ผลงานศิลปะในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

จัดเต็ม Checklist! 30 งานศิลป์ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ชอบแนวไหน ไปชมเลย (พร้อมแผนที่)

ผลงานศิลปะในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018) เปิดตัวไปแล้วอย่างงดงาม เมืองกรุงเทพฯ ตอนนี้เต็มไปด้วยสีสันแห่งงานศิลปะ เรียกได้ว่า สุขสะพรั่งพลังอาร์ต กันไปทั่วหน้า ด้วยงานศิลปะมากกว่า 200 ชิ้น จาก 75 ศิลปินทั่วโลก 34 ประเทศ

ด้วยความที่มีงานศิลปะมีให้เลือกชมมากมายหลากหลาย ทั่วสถานที่สำคัญ 20 แห่งในกรุงเทพฯ หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มชมจากงานชิ้นไหนดี วันนี้ baanlaesuan.com ของนำเสนอ checklist 30 ผลงานศิลปะ ในบางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ที่มิควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ผลงานศิลปะ ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Basket Tower โดย ชเว จอง ฮวา | เครดิตภาพ เมธี สมานทอง

ชิ้นที่ 1.  Basket Tower

สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) (ชั้น 1-5)

ศิลปิน: ชเว จอง ฮวา

ผลงานประติมากรรมที่ทำจากตระกร้าพลาสติก 5 ชั้น โดย ศิลปินอารมณ์ดีชาวเกาหลีใต้  ชเว จอง ฮวา (CHOI JEONG HWA) 1 ใน 6 ศิลปินที่ไม่ควรพลาด  ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 “Your heart is My art” หรือ “หัวใจของคุณคืองานศิลปะของผม” คือคติประจำในในการทำงานของเขา หากใครชื่นชอบผลงานประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่ ที่มีสีสันสดใส หรือ รูปทรงแปลกตา ในเทศกาลครั้งมีผลงานของ ชเว กระจายอยู่ทั่วกรุงเทพ ทั้ง บ้านปาร์คนายเลิศ และ ห้างสรรพสินค้าต่างๆในย่านสยามสแควร์-ชิดลม-ราชประสงค์ ซึ่งท่านชมภาพผลงานอื่นๆที่จะมาจัดแสดงใน งานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ครั้งนี้ได้ที่นี่

ผลงาน Rekayasa Genetika (REGEN) ของ เฮริ โดโน
ผลงาน Rekayasa Genetika (REGEN) ของ เฮริ โดโน | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ผลงาน Rekayasa Genetika (REGEN) ของ เฮริ โดโน | เครดิตภาพ สิงหนาท นาตพงศ์พันธุ์
ผลงาน Rekayasa Genetika (REGEN) ของ เฮริ โดโน | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ชิ้นที่ 2  Rekayasa Genetika (REGEN)

สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) (ชั้น 7)

ศิลปิน:  เฮริ โดโน

ผลงานประติมากรรมหน้าตาสุดแปลกของ เฮริ โดโน (Heri Dono) ศิลปินชาวอินโดนีเซีย ที่นำเสนอตุ๊กตาหุ่นเชิดร่างมนุษย์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมใหม่ที่หุ้มห่มด้วยเครื่องจักรกล ขานำแรงบันดาลใจมาจาก Wayang (Indonesian shadow puppets) หรือ ศิลปะการเชิดหุ่นพื้นบ้านของอินโดนเซีย คล้ายกับหนังตะลุงของประเทศไทย โดยประติมากรรมขนาดย่อมชิ้นนี้ประกอบร่างขึ้นจากวัสดุหลากหลายทั้ง ไฟเบอร์กลาส, ไม้, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิก และ พัดใบ ซึ่งมีกลไกแฝงอยู่ภายใน ซึ่งนอกจากมนุษย์กลายพันธุ์เหล่านี้แล้ว เฮริ ยังได้นำกองทัพนางฟ้ามาจัดแสดงที่อาคารอีสต์ เอเชียติก และ โรงแรม The Peninsula Bangkok

ผลงานศิลปะ Tape Bangkok 2018 (อุโมงค์เทปกาว) ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Tape Bangkok 2018 (อุโมงค์เทปกาว) โดย Numen/For Use Collective Design | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผลงานศิลปะ Tape Bangkok 2018 (อุโมงค์เทปกาว) ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Tape Bangkok 2018 (อุโมงค์เทปกาว) โดย Numen/For Use Collective Design | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 3 Tape Bangkok 2018 (อุโมงค์เทปกาว)

สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) (ชั้น 7)

ศิลปิน: Numen/For Use Collective Design

ผลงานที่สร้างชื่อให้กับ Numen/For Use Collective Design (Numen) ศิลปินและนักออกแบบจากเบอร์ลิน ประเทศ เยอรมัน ที่ได้เคยนำเทปกาวมาแปะติดแปะต่อกันจนยาวยืดเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าไป ปืนป่าย ภายในได้อย่างสบายๆ  โดย Numen เคยสร้างผลงานลักษณะนี้ที่ เมืองใหญ่ๆมาแล้ว อาทิ แฟร้งค์เฟิร์ต ปารีส รัฐโอไฮโอซึ่งคราวนี้ก็ถึงคิวของ กรุงเทพ ประเทศไทยแล้ว ถ้าใครแล้วเข้าไปแล้วกลัวหาทางออกไม่เจอแนะนำให้พาเพื่อนไปด้วย ไปช่วยกันหลง…หลงรักในความงานของศิลปะจากวัสดุสุดแปลกเช่นนี้)

ผลงานศิลปะการแสดงสดในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะการแสดงสดของ Yiannis Pappas ศิลปินจากประเทศกรีซ | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผลงานศิลปะการแสดงสดในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะการแสดงสดของ ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ ศิลปินจากประเทศไทย | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผลงานศิลปะการแสดงสดในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะการแสดงสดของ Lin Htet ศิลปินจากประเทศเมียนมา | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 4  A Possible Island

สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 8

ศิลปิน: สถาบันศิลปะ Marina Abramović Institute (MAI)

ในเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 นี้ ชั้น 8 ของ BACC ได้ถูกแปรสภาพกลายเป็น “เกาะแห่งความเป็นไปได้?” หรือ A Possible Island? ที่ศิษย์เอก 8 คน ของ มารีนา อบราโมวิช จะมาโชว์ศิลปะการแสดงสดแบบต่อเนื่องตั้งแต่ แบบไม่มีพัก อย่างเช่นผลงานเช่นผลงานของศิลปินชาวเมียนม่า Lin Htet ที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในโครงสร้างปิดที่ทำจากลวดหน้าและเศษไม้ เพื่อแสดงถึงการต่อต้านและความทรมานที่ชาวโรฮีนจาได้พบเจอ ซึ่งตลอดการแสดงตัวเขาได้ให้สัมภาษณ์กับ baanlaesuan.com ว่า นอกจากผมจะทำให้ผู้ที่มาชมได้เห็นภาพและเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของชาวโรฮีนจาแล้ว ผมจะแผ่เมตตา และ ส่งพลังบวกให้กับผู้ที่ลี้ภัยซึ่งกำลังถูกกักขังซึ่งมีชะตาชีวิตที่อยากลำบาก โดย มารีนา อบราโมวิช ได้กล่าวถึงผลงานนี่้ว่า ทันทีที่เธอได้เห็น น้ำตาของเธอก็ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว

นอกจากนิทรรศการ A Possible Island? แล้วทุกท่านยังสามารถเข้าไปเรียนรู้วิถีการทำงานแห่งมารีนา อบราโมวิช ได้ด้วยตัวท่านเองกับกิจกรรม The Method ที่ชั้น 8 เช่นกัน โดยทั้งสองกิจกรรมนี้จะเปิดให้ทุกท่านเข้ามาสัมผัสตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง วันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งสามารถไปชมได้ทุก วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 12.00 – 20.00 น.

ผลงานศิลปะ Shelter from the Stars ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Shelter from the Stars โดย Marc Schmitz | เครดิตภาพ ศุภกร ศรีสกุล

ชิ้นที่ 5 Shelter from the Stars 2018

สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ด้านหน้า

ศิลปิน:  Marc Schmitz

ศิลปินและภัณฑารักษ์มากความสามารถชาวเยอรมัน ผู้สร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมขนาดใหญ่กว้างถึง 5 เมตรชิ้นนี้ โดยเขาคิดว่า พื้นที่ว่าง เปล่าสามารถมอบประสบการณ์ที่เราหาไม่ได้ในการ ใช้ชีวิตในเมือง เป็นที่กําบังให้เราพ้นจากความเสื่อมโทรม ความวุ่นวาย และจิตใจที่หม่นหมอง มองขึ้น ไปบนฟ้า และ หยุดการทําร้ายซึ่งกันและกันไว้สักพัก นอกจากนี้บริเวณชั้น ทางเดินชั้น 8 ของ BACC จะมีผลงานหลอดไฟนีออน “We look after your Sex ที่วิพากษ์วัฒนธรรมบริโภคนิยม ซึ่งวลี ที่ว่านี้พ้องกันดีกับคําไทยที่ว่า ถ้าไม่มีเงิน ก็อย่าหวังว่า จะมีหญิง!

ผลงานศิลปะ ฟักทองสีแดงลายจุดดำ  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Red Pumpkin) ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ ฟักทองสีแดงลายจุดดำ  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Red Pumpkin) โดย ยาโยอิ คุซามะ | เครดิตภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

ชิ้นที่ 6. ฟักทองสีแดงลายจุดดำ  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Red Pumpkin)

สถานที่: สยามพารากอน (ชั้น 1 บริเวณ Fashion Gallery 3)

ผลงานศิลปะ ฟักทองสีเงินพื้นผิวสไตล์งานโมเสก  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Silver Pumpkin) ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ ฟักทองสีเงินพื้นผิวสไตล์งานโมเสก  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Silver Pumpkin) โดย ยาโยอิ คุซามะ | เครดิตภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

ชิ้นที่ 7. ฟักทองสีเงินพื้นผิวสไตล์งานโมเสก  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Silver Pumpkin)

สถานที่: สยามพารากอน (ชั้น 1 บริเวณ Fashion Gallery 3)

ผลงานศิลปะ ฟักทองเป่าลม “Inflatable Pumpkins Balloons ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ ฟักทองเป่าลม “Inflatable Pumpkins Balloons | เครดิตภาพ เมธี สมานทอง
ผลงานศิลปะ ฟักทองเป่าลม “Inflatable Pumpkins Balloons ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ ฟักทองเป่าลม “Inflatable Pumpkins Balloons | เครดิตภาพ เมธี สมานทอง

ชิ้นที่ 8. ฟักทองเป่าลม “Inflatable Pumpkins Balloons

สถาน: เซ็นทรัลเวิลด์

ต้องบอกได้เลยว่าผลงานสามชิ้นนี้เป็นงานที่ถูกจับตามองมากที่สุดงานหนึ่งในเทศกาลบางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ผลงานของ ยาโยอิ คุซามะ ศิลปินระดับโลก ที่ปีที่แล้ว ชาวไทยต่างเสียเงินข้ามน้ำข้ามทะเลไปชมกันถึงที่สิงค์โปร แต่วันนี้ ผลงานของเธอมาอยู่ที่หน้าบ้านเราแล้ว ดังนั้นอย่าพลาดโอกาสครั้งสำคัญนี้ ติดตามเรืองราวของ เจ้าแม่ลายจุด ยาโยอิ คุซามะ เพิ่มเติมได้ที่นี่

“ฉันรักฟักทอง เพราะรูปทรงของมันดูตลกดี และ ยังให้ความรู้สึก อบอุ่น และ มีลักษณะคล้ายมนุษย์ ความตั้งใจของฉันที่อยากจะทำงานชุดฟักทองจะยังคงมีอยู่ต่อไป มันเป็นความรู้สึกกระตือรือร้นราวกับว่าฉันยังเป็นแค่เด็กน้อยคนหนึ่ง”

ยาโยอิ คุซามะ

ผลงาน Mamuang for BAB 2018
ผลงาน Mamuang for BAB 2018 โดย วิศุทธิ์ พรนิมิตร | เครดิตภาพ Image Courtesy to the Artist
ผลงาน Mamuang for BAB 2018
ผลงาน Mamuang for BAB 2018 โดย วิศุทธิ์ พรนิมิตร | เครดิตภาพ Image Courtesy to the Artist

