MOUNTAIN HOUSE IN MIST บ้านจีนโบราณ ที่กลายมาเป็นห้องสมุดของชุมชน

บ้านจีนโบราณ ในหมู่บ้านโบราณอายุกว่าร้อยปีในเมืองจินหัว มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ที่นี่ยังคงอนุรักษ์วิถีการดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิม รวมถึงบ้านเรือนเก่าแก่ไว้ ท่ามกลางภูมิทัศน์แห่งสายหมอกและขุนเขาที่อยู่รายล้อม บ้านเรือนส่วนใหญ่ของที่นี่ปลูกสร้างแบบลดหลั่นตามระดับความสูงของเนินเขา กลายเป็นภาพที่งดงามและมีเสน่ห์ราวภาพวาด แต่สิ่งที่สะดุดตาที่สุดเห็นจะเป็น “บ้านหนังสือ” หรือ ห้องสมุดชุมชน ตั้งอยู่ไม่ไกลจากจัตุรัสกลางหมู่บ้าน

เดิมพื้นที่ตั้งของ ห้องสมุดชุมชน นี้ เคยเป็นบ้านดินและคอกวัวเก่าก่อนจะพังทลายลงมา แล้วได้รับการแทนที่ด้วยอาคารหลังใหม่อันเป็นดังศูนย์กลางของชุมชน ออกแบบโดย Shulin Architectural Design เด่นด้วยตัวอาคารที่มีลักษณะยกใต้ถุนสูง พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่ครอบคลุมความต้องการของคนทุกวัย อย่างที่สถาปนิกเล่าว่า “ความคิดเริ่มต้นของเราคือ อยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่อ่านหนังสือที่เงียบสงบ ดึงดูดผู้คนในหมู่บ้านให้เข้ามาใช้งานร่วมกัน และทำให้เกิดความรู้สึกที่เข้าใจง่าย ไม่แตกต่างไปจากบริบทโดยรอบจนเกินไป”
ห้องสมุดชุมชน
บ้านเรือนส่วนใหญ่ของที่นี่ปลูกสร้างแบบลดหลั่นตามระดับความสูงของเนินเขา เช่นเดียวกับอาคารหลังนี้ที่มีการออกแบบโดยคำนึงถึงสัณฐานวิทยาของพื้นที่ตั้งเป็นพิเศษ
พื้นที่เดิมก่อนทีมสถาปนิกจะออกแบบอาคารห้องสมุดชุมชนขึ้นมาทดแทน
ห้องสมุดชุมชน
ห้องสมุดชุมชน
ตัวอาคารยังคงเก็บเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมจีนไว้ แต่แตกต่างตรงที่มีการยกใต้ถุนสูง ชั้นล่างมีพื้นที่เปิดโล่งกึ่งกลางแจ้ง ประกอบด้วยเสาโครงสร้างจำนวน 10 ต้น ช่วยรองรับบ้านทั้งหลังไว้ ที่ชั้นหนึ่งมีเพียงคาเฟ่เล็ก ๆ สำหรับบริการเครื่องดื่มและโต๊ะไม้ไว้นั่งพักผ่อน นอกจากนั้นยังแทรกด้วยสระน้ำเล็ก ๆ
ห้องสมุดชุมชน
ห้องสมุดชุมชน
ในวันที่ฝนตกน้ำฝนจะไหลจากช่องหลังคาลงมาที่สระน้ำนี้มองเห็นหยดฝนเต้นระบำ ส่วนวันที่ปลอดฝนจะมองเห็นภาพสะท้อนของก้อนเมฆ และประกายของแสงอาทิตย์ตกกระทบเป็นเงาดูสวยงาม เชื่อมต่อสู่ชั้นบนกับด้านนอกด้วยบันไดกลางแจ้ง ภายในพื้นที่ชั้นสองออกแบบให้มีทั้งสนามเด็กเล่นเล็ก ๆ และห้องสมุดที่เด็ก ๆ สามารถอ่านหนังสือและเล่นสนุกได้ ไม่ว่าจะทำกิจกรรมไหนก็ยังอยู่ในสายตาของผู้ปกครอง ที่มองเห็นบุตรหลานของตนได้ตลอดเวลา ขณะมาใช้บริการนั่งอ่านหนังสือ
ด้วยลักษณะสัณฐานวิทยาของพื้นที่ตั้งซึ่งอยู่เนินดิน ชั้นสองของบ้านจึงมีระดับเท่ากับผิวดิน ขณะที่รูปแบบของหลังคาด้านหนึ่งออกแบบให้เอียงราว 6.5° หลังคาปูด้วยกระเบื้องสีเทาแบบดั้งเดิม เพื่อให้ดูกลมกลืนกับบ้านเรือนรอบ ๆ ในแง่ของวัสดุใช้โครงสร้างไม้สนแบบโมดูลาร์ทั้งหลัง เช่นเดียวกับชั้นวางหนังสือ และคานโครงสร้างของหลังคา ผนังอาคารกรุด้วยวัสดุโปร่งแสงทำให้ได้รับประสบการณ์และบรรยากาศเชิงพื้นที่แบบกึ่งโปร่งใส ช่วยลดทอนความจัดจ้าของแสงแดดในช่วงเวลากลางวันให้ภายในมีบรรยากาศดูนุ่มนวล นอกจากนั้นยังใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเพียงพอกับการใช้งาน และดีกับสภาพแวดล้อม
จากโปรเจ็กต์ของงานออกแบบนี้ ทำให้มองเห็นถึงสาระสำคัญของการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนว่า นั่นคือการเข้าใจสภาวะของผู้คน พื้นที่ และธรรมชาติ โดยทุกอย่างจะต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน เพื่อให้ท้องถิ่นและความคิดสร้างสรรค์สามารถเชื่อมโยงกันได้ดี
ออกแบบสถาปัตยกรรม : Shulin Architectural Design http://www.hzshulin.com/index.html
ภาพ : Yilong Zhao, Lin Chen
เรียบเรียง : Phattaraphon

อ่านต่อA PLACE WE STAND SHOWCASE @ บางแสน