ขายหัวเราะ ครึ่งศตวรรษบันทึกความขำรอบ บ้านและสวน

มอเตอร์ไซค์ พาหนะมากหน้าที่

ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหนในประเทศไทย เชื่อว่าทุก ๆ ที่จะพบมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะของผู้คนที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในชนบทที่ห่างไกล หรือในใจกลางมหานคร

มอเตอร์ไซค์ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถแทรกตัวเองไปในช่องว่างระหว่างรถยนต์ที่จอดติดเบียดเสียดกันอย่างแออัด ซึ่งเป็นปัญหาหลักของเมืองใหญ่โดยเฉพาะเมืองกรุงเทพฯ จนมีชื่อเล่นเรียกช่องว่างนี้ว่า “ทางด่วนรถยนต์” แต่ความคล่องตัวของมอเตอร์ไซค์ก็แน่นอนว่า ต้องนำมาซึ่งปัญหาการใช้พื้นที่เมืองหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปีนไต่ขึ้นไปขับบนฟุตบาท หรือการใช้เส้นทางที่มีไว้สำหรับจักรยานเป็นทางลัด ภาพจำของความขวักไขว่ของมอเตอร์ไซค์จึงถูกนำมาล้อเป็นแก๊กตลกในหลาย ๆ ครั้ง


อย่างไรก็ตามมอเตอร์ไซค์กับคนเมืองนั้นจะว่าไปก็คล้ายลิ้นกับฟัน แม้จะสร้างความสับสนวุ่นวาย แต่หลายครั้งก็ให้ความสะดวกสบายต่อผู้คนในเมืองใหญ่มากกว่ารถยนต์และรถเมล์บนท้องถนนที่บางครั้งแทบไม่ขยับ และมากกว่าการใช้ขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าที่ยังขยายไปไม่ทั่วถึงในหลายจุด 

รวมถึงผู้คนจะไม่ต้องเหนื่อยเดินเชื่อมรถไฟฟ้า – รถเมล์ – เรือ เพราะเมืองใหญ่โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งเป็นขนส่งมวลชนที่สอดแทรกตัวเองไปได้ทุกที่ และสอดรับอย่างดีกับกายภาพของเมืองในประเทศไทยที่มักโตอย่างไม่เป็นระบบและก่อให้เกิดซอกซอยจำนวนมาก เหมือนกับที่ยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกและนักเขียนกล่าวถึงข้อดีของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในหนังสือ “กรุงเทพฯ: ขนส่งทำมือ” ว่า นอกจากจะขนส่งคนและสินค้าได้เร็วกว่ารถยนต์ ยังสร้างประโยชน์ในการช่วยสอดส่องดูแลย่านชุมชนและสร้างความปลอดภัยให้กับพื้นที่ กล่าวคือเป็นหูเป็นตาให้กับคนในย่านเมื่อยามเกิดเหตุลักขโมย หรืออุบัติเหตุ

เราจึงจะพบแก๊กตลกจำนวนมากที่เขียนถึงมอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะในช่วงพ.ศ.หลัง ๆ ที่เกิดแอปพลิเคชั่นขนส่งคนและอาหาร และผู้คนได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยามที่เกิดโรคระบาดผู้คนงดออกจากบ้าน ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทางและไปพบปะกันซึ่งและกัน

——

สุนัขจรจัด ชีวิตชีวาในเมือง

อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่พบเห็นได้มากบนท้องถนนของคนไทยอีกอย่างหนึ่ง คือสุนัขจรจัด ข้อมูลจาก “แบบสำรวจสรุปจำนวนสุนัข แมว โครงการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีพ.ศ. 2559 สำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9” โดยกรมปศุสัตว์ ได้ระบุว่าทั้งประเทศมีสุนัขไม่มีเจ้าของจำนวนมากกว่า 700,000 ตัว จากสถิตินี้ ทำให้ในแต่ละปีหน่วยงานรัฐก็มีนโยบายทำหมันและควบคุมจำนวนประชากรหมาและแมวไม่มีเจ้าของอยู่อย่างต่อเนื่อง กระนั้นจำนวนหมาและแมวบนท้องถนนก็ยังมีจำนวนมาก จนเราสามารถพบเห็นได้จนชินตา สถิตินี้ขายหัวเราะเป็นอีกสื่อหนึ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่าสุนัขบนท้องถนนนั้นมีจำนวนมากจริงๆ จนสามารถนำมาเขียนล้อเป็นแก๊กตลกได้มากมาย

โดยสถานที่หลัก ๆ ที่สุนัขเหล่านี้นิยมไปประจำการที่หนึ่ง แน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นบรรดาหน้าร้านสะดวกซื้อ ที่ก็เคยมีการถกเถียงกันไปต่าง ๆ นา ๆ ถึงเหตุผลที่ทำให้ที่นี่เป็นที่โปรดของเหล่าสุนัข ไม่ว่าจะเป็นการได้นอนตากแอร์ การได้โอกาสที่มีคนให้อาหาร รวมถึงเรื่องความสว่างและความปลอดภัย

โดยนอกจากการถูกล้อโดยแก๊กขายหัวเราะ ยังมีศิลปินเพลงนำเอาความน่าขันของพฤติกรรมสุนัขเหล่านี้ไปแต่งเป็นเพลงชื่อ “หมาหน้าเซเว่น” ในปีพ.ศ.2559 โดยศิลปิน “คาวบอย” ที่มีเนื้อหาเปรียบเทียบสุนัขเหล่านี้กับการรอคอยความรักความเห็นใจ และมีผู้เข้าชมมิวสิกวิดีโอทางยูทูปในปัจจุบันมากกว่า 9 ล้านครั้ง มีเนื้อร้องท่อนติดหูว่า

“แค่หมาหน้าเซเว่น รอคอยความเย็นโชยมาชื่นใจ แค่เพียงวูบเดียวเบา ๆ ไม่ขอให้มันมากไป เท่าที่เธอจะให้แต่หมาหน้าเซเว่น จะตายจะเป็นจะเฝ้าเธอเรื่อยไป ก็รู้ว่าไม่มีทาง แค่มองก็มากเกินไป แต่ชาตินี้จำไว้ จะรอเพียงแค่เธอ”

การเล่นล้อกับภาพสุนัขจรจัดนี้ กล่าวได้ว่าเข้ากับนัยแฝงที่กล่าวไว้โดยนันทวรรณ ทองเตี่ยง ใน “นัยแฝงในอารมณ์ขันผ่านนิตยสารขายหัวเราะ พ.ศ.2559” ว่าด้วยนัยแฝงแบบ “ปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomena)” ซึ่งเป็นนัยที่ส่วนหนึ่งกล่าวถึงการล้อการจัดการสาธารณูปโภคที่ไม่สมเหตุสมผลของภาครัฐ เช่น ปัญหาทางเท้า สายไฟที่ยุ่งเหยิงในเมือง หรือถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ อันเป็นปัญหาที่พบเห็นได้ตลอดและมีมายาวนานไม่ต่างจากสุนัขจรจัด ดังที่เราจะเห็นว่ามีการเขียนล้อถึงสุนัขจรจัดในขายหัวเราะในยุคสมัยต่างๆ อยู่เสมอ

อ่านต่อหน้า 4 คลิก