ผลงานของ เฮริ โดโน ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 กับ ศิลปะ วัสดุสุดแปลก

ผลงานของ เฮริ โดโน ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ผลงานของ เฮริ โดโน ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

เมื่อพูดถึงศิลปะหลายคนอาจจะนึกถึง ภาพวาดบนผืนผ้าใบ หรือ งานประติมากรรม ที่ทำจาก หิน หรือ โลหะ แต่ทว่าในโลกนี้มีศิลปินกลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบการใช้วัสดุที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาสร้างสรรค์งานศิลปะ ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สถานที่สำคัญ 20 แห่งทั่วกรุงเทพ

ท่านจะได้ชมกันว่า ตะกร้าพลาสติกไม่กี่สิบบาท เทปกาว ใบพัด หรือ แม้กระทั่ง ปลา สามารถนำมาสร้างผลงานศิลปะได้อย่างไร ก่อนที่งานจะเริ่มในวันศุกร์หน้า เรามีไฮไลท์ผลงานที่สร้างจากวัสดุที่ออกนอกขนบ แหวกม่านประเพณีศิลปะดั่งเดิม มาฝากกัน

ผลงานของ ชเว จอง ฮวา Happy Happy Project: Basket Chandelier
ชเว จอง ฮวา ศิลปินน งานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ขณะกำลังเลือกตระกร้าพลาสติกมาสร้างผลงานในประเทศไทย

วัสดุ : ตระกร้าพลาสติก

ผลงาน : Happy Happy Project: Basket Chandelier

ศิลปิน : ชเว จอง ฮวา

สถานที่จัดแสดง: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ชเว จอง ฮวา (Choi Jeong Hwa) คือศิลปินและนักออกแบบชาวเกาหลีใต้ ที่หลายผลงานของเขามักเลือกหยิบจับวัสดุง่าย ๆ ซึ่งเป็นของใช้ที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรม (พูดให้ชัดคือของใช้บ้านๆ ทั่วไป) มารังสรรค์เป็นผลงานศิลปะจัดวางรวยรุ่มสีสัน อย่างเช่น ในปี 2016 ผลงาน “Happy Together” ศิลปะจัดวางของเขา ที่ใช้วัสดุบ้าน ๆ อย่างเช่นเช่น ตระกร้าพลาสติก ถาดพลาสติก และแก้วน้ำหลากสีไปถูกจัดแสงที่ Kiasma Museum of Contemporary Art กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ มาแล้ว อีกตัวอย่างคือการใช้ภาชนะพลาสติกกว่า 2 ล้านชิ้นปกคลุม  Seoul Olympic Stadium ในปี 2008

สำหรับงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ในครั้งนี้ ชเว จอง ฮวา ไปได้เดินเลือกซื้อตระกร้าพลาสติกตามท้องตลาดในประเทศไทยด้วยตนเอง เพื่อมาสร้างประติมากรรมเป็นลักษณะโคมระย้าสูงใหญ่ที่มีสีสันสดใสสวยงาม โดยผลงาน Happy Happy Project: Basket Chandelier จะถูกนำไปตั้งตระหง่านจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เตรียมกล้องไปถ่ายรูปกันได้เลย และ หากใครอยากจะชมผลงานสนุกๆของ ชเว เพิ่มเติมสามาถไปชมกันได้ที่ บ้านปาร์คนายเลิศ และ ห้างสรรพสินค้าต่างๆในย่านสยามสแควร์-ชิดลม-ราชประสงค์ วันนี้เรามีภาพตัวอย่างผลงานของ ชเว ที่ทุกท่านกำลังจะได้ชมในไม่อีกกี่วันนี้มาฝากกัน

ผลงานของ ชเว จอง ฮวา

“Happy Happy Project: The Joker Crown”

ผลงานของ ชเว จอง ฮวา

“Happy Happy Project: Love Me Pig I”

ชเว จอง ฮวา

“Happy Happy Project: Inflatable Robot – Black”

ชเว จอง ฮวา

“Happy Happy Project: Inflatable Flower – Pink”
ชเว จอง ฮวา
“Happy Happy Project: Stupas”

ชเว จอง ฮวา

“Happy Happy Project: Plastic Shotguns”

ผลงานของ ชเว จอง ฮวา

“Happy Happy Project: Alchemy”