ชิ้นที่ 9. Mamuang for BAB 2018

สถานที่: สยามสแควร์วัน , สยามพารากอน,  เซ็นทรัลเวิลด์ และ ดิ เอ็มควอเทียร์

ศิลปิน: วิศุทธิ์ พรนิมิตร

ตั้ม วิศุทธิ์ พรนิมิตร ศิลปิน ผู้สร้างสรรค์ปกนิตยสารบ้านและสวนฉบับพิเศษ ครบรอบ 42 ปี ในเดือนกันยายน 2561 และ ผู้ให้กำเนิดคาแรคเตอร์สุดน่ารัก เด็กหญิงมะม่วง สำหรับงานนี้ ตั้ม วิศุทธิ์ จะพามะม่วงพร้อมเพื่อนสี่ขา มะนาว มาโลดแล่นในรูปแบบของการ์ตูนแอนนิเมชั่น 10 เวอร์ชั่น โดยทุกท่านสามารถไปชมผลงานของตั้ม วิศุทธิ์ ได้ตามที่ต่างในกรุงเทพ ได้แก่ สยามสแควร์วัน , สยามพารากอน,  เซ็นทรัลเวิลด์ และ ดิ เอ็มควอเทียร์ ใครเป็นสายแบ้วชื่นชอบความน่ารักสดใสไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

ผลงานศิลปะ Your Dog ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Your Dog โดย โยชิโตโมะ นาระ | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 10 Your Dog

สถานที่: BAB Box @ One Bangkok

ศิลปิน: โยชิโตโมะ นาระ

ศิลปินชาวญี่ปุ่นระดับโลก เจ้าของคาแร็คเตอร์ “เด็กผู้หญิงหน้างอ” ที่แสดงอารมณ์ทางสีหน้าชัดเจน การใช้ลายเส้นแบบ การ์ตูนเด็ก ทําให้ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักและแพร่ หลายไปทั่วโลก และผู้ชมก็มักประเมินและชื่นชอบ ผลงานของเขาในฐานะศิลปะ Pop Art เพราะคาแร็คเตอร์ที่น่ารัก  ซึ่ง ในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ ประติมากรรมอลูมิเนียมสีขาว Your Dog เจ้าหมาน้อยตัวใหญ่ที่สูงถึง 4.5 เมตร จะมายืนให้ทุกท่านได้ถ่ายรูปอย่างใกล้ชิดที่ BAB Box @ One Bangkok นอกจากนี้ยังจะมีผลงานประติมากรรมสัมฤทธิ์ “Miss Forest” ที่สะท้อนความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณและนางไม้ที่คอยปกปักรักษา ธรรมชาติและป่าไม้ จะจัดแสดงที่ Nai Lert Park Heritage Home

 

ผลงานศิลปะ Animal Kingdom ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Animal Kingdom โดย จานัน| เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 11:  Animal Kingdom

สถานที่: BAB Box @ One Bangkok

ศิลปิน: จานัน

จานัน หนึ่งในศิลปินหญิงที่น่าจับตามอง ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 จานัน ได้เปลี่ยนโถงกลางของBAB Box @ One Bangkok ให้กลายเป็นอาณาจักรสวนสัตว์ของเธอ “Animal Kingdom” ผลงานศิลปะจัดวางแบบเจาะจงพื้นที่ (Site Specific Installation)แดนสวรรค์ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยตุ๊กตาสัตว์ในเทพนิยาย อย่างเช่น มังกร นกฟินิกซ์ และงู ขนาดใหญ่สีสันสดใส ที่สร้างจากวัสดุหลากหลายชนิด อาทิ ผ้าเลื่อม เชือก ไฟเบอร์ ฯลฯ มาประกอบกันเป็นพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมตื่นเต้นไปกับบรรดาสัตว์มากมายที่ออกมาโลดโผนโบยบินภายใต้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว

ผลงานศิลปะ The Adventure of Sinxay ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ The Adventure of Sinxay โดยกลุ่มฮูปแต้ม ลาว-ไทย | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 12 ‘The Adventure of Sinxay’

สถานที่: BAB Box @ One Bangkok

ศิลปิน: กลุ่มฮูปแต้ม ลาว-ไทย

พบกับงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ สีสันสดใส ที่มีความยาวต่อเนื่องเกือบ 4 เมตร จาก ฮูปแต้ม ลาว-ไทย กลุ่มจิตกรที่เกิดจากการรวมตัวกันของจิตรกรจากภาคอีสานของประเทศไทยและ ประเทศลาว เพื่อทํางานศิลปะโบราณ อย่าง ฮูปแต้ม ที่ได้แรงบันดาลใจจากมหากาพย์ใน วัฒนธรรมลาวเรื่องสังศิลป์ชัย อันเป็นวรรณกรรม พื้นถิ่นที่ว่าด้วยเรื่องราวการทําความดีและความ กล้าหาญของหนุ่มวัยรุ่นที่ออกเดินทางเพื่อไปช่วย เหลือนางสุมณฑาผู้เป็นน้าที่ถูกยักษ์กุมภัณฑ์ลักพา ตัวไป การเล่าเรื่องของ สังศิลป์ชัยมีความเชื่อมโยง กับคําสอนทางพุทธศาสนา ภูมิปัญญาและคติพื้น บ้าน สําหรับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กลุ่มฮูปแต้ม จะทําการตีความการเดินทางของสัง ศิลป์ชัยขึ้นใหม่ นับตั้งแต่เริ่มออกจากเวียงจันทน์ ข้ามแม่น้ําโขงมายังกรุงเทพฯ ที่เขาจะต้องเผชิญ หน้ากับเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ ปีศาจ และกองทัพทหาร ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีของสื่อสังคมออนไลน์

ผลงานศิลปะ Standing Structures : Transitory Objects for Human Use Series ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Standing Structures โดย มารีนา อบราโมวิช | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 13 Standing Structures” : Transitory Objects for Human Use Series

สถานที่: BAB Box @ One Bangkok

ศิลปิน: มารีนา อบราโมวิช

ผลงานของเจ้าแม่ของศิลปะการแสดงสดของโลก มารีนา อบราโมวิช ในเทศกาลครั้งนี้ ทุกท่านจะได้สมผัสกับชุดผลงานใหม่ล่าสุดเธอที่ชื่อว่า Transitory Objects for Human Use ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของเธอที่เริ่มเบนความสนใจจากการสร้างงานที่สะท้อนถึง ความวุ่นวายในจิตใจ และ ความเจ็บปวดทรมานทางกาย เข้าสู่เส้นทางแห่งความ สงบสุข เงียบสงบ และ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมนุษย์ ผลงาน “Standing Structures”  ที่มีลักษณะเป็นโครงไม้ที่คนขึ้นไปยืนได้ จะทำให้ทุกท่านได้ลองสื่อสาร และ ส่งพลังระหว่างกันแบบไร้เสียง โดยแต่ละโครงจะมีคริสตัล ที่มารีนาเดินทางไปเลือกแต่ละชิ้นด้วยตัวเองที่เหมืองแร่ในประเทศบราซิล โดยเธอกล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ตอนที่นำไปแสดงในงาน เวนิส เบียนนาเล่ 2017 ปีที่แล้วดังนี้

