ฮ่องเต้ กนต์ธร พิธีกรช่างประจำบ้านที่เริ่มวาดรูปตั้งแต่สองขวบ จวบจนมีนิทรรศการเป็นของตัวเอง

สวัสดีครับ… เสียงอันก้องกังวาลไปทั่วทั้งงานนิทรรศการขนาดกะทัดรัด บนชั้นสองของ Class Café สาขาสามย่าน ที่เปิดพื้นที่ชั้น 2 และ 3 เป็นพื้นที่แกลเลอรี่จัดแสดงงานศิลปะ เจ้าของนิทรรศการเอ่ยทักทาย ก่อนที่เราจะได้เห็นตัวเขาเสียด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะเขารู้ถึงการมาของพวกเราจากการนัดหมายไว้ แต่เปล่าเลย ตลอดการสัมภาษณ์ทำให้รู้ว่าเขาทักทายแขก “ทุกคน” ที่แวะเวียนกันมาชมนิทรรศการของเขาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เรา ฮ่องเต้ กนต์ธร

จริง ๆ แล้ว เจ้าของนิทรรศการคนนี้ก็เหมือนคนในครอบครัวอมรินทร์ เพราะตั้งแต่หลายปีก่อนเขาได้เข้ามาทำงานในฐานะกองบรรณาธิการนิตยสาร my home ด้วยความมุ่งหวังที่จะมาเพิ่มความแมสคิวลีนให้กับนิตยสาร ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของหนึ่งในพิธีกรรายการช่างประจำบ้าน ทางช่องอมรินทร์ทีวี เรียกว่าเขาแวะเวียนไปมาหาสู่กับเราอยู่เสมอ ๆ

เขาคนนั้นคือ ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร พิธีกรอารมณ์ดีเจ้าของภาพจำที่มาพร้อมกับชุดเอี๊ยม เสื้อลายขวาง และแว่นตาทรงกลม ที่เรานัดเจอกับเขาวันนี้ เรียกว่าเป็นการนำนิทรรศการล่าสุดอย่าง ASURA มาเป็นสะพานในการทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น ซึ่งเขาบอกกับเราว่าสิ่งนี้คือผลลัพธ์แบบปลายน้ำแล้ว แต่ก่อนจะมาเป็นนิทรรศการนี้ เราเลยขอย้อนไปที่ต้นน้ำ เพื่อทำความรู้จักกับเขาให้มากยิ่งขึ้น ผ่านการพูดคุยกว่า 2 ชั่วโมง ที่เปี่ยมไปด้วยสาระ และอรรถรสตลอดการสนทนา

ฮ่องเต้ กนต์ธร พิธีกรช่างประจำบ้าน ASURA

ฮ่องเต้ กนต์ธร Exotic Pets ไก่ชิลกี้
ฮ่องเต้กับ Exotic Pets ที่เขาหลงรัก อีกหนึ่งความชอบที่บอกกับเราว่าที่ทำงานทุกวันนี้เพียงเพราะอยากหาเงินมาซื้ออาหารให้ไก่กิน

ฮ่องเต้ เป็นใคร?

“ฉันเป็นลูกหมอผ่าตัดสมองที่เก่งที่สุดในประเทศ ฐานะที่บ้านปานกลางค่อนไปทางรวย ฉันชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก แม่เล่าให้ฟังว่าตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ก็เริ่มจับดินสอวาดผนังบ้านตัวเอง แล้วแม่ก็บอกว่ามันเลอะเทอะ หลังจากนั้นแม่ก็เอากระดาษมาให้วาด แล้วเขาก็รู้สึกว่ารูปที่ฉันขีดมันเข้าท่าดี เพราะตั้งแต่เด็ก ๆ คุณตามักจะเล่านิทานให้ฟัง นิทานเรื่องที่คุณตาเล่าจะเป็นพวกรามเกียรติ์ สามก๊ก ซึ่งก็เป็นนิทานที่แปลกประหลาดสำหรับเด็กปกติ แล้วแม่ก็ไม่ชอบให้ดูการ์ตูนเลยเพราะกลัวติด ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ฉันต้องพยายามนึกภาพเองหมด

