โรงพยาบาลผู้สูงอายุ

โรงพยาบาลผู้สูงอายุ ที่ออกแบบสอดรับกับบริบทชายทะเล

โรงพยาบาลผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลผู้สูงอายุ

DESIGNER DIRECTORY

ออกแบบ : Dymaxion Studio Co., Ltd. และ Architects 110

โรงพยาบาลผู้สูงอายุ สถานพยาบาลกายภาพและบำบัดแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า “โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน” ก่อตั้งโดย สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ 35 ไร่ ริมถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล นอกจากจะทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลสำหรับบริการบุคคลทั่วไปแล้ว ยังเป็นโรงพยาบาลที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับการพักฟื้นของผู้สูงอายุ พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางการเเพทย์ที่ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการดูแลเเละให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักเวชศาสตร์

เมื่อกล่าวถึงโรงพยาบาล หลาย ๆ ท่านอาจนึกถึงสถานที่ที่เป็นอาคารซึ่งแน่นขนัดไปด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ กลิ่นยาคละคลุ้ง และบรรยากาศที่ตึงเครียด แต่สำหรับโรงพยาบาลแห่งนี้ได้มีการออกแบบให้สอดประสานไปกับบริบทลมทะเลของพื้นที่บางขุนเทียน เปิดรับธรรมชาติและสร้างพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อการหย่อนใจ เพื่อให้การมาโรงพยาบาลเหมือนการได้มาพักผ่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่พวกท่านจะได้เปลี่ยนบรรยากาศมาพบเจอคนวัยเดียวกัน ไม่ใช่การมาเพราะความป่วยไข้อีกต่อไป

รวมแนวทางการสร้าง “บ้านเพื่อผู้สูงอายุ”

ปัจจุบันจากการที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เราจึงพบเห็นการบริการ ผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับประชากรกลุ่มวัยดังกล่าว เช่นเดียวกับโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการเหล่านั้น นอกจากความพิเศษของงานออกแบบเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะแล้ว งานออกแบบสถาปัตยกรรมของโรงพยาบาลฯยังมีพิเศษไม่แพ้กัน เพราะได้คุณเหวิ่น – ปฤษฐ ชุมสาย ณ อยุธยา แห่ง Dymaxion Studio Co., Ltd. มารับหน้าที่ดูแลเเละรับช่วงต่อจากงานออกแบบของคุณพ่อ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยาศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ซึ่งท่านได้ร่างเเบบเอาไว้ โดยมี Architects 110 เป็นทีมออกแบบภายในผู้เชี่ยวชาญงานออกแบบโรงพยาบาล ซึ่งวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้มาพูดคุยกับคุณเหวิ่น และคุณวุฒิชัย วงษ์วานิช จาก Architects 110 ถึงแนวคิดและที่มาของการออกแบบโรงพยาบาลเพื่อผู้สูงอายุแห่งนี้

“โรงพยาบาลแห่งนี้ใช้ประโยชน์จากลมทะเลช่วยให้เกิดการระบายอากาศโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความปลอดโปร่งในโรงพยาบาล และการที่พื้นที่ป่าชายเลนนั้นเป็นพื้นที่น้ำท่วมอยู่แล้ว จึงออกแบบให้โรงพยาบาลตั้งอยู่บนผืนน้ำ ให้ตัวโรงพยาบาลทำหน้าที่เป็นแก้มลิงไปด้วยในตัว”

“โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลฯนี้ เริ่มมาจากได้มีคุณยายท่านหนึ่งบริจาคที่ดินให้กับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องใช้ประโยชน์จากที่ดินผืนนี้เพื่อสร้างเป็น โรงพยาบาลผู้สูงอายุ” คุณวุฒิชัยเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง ความจริงโครงการสร้างโรงพยาบาลผู้สูงอายุแห่งนี้ได้เริ่มออกแบบและศึกษาความเป็นไปได้ย้อนกลับไปได้กว่า 10 ปีที่แล้ว โดยในทีแรกนั้นตั้งใจว่าจะเป็นเพียงสถานพักฟื้นผู้สูงอายุขนาดประมาณ 35,000 ตารางเมตร เท่านั้น แต่ในภายหลังได้มีการขยายโครงการออกเป็น 150,000 ตารางเมตร รวมได้ถึง 300+100 เตียง เพื่อให้สามารถทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลของเขตบางขุนเทียนไปในคราวเดียวกัน

ความพิเศษของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนคือ การที่ตัวโรงพยาบาลตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนในเขตบางขุนเทียน บริบทของโรงพยาบาลจึงมีความเฉพาะตัว “ในตอนเเรกที่เริ่มโครงการคุณพ่อตั้งใจให้โรงพยาบาลนี้ใช้ประโยชน์จากลมทะเลโดยให้มีการระบายอากาศได้ดี  ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความเป็นโรงพยาบาล และการที่พื้นที่ป่าชายเลนนั้นเป็นพื้นที่น้ำท่วมอยู่แล้ว ถ้าโรงพยาบาลมีการถมที่จนขวางทางน้ำก็อาจจะทำให้น้ำไปท่วมพื้นที่โดยรอบได้ จึงออกแบบให้โรงพยาบาลตั้งอยู่บนผืนน้ำ เเละให้ตัวโรงพยาบาลทำหน้าที่เป็นแก้มลิงไปด้วย จากจุดนี้เองอาคารส่วนพักฟื้นจึงเป็นเหมือนกับเรือนแพ “

“ในส่วนของอาคารหลักได้วางผังเป็นรูปโค้งรับกับความที่เป็นเวิ้งน้ำ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็น Main Corridor เชื่อมต่อทุกส่วนของโรงพยาบาลเข้าไปด้วยกัน” คุณเหวิ่นเล่าให้เราฟังถึงงานออกแบบ Mass/Form ของโรงพยาบาลซึ่ง ดร.สุเมธ ได้เริ่มร่างแบบไว้ ก่อนที่คุณเหวิ่นจะมารับช่วงต่อเพื่อพัฒนาแบบของโรงพยาบาลจนกระทั่งแล้วเสร็จ

Mass ของอาคารแบ่งออกเป็น 3 ก้อน คือ อาคารโรงพยาบาลและศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นก้อนใหญ่ที่สุดวางตัวเป็นแนวโค้ง ถัดมาคือ อาคารหอพักผู้ป่วย และที่เห็นเป็นกลุ่มบ้านพักเล็ก ๆ ทรงจั่วนั่นคือ อาคารสถานพักฟื้นผู้สูงอายุ ทุกส่วนของอาคารมีการเชื่อมโยงกับผืนน้ำอยู่ตลอด และหนึ่งในอาคารที่โดดเด่นนอกจากอาคารสามก้อนหลักนั่นก็คือ หอพระ

“หอพระได้รับการทาสีด้วยสีส้ม สามารถมองเห็นได้จากทุกอาคาร ด้านหนึ่งเชื่อมเข้าสู่ Main Corridor ในขณะที่มีบันไดทอดจมลงไปในน้ำคล้ายท่าน้ำโบราณ สะท้อนวัฒนธรรมเเบบไทยและความเป็นโรงพยาบาล จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนไทยก็ยังต้องมีการไหว้พระขอพรกันอยู่ เพราะสุขภาพดีต้องมาพร้อมกับใจที่ดีด้วย” เมื่อเป็นวัฒนธรรมไทยแล้ว คุณเหวิ่นจึงตั้งใจออกแบบหอพระให้สามารถเห็นได้จากทุก ๆ จุดในโรงพยาบาล ให้เกิดความอุ่นใจแก่ผู้มาใช้บริการ

นอกจากผู้มาใช้บริการจะเป็นผู้สูงอายุและผู้ป่วยแล้วนั้น ผู้มาเยี่ยมและเฝ้าไข้ก็ได้รับการให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะยิ่งเป็นผู้ป่วยสูงอายุที่อาจจะต้องมาใช้เวลาเฝ้าไข้อยู่นานแล้ว การออกแบบโรงพยาบาลที่มีพื้นที่ให้คนเฝ้าไข้ซึ่งเป็นญาติของผู้ป่วยได้มีเวลาผ่อนคลายบ้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ

