ

นอกจากนั้นเรายังสังเกตได้จากการวาดภาพให้เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนกับสาธารณูปโภคพื้นฐานในเมืองอย่าง ถนน และสะพานลอย ที่มองเผิน ๆ ก็เป็นสิ่งของธรรมดาที่เราคุ้นเคยดี ทว่าโครงสร้างในเมืองที่เราใช้อาศัยทุกวันนี้ อาจไม่เป็นมิตรอย่างที่เราคิด

“สะพานลอย” ที่สร้างให้คนใช้ข้ามถนน มันคือการจำนนต่อรถยนต์ คือทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้รถยนต์ไม่ต้องหยุด ให้รถยนต์ขับได้เร็วที่สุด ส่วนคนอื่น ๆ ก็หาวิธีตะกายข้ามกันไปเอง สิ่งนี้เองที่คิดว่ามันเป็นความเหลื่อมล้ำในการเคลื่อนที่ในเมือง” ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) กล่าวไว้งานสัมมนา “ความเหลื่อมล้ำในมิติผังเมือง” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปีพ.ศ.2562 ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โครงสร้างบางอย่างในมืองนั้นดำรงอยู่อย่างไม่เป็นธรรมโดยที่เราอาจไม่รู้สึกตัว แต่การ์ตูนตลกที่อาศัยไหวพริบของผู้เขียนในการหยิบจับอารมณ์ในเบื้องลึกของผู้คนมาเขียน จึงสามารถฉายภาพการใช้ชีวิตร่วมกับโครงสร้างเหล่านี้ของผู้คนในเมืองในด้านที่ตลกขบขันออกมาได้

——

ความเป็นสมัยใหม่ ปะทะความเป็นท้องถิ่น

สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับถนน คือความเป็นเมือง นับแต่ช่วงเวลาที่ประเทศไทยเริ่มเติบโตด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ความทันสมัยทั้งหลายนั้นมักกระจุกรวมอยู่ที่เมืองหลวง หรือแบบที่ผู้คนกล่าวกันว่ากรุงเทพฯ เป็นเมือง “โตเดี่ยว” จนเป็นค่านิยมในสังคมไทยไปแล้วที่ผู้คนจากต่างที่ต่างจังหวัด ต่างต้องหันหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา หรือมาตรฐานด้านการรักษาพยาบาล

เมื่อคนจากต่างที่มุ่งหน้าเดินทางเข้าสู่จุดหมายเดียวกัน พวกเขาอาจต้องปรับความคิด ปรับทัศนคติไปตามค่านิยมของสถานที่ใหม่ เข้าทำนองเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม แต่ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างเมืองไทย พยายามขยับตัวเองไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ และในขณะที่คนจากต่างที่ได้พยายามปรับรับเอาค่านิยมของคนเมือง พวกเขาอาจไม่สามารถละทิ้งพฤติกรรม วิถีชีวิต และความเชื่อดั้งเดิมไปได้ทั้งหมด ภาวะเช่นนี้ทำให้หลายเหตุการณ์ที่เราพบในสังคมไทยดูเป็นเรื่องน่าขำ และได้ถูกนำมาเขียนเป็นแก๊ก เมื่อความเป็นท้องถิ่นและความเป็นสมัยใหม่ได้มาปะทะสังสรรค์กัน

แก๊กตลกที่เกิดจากการเปรียบเทียบเช่นนี้ สอดคล้องกับการศึกษาของกาญจนา เจริญเกียรติบวร ที่กล่าวไว้ใน “การวิเคราะห์วาทกรรมเรื่องตลกภาษาไทย” วิทยานิพนธ์หลักสูตร์ปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาศาสตร์ ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยทฤษฎีการสร้างเรื่องตลกจากคู่ขัดแย้ง หรือทฤษฎีความไม่เข้ากัน (Incongruity Theory) ที่สรุปโดยรวมไว้ว่า ความขำขันมักประกอบขึ้นจากอะไรสักอย่างที่ไม่เข้ากัน 2 สิ่ง มีคำอธิบายเช่น ความตลกเกิดขึ้นเมื่อเราได้ฟังเรื่องเล่า และเกิดความคาดหวังจริงจังกับเนื้อเรื่อง แต่เมื่อเกิดการพลิกผัน หรือหักมุมตอนจบจะทำให้เรารู้สึกขำ หรือการที่เราได้เห็นสภาวะคาบเกี่ยวของกรอบการอ้างอิงปรากฏการณ์ 2 กรอบ ที่สภาวะปกติไม่อาจเข้ากันได้ ก็ทำให้เรารู้สึกตลกกับสิ่งที่เห็น

