ขายหัวเราะ ครึ่งศตวรรษบันทึกความขำรอบ บ้านและสวน

เมืองฝน เมืองน้ำท่วม

แก๊กหนึ่งที่เห็นได้บ่อย ๆ ในการ์ตูนขายหัวเราะ คือการเขียนถึงสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อยามที่ฝนตก ไปจนถึงเกิดภัยพิบัติใหญ่ที่คนไทยพบเจอบ่อย ๆ คืออุทกภัย

“อารมณ์ขันเป็นสิ่งที่คนไทยใช้เพื่อป้องกันและต่อสู้กับความกลัวความวิตกกังวลที่เผชิญอยู่เช่นภัยจากปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือปัญหาที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจการเมืองและสังคมให้บรรเทาความวิตกสร้างความรู้สึกผ่อนคลายท่ามกลางภาวะที่ตนไม่สามารถควบคุมได้”

นันทวรรณ ทองเตี่ยง ผู้ศึกษาเรื่องการ์ตูนตลกไทย กล่าวไว้ใน “นัยแฝงในอารมณ์ขันผ่านนิตยสารขายหัวเราะ พ.ศ.2559” งานศึกษาในวารสารวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ปีที่ 7 (2563) ที่แสดงให้เห็นการที่ผู้คนใช้การ์ตูนตลกเป็นเครื่องมือผ่อนปรนความยากลำบาก โดยเฉพาะต่อเหตุการณ์ฝนตก หลังคารั่ว ไปจนถึงน้ำท่วม ตั้งแต่เล็กน้อยในระดับข้อเท้า ไปจนถึงไหลหลากจนแทบมิดหลังคาเรือน

หลังคารั่วนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว แต่ยากที่จะเปรียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมหน้าปากซอย อุทกภัยที่เบาบ้างหนักบ้างตามแต่ละท้องที่ แน่นอนว่าไม่สามารถแก้ไข หรือป้องกันเหตุได้ด้วยตัวบุคคลคนเดียว แต่ต้องอาศัยนโยบาย และการบริหารจัดการระดับภาพรวม ภาวะเช่นนี้เองที่ทำให้คนทั่วไปที่ไม่อาจเอื้อมถึงกลไกการแก้ไขปัญหาระยะยาว ทำได้เพียงแสดงน้ำใจ เช่น การให้บริจาคต่อผู้ที่ลำบากกว่า และแน่นอนการมีอารมณ์ขันไปกับเรื่องเหล่านี้ก็ช่วยให้ผู้คนผ่านวิกฤตไปได้ในแต่ละครั้ง

——

อาชญากรรม และความปลอดภัยในชุมชนที่อยู่

แก๊กโจรย่องเบา หรือโจรมุมตึกนั้นสามารถพบได้ในการ์ตูนตลกในหลาย ๆ วัฒนธรรม (เห็นได้จากการที่ผู้ร้ายในการ์ตูนขายหัวเราะมักถูกวาดให้ใส่เสื้อลายขวางทั้ง ๆ ที่ชุดดังกล่าวไม่ใช่ชุดที่นักโทษในประเทศไทยใส่) เพราะโจรผู้ร้ายมีอยู่ทุกที่ทั่วโลก สังคมไทยที่พบข่าวอาชญากรรมรายวันแน่นอนว่าย่อมไม่พ้นไป สิ่งที่น่าสนใจในการ์ตูนขายหัวเราะคือการพลิกแพลงแก๊กตลกไปตามสถานที่ เหตุการณ์ และค่านิยมต่าง ๆ

อาทิเช่น แก๊กโจรปีนรั้วบ้าน แสดงให้เห็นธรรมชาติของกายภาพบ้านคนไทยในเมืองที่มักมีรั้วรอบขอบชิด แบ่งแยกพื้นที่ในบ้าน และนอกบ้านชัดเจน ทั้งหมดก็เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้ผู้อยู่อาศัย แต่กายภาพแบบนี้ก็ยังไม่วายถูกโจรผู้ร้ายปีน หรืองัดแงะเข้าไปโจรกรรมได้เช่นกัน นำมาซึ่งความตลกขบขันรูปแบบต่างๆ

แก๊กเกี่ยวกับโจรผู้ร้ายยังมักถูกผูกโยงไปกับความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน ผู้ที่ลักขโมย หรือปล้นจี้ที่เป็นการทำบาปอย่างหนึ่ง ย่อมต้องชดใช้กรรรมไม่ในขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ในนรกภูมิ ซึ่งภาพนรก – สวรรค์ หรือยมทูต – เทวดา ที่มีอิทธิฤทธิ์อยู่ในภพภูมิอื่นตามความเชื่อแบบไทย ก็ถูกนำมาพลิกแพลงหลายรูปแบบในขายหัวเราะเช่นกัน

นอกจากนั้น เรายังพบแก๊กเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เล่นล้อไปตามยุคสมัย เช่น ในสมัยหนึ่งที่ผู้คนนิยมใช้โทรศัพท์บ้าน ก็อาจมีเหตุการณ์ที่มีผู้ไม่ประสงค์ดีสืบจนค้นเบอร์โทรศัพท์บ้าน และโทรเข้ามาสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้เจ้าของบ้าน เพราะเหมือนได้ถูกสืบค้นจนพบพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่ที่ผู้คนจะรู้สึกมั่นคงที่สุด นั่นคือบ้านของตัวเอง

หรือตัวอย่างแก๊กที่เล่นล้อโทษทัณฑ์ในสมัยปัจจุบัน อย่างการทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ.2560 ที่ผู้กระทำผิดไม่ได้ทำร้าย ปล้น จี้ หรือบุกรุกพื้นที่ส่วนตัวใคร แต่เป็นการกระทำผิดบนพื้นที่สาธารณะแบบใหม่คือโลกอินเทอร์เน็ตที่ถูกตัดสินว่า ได้สร้างความไม่มั่นคงปลอดภัยให้กับสังคมวงกว้าง ซึ่งโทษในปัจจุบันนั้นร้ายแรงอย่างยิ่งจนถูกนำมาล้อเป็นแก๊กการ์ตูนในที่สุด

อ่านต่อหน้า 3 คลิก