“จนขึ้นป.3  ถึงได้ดูการ์ตูน ฉันดูจูเรนเจอร์ควบคู่ไปกับเซเลอร์มูน เพราะน้องสาวดูเซเลอร์มูน ฉันก็ต้องดูด้วย แล้วก็ดูบุรินหมูอวกาศ กายเวอร์  ไอ้มดแดง แบบสลับไปสลับมา เราก็โตมาแบบนั้นกับน้องสาว เลยรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศในอารมณ์ประมาณหนึ่งเพราะพวกนี้แหละ ประกอบกับพ่อก็ชอบเปิดหนังสือรูปสัตว์ให้ดูตั้งแต่เด็ก เหมือนมันซึมเข้าไปในสมอง ของเล่น ตุ๊กตา ตัวการ์ตูน ทุกอย่างเป็นสัตว์หมดเลย บวกกับที่เราไม่ได้ดูการ์ตูน ก็ต้องหาอะไรมาเล่นเอง เราคิดว่ามันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราสามารถสร้างภาพในหัวได้ชัดเจนกว่าปกติ  เพราะไม่มีภาพสำเร็จรูปให้ดู เลยจำเป็นต้องสร้างภาพสำเร็จในหัวตัวเองขึ้นมาให้ได้ เพื่อให้มีความสุข และฟินเอง”

ฮ่องเต้ กนต์ธร พิธีกรช่างประจำบ้าน ASURA
ฮ่องเต้กับคุณตามงคล ศรีตระกูล ผู้ปลูกฝังความชอบและเล่ามหากาพย์ของรามเกียรติ์ให้ฟังตั้งแต่เด็ก

ก้าวแรกสู่สังเวียนศิลปะกับครูสังคม ทองมี

“จุดที่เราเริ่มวาดรูปจริง ๆ  คือพ่อพาไปฝากตัวกับครูสังคม ทองมี ตอนนั้นครูดังมากในบทบาทของครูศิลปะ เรียกว่าแนะแนวเด็กได้เฉียบขาดในยุคนั้น พ่อไปเจอข้อมูลนี้มาจากหนังสือพิมพ์ แล้วเกิดสนใจ เลยพาเราไปฝากตอนอายุ 3 ขวบ ครูเขาก็ยังไม่รับนะ เพราะเราเด็กเกินไป ก่อนกลับมาอีกทีตอน 4 ขวบ ซึ่งพ่อได้นำงานที่เราวาดไปให้ครูดูด้วย พอครูเห็นงานก็รับเลย  พอไปเรียนกับครูสังคมมันก็เหมือนเสือติดปีก ครูทำให้รู้ว่าการสอนศิลปะมันไม่ใช่การสอน มันคือการนั่งอยู่ข้าง ๆ แล้วก็บอกเราว่า เออ! สวยดี แทบไม่ได้แนะนำอะไรด้วย ครูศิลปะก็เป็นเหมือนคนหาวัตถุดิบว่ามีอะไรออกมาจากการวาดของฉันบ้าง แล้วเขาก็นำสิ่งนั้นมาต่อยอดให้อีกที

“เช่น เขาตั้งโจทย์มาแบบกว้าง ๆ ว่า วันแม่ วันแม่ของฉันถือว่าไม่เหมือนกับคนอื่น เพราะว่าวันแม่ของฉันคือ แม่พาไปเล่นน้ำที่สวนสยาม  วันแม่คนอื่นคงกินข้าวกันบนโต๊ะกลม มีเค้ก มีดอกมะลิวันแม่ ฉันไม่เคยไหว้ แม่ก็เลยพาไปเที่ยวที่อื่นที่มีไดโนเสาร์แทน ฉันชอบไดโนเสาร์ รูปวันแม่ของฉันจึงมีไดโนเสาร์ด้วย ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่น่าจะแตกต่างจากคนอื่นอยู่พอสมควรมั้ง!  ฉันชอบสัตว์ ครูก็ให้วาดสัตว์ ฉันชอบควายกับลามาก เพราะมันโคตรน่ารัก แม่บอกว่าตอนเด็ก ๆ ฉันให้เหตุผลว่ามันโง่ดี ชอบอียอร์ในวินนี่เดอะพูห์ ชอบควายตัวดำใหญ่ มีเขายาว ๆ ชอบนอนแช่น้ำทั้งวัน ถ้าอย่างนั้นวาดควายกับลาเลย! รูปที่ได้รางวัลตอนสัก 4- 5 ขวบ จึงเป็นรูปควายเต็มท้องนานอนแช่น้ำอยู่ โดยใช้สีเมจิกมาระบาย