“ปกติแล้วฉันจะสร้างงานศิลปะแสดงสดเอง และสื่อพลังภายในออกไปสู่ผู้ชม ในผลงานนี้ ฉันอยากจะสร้างเครื่องมือขึ้นมาสักชิ้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำหรับคนมาชมงาน ให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมสร้าง พลังภายในแห่ง ศิลปะการแสดงสดได้ในแบบฉบับของตัวเอง”

ผลงานงาน Wa3710 ‘Inverso Mundus' ของ AES+F เครดิตภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผลงานงาน Wa3710 ‘Inverso Mundus โดย AES+F | เครดิตภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 14 Wa3710 ‘Inverso Mundus (The World Upside Down)

สถานที่: BAB Box @ One Bangkok

ศิลปิน: AES+F

AES+F กลุ่มศิลปินจากสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งทํางานศิลปะ ในสื่อหลากหลายตั้งแต่ภาพถ่ายวิดีโอ แอนิเมชั่น ไปจนถึง จิตรกรรม ศิลปะสื่อแสดงสด และศิลปะจัดวาง และ เป็นกลุ่มศิลปินที่มีประสบการณ์แสดงงานในเทศกาล ศิลปะมามากมาย โดยได้เป็นตัวแทนของประเทศ รัสเซียในงาน Venice Biennale ถึง 3 ปี ติดต่อกัน สําหรับ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ศิลปินกลุ่มนี้จะพาทุกท่านเข้าสู่  Wa3710 ‘Inverso Mundus’ (The World Upside Down) โลกสมมติที่ทุกอย่างตรงกันข้ามกับโลกแห่งความจริง เรื่องราวล้อเลียนและเหน็บแนมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในนั้นจะเข้ามาก่อกวนชีวิตปกติสามัญของเรา คนงาน ขอทาน ผู้หญิง เด็กๆ จะก้าวขึ้นมาท้าทายเหล่าผู้มีอํานาจ และ จะพลิกกลับให้ผู้ไร้ซึ่งอํานาจ ได้ขึ้นมาลองมีอํานาจดูบ้าง ความสมจริงพิลึกพิลั่นผสมผสาน กับงานออกแบบโฆษณาได้กลับกลายออกมาเป็น ความบันเทิงอย่างหนึ่ง เมื่อมองไปในอนาคต ความ สุขสะพรั่งที่มาพร้อมกับสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ที่บินได้ แสดงให้เห็นเสี้ยวหนึ่งของความหวังที่ว่าหลังพายุฝน ท้องฟ้ามักสว่างสดใสเสมอ

ผลงานศิลปะ Lost Dog ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานงาน Lost Dog หรือ หมาหลง โดย Aurèle Richard | เครดิตภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 15.  Lost Dog

สถานที่:  โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ

ศิลปิน: Aurèle Richard

Aurèle Richard ศิลปินชาวฝรั่งเศสเจ้าของผลงาน “LostDog งานศิลปะที่เดินทางไปในหลายๆ พื้นที่ในโลก (ทั้งตาม เทศกาลศิลปะและพื้นที่สาธารณะ) เพื่อสะท้อนประเด็นปัญหาที่เราในฐานะประชากรโลกมีร่วมกัน และ ชี้ให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ตกหล่นหายไปในสังคมปัจุบัน ดังที่เห็นได้จาก LostDog C02” ประติมากรรมสุนัขขนาดใหญ่ ที่ทําขึ้นจากพืชที่มี ส่วนช่วยลดมลพิษในอากาศ กว่า 1,500 ต้น นอกจาก นั้นศิลปินยังเชิญชวนเด็กๆ ในบริเวณมาร่วมกันพ่น สเปรย์ข้อความรณรงค์ให้มนุษย์หันมารักษาสิ่งแวดล้อมลงบน “LostDog สีเหลืองอีกตัวหนึ่งที่ตั้งอยู่ ข้างๆ กัน สำหรับเจ้า LostDog Ma Long (2018) ที่ศิลปิน ทําขึ้นสําหรับบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ เป็นประติมากรรมหมาตัวใหญ่ปิดทองที่นั่งทักทายผู้คน อยู่หน้าทางเข้าโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล  กรุงเทพ …เจ้าหมา ตัวนี้กําลังหาเส้นทางไปสู่ความสุข ท่ามกลางโลกที่ วุ่นวายด้วยน้ำมือของเผ่าพันธุ์ที่ชื่อว่า “มนุษย์

ผลงานศิลปะ Zero ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Zero โดย Elmgreen & Dragset | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผลงานศิลปะ Zero ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Zero โดย Elmgreen & Dragset | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 16.  Zero

สถานที่:   อาคารอีสต์ เอเชียติก

ศิลปิน: Elmgreen & Dragset

ศิลปินคู่หูที่โด่งดังในเรื่องศิลปะจัดวาง Micheal Elmgreen และ Ingar Dragset ผู้สร้างผลงานเลื่องชื่อในวงการ Luxury Fashion อย่าง Prada Marfa ในปี พ.ศ. 2548 ที่ทั้งคู่สร้าง ช็อปแบรนด์ Prada ไว้กลางทะเลทรายรัฐเท็กซัสเพื่อ สะท้อนถึงกระแสทุนนิยมและแฟชั่นที่เชี่ยวกรากใน และ สำหรับงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ในครั้งนี้ Elmgreen และ Dragset ได้มาสร้างผลงานประติมากรรม Zero เพื่อจัดวางโดยเฉพาะหน้าอาคาร อีสต์ เอเชียติก โดยเป็นรูปทรงสระว่ายน้ำแนวตั้ง ซึ่งมีความสูงถึง 8 เมตร โดยมีความหมายเชิงนามธรรมที่ เลขศูนย์หมายถึงจุด เชื่อมต่อเชิงสัญลักษณ์ระหว่างแม่น้ําเจ้าพระยากับทะเลนอร์ดิก ทะเลที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ

ผลงานศิลปะ Diluvium ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Diluvium โดย อี บุล | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ผลงานศิลปะ Diluvium ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Diluvium โดย อี บุล | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ชิ้นที่ 17.  Diluvium

สถานที่:  อาคารอีสต์ เอเชียติก

ศิลปิน: อี บุล (Lee Bul)