โดยนอกจากการสะท้อนภาพความไม่เข้ากันของวิถีชีวิตดั้งเดิมกับความเป็นสมัยใหม่แล้ว หลายแก๊กในขายหัวเราะยังวาดให้เห็นการปะทะกันของความเชื่อดั้งเดิมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่ว่าสังคมจะพัฒนาด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีไปเพียงใด แต่ในเมื่อผู้คนก็ยังคงกลัว เชื่อ และพึ่งพาอำนาจศักดิ์สิทธิ์บางอย่างนอกจากตนเอง จึงนำมาซึ่งความขบขันที่นักเขียนได้ฉายให้เห็นผ่านแก๊กตลกมากมาย

——

บ้านเดี่ยว กับชีวิตครอบครัวในฝัน

ฉากหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นฉากคลาสสิกในการ์ตูนขายหัวเราะ คือฉากการอยู่อาศัยภายในบ้าน แน่นอนว่าแต่ละคนคงมีนิยามคำว่า “บ้าน” ของตัวเองแตกต่างกันไป เช่น ในงานศึกษา “ความหมายของคำว่า “บ้าน” ของคนไร้บ้าน” โดยกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรมภายในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พบว่า คนไร้บ้านที่เลือกอาศัยในพื้นที่สาธารณะ มักให้นิยาม “บ้าน” ในแง่ความอิสระและความปลอดภัยทางจิตใจ แทนที่จะเลือกอาศัยในบ้านเดิมที่ได้จากมาที่แม้จะเป็นอาคารมิดชิด แต่กลับไม่สามารถให้ความปลอดภัยทางใจแก่เขาได้ รวมถึงคนไร้บ้านที่กำลังจะมีบ้าน ก็จะให้ความหมายของคำว่า “บ้าน” ในแง่ความเป็นชุมชนและการรวมกลุ่ม จากการได้เข้ามาใช้ศูนย์คนไร้บ้านที่เป็นเสมือนชุมชนของพวกเขา

สำหรับบรรดาตัวละครส่วนใหญ่ที่โลดแล่นในหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ เราจะพบว่า “บ้าน” ของพวกเขามักมีลักษณะคล้ายคลึงกันตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน คือเป็นบ้านเดี่ยวแบบสมัยใหม่ มีรั้วรอบขอบชิด มีสวนหย่อม โดยมีฉากที่นิยมเขียนคือฉากห้องนั่งเล่น ที่จะประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์ภายในคล้ายกัน คือมีชุดโซฟา โทรทัศน์ โต๊ะกลาง กับฉากห้องนอน ที่มักปรากฏเตียงนอนยกสูง นอกจากนั้นก็จะตกแต่งด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามแต่ไอเดียผู้เขียน

กล่าวได้ว่าบ้านแบบดังกล่าวจึงเป็นเหมือนดังภาพมาตรฐานของ “บ้าน” ในสังคมปัจจุบันที่สะท้อนผ่านการ์ตูน โดยจากองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ปรากฏ ทำให้เราเห็นนิยามของความเป็น “บ้าน” ที่จะประกอบด้วยความเป็นพื้นที่ส่วนตัวแยกอย่างชัดเจนจากพื้นที่สาธารณะภายนอก มีการแบ่งการใช้งานภายในเป็นห้องต่าง ๆ ตามกิจกรรมที่แบ่งแยกตามแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ คือ แยกส่วนที่ใช้พักผ่อนนั่งเล่นจากส่วนที่ใช้รับประทานอาหาร และแยกจากที่นอนชัดเจน รวมถึงได้รับเอาค่านิยมการใช้เฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะการนอนบนเตียงยกสูง และการนั่งบนโซฟามาจากวัฒนธรรมอื่น

ในขณะเดียวกันเมื่อการ์ตูนต้องการจะฉายให้เห็น “บ้านแบบอื่น” เช่น บ้านไม้ หรือบ้านที่เข้าใจกันว่าเป็น “เรือนไทย” ก็มักจะมาพร้อมกับแก๊กที่ว่าด้วยวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตแบบ “ชาวบ้าน” หรือแก๊กที่เกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทย เช่น แก๊กเรื่องราวของ “หนูหิ่น” ตัวละครแม่บ้านจากภาคอีสานในเรื่อง “หนูหิ่น อินเตอร์” โดยผดุง ไกรศรี หรือ เอ๊าะ ที่เมื่อมีการเล่าถึงเรื่องราวความหลังเมื่อครั้งที่หนูหิ่นยังอาศัยที่จังหวัดอุบลราชธานี ผู้เขียนก็ได้วาดภาพบ้านและสะท้อนวิถีชีวิตรวมถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในภาคอีสานจากประสบการณ์ของผู้เขียน ซึ่งจากเรื่องราวที่เฉพาะเจาะจง ภาพของบ้านและการอยู่อาศัยในเรื่องจึงต่างจากบ้านของตัวละครอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไปที่ปรากฏในการ์ตูน ที่ไม่ได้มีเรื่องราวหนหลังเหมือนกับหนูหิ่น

