LUK HOSTEL ส่วนผสมระหว่างสำเพ็งพลาซาและไชน่าทาวน์

จากตึกสำเพ็งพลาซาสู่ LUK HOSTEL โฮสเทลน้องใหม่ใจกลางไชน่าทาวน์ ที่นอกจากจะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็กเกอร์แล้ว ที่นี่ยังเป็นที่ซ่อนตัวของบาร์ลับที่เชื้อเชิญให้เหล่า Bar Hopper มาสัมผัสบรรยากาศบนชั้นดาดฟ้า ผ่านการรีโนเวตอาคารพาณิชย์เก่าแก่ในตรอกร้านค้าย่านสำเพ็งได้อย่างสะดุดตาทว่ากลมกลืน

หลังจากความสำเร็จของ Once Again Hostel โฮสเทลคนรุ่นใหม่ที่ทำงานร่วมกับชุมชนในย่านกรุงเก่า ทำให้คุณมิค ภัททกร ธนสารอักษร และคุณศา ศานนท์ หวังสร้างบุญ ร่วมกับหุ้นส่วน คุณธรณ์เทพ เตือนวชาติ ลุกขึ้นมาต่อยอดธุรกิจโดยยังคงคอนเซ็ปต์ในการเชื่อมโยงบริบทชุมชนสู่ดีไซน์และฟังก์ชันภายในไปจนไปถึงเมนูอาหารที่ลงพื้นที่ตามหาวัตถุดิบเอกลักษณ์ของย่านไชน่าทาวน์มาสร้างสรรค์เกิดเป็นเมนูใหม่ ๆ  ภายใต้ชื่อ ‘LUK(ลุก) Hostel’ ที่มีความหมายตรงไปตรงมาถึงการชวนกันลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ ๆ ด้วยพื้นที่กว่า 1,020 ตารางเมตร ให้บริการได้ถึง 84 เตียงในห้องแบบ DORM และอีก 6 ห้อง PRIVATE ออกแบบโดยทีมสถาปนิกจาก TIDTANG STUDIO ผู้ที่เคยร่วมงานกันในโปรเจ็กต์ Once Again Hostel มาแล้ว

ภายในห้อง PRIVATE ตกแต่งอย่างเรียบง่าย ด้วยผนังปูนเปลือยและกระเบื้องลายจีนที่ผนังหัวเตียง เพิ่มความอุ่นให้ภายในห้องด้วยเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินไม้

‘สีแดง’ นอกจากจะเป็นสีที่สะดุดตาและจดจำได้ง่ายแล้ว ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของความสุขและความโชคดีของชาวจีน สถาปนิกจึงเลือกมาเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่องเพื่อดึงเอาบริบทไชน่าทาวน์อันเป็นที่ตั้งของโฮสเทล สู่ตีมสีหลักในการออกแบบควบคู่กับองค์ประกอบสถาปัตยกรรมจีนที่ลดทอนให้โมเดิร์นขึ้นอย่าง เส้นสายของชั้นเหล็กดำ และลดความคอนทราสของสีในสเปซด้วยการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ เชื่อมโยงบรรยากาศทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน

การใช้สีแดงและวัสดุโครงเหล็กจากพื้นที่ส่วนกลางยังคงไหลเข้ามาในห้องพักแบบ Dorm เพิ่มดีเทลให้ใต้เตียงด้วยการทำช่องสำหรับเก็บกระเป๋า โดยคงพื้นเก่าที่เป็นหินอ่อนสีเทาไว้เช่นเดิมจากตอนที่ตึกยังเป็นสำเพ็งพลาซา