คุณเหวิ่นพยายามใส่พื้นที่สีเขียวลงไปในอาคารให้มากที่สุด ตั้งแต่พื้นที่ส่วนกลาง เช่น โถงกลางของโรงพยาบาล โดยเฉพาะส่วน Roof Top ที่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ Roof Garden สำหรับทั้งผู้มาเฝ้าไข้ได้ใช้ผ่อนคลาย และผู้สูงอายุได้มาเดินเล่นบำบัดไปพร้อมกัน

เมื่อถามถึงความแตกต่างของโรงพยาบาลผู้สูงอายุที่ไม่เหมือนกับโรงพยาบาลทั่วไปอย่างไรบ้าง ในส่วนนี้คุณวุฒิชัยได้อธิบายให้เราฟัง “เมื่อพูดว่าโรงพยาบาลแล้ว ก็ต้องรองรับผู้ป่วยสูงอายุได้อยู่แล้ว ตามการออกแบบที่เรียกว่า Universal Design แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลผู้สูงอายุจะต้องมีแผนกที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มเติมลงไป เช่น แผนกที่ว่าด้วยระบบประสาท การมองเห็น กล้ามเนื้อ อะไรที่ผู้สูงอายุจะต้องเข้ามาตรวจสุขภาพกัน”

“แต่สิ่งที่ต่างไปก็น่าจะเป็นเรื่องของผังภายในบางจุด เช่น ในแต่ละแผนกนั้นเราตั้งใจออกแบบให้เป็นผังวงกลมที่สามารถเดินวนได้ เผื่อไว้ในกรณีที่ผู้มาใช้บริการเริ่มมีปัญหาด้านความจำ ผู้ป่วยผู้สูงอายุจะได้ไม่เดินหายไปไหน ให้เดินวนอยู่ภายในแผนกนี้เท่านั้น  ซึ่งเราต้องคำนึงถึงอะไรแบบนี้เพิ่มเติมด้วย ส่วนหนึ่งเพราะว่าผู้สูงอายุหลายคนที่จะมาใช้บริการก็ไม่ใช้ผู้ป่วย แต่อาจจะเป็นผู้มาตรวจสุขภาพ ผู้มาทำกายภาพบำบัด เราจะไปจัดการให้หมดทุกเรื่องเขาก็ไม่ชอบ เราเพียงแต่ต้องเตรียมสถานที่และอุปกรณ์เอาไว้ให้เขาดูแลตัวเองได้เท่านั้น”

“นอกจากนี้ในอนาคตคนที่ไม่แต่งงาน หรือผู้สูงอายุจะต้องมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ สิ่งที่จะเข้ามารองรับคือ Health Center ซึ่งจะมีมากขึ้น ประจวบกับการที่วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป ค่านิยมที่ลูกหลานจะต้องคอยดูแลพ่อแม่เริ่มลดลง ปัจจุบันการจัดสรรบริการสำหรับช่วยดูแลพ่อแม่นับเป็นบริการที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่น บริการพยาบาลดูแล หรือการพาไปสถานพยาบาลจำพวก Old People House ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดูแย่ หากคิดถึงลูกก็วิดีโอคอลคุยกันได้ แต่ถ้ามาใช้บริการที่แบบนี้ กิจวัตรของพวกเขาก็จะได้เจอผู้คนที่อยู่ในวัยเดียวกัน และมีกิจกรรมร่วมกันก็อาจจะมีความสุขกว่าในอีกรูปแบบหนึ่ง”

นี่คือสิ่งที่คุณเหวิ่นบอกกับเรา เมื่อถามถึงทิศทางของสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ที่จะมาถึง ซึ่งเราเห็นด้วยอย่างยิ่ง เเละสำหรับโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน นอกจากจะมีการเปิดบริการให้ผู้ป่วยนอกซึ่งอยู่ในส่วนอาคารชั่วคราวด้านหน้า ในส่วนของอาคารสถานพักฟื้นผู้สูงอายุจะเริ่มเปิดบริการในช่วงเดือนเมษายนนี้ สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร www.facebook.com/โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน

เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ออกแบบ : Dymaxion Studio Co., Ltd. และ Architects 110
ภาพ : Peerapat Wimolrungkarat