หรือแก๊กคลาสสิกอย่างแก๊ก “หนีตามกัน” ที่มีฝ่ายชายแบกบันไดบุกเข้าไปถึงบ้านฝ่ายหญิงเพื่อใช้บันไดช่วยกันปีนหนีลงจากบ้านไม้ใต้ถุนสูงทางหน้าต่าง ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นเหตุการณ์จากเรื่องเล่าในอดีตที่คนหนุ่มสาวมักถูกกีดกันความรักจากคนในครอบครัว รูปแบบบ้านที่สอดคล้องกับเรื่องจึงไม่ได้เป็นรูปแบบที่นิยมสร้างในปัจจุบัน ผู้คนมีสิทธิเลือกคู่ครองของตัวเองมากขึ้น มีอาชีพเป็นของตัวเอง ได้สร้างบ้านแบบที่ตัวเองชอบ และได้ครอบครองข้าวของเครื่องใช้ที่บ่งบอกสถานะ

ดังนั้นภาพบ้านเดี่ยวของตัวละครทั่วไปในการ์ตูนขายหัวเราะ จึงได้ทำหน้าที่ฉายให้เห็นวิถีชีวิตที่ถือกันว่าเป็นปกติของคนไทยในยุคปัจจุบันไปโดยปริยาย

นอกจากนั้น สิ่งที่มาพร้อมกับภาพบ้านแบบสมัยใหม่นี้ คือนิยามความเป็น “ครอบครัว” ที่มักประกอบด้วยพ่อผู้เป็นชายมีหน้าที่ออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แม่ผู้เป็นหญิงมีหน้าที่ดูแลกิจการภายในบ้าน ทั้งสองช่วยกันเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นภาพที่เราพบได้เสมอในแก๊กขายหัวเราะ และผู้เขียนก็มักสร้างอารมณ์ขันจากการเขียนให้ตัวละครมีพฤติกรรมเล่นล้อกับขนบดังกล่าว เช่น ความเจ้าชู้ และการใฝ่หาอิสรภาพของผู้เป็นพ่อ ในขณะที่ผู้เป็นแม่ก็ชอบจู้จี้จุกจิก และบางครั้งลูกก็อาจมีพฤติกรรมแก่นกวนหรือฉลาดเกินเด็ก นำมาซึ่งความตลกขบขันต่อผู้อ่าน

อย่างไรก็ตาม นิยามความเป็นครอบครัวที่เข้าใจกันแต่เดิมนี้ เริ่มถูกท้าทายด้วยรูปแบบความสัมพันธ์ของผู้คนที่หลากหลาย รวมถึงมุมมองใหม่ๆ ต่อคำว่าครอบครัวที่อาจไม่ใช่ทุกครอบครัวจะประกอบด้วยพ่อแม่พร้อมหน้า และอาจไม่ใช่ผู้ชายทุกคนที่ต้องการคู่ครองเป็นผู้หญิง โดยหากเด็กต้องเติบโตมาในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว หรือถูกเลี้ยงโดยผู้ที่ไม่ใช่พ่อแม่ หรือโตในครอบครัวที่มีแม่ 2 คน หรือบางคู่ความสัมพันธ์อาจไม่ต้องการมีลูกเลย เราจะนับว่านี่เป็น “ครอบครัว” ที่สมบูรณ์ได้หรือไม่

นิยามนี้อาจยังไม่มีคำตอบในขณะนี้ แต่ก็มีความพยายามชักชวนผู้คนให้ร่วมทำความเข้าใจมากขึ้น เช่น ในแคมเปญ “This is My Family” ในช่วงปีพ.ศ.2563 โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับผู้ผลิตสื่อ 101 ที่ได้ชวนนักวิชาการและผู้ที่มีบทบาททางสังคมร่วมแสดงความคิดเห็นต่อความหลากหลายของ “ครอบครัวไทย” ในมิติต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ต่อคำว่าครอบครัวที่เป็นสุข ไปจนถึงให้ภาครัฐสามารถกำหนดนโยบายเกี่ยวกับครอบครัวได้อย่างเหมาะสม

เมื่อเข้าใจดังนี้แล้ว เราก็จะพบว่าการ์ตูนตลกนั้นแท้จริงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องอ่านคลายเครียดหรือการสร้างสถานการณ์สมมติไร้แก่นสาร แต่มันสามารถสะท้อนวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ รวมถึงความคาดหวังต่อความสุข และชีวิตที่สมบูรณ์ในวัฒนธรรมของเราได้อย่างน่าสนใจ

อ่านต่อหน้า 5 คลิก