HOME DAY 1 พื้นที่ทำงานที่แสดงออกถึงแนวคิดแบบวิศวกรรมศาสตร์

HD1 อาคารสำนักงานที่เปรียบเหมือนบ้านของเหล่าวิศวกรแห่ง Tri-En Solution โครงการนี้เริ่มต้นจากการขยายพื้นที่ของบริษัทจากเดิมที่ใช้อาคารแบบทาวน์เฮาส์ ได้มีการขยายเพิ่มขึ้นเป็น 3 คูหา และผู้ที่เข้ามาเป็นผู้ออกแบบก็คือ คุณตี๋ – ณรงค์ โอถาวร จาก SO Architect นี่เอง

ซึ่งในขั้นตอนของการตรวจสอบโครงสร้างอาคารก่อนการรีโนเวทนั้น ได้พบว่าโครงสร้างส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีการเสริมความแข็งแรง จึงทำให้ต้องมีการออกแบบโครงสร้างและจัดวางพื้นที่ภายในใหม่เกือบทั้งหมด และได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอาคารที่สื่อถึงถึงแนวคิดแบบวิศวกรรมศาสตร์อย่างเต็มเปี่ยม

Tri-En SolutionTri-En Solution Tri-En Solution

ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันของผู้ใช้อาคาร

จากแรกเริ่มที่เป็นบริษัทขนาดเล็กมีคนทำงานอยู่ประมาณ 6-7 คน ปัจจุบัน Tri-En Solution กลายเป็นบริษัทที่มีพนักงานกว่า 60 คน การสร้างความรู้สึกร่วมของทั้งบริษัทจึงเป็นสิ่งจำเป็น ชื่ออาคาร HD1 นั้นหมายถึง HOME DAY 1 นั่นคือที่แห่งนี้เป็นเสมือนจุดเริ่มที่ Tri-En Solutionจะสร้างบ้านของตัวเองขึ้น การออกแบบอาคารนี้ไม่ได้มีเพียงพื้นที่ที่ทำงานเพียงเท่านั้น ด้วยธรรมชาติของการทำงานของวิศวกรที่จะใช้เวลาอยู่ที่ออฟฟิสเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีการปรับให้ทาวเฮ้าส์ 3 หลังกลายเป็นตึกๆเดียว ผู้ออกแบบจึงได้เพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง ห้องประชุม และพื้นที่พักผ่อนให้พวกเขารู้สึกถึงความเป็นบ้านได้มากขึ้น

Tri-En Solution Tri-En Solution

โครงสร้างภายนอก ผังเปิดและกระจก

ด้วยความที่แต่เดิมอาคารที่ได้มานั้นต้องมีการเสริมความแข็งแรงให้กับโครงสร้างอยู่แล้ว จึงได้นำโจทย์ที่ว่ามาเป็นแนวคิดหลักของการออกแบบ และด้วยธุรกิจของ Tri-En Solutionคือบริการด้านวิศวกรรมระบบ ทางเจ้าของอาคารจึงต้องการให้อาคารนี้แสดงออกถึงถึงแนวคิดแบบวิศวกรรมศาสตร์ที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา ทางเลือกที่ผู้ออกแบบได้นำเสนอเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับอาคารพร้อมทั้งแก้ปัญหาความแข็งแรงไปพร้อมๆกันนั่นคือการเสริม Space Truss ให้กับอาคารในทุกชั้นโดยทำหน้าที่เป็น Façade ไปด้วยในตัว และลดน้ำหนักให้กับอาคารโดยการทุบผนังออกและแทนที่ด้วยผนังเบาและบานกระจกที่เปิดให้ทุกพื้นที่สามารถมองเห็นกันได้หมด และสิ่งนี้จึงได้กลายเป็นจุดเด่นของอาคารไปโดยปริยาย

Tri-En Solution Tri-En Solution Tri-En Solution Tri-En Solution

พื้นที่ทำงาน พื้นที่ส่วนกลาง และแกนอาคารแบบ Atrium

เพื่อให้เกิดความรู้สึกของความเป็นทีมเดียวกันมากขึ้นไม่แบ่งเป็นแผนกแยกย่อย จึงเป็นที่มาของการออกแบบให้ผนังที่ใส่แทนลงไปกลายเป็นกระจกใสเกือบทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ยังทำให้บรรยากาศในอาคารมีความกระฉับกระเฉงมากยิ่งขึ้น สามารถเห็นการทำงานของกันและกันได้หมดทุกส่วน ซึ่งส่วนนี้เองที่มีความสัมพันธ์กับแสงธรรมชาติ เพราะแต่เดิมการเป็นห้องแถวทาวน์เฮาส์มักจะบังคับให้ผังของการทำงานเป็นออฟฟิสแบบนั่งเรียงๆกัน ใช้ไฟนีออนรางที่มีความสว่างไม่เพียง จนเมื่อได้รวมพื้นที่ให้กลายเป็นอาคารหลังเดียวแล้ว จึงได้มีการออกแบบให้เปิดรับแสงธรรมชาติจากช่องเปิดทั้งสามด้านมากขึ้นโดยออกแบบให้พื้นที่ทำงานอยู่ชิดกับช่องเปิดข้างอาคารทั้งหมด และเปิดแกนกลางของอาคารเพื่อเป็น Atrium ที่รับแสงธรรมชาติจาก sky light ลงมาอีกด้วย ซึ่ง Atrium นี้ก็ช่วยเปิดมุมมองให้ทุกๆฝ่ายในออฟฟิสสามารถเห็นกันแล้วกันได้ไปพร้อมๆกัน การเปิดรับแสงธรรมชาตินอกจากจะทำให้การทำงานไม่อุดอู้และมีแสงสว่างเพียงพอแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของสภาพแสงในแต่ละช่วงเวลาของวันยังสร้างบรรยากาศที่ดีและทำให้นาฬิกาชีวิตของพนักงานในอาคารดำเนินไปอย่างเหมาะสมอีกด้วย