ผลงานชิ้นนี้คือ ศิลปะจัดวางของ อี บุล ศิลปินชาวเกาหลีใต้มากประสบการณ์ที่คราวนี้ ได้ใช้เหล็กกล่องเชื่อมเข้าด้วยกันเป็นโครงสร้าง และหุ้มติดวัสดุกรุผิวโครงสร้างด้วยแผ่นพลาสติกสะท้อนแสง อี บุล เป็นศิลปินหญิงชาวเกาหลีใต้ที่คลุกคลีและทำงานศิลปะในหลากหลายสาขาทั้งในด้านงานวาดเส้น การแสดงสด งานประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และวิดีโอมากว่า 20 ปี  ทุกท่านสามารถไปชมผลงาน Diluvium ได้ที่ภายใน อาคารอีสต์ เอเชียติก สถาปัตยกรรมเก่าสไตล์ยุคฟื้นฟูเรอเนซองส์ ไปชมกันว่าผลงานแนวคิดล้ำอนาคตเช่นนี้เมื่อถูกติดตั้งในบริบทแวดล้อมซึ่งเต็มไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์จะเป็นความแตกต่างที่ลงตัวสวยงามเช่นไร

ผลงานศิลปะ Performing Textiles ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผลงานศิลปะ Performing Textiles โดย กวิตา วัฒนะชยังกูร | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 18.  Performing Textiles

สถานที่:  อาคารอีสต์ เอเชียติก

ศิลปิน: กวิตา วัฒนะชยังกูร

กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินหญิง ดาวรุ่ง 1 ใน 6 ศิลปิน ห้ามพลาดในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ใช้ศิลปะ วิดีโอ อาร์ต ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องต่างๆในสังคม โดยเฉพาะประเด็นสิทธิสตรี ที่เธอใช้ร่างกายของเธอเองเข้าไปแทนที่เครื่องใช้ในบ้านต่างๆไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์การซักผ้า ทำครัว หรือ ทำความสะอาด ด้วยการสื่อสารแบบเล่นจริง เจ็บจริง ประกอบกับการใช้ สีสันจัดจ้าน อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ผลงานของกวิตาได้รับการยอมรับและถูกแสดงในเทศกาลศิลปะทั่วโลกหลายแห่ง อย่างเช่นที่ นิทรรศการ ‘Islands in the Stream’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะร่วมสมัย เวนิส เบียนนาเล่ ที่ กรุง เวนิส ประเทศอิตาลี ในปี 2560 หรือ ที่ Saatchi Gallery กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับ โครงการ Thailand Eyes ในปีเดียวกัน  สำหรับ บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ ครั้งนี้ กวิตา จะมาแสดงศิลปะการแสดงสดเป็นครั้งแรกให้เราได้ชมกัน กับผลงาน Performing Textiles ที่เธอเปลี่ยนร่างกายของเธอเป็นเข็มถักนิตติ้งที่จะถักทอ ชิ้นผ้าขึ้นมา จากการกระโดดในโครงการเครื่องทอที่เธอสร้างขึ้น โดยการแสดงสดนี้จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ทุกวันพุธ (7 /14 /21 /28) ที่ อาคาร อีสต์ เอเชียติก

ผลงานศิลปะ Nothing is led comparable ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Nothing is led comparable โดย Sara Faviau | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ชิ้นที่ 19.  Nothing is led comparable

สถานที่:  อาคารอีสต์ เอเชียติก

ศิลปิน: Sara Faviau

Sara Faviau ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่มีเอกลักษณ์การทํางานกับวัสดุประเภทไม้โดยนําเทคนิค แบบดั้งเดิมมาใช้กับการพัฒนางานในแนวร่วมสมัย ในปีพ.ศ. 2558 ผลงานศิลปะจัดวางของเธอถูก นําไปจัดแสดงใน Palais de Tokyo 2015 และได้ รับรางวัล Discovery Prize จาก Palais de Tokyo กรุงปารีส ในปีพ.ศ. 2560 ผลงานของFaviau อยู่ในการสะสมของหลายสถาบันศิลปะ อาทิ FMAC (collection of the city of Paris), FDAC Essonne, MAC VAL, Vitry-sur-Seine ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในอาคาร อีสต์ เอเชียติก ผลงาน Nothing is led comparable ศิลปะจัดวางของเธอทําขึ้นจากไม้ท้องถิ่นในประเทศไทย อย่างเช่น ไม้สัก ไม้กันเกรา และ ไม้จันทน์ จะถูกจัดวางภายในพื้นที่สถาปัตยกรรมเก่าสไตล์ยุคฟื้นฟูเรอเนซองส์ ซึ่งทำให้เกิดเป็นบทสนทนาระหว่าง โลกตะวันออกและตะวันตก โดยท่อนไม้แกะสลักเหล่านี้กลมกลืนไปกับบริบทพื้นที่ จนคล้ายกับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของอาคารแห่งนี้

ผลงานศิลปะ Becoming Whiteในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Becoming White โดย Eisa Jocson | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 20. Becoming White

สถานที่:  O.P. Place (อาคาร ด้านหน้า อีสต์ เอเชียติก (สามารถเดินไปได้))

ศิลปิน: Eisa Jocson

Eisa Jocson ศิลปินนักเต้นและนักออกแบบท่าเต้นที่มีพื้นฐานการเต้นบัลเลต์ และ ศิลปะหลายแขนง ในผลงาน “Becoming White”  เธอนำเสนอ “ความสุข” อย่างเสียดสี ผ่านการใช้แรงงานของแรงงานอพยพชาวฟิลิปปินส์ในฮ่องกง ดิสนีย์แลนด์ ซึ่งในผลงานี้ใช้ตัวละครเจ้าหญิงดิสนีย์ อย่างสโนวไวท์ในการแสดงสด ที่จัดแสดงร่วมกับวัตถุ วิดีโอ และศิลปะจัดวางเสียง Eisa อธิบายเกี่ยวกับงานชิ้นนี้ไว้ว่า “ที่ดิสนีย์แลนด์ฮ่องกง เหล่านักเต้นชาวฟิลิปปินส์ถูกว่าจ้างมาเป็นกองทัพ ผู้ให้ความบันเทิงและแสดงซ้ําถึงแบบแผนของความ สุขและนั่นก็เป็นสิ่งที่พวกเขาทําทุกวันในฐานะผู้ใช้ แรงงาน พวกเขาถูกแยกออกจากบทบาทหลักที่ถูก กันไว้ให้บุคคลบางเชื้อชาติเท่านั้น ในขณะที่พวกเขา ได้รับมอบหมายให้รับบทบาทสมทบที่ไร้ตัวตน เช่น ม้าลายในเรื่องไลอ้อนคิง เป็นปะการังในเรื่องลิตเติ้ล เมอร์เมด หรือลิงในเรื่องทาร์ซาน”