“ตอนนั้นได้รางวัลที่ญี่ปุ่น เป็นรางวัลใหญ่มาก ๆ ของที่โน่น ได้ 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง ตอนนั้นครูส่งไป ฉันเป็นคนไม่คาดหวังกับเรื่องรางวัลเลย เวลาทำงานประกวด อาจารย์เล่าให้ฟังว่า ฮ่องเต้ไม่เคยสนใจรางวัลเลย ฮ่องเต้ไปประกวดเพื่อจะได้เจอเพื่อนใหม่ ฮ่องเต้ไปเพราะอยากดูว่าคนอื่นเขาวาดรูปยังไง ฮ่องเต้รีบวาดให้เสร็จเร็วที่สุด เพื่อจะได้ไปดูคนอื่นวาด อันนี้ครูเล่าให้ฟังนะ เราไม่ได้คาดหวังรางวัลเลย เรารู้สึกว่าเราชอบได้ที่ 2 มากกว่า เพราะว่าทำคนอื่นเสียใจน้อยกว่าคนได้ที่ 1  (หัวเราะ) คือที่ 1 อยู่เหนือคนอื่น มันโดดเดี่ยว แล้วก็เป็นสันดานอย่างนั้นมาจนโต ไม่ชอบการแข่งขัน ชอบแข่งกับตัวเอง ชอบตั้งมิชชั่นกับตัวเองมากกว่า”

ละครสถาปัตย์ เปลี่ยนชีวิต

“จุดเปลี่ยนของชีวิตอันหนึ่งเลยคือ การที่พ่อพาไปดูละครที่คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ตอนนั้นอยู่ ป.5 ประมาณปี 2538 เรื่องชอลิ้วเฮียง แล้วเราก็ชอบมาก ตอนนั้นเราไม่รู้จักหรอก แค่รู้สึกว่าละครเวทีอะไร มีเรือโผล่มากลางเวทีด้วย ขนาดเรือเท่ากับเรือลำจริง ๆ  ตอนนั้นมันมหัศจรรย์มากสำหรับเด็ก คิดเลยว่าฉันต้องเข้าคณะนี้ แม่งบ้าดี ตลกด้วย อยากเข้าสถาปัตย์ฯ”

ยิ่งรู้จัก ยิ่งไม่รักเธอ (สถาปัตย์ฯ)

“สุดท้ายเราก็สอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ ก่อนเข้าก็ติวนิดหน่อยสักเดือนสองเดือน วิชาการก็ไม่สนใจ เพราะภาษาอังกฤษเราได้อยู่แล้ว ตอนนั้นใช้ 3 วิชา คือ เลข ภาษาอังกฤษ และฟิสิกส์ แล้วก็เลือกเรียนอินทีเรียร์ เพราะรู้สึกว่าไม่อยากสร้างตึกสูงมาก เกลียดตึกสูง เพราะรู้สึกว่าทำให้ท้องฟ้าสกปรก(หัวเราะ) แล้วก็ไม่ได้อยากปลูกต้นไม้ขนาดนั้น ไม่ชอบร้อน ไม่ชอบออกแบบผลิตภัณฑ์เพราะมันจุกจิก เรียนอินทีเรียร์จะได้แต่งห้องสวยดี ชอบจับผ้าม่าน แล้วก็สร้างอาคารได้ไม่เกิน 3 ชั้น ก็โอเคแล้ว แต่ก็รู้สึกว่าไม่ชอบทำบ้านขนาดนั้น แค่อยากแต่งบ้านตัวเองให้สวย อยากจะอยู่ในที่ที่เราแต่งเองได้ แต่พอเข้าไปเรียนแล้ว ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ชอบการสร้างบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ”

