จานัน ศิลปิน ตุรกี

ชีวิต ศิลปะ และความสุข จากศิลปินหญิง ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

จานัน ศิลปิน ตุรกี
จานัน ศิลปิน ตุรกี

ว่ากันว่าความสำเร็จของผู้หญิงต้องผ่านบทพิสูจน์มากมายและมีระยะทางไกลกว่าความสำเร็จของผู้ชาย  ทุกวันนี้ความเหลื่อมล้ำทางเพศสภาพยังคงมีอยู่จริง

ผู้หญิงต้อง “สตรอง” แค่ไหนกว่าจะก้าวมายืนอยู่แถวหน้า มีบทบาททางสังคมที่โดดเด่นจนได้รับการยอมรับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น หญิงเหล็กอย่างมาร์กาเรต แทตเชอร์ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษได้สำเร็จ  หรือการไต่ขั้นบันไดของฮิลลารี คลินตัน อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่พลาดตำแหน่งประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกาไปอย่างน่าเสียดาย รวมถึงในบางประเทศที่ผู้หญิงเพิ่งจะได้รับสิทธิในการขับรถยนต์ ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีก็ตาม

เสรีภาพทางความคิดและการแสดงความสามารถของผู้หญิงในหลายยุคสมัยถูกผลักจากความกดดันทางสังคมเข้าสู่กรอบแห่งเสรีภาพที่เรียกว่า “ศิลปะ” ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการแสดง งานออกแบบ หรืองานจิตรกรรม ที่ยอมรับพวกเธอเข้าถึงอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ อันลึกซึ้งและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยที่ไม่ว่าสุภาพบุรุษคนใดก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ด้วยกลไกอันซับซ้อนทางความคิดที่เกินกว่าจะบอกกล่าวหรือบรรยายออกมาเป็นตัวอักษร แต่ก็สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลป์ภายใต้แนวคิดที่สื่อถึงความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งความรัก ความหวัง ความกล้าหาญ และจินตนาการเพ้อฝัน

ครั้งนี้เราขอแนะนำ 3 ศิลปินหญิงแห่งงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ซึ่งผลงานของพวกเธอต่างซ่อนอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้ไว้อย่างลึกซึ้ง

1 จานัน (Canan) : ผู้หญิง สิทธิ และจินตนาการ (ภาพบน)

ศิลปินชาวตุรกีที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม แม้ว่าผลงานของเธอจะใช้สีสันสดใสและดูเข้าใจง่าย แต่แท้จริงแล้วมีนัยแห่งการเรียกร้องสิทธิ เสียดสี และหยอกล้อสังคม ผ่านงานศิลป์ที่ใช้เรือนร่างของผู้หญิงผสมกับศิลปะในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด วิดีโออาร์ต หรือศิลปะจัดวาง

ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 จานันจะนำทุกท่านเข้าสู่อาณาจักรสวนสัตว์ของเธอ “Animal Kingdom” ผลงานศิลปะจัดวางแบบเจาะจงพื้นที่ (Site Specific Installation) ขนาดใหญ่สีสันสดใส ประกอบด้วยวัสดุหลากหลายชนิด อาทิ ผ้าเลื่อม เชือก ไฟเบอร์ ฯลฯ มาประกอบกันเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ผู้ชมตื่นเต้นไปกับบรรดาสัตว์มากมายที่ออกมาโลดโผนโบยบินภายใต้ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว ณ โครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งอนาคต วัน แบงค็อก

ผลงานของ จานัน ศิลปิน ตุรกี

ผลงานของ จานัน ศิลปิน ตุรกี

 


ศิลปิน มุสลิมะห์ (MUSALIMAH)