เครดิตภาพ : Photos courtesy of the artist


อี บุล ศิลปิน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
อี บุล ในงา่น BAB Talk ครั้งที่ 13 ที่ Central Embassy (ภาพ: นวภัทร)

วัสดุ : แผ่นพลาสติกสีเงินสะท้อนแสง

ผลงาน : Diluvium

ศิลปิน : Lee Bul

สถานที่จัดแสดง: ภายใน อาคารอีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

Diluvium คือศิลปะจัดวางที่ อี บุล (Lee Bul) ก่อร่างขึ้นจากเหล็กกล่องเชื่อมเข้าด้วยกันเป็นโครงสร้างชั่วคราว และหุ้มติดวัสดุกรุผิวโครงสร้างด้วยแผ่นพลาสติกสะท้อนแสง อี บุล เป็นศิลปินหญิงชาวเกาหลีใต้ที่คลุกคลีและทำงานศิลปะในหลากหลายสาขาทั้งในด้านงานวาดเส้น การแสดงสด งานประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และวิดีโอมากว่า 20 ปี ผ่านการแสดงผลงานในพิพิธภัณฑ์และเข้าร่วมเทศกาลศิลปะสำคัญต่าง ๆ มาแล้วมากมายทั่วโลก หนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อให้เธอเป็นที่รู้จักในวงกว้างก็คืองานประติมากรรมติดตั้งล้ำสมัยแบบโลกอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าผลงาน Diluvium ก็เป็นหนึ่งในนั้น

สำหรับ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018  ทุกท่านสามารถไปชมผลงาน Diluvium ได้ที่ภายใน อาคารอีสต์ เอเชียติก (East Asiatic) สถาปัตยกรรมเก่าสไตล์ยุคฟื้นฟูเรอเนซองส์  ซึ่งน่าสนใจจริงๆว่าผลงานแนวคิดล้ำอนาคตเช่นนี้เมื่อถูกติดตั้งในบริบทแวดล้อมซึ่งเต็มไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์จะเป็นความแตกต่างที่ลงตัวสวยงามเช่นไร

ผลงาน Diluvium ของ อี บุล

ผลงาน Diluvium ของ อี บุล

ผลงาน Diluvium ของ อี บุล

เครดิตภาพ : Junyong Cho. Courtesy: Korean Cultural Centre UK, London.


ศิลปิน Numen ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018
กลุ่มศิลปิน Numen นั่งหล่อๆ อยู่ในผลงาน  ‘Tape’  โครงสร้างขนาดใหญ่ที่ทำจากเทปกาว (photo courtesy of the artist)

วัสดุ : เทปกาว

ผลงาน : Tape Bangkok 2018 (อุโมงค์เทปกาว)

ศิลปิน : Numen/For Use Collective Design

สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Numen/For Use Collective Design (Numen) คือกลุ่มศิลปินและนักออกแบบจากเบอร์ลิน ประเทศ เยอรมัน ที่ประกอบไปด้วยสามประสานได้แก่ สเวน โจนค์ (Sven Jonke), คริสตอฟ แคทซเลอร์ (Christoph Katzler) และนิโคลา ราเดลจโควิค (Nikola Radeljković) ผลงานที่ทั้งโดดเด่นและสร้างชื่อเสียงให้พวกเขาเป็นที่ยอมรับมีทั้งงานศิลปะแบบนามธรรม, การออกแบบสภาพแวดล้อมในมิติแปลกใหม่ ตลอดจนการออกแบบผลงานแนวอุตสาหกรรมและการเล่นกับพื้นที่ว่าง นอกจากนี้ในหลาย ๆ ผลงานที่ผ่านมาของพวกเขายังมุ่งเน้นการปฏิสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่าง ‘วัตถุ’ กับ ‘คน’ อยู่เสมอ อาทิ ผลงานที่จัดแสดงใน Z33 House for Contemporary Art ที่เบลเยียม ในปี 2011 อย่าง Net Hasselt พวกเขานำเปลญวนมาร้อยเรียงต่อกัน แล้วจับขึงติดกับโครงสร้างอาคารเพื่อให้ผู้คนได้ขึ้นไปปีนป่าย เดินเหินอยู่บนอากาศราวกับกลุ่มก้อนเมฆสีดำที่ลอยอยู่กลางอาคาร หรือจะเป็น String Vienna ประติมากรรมเส้นขนานของเชือกขึงเป็นเส้นใยแนวนอนและแนวตั้งในบอลลูนยักษ์ ซึ่งแข็งแรงและหนาแน่นพอที่จะพยุงน้ำหนักของคนที่ขึ้นไปปีนป่ายไม่ให้ล่วงตกลงมาด้านล่าง

สำหรับงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 นี้ ทุกท่านจะได้ชมกับผลงาน Tape  (อุโมงค์เทปกาว) ที่ทำให้ชื่อเสียงของศิลปินกลุ่มนี้โด่งดังขึ้นไปอีกระดับ ด้วยการนำเทปกาว มาแปะติดแปะต่อกันจนยาวยืดเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ที่ทำให้ผู้คนสามารถเข้าไป ปืนป่าย ภายในได้อย่างสบายๆ  โดย Numen เคยสร้างผลงานลักษณะนี้ที่ เมืองใหญ่ๆมาแล้ว อาทิ แฟร้งค์เฟิร์ต ปารีส รัฐโอไฮโอซึ่งคราวนี้ก็ถึงคิวของ กรุงเทพ ประเทศไทยแล้ว โดยทีมงาน baanlaesuan.com ได้ลงพื้นที่ไปพบกับ ทีมงานของ Numen ที่ได้เริ่มเข้ามาติดตั้งผลงาน อุโมงค์เทปกาว เพื่อต้อนรับชาวไทยและชาวต่างประเทศที่จะมาร่วมชมงานนี้กันแล้ว ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยภาพที่ท่านจะได้เห็นต่อไปนี้เป็นภาพเบื้องหลังสุด Exclusive ระหว่างที่ทีมงานของ Numen มาติดตั้งงานในวันแรก และ จากการสอบถามทีมติดตั้ง ทำให้เราทราบว่า ผลงานสำเร็จสุดท้ายจะหน้าตาเปลี่ยนไปจากรูปที่เห็นมาก เพราะจะพันเพิ่มเทปกาวทบเพิ่มไปเรื่อยๆจนถึงวันแสดงงาน หรือ จนกว่า เทปกาวที่เตรียมมาจะหมด

ผลงาน อุโมงค์เทปกาวของ Numen ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ผลงาน อุโมงค์เทปกาวของ Numen ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ผลงาน อุโมงค์เทปกาวของ Numen ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ผลงาน อุโมงค์เทปกาวของ Numen ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
แต่ละมุมจะยึดกับฐานด้วยห่วงวงกลมลักษณะนี้
ผลงาน อุโมงค์เทปกาวของ Numen ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ภาพนี้ เป็นเทปกาวเพียงส่วนหนึ่งที่ใช้ทำงานของ Numen

ภาพ: เมธี สมานทอง


 เฮริ โดโน ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
เฮริ โดโน ศิลปิน งาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (photo courtesy of the artist)

วัสดุ : ไฟเบอร์กลาส, ไม้, กลไกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิก และใบพัด

ผลงาน : Rekayasa Genetika (REGEN)

ศิลปิน : เฮริ โดโน

สถานที่: หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ศิลปะของ เฮริ โดโน (Heri Dono) ศิลปินร่วมสมัยวัย 60 ปี ชาวอินโดนีเซีย ผู้มีความเชื่อว่า “ศิลปะคือส่วนประกอบหลักของความสุข” ไม่เพียงส่งมอบความสุขผ่านสุนทรียของงานศิลป์ หากแต่ยังแฝงนัยยะที่ชัดเจนถึงความบิดเบี้ยว และ ความอยุติธรรมในสังคม (อาจจะเป็นเพราะเขาเติบโตมาในช่วงเวลาที่การเมืองในอินโดนีเซียมีความขัดแย้งรุนแรงช่วงปี พ.ศ. 2508) โดยหนึ่งในนั้นคือ Rekayasa Genetika (REGEN) ผลงานตุ๊กตาหุ่นเชิดร่างมนุษย์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมใหม่ให้หุ้มห่มด้วยเครื่องจักรกลชิ้นนี้ ที่เขานำแรงบันดาลใจมาจาก Wayang (Indonesian shadow puppets) หรือ ศิลปะการเชิดหุ่นพื้นบ้านของอินโดนเซีย ที่คล้ายกับหนังตะลุงของประเทศไทย โดยประติมากรรมขนาดย่อมชิ้นนี้ประกอบร่างขึ้นจากวัสดุหลากหลายทั้ง ไฟเบอร์กลาส, ไม้, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิก และ พัดใบ ซึ่งเรามีข่าวมาแอบกระซิบกันว่า บรรดาหุ่น Rekayasa Genetika (REGEN) ได้เดินทางมาถึงชั้น 7 หอศิลป์กรุงเทพฯเรียบร้อยแล้วเพื่อรอการติดตั้ง  หลังจากที่เราได้ชมผลงานจริง เราบอกได้คำเดียวว่า ห้ามพลาดด้วยประกาศทั้งปวง