จากนักแสดงละครเวทีคณะอักษรฯ สู่นักออกแบบคาแร็กเตอร์ดีไซน์

“สมัยเรียนเราทำกิจกรรมข้างนอกเยอะมาก เล่นละครเวทีอักษรปีนึงน่าจะเกิน 20 เรื่อง คือคณะอักษรฯ เขามีวิชากำกับการแสดง และในสมัยก่อนแน่นอนเลยว่าคณะอักษรฯ ไม่ค่อยมีผู้ชาย ผู้ชายสถาปัตย์ฯ เลยกลายเป็นตัวเลือกหนึ่งที่เขาจะชวนมาเล่น ตอนแรก ๆ ก็เล่นเป็นลูก หลัง ๆ ก็เป็นพ่อ เป็นลุง เป็นผู้อำนวยการ ขยับไปเรื่อย ก็เล่นมาตลอด แล้วรู้สึกว่าแอคติ้งเป็นอะไรที่สนุกดี มันท้าทาย ทำให้เราได้เข้าไปรู้จักกับเงื่อนไขในการเป็นคนอื่น เราว่านี่เป็นจุดกำเนิดของการที่เราชอบทำคาแร็กเตอร์ดีไซน์ เพราะเรารู้สึกว่าเราชอบตีความบุคลิก ชอบเข้าไปทำความรู้จักกับชีวิตของคนอื่นที่ไม่ใช่เรา ก็เลยเป็นที่มาว่าหลัง ๆ ทำคาแร็กเตอร์ดีไซน์มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วตอนนั้นที่เล่นละครเวที เลยเปิดไปสู่ประตูอีกหนึ่งบาน นั่นคืองานพิธีกร รุ่นพี่ที่อักษรฯ จุฬา เขามาดูละครที่เราเล่น แล้วก็ชอบเสียง ชอบบุคลิก”

ปรับทัศนคติด้วยธีซิส

“เราชอบธีซิสของเราตอนนั้นมาก เป็นโปรเจ็กต์รีสอร์ตเรียกว่าเป็นตัวเลือกสุดท้ายเลยของคนเรียนอินทีเรียร์ ตอนแรกเราอยากทำพิพิธภัณฑ์ช้างแมมมอธหินล้านปีและบรรพชีวินที่โคราช แต่ก็มีปัญหา จนสุดท้ายต้องเปลี่ยนมาทำรีสอร์ต โดยเอาไซต์ (Site) ของเพื่อนที่หามาเกิน เอามาทำ ตอนนั้นรู้สึกเฟลมาก ถ้าไม่ได้อาจารย์ท่านนี้ เราจะไม่มีทางรอดชีวิตมาถึงวันนี้เลย ท่านคือ อาจารย์บุญเสริม เปรมธาดา ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านถามว่าเราเป็นทุกข์อะไรนักหนา ทำไมถึงไม่มีความสุขกับสิ่งที่เป็นข้อจำกัด

“เออ… มันก็ท้าทายดีนี่หว่า ได้ไซต์กระจอกสุด แล้วทำยังไงให้ได้ A ล่ะ ทำไงให้มันปัง พอคิดได้ก็ลุยเลย แล้วไปสุดมาก งานอินทีเรียร์ที่ออกมาเลยเป็นกระจกใสล้วน แล้วมีต้นไม้เน้นออกแบบแต่แลนด์สเคปอย่างเดียว แล้วพูดว่าเราจะให้ภายนอกเป็นอินทีเรียร์แทน แล้วในห้องก็คือไม่ปูพรม ทำพื้นหินปูนดิบ อ่างล้างหน้าเป็นหินขุด ติดลมพัด สุดท้ายก็ได้ A ตอนนั้นโปรแกรมสเก็ตช์อัพเพิ่งมา เพื่อนทำตีฟ (Perspective) กัน 30 รูป ฮ่องเต้เข้ามาเพจขาวจั๊วะ มีสีน้ำเล็ก ๆ อยู่ตรงมุม คิดว่าเป็นงานศิลปะบนแคนวาส ตีฟ 8 ตีฟ แล้วใช้การพูดเอา แฮปปี้เลย เปลี่ยนชีวิตมาก ๆ เพราะคอนดิชั่นที่ได้มาไม่ดี แต่ไม่ได้แปลว่างานสุดท้ายต้องแย่ ทุกอย่างเปลี่ยนได้ด้วยคำพูด ทุกอย่างดีได้ด้วยคำพูด แล้วทุกอย่างก็แย่ได้ด้วยคำพูดเช่นกัน