2 มุสลิมะห์ (Musalimah) : ผู้หญิง ความหวัง และความกล้าหาญ

กลุ่มศิลปินหญิงรุ่นใหม่ 5 คนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา) พื้นที่สีแดงที่มีข่าวตามสื่อไม่เว้นแต่ละวัน ศิลปินหญิงกลุ่มนี้ได้สร้างงานศิลปะส่งความความรู้สึกที่เล่าเรื่องราวได้อย่างลึกซึ้งและกล้าหาญ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ กิจวัตรอันสวยงามของชาวมุสลิม ความเชื่อทางศาสนา รวมถึงความหวังท่ามกล่างความขัดแย้งที่เกิดในพื้นที่ที่คนภายนอกยากจะได้สัมผัสโดยตรง ภาพเหล่านี้ถูกถ่ายทอดสู่ผลงานศิลปะแบบสื่อผสมที่ใช้หลากหลายเทคนิค ทั้งงานเย็บปัก งานย้อมสี และงานประติมากรรมกระดาษ

ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 พวกเธอจะนำเสนองานภายใต้แนวคิด “Hope and Courage Human Compassion Love and Values of Beauty in the Way of Life”  ซึ่งสะท้อนถึงความหวัง ความกล้าหาญ ความรัก และคุณค่าของมนุษย์ที่มีให้ต่อกัน สามารถไปชมผลงานนี้ได้ที่ชั้น 7  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ผลงานของกลุ่มศิลปินหญิง มุสลิมะห์ (MUSALIMAH)
ตัวอย่างผลงานของกลุ่มมุสลิมะห์ (Musalimah) ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 


MARINA ABRAMOVIĆ

3 มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramović) : ผู้หญิง ความรัก และจิตวิญญาณ

ศิลปินระดับนานาชาติที่มีผู้คนจากทั่วโลกจับตามอง ผลงานของเธอตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคมและเพศสภาพอย่างเข้มข้น ทว่าเบื้องลึกในจิตใจของมารีนาก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีมุมอ่อนไหว เปราะบาง และนุ่มนวล

ในช่วงยุค 80 ที่มารีนากำลังสร้างผลงาน เธอมีความรักที่ลึกซึ้งกับ Frank Uwe Laysiepen หรือ Ulay ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันสร้างงานศิลปะนานกว่า 10 ปี กระทั่งความสัมพันธ์เดินทางมาถึงจุดจบในปี 1988 ทั้งคู่ได้ร่วมกันสร้างงานศิลปะ “The Lovers: the Great Wall Walk” ซึ่งต่างคนต่างเดินมาจากคนละฟากของกำแพงเมืองจีน แล้วมาบรรจบพบกันตรงกลางเพื่อกล่าวคำร่ำลาและจบความสัมพันธ์กัน สื่อถึงความรู้สึกลึกซึ้งที่มีให้แก่กัน แม้แต่กำแพงเมืองจีนก็มิอาจขวางกั้น

ต่อมาในปี 2010 ขณะที่มารีนากำลังสร้างงาน “The Artist is Present” ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานมานั่งจ้องตากับเธอ Ulay ก็ได้ปรากฏตัวมาเป็นหนึ่งในผู้ชมงาน ทั้งคู่นั่งจ้องตากันอีกครั้งหลังจากที่เลิกรากันไป มารีนาในชุดเดรสยาวสีแดงหลั่งน้ำตาก่อนที่จะเผยรอยยิ้มและยื่นมือไปสัมผัสคนรักเก่าอีกครั้ง อาจกล่าวได้ว่านี่คือมุมมองและความรู้สึกที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ถูกส่งผ่านออกมาจากงานศิลปะอย่างแท้จริง

ในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 มารีนาจะนำผลงาน “Standing Structures” มาเปิดให้ทุกคนได้ “เห็น” บางสิ่งที่ชัดเจนมากขึ้นผ่านความเงียบ ทุกท่านสามารถสร้างประสบการณ์ร่วมกับงานศิลปะชิ้นนี้ได้ที่โครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งอนาคต วัน แบงค็อก

 

ผลงานของ มารีนา อบราโมวิช

 

เรื่อง: ยุภาวดี บุญภา

เครดิตภาพ: (Portrait CANAN): Asli Girgin. Image courtesy the artist and ARTER Istanbul.

เครดิตภาพ: (Marina Abramovic and Standing Structures) : Courtesy of the artist and Axel Vervoordt © Jean-Pierre Gabriel

เครดิตภาพ : photos courtesy of artists