ผลงานของ เฮริ โดโน ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

 

ผลงานของ เฮริ โดโน ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

 

ผลงานของ เฮริ โดโน ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018
ด้านหน้าเหมือนมีสวิตช์ สำหรับกลไกอะไรสักอย่าง (ซึ่งท่านต้องมาพิสูจน์ด้วยตนเอง)

ภาพ: เมธี สมานทอง


ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ ศิลปินงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

 

วัสดุ : สัตว์สตัฟฟ์ และ สื่อผสม

ผลงาน : “Chao Phraya 2018”

ศิลปิน : ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ

สถานที่: ภายใน อาคารอีสต์ เอเชียติก (East Asiatic)

ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ หรือ เต้ ศิลปิน และ นักออกแบบที่รักการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยวัตถุต่างๆรอบตัว อย่างเช่น ตะเกียบ หวี และ สิ่งทอ หรือ แม้กระทั่ง กล้วย ! ปฏิพัทธิ์ เป็นศิลปินที่ชอบสังเกตความเปลี่ยนผ่านของ วัฒนธรรม สังคม และ สิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี จาก ภาควิชา ทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว  เขาได้รับรางวัลและไปร่วมแสดงผลงานในหลากหลายเวที ทั้งประเทศ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และ เยอรมัน เป็นต้น สำหรับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ปฏิพัทธิ์เป็นศิลปินคนเดียวที่เลือกใช้ สัตว์สตัฟฟ์ สร้างงานศิลปะ ซึ่งผลงานภายในอาคาร อีสต์ เอเชียติก ของเขาจะพาทุกท่านเข้าสู่ห้องแล็ปแห่งอนาคตที่ประติมากรรมรูปสัตว์ต่างๆที่หากินตามริมแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็น ปลา นก และ กุ้ง แต่ละชนิดนั้นมีสภาพทางกายภาพ และ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมซึ่งได้รับผลจากการกระทำของมนุษย์  ปฏิพัทธิ์ได้เล่าเกี่ยวกับเบื้องหลังกระบวนการการใช้สัตว์สตัฟฟ์เหล่านี้ว่า เริ่มจากไปซื้อหาสัตว์(ที่ตายมาตั้งแต่แรกแล้ว) จากท้องตลาด แล้วไปทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในห้องแล็ปที่ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้คงรูป และ ไม่เน่าเปื่อย เมื่อเสร็จกระบวนการจากห้องแล็ปแล้ว ปฏิพัทธิ์จึงจะเริ่มทำงานต่อจากนั้น วันนี้เราคลิป VDO ที่ทางทีม baanlaesuan.com และ ทีม บางกอกอาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ได้ลงพื้นที่ไปเยี่ยมสตูติโอทำงานของ ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ มาฝากกันครับ

ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ ศิลปินงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ ศิลปินงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ปฏิพัทธิ์ ชัยวิเทศ ศิลปินงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

ภาพ: ณัฐวัฒน์ ส่องแสง

 

ความน่าตื่นเต้นทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากผลงานมากกว่า 200 ชิ้น ที่ทุกท่านสามารถชมได้อย่างใกล้ชิด เต็มอิ่มตลอดช่วงเวลา 3 เดือน ย้ำอีกครั้งเทศกาลศิลปะร่วมสมัย บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ต.ค. 2561 –3 ก.พ. 2562 นี้ ท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหว อัพเดทความเคลื่อนไหวล่าสุดของงานนี้ ได้ที่ baanlaesuan.com

 

เรื่อง นวภัทร


6 ศิลปินที่ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018

มารีนา อบราโมวิช กับ มนตราแห่งศิลปะที่ทำให้ทั้งโลกต้องหยุดมอง

เปิดประตู อาคาร อีสต์ เอเชียติก สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ที่น้อยคนจะรู้ว่าภายในมีอะไร


เป็นเพื่อนกันเราได้ใน Line@ : https://line.me/R/ti/p/%40slo7204x