เมื่อพิจารณาผังการทำงานในบริษัท แม้ว่าจะมีการเชื่อมต่ออาคารทั้งสามหลังให้กลายเป็นหลังเดียวกันแล้ว แต่สิ่งที่ได้กลับมากลับไม่ใช่พื้นที่การทำงานที่มากขึ้น พื้นที่ส่วนใหญ่นั้นจะออกแบบให้เกาะอยู่ที่ขอบของอาคารในด้านที่สามารถรับแสงธรรมชาติได้อย่างทั่วถึง และพื้นที่ที่หายไปนั่นก็คือส่วนเอเทรียมที่เปิดพื้นที่ตั้งแต่ชั้น 1 จนถึง skylight บนหลังคา พื้นที่ในส่วนนี้ใช้การทุบพื้นเดิมออกและออกแบบให้สอดคล้องไปกับ Circulationใหม่ ความน่าสนใจคือการที่ทั้งบริษัทสามารถมองเห็นกันและกันได้ช่วยสร้างบรรยากาศกระฉับกระเฉงเป็นผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือการนัดประชุมใหญ่ที่ปัจจุบันสามารถเข้าร่วมประชุมในบริษัทกันได้เลยจากเดิมที่ต้องออกไปเช่าพื้นที่ข้างนอก

Tri-En Solution Tri-En Solution

ความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ของการเลือกใช้ วัสดุ โครงสร้างและผังอาคารที่สะท้อนแนวคิดแบบวิศวกรรมศาสตร์

การวางผังการใช้งานของอาคารนั้นออกแบบอย่างตรงไปตรงมา ด้วยการวางผังที่เรียบง่ายตามลักษณะการทำงาน และความต้องการการเข้าถึง Facilities ต่างๆที่สอดคล้องกัน แต่กลับดูพิเศษด้วยการเปิดช่องแสงและมุมมองที่สามารถมองเห็นกันได้หมด เป็นความใส่ใจที่ทำให้พื้นทำงานเกิดเป็น “สภาวะที่ดี” ของการทำงานมากขึ้น

ในแง่ของการเลือกใช้วัสดุนอกจากเหล็กสีดำและผนังสีขาวที่เห็นได้โดยทั่วไปแล้ว ส่วนหนึ่งที่โดดเด่นแต่กลมกลืนไปกับอาคารก็คือพื้นที่ใช้เป็นพื้นปูนขัดแต่เปิดให้เห็นเนื้อของทรายและหินกรวดที่ผสมอยู่ภายในของวัสดุ เมื่อขัดจนเรียบขึ้นเงาก็เป็นวัสดุที่ใช้งานได้ดี ทั้งยังช่วยเสริมความงามในแบบที่ตั้งใจแสดงเนื้อแท้ออกมาอย่างที่เจ้าของอาคารต้องการอีกด้วย จึงทำให้เห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นในด้าน “โครงสร้าง” หรือ “วัสดุ” แล้ว อาคาร HD1 หลังนี้ล้วนแล้วแต่มีความตั้งใจในการถ่ายทอดการทำงานของวัสดุออกมาอย่างตรงไปตรงมา

Tri-En Solution

ความเป็นบ้านที่คนอยากมาทำงาน

จากชื่อของอาคาร HD1 ซึ่งย่อมาจาก Home Day 1 เพราะเป็นความตั้งใจของเจ้าของบริษัทที่อยากจะให้พนักงานได้มีพื้นที่ที่มากกว่าแค่พื้นที่ทำงานในอาคารแห่งนี้ จนเมื่อแล้วเสร็จ สิ่งที่สถาปนิกได้รับฟีดแบ๊คกลับมาก็คือพนักงานมาทำงานกันเร็วขึ้นเพราะตั้งใจจะมานั่งทานกาแฟทานอาหารเช้ากันที่ชั้นลอยบนดาดฟ้าก่อนเริ่มทำงาน บรรยากาศการทำงานดูมีชีวิตชีวา หรืออย่างการที่มีห้องพักก็สามารถทำให้พนักงานสามารถทำงานกันได้เต็มที่ขึ้น เพราะคำว่าที่ทำงานไม่ได้มีเพียงพื้นที่สำหรับทำงานเพียงเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่สำหรับใช้ชีวิตรวมอยู่ในนั้นด้วย สมกับชื่อ Home Day 1 หรือบ้านของพนักงานทุกคนอย่างแท้จริง

(รูปที่เหลืออยู่ท้ายบทความใช้ประกอบเพิ่มเติม)

Tri-En Solution Tri-En Solution Tri-En Solution Tri-En Solution

เจ้าของ : Tri-En Solution
ออกแบบ : SO Architect คุณณรงค์ โอถาวร
ที่อยู่ : กรุงเทพฯ
พื้นที่ใช้สอย : 550 ตรม


เรื่อง วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ ศุภกร ศรีสกุล