ด้วยความที่ตรอกสำเพ็งถือเป็นย่านการค้าที่คึกคักแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน  สถาปนิกจึงสร้างความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมด้วยการจัดสรรพื้นที่ชั้น 1 และชั้น 2 ให้เป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับค้าขายและเป็นพื้นที่โล่งเผื่อปรับเปลี่ยนหรือต่อยอดธุรกิจในอนาคต โดยเข้าสู่ส่วนต้อนรับด้วยลิฟท์ที่วิ่งตรงจากชั้น 1 ขึ้นสู่ล็อบบี้บริเวณชั้น 5 โดยสร้างบรรยากาศให้เหมือนอยู่ในร้านขายยาจีนด้วยการดีไซน์ลิ้นชักตู้ยาเต็มผนังทั้งสองฝั่ง และเชื่อมเข้าสู่โถงบันไดทางเข้าห้องพักทั้ง 3 ชั้น โดยมีไฮไลต์อยู่ที่คอร์ตเปิดโล่งกลางสเปซตั้งแต่ฝ้าชั้น 1 ไปถึงพื้นชั้นดาดฟ้าซึ่งเปิดเป็นสกายไลท์ นอกจากจะได้รับแสงธรรมชาติในเวลากลางวันแล้ว ยังสร้างมุมมองถึงกันระหว่างดาดฟ้าชั้นบนและพื้นที่คอร์ริดอร์ในทุกชั้น ซึ่งเป็นการเชื่อมบรรยากาศพื้นที่ส่วนกลางในแต่ละชั้นเข้าหากัน อันเป็นจุดประสงค์หลักของโฮสเทลที่ต้องการให้ผู้เข้าพักได้รับทั้งความเป็นส่วนตัว และการปฏิสัมพันธ์อันเป็นผลจากสถาปัตยกรรมนั่นเอง

คอร์ตกลางเปิดโล่งจากฝ้าชั้น1 จนถึงพื้นกระจกชั้นดาดฟ้า ช่วยนำแสงธรรมชาติเข้าสู่อาคาร เพิ่มมิติให้คอร์ตด้วยการห้อยโคมไฟตกแต่งในระดับที่ลดหลั่นกันไปมาช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับผนังปูนเปลือยภายในโฮสเทล
มุมมองผ่านพื้นกระจกชั้นดาดฟ้าที่สามารถมองทะลุลงสู่คอร์ตกลางบริเวณคอร์ริดอร์ทางเดินเข้าห้องพักได้อย่างชัดเจน

ในการออกแบบพื้นที่ต้อนรับให้อยู่บริเวณชั้น 5 นอกจากแขกที่เข้าพักจะได้รับความเป็นส่วนตัวจากตรอกค้าขายเส้นหลักของสำเพ็งแล้ว ยังเชื่อมต่อสู่พื้นที่ส่วนกลางบนดาดฟ้าชั้น 6 ซึ่งรวมสิ่งอำนวยความสะดวกหลักของโฮสเทลไว้แทบจะทั้งหมด รวมถึง RISE  BAR บาร์อาหารและเครื่องดื่มสูตรพิเศษที่ให้บริการกับแขกทั้งในและนอกโฮสเทล โดยจะเปิดให้บริการเป็นคาเฟ่ในเวลากลางวัน และได้สัมผัสกับบรรยากาศรูฟท็อปบาร์ร่วมสมัยที่ยังคงกลิ่นอายไชน่าทาวน์ในเวลากลางคืน ด้วยการออกแบบต่อเติมพื้นที่ดาดฟ้าเดิมให้เป็นเหมือนเรือนกระจกขนาดย่อมและพื้นที่เอ๊าต์ดอร์ที่สามารถจัดปาร์ตี้เล็ก ๆ บนดาดฟ้าได้อย่างสบาย ๆ แต่ยังคงให้ความสำคัญกับแขกโฮสเทลโดยมีพื้นที่บาร์นั่งเล่นที่แยกออกจากแขกภายนอกเพื่อความเป็นส่วนตัวอยู่เช่นเดิม