นักออกแบบงานแต่ง / กองบก. / พิธีกรช่างประจำบ้าน / ภัณฑารักษ์

“งานแรกที่ทำหลังเรียนจบคือ รับออกแบบงานแต่งงาน เราคิดเหมือนกับว่าเป็นเอ็กซิบิชั่น ซีเควนซ์ทุกอย่างคือละครเวที หลังจากนั้นได้มาเดินงานบ้านและสวน มีโอกาสเจอพี่ฮอลล์ (บก.นิตยสาร my home) เลยชวนมาเป็นกองบก. สิ่งแรกที่คิดคือ เราจะทำหนังสือเล่มนี้ให้แมนและเท่ขึ้นเอง  พอเข้ามาก็พยายามจับกลุ่มผู้ชายที่ชอบแต่งบ้าน เราขอวาดภาพประกอบเอง ทำอยู่ประมาณปีครึ่งก็ออกมาเป็นฟรีแลนซ์ แล้วมีโอกาสกลับมาที่อมรินทร์อีกในฐานะพิธีกรรายการช่างประจำบ้าน

ระหว่างนั้นก็เริ่มวาดรูปมากขึ้น เริ่มเห็นแนวทางศิลปะในเส้นทางของบ้านเราว่ามันแคบแค่ไหน แต่แคบแปลว่าเราเล่นได้ แปลว่ายังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังไม่ถูกแตะ  เช่น เด็กที่ไม่ได้เรียนศิลปะ แต่อยากทำงานศิลปะ หรือคนทำงานศิลปะมา แต่ยังไม่จบ ก็อาจไม่เชื่อว่าตัวเองแสดงงานได้ แต่เราเป็นคนเสพงานศิลป์ เราการันตีได้ เราสะสมงานเยอะ แล้วก็รู้ว่าอะไรสวย เลยมาเป็นคิวเรเตอร์แล้วกัน เราเทสกับตัวเองก่อน จัดนิทรรศการจนพบว่า ชื่อของศิลปินไม่ได้สำคัญเท่ากับคอนเท้นต์ที่นำเสนอและการสื่อสารออกไปสู่วงกว้าง ออนไลน์สำคัญมาก เราพูดยังไง ประโยคนี้โดนไหม ตัวก๊อปปี้มันโดนไหม เรื่องนี้โคตรสำคัญ”

พุทธศาสนากับนิทรรศการศิลปะ

“บ้านเราเป็นบ้านที่เคร่ง เป็นพุทธแท้ ๆ ทำบุญทุกเทศกาล เราไม่กลัวการเข้าวัด เป็นคนอาราธนาศีลเก่งมาก เพราะเป็นคนทำหน้าที่นี้ในบ้าน แล้วก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่แตะต้องได้นี่หว่า เป็นเรื่องของมนุษย์ พิธีกรรมก็เรื่องหนึ่ง แต่ความเชื่อก็ทำให้เราทำดีนะ ทำไมคนไปมองว่าความเชื่อเป็นเรื่องงมงายหมด เลยรู้สึกว่าเราต้องสื่อสารเรื่องนี้ เพราะมันเละเทะและเลือนลางมากในสังคม เพราะหนึ่งเราอิน สองเราคิดว่ามีประโยชน์กับคนวงกว้าง มีประโยชน์ในแง่นี้ คือต้องทำให้ฉุกคิด หรือมีสติมากขึ้น สองเรื่องนี้เป็นหลักที่ทำให้เราทำคอนเท้นต์ในนิทรรศการ”

ฮ่องเต้ กนต์ธร ASURA พิธีกรช่างประจำบ้าน

จากนิทรรศการแรกที่เขาจัดคือ “ไตรโลกา” นิทรรศการที่หยิบไตรภูมิมาดีไซน์ใหม่ ถัดจากนั้นก็คือนิทรรศการ “กลับตาลปัตร” เกิดจากการเทียบย้อนกลับไปในยุคของสมเด็จครู หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งนับเป็นไอดอลของเขา โดยในยุคนั้นมีการทำตาลปัตรเยอะมากที่ให้ความรู้สึกโมเดิร์น ณ ขณะนั้น เขาเลยเกิดการตั้งคำถามว่า “ทำไมตาลปัตรในยุคเราถึงไม่สวย ดูไม่ทันสมัย แล้วมันเป็นฟังก์ชันในยุคนี้หรือเปล่า?