ผลงานศิลปะ Nonhuman Ethnography ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Nonhuman Ethnography โดย สมัคร์ กอเซ็ม | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ผลงานศิลปะ Nonhuman Ethnographyในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Nonhuman Ethnography โดย สมัคร์ กอเซ็ม | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ชิ้นที่ 21.  Nonhuman Ethnography

สถานที่:   O.P. Place (อาคาร ด้านหน้า อีสต์ เอเชียติก)

ศิลปิน:  สมัคร์ กอเซ็ม  

ศิลปินและนักวิจัยด้าน ASEAN Studies ที่สนใจเรื่องบทบาทของชาติพันธุ์และศาสนาต่อการเมือง ในบริเวณชายแดนไทย – เมียนมา และกําลังทํา แบบร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เกี่ยวกับวัฒนธรรม เควียร์ ในศาสนาอิสลาม โดยผลงานนี้ เป็นซีรีส์ที่อ้างอิง จากงานวิจัยภาคสนามในสามจังหวัดชายแดน ภาคใต้ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรม เควียร์” ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น (nonhuman) ภายในขอบข่ายของพื้นที่ทางมนุษยวิทยา การแสดงภาพของสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ในงาน อย่างเช่น sheep (2560) และ waves (2561) เกิด ขึ้นจากการนําวิธีคิดทางศิลปะและระเบียบวิธีการ ศึกษาทางมนุษย์วิทยามาใช้สํารวจตรวจตราสิ่งที่เป็น ตัวแทนของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์ สิ่งของ และ พื้นที่ ตัวงานประกอบด้วยสื่อที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ภาพมัลติมีเดีย วิดีโอ ภาพถ่าย งานเขียน ภาพวาด และ วัตถุอื่นๆ พร้อมกับ “field notes” หรือบันทึกภาคสนามที่เขียนเป็นภาษามลายู ซึ่งผลงานนี้นอกจากจะทำให้เราได้เสพย์ความสวยงามแล้วยังได้ความรู้ และ เป็นการเปิดโลกทัศน์อีกด้วย

ผลงานศิลปะ Dragon Boat ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Dragon Boat โดย หวง หย่ง พิง | เครดิตภาพ Media Hub
ผลงานศิลปะ Dragon Boat ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Dragon Boat โดย หวง หย่ง พิง | เครดิตภาพ Media Hub

ชิ้นที่ 22.  Dragon Boat

สถานที่:   ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศิลปิน: หวง หย่ง ผิง

ผลงานจากปรมาจารย์แห่ง Xiamen Dada หวง หย่ง ผิง ที่ในงานนี้ได้นำงานประติมากรรมไม้จัดวาง ‘Dragon Boat’ เรือมังกรขนาดใหญ่ซึ่งมีความยาว ถึง 16 เมตร สูง 4.2 เมตร และ กว้าง 3.1 เมตร ข้ามน้ำข้ามทะเลจากมลฑลฝูเจี้ยน มาจัดแสดงที่ประเทศไทยแล้ว โดยเรือหัวมังกรขนาดใหญ่ลำนี้ได้ขนสัมภาระมามากมาย เพื่อนำเสนอแนวคิด และ  สัญลักษณ์แสดงอํานาจของประเทศ จีน การค้าขาย รวมไปถึงการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนพลัดถื่น (Diaspora) ซึ่งตัวของ หวง หย่ง ผิง นั้นชื่นชอบการสร้างผลงานสะท้อนแนวคิดดังกล่าว เพื่อเป็นการเล่าเรื่องราวของชีวิตตัวเอง ที่เป็นคนจาก เซียะเหมิน ประเทศจีน แต่ชีวิตก็ได้พาเขาพลัดถิ่นฐานไปทำงานศิลปะอยู่ที่ฝรั่งเศส ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับคนจีน หรือ บรรพบุรุษจีนของชาวไทยหลายๆท่าน ที่ได้เดินทางข้ามทะเลจากบ้านเกิดมาทำมาหากินในประเทศไทย

ผลงานศิลปะ MEMORY HOUSE ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ MEMORY HOUSE โดย Alex Face | เครดิตภาพ Media Hub
ผลงานศิลปะ MEMORY HOUSE ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ MEMORY HOUSE โดย Alex Face | เครดิตภาพ Media Hub

ชิ้นที่ 23.  MEMORY HOUSE

สถานที่:   ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ศิลปิน:     Alex Face (Souled Out Studios (SOS))

พัชรพล แตงรื่น หรือ Alex Face ศิลปินกราฟฟิตี้ฝีมือฉกาจของเมืองไทย หนึ่งในศิลปินกลุ่มนานาชาติ Souled Out Studios (SOS) ได้พา Character ชื่อดังของเขา “น้องมาร์ดี” มาร่วมแสดงในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ซึ่งในครั้งนี้เขาได้ทำบ้านไม้ที่มีงานประติมากรรมน้องมาร์ดีผสมผสานติดตั้งร่วมกัน (มีหูทะลุออกมาจากหลังคาด้วยนะ) โดยภายในบ้านยังมีภาพของมาร์ดี ที่กำลลังสื่อสารประเด็นบางอย่างกับแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ ผลงานของเพื่อนๆกลุ่ม SOS ไม่ว่าจะเป็น งานจิตรกรรม งานประติมากรรมเซรามิกที่ประดับไปด้วย สัญลักษณ์ของความตาย และวิดีโอฉายภาพบุคคล หลากหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็ยังจัดแสดงที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นกัน

ผลงานศิลปะ #Faithway ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ภาพ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ใส่ผลงานศิลปะ #Faithway ของ จิตต์สิงห์ สมบุญ | เครดิตภาพ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ชิ้นที่ 24 #Faithway (Paths of Faith)

สถานที่: พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วิหารพระนอน วัดโพธิ์)

ศิลปิน: จิตต์สิงห์ สมบุญ

อดีต Head of Design ของแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติ ไทยอย่าง Playhound จิตต์สิงห์ สมบุญ ผู้รักการสร้างผสมผสานระหว่างงานศิลปะและงานออกแบบแฟชั่น โดยในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เขาได้เปิดตัว “Paths of Faith” (2018) คอลเล็คชั่นเสื้อ คลุมสีขาวที่ปักคําว่า “ศรัทธา” ในภาษาไทย อังกฤษ และจีนไว้กลางหลัง ให้เหล่านักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม วิหารพระนอน วัดโพธิ์ได้สวมใส่ขณะเดินเข้าไปใน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้น การเดินเวียนไปรอบพระพุทธ รูปพระนอนขนาดใหญ่ผู้สถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ คลอ ด้วยเสียงเหรียญที่ตกกระทบลงบนก้นบาตร “Paths of Faith” จะกลายมาเป็นงานศิลปะสื่อแสดงสดที่ เกิดขึ้นทุกๆ วันตลอด 4 เดือนของ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ 