เมื่อออกจากลิฟต์ชั้น 5 จะพบกับล็อบบี้ที่เป็นดับเบิลสเปซ เปิดโล่งเชื่อมต่อกับชั้นดาดฟ้าด้านบน ได้แรงบันดาลใจมากจากคาแร็กเตอร์ร้านยาจีน หน้าบานลิ้นชักสีเทาที่เรียงเต็มผืนผนังช่วยขับให้ฉากหลังสีแดงดูเด่น และเพิ่มกิมมิกด้วยเส้นสายกราฟิกของโลโก้ของโฮสเทลที่ทำจากโครงเหล็กสีดำฟลิบขึ้นลงจนสุดราวกันตกของชั้นบน
สร้างความกลมกลืนระหว่างผนังกั้นห้องน้ำและล็อบบี้ด้วยการทำดีเทลซ่อนประตูห้องน้ำไว้ให้เนียนไปกับแผงลิ้นชักด้านหน้า
แบ่งพื้นที่การใช้งานในห้องน้ำอย่างเป็นสัดส่วน ตกแต่งด้วยกระเบื้องเซรามิกสีแดงตัดกับโทนสีเทาเข้มของกระเบื้องปูพื้นและหินดำ
เชื่อมบรรยากาศผ่านกระจกใสระหว่างบาร์นั่งเล่นสำหรับแขกในโฮสเทลและพื้นที่ภายในเรือนกระจกที่เปิดให้บริการทั้งคนในและนอกโฮสเทลให้สามารถมองเห็นกันได้ทั้งหมด เชื่อมออกสู่ RISE BAR โดยมีกระจกโค้ทสีแดง และชั้นวางเหล็กดำเป็นตัวนำสายตาจากภายในสู่ภายนอก
ใช้วัสดุโปร่งใสบนบริเวณหลังคาเรือนกระจกในบางช่วง เพื่อเปิดรับแสงจากภายนอกในเวลากลางวัน ทั้งยังทำให้แสงส่องทะลุผ่านพื้นกระจกที่เป็นสกายไลท์ของตึกเดิมลงสู่พื้นที่คอร์ตด้านล่างอีกด้วย
ผนังอิฐช่องลมทรงเหลี่ยมช่วยเพิ่มมูดความจีนให้กับพื้นที่ภายในเรือนกระจก อยู่ร่วมกับเฟอร์นิเจอร์ไม้สีเข้มและต้นไม้ในสเปซยังช่วยทำให้บรรยากาศภายในดูอุ่นตาน่านั่งเล่นมากขึ้น
ทอนองค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์เอ๊าต์ดอร์ให้เหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตแต่ยังคงให้กลิ่นอายความจีนด้วยสัดส่วนและวิธีการใช้งาน
เพิ่มดีเทลให้ผนังในบาร์ด้วยการจัดวางจังหวะองค์ประกอบของชั้นเหล็กสีดำที่ตัดกับกระจกโค้ทสีแดงด้วยขนาดเส้นตั้งของโครงเหล็กกล่องและเส้นนอนของแผ่นเหล็กให้มีความหนาแตกต่างกัน
นอกจากความโปร่งที่เป็นคุณสมบัติหลักของบล็อกช่องลมแล้ว การนำเอาอิฐช่องลมมาเรียงต่อกันบนผนังทึบอีกชั้นก็ช่วยเพิ่มมิติให้ผนังทึบตันดูน่าสนใจยิ่งขึ้นเช่นกัน

LUK HOSTEL เป็นส่วนหนึ่งใน 100 BEST DESIGN SMALL HOTELS & HOSTELS หนังสือ 100 BEST DESIGN SERIES ฉบับที่ 2 ที่รวบรวมไอเดียที่พักไซส์เล็กสำหรับนักท่องโลก และคนฝันอยากมีธุรกิจโรงแรมเอาไว้แบบเต็มอิ่ม พบกับ 100 ที่พักดีไซน์เด็ด พร้อมคู่มือการออกแบบโรงแรมในฝันของคุณได้เร็ว ๆ นี้

room 100 BEST DESIGN SMALL HOTELS & HOSTELS

  • พิเศษ ลด 15% เมื่อสั่งจองล่วงหน้าทางออนไลน์ 
    จากปกติ 495 บาท เหลือเพียง 420 บาท 
    สั่งจองได้ที่ https://www.facebook.com/commerce/products/2408989372550699/  
    หรือ http://m.me/roomfan 
    วันนี้ ถึง 10 ตุลาคม 2562 เท่านั้น 
    เริ่มจัดส่งวันที่ 18 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

เรื่อง วรรณลีลา
ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
ออกแบบ TIDTANG STUDIO

โรงแรมเปิดใหม่ ปี 2019
สำรวจที่พัก โรงแรม และรีสอร์ตเปิดใหม่เหนือจรดใต้ จากฝีมือสถาปนิกไทย