หลังจากนั้นเขาก็จัดแสดงงานศิลปะอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น  BODHI THEATER: Buddhist Prayer RE-TOLD การฉายภาพขึ้นไปบนผนังอุโบสถของวัดสุทธิวรารามผ่านองค์พระประธาน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือวัตถุและศาสนาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ หรือว่าจะเป็นแคมเปญที่เกิดขึ้นช่วงวิกฤตการณ์ Covid-19 ในชื่อ #วาดแลกกันสัตว์ (แคมเปญที่ชวนคนวาดรูปวันละรูปตลอดระยะเวลา 3 เดือน โดยฮ่องเต้เป็นคนให้โจทย์ในแต่ละวัน ซึ่งมีคนสนใจและร่วมแคมเปญกับเขาร่วมหมื่นคน)

เรื่องความนิยมชมชอบในตัวเขาคงไม่เป็นที่กังขา รวมไปถึงฝีไม้ลายมือในการทำงานศิลปะที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายรูปแบบ จนเรียกตัวเองได้อย่างเต็มปากว่าเป็นศิลปิน นักออกแบบนิทรรศการ รวมไปถึงภัณฑารักษ์ แล้วนี่ก็เป็นอีกนิทรรศการที่ตอกย้ำว่าเขาทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดีเพียงใด กับ “ASURA2020” นิทรรศการล่าสุดที่จะพาเราไปรู้จักกับ “อสูร” ตัวร้ายตลอดกาลในนิทานปกรณัม ซึ่งเรามักกลัวและมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้าย จนชวนให้เราอยากตั้งคำถามว่าหรือแท้จริงแล้ว “อสูร” ก็คือ “มนุษย์” ธรรมดาที่เหมือนกับคนทั่วไป หากจะต่างเพียงเพราะรูปร่างหน้าตาที่ไม่เหมือนเรา!

ฮ่องเต้ กนต์ธร ASURA พิธีกรช่างประจำบ้าน

ตีความจากไตรภูมิ

“เชื่อว่าทุกคนน่าจะรู้จักรามเกียรติ์กันอย่างดีแน่นอน เรียกว่าเป็นวรรณกรรมประจำชาติก็ว่าได้ เพราะว่ามีวรรณศิลป์ที่สวยงาม มีความยาวที่พอเหมาะ แล้วก็มีการเขียนต่อเนื่องกันมาหลายรัชกาล เพราะฉะนั้นก็เลยถือว่าเป็นวรรณกรรมคู่เมืองไปอย่างนั้น แต่ว่าด้วยความที่เรามองศิลปะไม่ใช่แค่เป็นวรรณศิลป์ เรามองในแง่ของทางชีววิทยาและวิทยาศาสตร์ด้วย เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นนิทรรศการที่พูดถึงชาติพันธุ์หนึ่งก็แล้วกัน ที่เราให้ชื่อว่า อสูร หรือ อสุรา ในเบื้องแรกคำ ๆ นี้แปลว่า เทพเจ้า หรือผู้มีอำนาจเหนือกว่ามนุษย์ทั้งหลาย มันไม่ได้แปลว่าสิ่งชั่วร้าย หรือยักษ์ ดังนั้นแล้วคำ ๆ นี้มันเปลี่ยนไปตอนไหน?”

“คำถามนี้เป็นคำถามที่เราสนใจมาก ๆ เพราะมันกลับมาสู่คำถามว่า ใครเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ ผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้นอสูรก็เลยกลายเป็นตัวร้ายไปโดยปริยาย หลังจากนั้นจักรวาลทัศน์ หรือว่ามุมมองของจักรวาลของคนก็เปลี่ยนไป กลายเป็นว่าเทพเจ้าเป็นคนที่ต้องเคารพบูชา แล้วอสูรเป็นตัวที่อันตราย ต้องกำราบไว้อยู่ข้างล่าง”

ฮ่องเต้ กนต์ธร ASURA พิธีกรช่างประจำบ้าน

เมื่อจักรวาลถูกปกครองด้วยอสูร

“ถ้าเกิดว่าเคยเห็นไตรภูมิ หรือผังจักรวาลตามคติของไทยสมัยก่อน ที่มีเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง มีชั้นต่าง ๆ ไล่ลำดับลงมา หนึ่งในนั้นคือจตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นชั้นที่เทวราชทั้งสี่ หรือจตุโลกบาลอยู่ โดย 1 ใน 4 องค์ มีองค์หนึ่งเป็นอสูรด้วย องค์นั้นก็คือ ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร ซึ่งเป็นอสูร น่าแปลกดีที่ยุคหนึ่งอสูรเป็นอันตรายต่อจักรวาล เป็นศัตรูของเทพ แต่ทำไมยังมีอสูรที่นั่งเก้าอี้อยู่  ยังได้รับตำแหน่งนี้อยู่ เราก็มีความสงสัยตรงนี้ว่า ทำไมท้าวกุเวรจึงได้เป็นหนึ่งในจตุโลกบาล ชวนให้คิดว่าหรือเทวดาใช้อสูรเป็นชนวนสงคราม ใช้อสูรปราบอสูร เพราะฉะนั้นมันก็เลยกลายเป็นเรื่องการเมืองทั้งหมดเลย เรามองทุกอย่างเป็นเรื่องการปกครองและการเมือง”