ผลงานศิลปะ Sediments of Migration ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Sediments of Migration โดย ปานพรรณ ยอดมณี | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผลงานศิลปะ Sediments of Migrationในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Sediments of Migration โดย ปานพรรณ ยอดมณี | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 25. Sediments of Migration

สถานที่: เขามอ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (เขามอ วัดโพธิ์)

ศิลปิน: ปานพรรณ ยอดมณี

ปานพรรณ ยอดมณี เป็นศิลปินไทยเพียงไม่กี่คน ที่ได้คว้ารางวัลใหญ่อย่าง “11th Benesse Prize” ซึ่งต้องแข่งขันกับ 63 ศิลปิน จาก 19 ประเทศทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ในเทศกาลศิลปะนานาชาติ “Singapore Biennale 2016 ” ซึ่งนอกเหนือจากเงินรางวัลที่ได้ร้บแล้ว เธอยังได้โอกาสเดินทางไปแสดงผลงานที่ Benesse Art Site บนเกาะนาโอะชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นเธออายุเพียง 29 เท่านั้น เขามอทั้ง 6 ลูก ในวัดโพธิ์ ปานพรรณ ได้ใช้เป็นพื้นที่สร้างผลงานงานจิตรกรรมลอยตัวซึ่งจะถูกจัดวางเข้าคู่ กับรูปปั้นฤาษีดัดตนและตุ๊กตาอับเฉาบริเวณเขามอ ในวัดโพธิ์ ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพ เขียนฝาผนังในวัดแห่งนี้ โดยจะถ่ายทอดภาพการ เดินทางติดต่อค้าขายระหว่างสยามและจีน การเดิน ทางแสวงบุญ ความแตกต่างด้านศรัทธา และชาติพันธุ์

ผลงานศิลปะ From the World Inside / Across the Universeในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ From the World Inside / Across the Universe โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผลงานศิลปะ From the World Inside / Across the Universeในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ From the World Inside / Across the Universe โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข
ผลงานศิลปะ From the World Inside / Across the Universeในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ From the World Inside / Across the Universe โดย สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 26 From the World Inside / Across the Universe

สถานที่: เขามอ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ศิลปิน:  สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

เชิญทุกท่านไปพบกับหนึ่งในสุดยอดผลงานศิลปะติดตั้งแบบเฉพาะพื้นที่ (site specific installation)ของงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ศิลปินผู้สร้างงานชิ้นนี้ได้เล่าให้กับ baanlaesuan.com ฟังว่า ครั้งแรกที่มาเห็น เขามอ ที่วัดอรุณฯ  รู้สึกว่าได้มาพบ ยักษ์ที่กำลังนอนหลับ ยิ่งเธอได้เดินสำรวจ ยิ่งรู้สึกได้ว่าสถานที่แห่งนี้มีเรื่องราวอะไรบางอย่างที่น่าค้นหาซ่อนอยู่  โดยเขามอ ของ สนิทัศน์ ที่เธอกำลังสร้างสรรค์อยู่นี้ จะเป็นเหมือนโลกใบใหม่ ที่จะทำให้ผู้ที่ชมงานทุกท่าน ได้เดินทางมองลึกเข้าไปภายในจิตใจตนเอง เพื่อที่จะเข้าใจโลกภายนอก หรือ จะเริ่มมองจากโลกภายนอก เพื่อให้เข้าใจภายในจิตใจก็ได้ ตามแนวคิด “โลกะวิทู” หรือ การรู้แจ้งโลก  ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ของพระพุทธคุณ(คุณของพระพุทธเจ้า 9 ประการ ) และด้วยที่ผลงานชิ้นนี้ใช้แผ่นอะคริลิคสีแดงชาดที่สั่งทำขึ้นมาเป็นพิเศษประกอบเป็นกำแพงด้านข้าง ทำให้ท่านที่เข้ามาชมผลงานในเวลาที่แตกต่างกันก็จะได้รับประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกันตามสภาพของแสงที่เปลี่ยนไประหว่างวัน…ซึ่งไม่ต่างกับการเปลี่ยนแปลงของจิตใจคน

ผลงานศิลปะ Giant Twins ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Giant Twins โดย คมกฤษ เทพเทียน | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 27. Giant Twins

สถานที่: ด้านหน้าเขามอ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ศิลปิน: คมกฤษ เทพเทียน

ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการใช้ส่วนประกอบของชิ้นส่วนเลโก้มาสร้างงานศิลปะ อย่างเช่นการต่อ เศียรพระพุทธรูป แทนที่เศียรเดิมที่โดนลักลอบตัด ไปขายให้กับชาวต่างชาติ งานของเขาสะท้อนประเด็น ปัญหาเกี่ยวกับคุณค่าของวัตถุโบราณและการทําให้ วัตถุเหล่านี้กลายเป็นสินค้าเพื่อการซื้อขาย ในเทศกาลครั้งนี้นี้ บริเวณหน้าเขามอ วัดอรุณฯ ทุกท่านจะได้พบกับผลงาน Giant Twins หรือ สองเกลอ ซึ่งสร้างด้วยแรงบันดาลใจจากรูปปั้นหินนักรบจีนโบราณและทวยเทพลูกผสมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ที่จีนส่งมาให้สยาม โดยคมกฤษ ใช้ลักษณะของฝาแฝดสยามอินจัน ทำให้รูปทรงอันมหึมาของยักษาและลักษณะของนักรบจีนมาควบ รวมกันได้อย่างน่าสนใจ แล สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทษไทย-จีน ได้เป็นอย่างดี และในบริเวณเดียวกันยังมีผลงาน “ครุฑ” ประติมากรรมสิ่งมี ชีวิตครึ่งคนครึ่งนกที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนเลโก้ที่ผลิตขึ้นในประเทศ จีน และที่พลาดไม่ได้สำหรับใครที่ชอบสะสมของเล่นงานนี้ คมกฤษ ได้สร้างชุดของเล่นขนาด จิ๋ว ให้ทุกท่านได้มาลองหยอดตู้หมุนไข่ (แบบตู้ Gashapon ของญี่ปุ่น) ซึ่งจะประกอบไปด้วยเหล่านักปราชญ์ขี่สัตว์ใน เทพนิยายที่ดูราวกับกลุ่มซุปเปอร์ฮีโร่ออกผจญภัย และ รางวัลสุด Rare ที่รอให้ทุกท่านได้มาเล่นกัน

ผลงานศิลปะ Turtle Religion ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Turtle Religion โดย กฤช งามสม | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 28. Turtle Religion

สถานที่: เขามอ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ศิลปิน: กฤช งามสม

กฤช งามสม ศิลปินร่วมสมัยไทยที่มักนําความทรงจําวัยเด็กบวกกับอารมณ์ขบขันของคนต่างจังหวัด มาทํางานศิลปะ กฤช มีความถนัดในการตีความ และพลิกกลับความหมายให้วัตถุธรรมดาๆ น่า สนใจขึ้นมา เขาชอบทํางานโดยใช้วัสดุสําเร็จรูปที่ พบเห็นได้ทั่วไปมาประกอบเป็นงานสื่อผสมที่แฝง ไปด้วยความสนุกสนาน แถมด้วยกลิ่นไอเชยๆ ปนลูกทุ่งที่เล่นกับกลไกไฟฟ้าและแสงไฟ เลยไป จนถึงหยอกล้อกับการเมือง ศาสนา หรือแม้แต่การ ทํางานศิลปะของศิลปินเอง สำหรับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ผลงาน ประติมากรรมเต่าเหล็กของ กฤชตั้งอยู่ที่เขามอ ในวัดประยุรวงศาวาส บริเวณบ่อน้ำที่อุดมด้วยเต่าและปลาดุก เต่าเหล็กเหล่านี้แบกสถาปัตยกรรมทางศาสนาต่างๆไว้ บนหลัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกลมเกลียวกันของความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ ผสมปนเปกันเป็นเนื้อเดียวในพื้นที่ย่านคลองสาน และหากใครได้มาชมตอนเย็นๆ จะเห็นว่าสถาปัตยกรรมบนหลังเต่านี้ได้ทำการติดตั้งฟังซึ่งสวยงามเป็นอย่างยิ่ง

ผลงานศิลปะ WHAT WILL WE LEAVE BEHIND? ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ WHAT WILL WE LEAVE BEHIND? โดย นีโน่ สาระบุตร | เครดิตภาพ เมธี สมานทอง

ชิ้นที่ 29 WHAT WILL WE LEAVE BEHIND?

สถานที่: ทางเดินรอบเจดีย์องค์ประทาน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ศิลปิน นีโน่ สาระบุตร

หลังจบการศึกษาด้านศิลปะเครื่องเคลือบดินเผา จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นีโน่ ใช้เวลาเกือบ 20 ปี ในฐานะครีเอทีฟงานโฆษณาใน หลายบริษัท ก่อนจะมาเริ่มต้นทํางานศิลปะอย่าง เต็มตัวและเปิดสตูดิโอของตัวเอง เมื่อปี พ.ศ. 2549 เธอเริ่มเป็นที่สนใจในแวดวงศิลปะจากงานนิทรรศการ “What will You Leave Behind” ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 ในไทยและสิงคโปร์ โดยเธอนําประติมากรรมรูปกระดูกกว่า 100,000 ชิ้น มา โปรยกระจายลงบนห้องนิทรรศการให้ผู้ชมงานได้ใช้ ฝ่าเท้าสัมผัสถึงความเปราะบางของมัน จากนั้นเธอ ก็มีผลงานร่วมแสดงในนิทรรศการกลุ่มต่อเนื่อง เรื่อยมาทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ปี พ.ศ. 2558 “Frontiers Reimagined” ที่ Museo di Palazzo Grimani นิทรรศการร่วมใน Venice Biennale ครั้ง ที่ 56 ในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ เธอได้โปรย เซรามิกรูปทรงหัวกระโหลกกว่า 125,000 ชิ้นบนทางเดินรอบ เจดีย์องค์ประธานของวัดประยุรวงศาวาส ให้เป็น งานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ที่จะกระตุ้นให้ผู้คนที่ เดินบนทางนั้นได้ฉุกคิดว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้าย ของชีวิต คุณจะทําความดีอะไรทิ้งไว้บน โลกใบนี้”

ผลงานศิลปะ Zodiac Houses ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานศิลปะ Zodiac Houses โดย มณเฑียร บุญมา | เครดิตภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ชิ้นที่ 30. Zodiac Houses

สถานที่: ศาลาการเปรียญ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ศิลปิน:  มณเฑียร บุญมา

ปิดท้ายด้วยผลงานของสุดยอดหนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยของไทย อ. มณเฑียร บุญมา (2496-2543) สำหรับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ครั้งนี้ นำเสนอผลงานประติมากรรมชุด Zodiac House (Das Haus der Sternzeichen) ซึ่งประกอบไปด้วยประติมากรรมโลหะจำนวน 6 ชิ้น ท่อนบนเป็นรูปส่วนยอดของสถาปัตยกรรมโบสถ์คาธอลิค ซึ่ง อ.มณเฑียร ออกแบบขณะอยู่ที่เมืองสตุทการ์ท ประเทศ เยอรมัน เพื่อ ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ความสงบ การเกิดใหม่ และ การติดต่อกับโลกหลังความตาย สิ่งเหล่านี้แม้จะสะท้อนถึงสุขภาพร่างกายของตัวเองที่กำลังถดถอยลงจากอาการเจ็บป่วย แต่ทว่า จิตวิญญาณในการสร้างผลงานศิลปะของ อ. มณเฑียร นั้น ไม่ได้ลดถอยลงไปแม้แต่น้อย

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่บางส่วนจากงานทั้งหมด 200 กว่าชิ้น ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ซึ่งมีงานศิลป์ต่างๆอีกมากมายให้ชมกันอย่างจุใจตลอดเทศกาล ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งท่านสามารถโหลดแผนที่ และ รายชื่อศิลปิน ได้ข้างล่างนี้เลย

หากใครเป็นชื่นชอบผลงานที่ทำจากวัสดุแปลกๆ อาจจะลองไปตามนี้ก่อน ก็ได้ รับรองว่าถ่ายรูปออกมาไม่เหมือนใคร หรือ ถ้าใครหลงรักความดิบแบบธรรมชาติ ความงามในแบบฉบับวาบิซาบิผสมกับมนต์ขลังแห่งประวัติศาสตร์ ก็ไปเริ่มชมที่อาคาร อีสต์ เอเชียติก ได้เลย


รายชื่อ 75 ศิลปินในงาน Bangkok Art Biennale 2018 คลิกเพื่อดาวน์ โหลดไฟล์ความละเอียดสูงที่นี่

แผนที่งาน บางกอห อาร์ต เบียนนาเล่่ 2018

 

เรื่อง สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x