ฮ่องเต้ กนต์ธร
ท้าวเวสสุวรรณ ที่ทำจากดินน้ำมันผสมขี้ผึ้ง นำมาลงสีและเคลือบด้วยเรซินเป็นขั้นตอนสุดท้าย
ฮ่องเต้ กนต์ธร ASURA พิธีกรช่างประจำบ้าน
ท้าวเวสสุวรรณ ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด 3 เวอร์ชั่น ไล่จากร่างง่าย ๆ อย่างภาพขวาสุด แล้วนำมาเป็นแบบในการปั้นหุ่น แล้วตบท้ายด้วยการวาดภาพหุ่นนั้นลงเป็นภาพสองมิติอีกครั้งตามภาพด้านซ้ายมือ

หากทศกัณฐ์ไม่ใช่อสูร แต่เป็นคน

“นิทรรศการนี้เราเลือกยักษ์ในรามเกียรติ์มาเป็นสารตั้งต้น เพราะเป็นยักษ์ที่ค่อนข้างเป็นที่รู้จัก อย่างทศกัณฐ์มี 10 หน้า 20 มือ ในที่นี้เรามองเป็นมนุษย์ได้ไหม ถ้าเกิดมนุษย์มีสิบหน้า น่าเกลียดแย่เลย เราไม่ได้คิดว่าทศกัณฐ์มีสิบหน้าจริง ๆ และเราก็ไม่ได้คิดว่ามี 20 มือจริง ๆ แต่เรามองในเชิงอุปมาเปรียบเทียบว่าเขามี 20 หน้า นั้นมันแปลว่าอะไร เช่น เป็นคนหลายขั้ว  เป็นคนที่มีหูตากว้างไกล หรือมีสปายสอดแนมอยู่ทุกที่รึเปล่า

“เพราะเราไม่เชื่อว่า อสูร คือตัวร้ายแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบที่รามเกียรติ์ต้องการให้เราเชื่อว่าทศกัณฐ์มีเมียเยอะ ไปเอาช้างมีลูกออกมามีงวง ไปเอาปลาก็ยังมีลูกออกมามีหางเหมือนปลา คือแบบ propaganda มาก ๆ ผมไม่เชื่อ ผมเชื่อว่าเขาคือ คน เป็นพระราชา ที่ต้องเก่งมาก ๆ ด้วย ไม่อย่างนั้นจะครอบครองดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดได้อย่างไร

“สุดท้ายคือถ้าเราไม่ได้มองคนที่ต่างจากเราว่าเป็นเผ่าพันธุ์อื่น แบบคุณไม่ได้มองวัยรุ่นเป็นสัตว์ประหลาด คุณไม่ได้มองศิลปินว่าเป็นตัวประหลาด ถ้าคนรู้หลักนี้ ปัญหาในสังคมก็น่าจะลดลงเยอะเลยนะ”

ตามไปพิสูจน์และทำความเข้าใจแก่นความคิดของเขาได้ที่นิทรรศการ และรอชมเอพิโสดต่อไปได้เลย แว่ว ๆ มาว่าจะเป็นซีรีส์ “ลิง” ที่เราเห็นกันให้ว่อนในกรุงลงกานั้นแล…

ฮ่องเต้ กนต์ธร ASURA พิธีกรช่างประจำบ้าน

ตามไปชมนิทรรศการ ASURA – อสูร ได้ที่โครงการ CU Art4C บริเวณชั้น 2 ตั้งแต่ วันนี้ – 9 ตุลาคม 2563


เรื่อง: ปลากริมไข่เต่า
ภาพ: นันทิยา, ฮ่องเต้

อ่านต่อ เมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี

เมื่อภาพถ่ายเปลี่ยนชีวิตพิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์แห่งราชเทวี

งานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวความคิดในมุมมองของตัวเองของ Untitled_29