4 ทศวรรษ 4 นักจัดสวน กับ 4 แบบสวนยอดนิยม

The Magical Rainforest พ่อมดแห่งสวนป่าร้อนชื้น – คุณวรวุฒิ แก้วสุก

ประสบการณ์ที่สะสมมานานกว่า 28 ปี ทำให้ คุณวรวุฒิ แก้วสุก นักจัดสวนสไตล์สวนป่าร้อนชื้นเข้าถึงแก่นแท้ของความเป็นธรรมชาติได้อย่างลึก ซึ้ง และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่อยู่คู่กับนิตยสารบ้านและสวนมาตลอด ระยะเวลาหลายสิบปี เคยถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกผ่านผลงานสวนสวยในงานบ้านและสวนแฟร์ 2010 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Revital” หรือ “การกำเนิดใหม่” อีกทั้งมีผลงานมากมายที่ตีพิมพ์ในนิตยสารบ้านและสวน และหนังสือของสำนักพิมพ์บ้านและสวน อาทิ “Tropical Rainforest & European Garden สวนป่าร้อนชื้นเเละสวนยุโรปสวยหวานผสานเป็นหนึ่งเดียว” ซึ่งยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

สวนป่าร้อนชื้น

ครั้งแรกกับ “บ้านและสวน”

เดิมที ผมทำงานที่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในจังหวัดระยอง รับผิดชอบงานออกแบบและดูแลรักษางานภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมของโรงงาน ก่อนผันตัวเองมาเป็นนักจัดสวน โดยเปิดบริษัทชื่อว่า “ศศิวารัย” (สายน้ำแห่งแสงจันทร์) ที่พัทยา หลังจากนั้นไม่นานผมก็ได้พบกับ คุณหมวย-ทิพาพรรณ ศิริเวชฎารักษ์ บรรณาธิการสายงานจัดสวนของสำนักพิมพ์บ้านและสวน ชักชวนให้นำผลงานมาลงทั้งในนิตยสารและหนังสือของสำนักพิมพ์บ้านและสวน เป็นที่เดียวที่ผมยินดีให้นำเสนองานจัดสวนในสถานที่ต่างๆของผมให้แฟน “บ้านและสวน” ได้ติดตามกัน ปัจจุบันก็เป็นนักจัดสวนอิสระที่รักการจัดสวนป่าร้อนชื้นโดยอิงจากธรรมชาติ เป็นหลัก เคยมีโอกาสจัดแสดงสวนโชว์ในงานบ้านและสวนแฟร์ 2007, 2008, และ 2010 ในสไตล์สวนแนวตั้ง สวนอังกฤษ และสวนทรอปิคัลเรนฟอเรสต์

สวนป่าร้อนชื้น

สวนน้ำตก

ทำไมถึงชอบสวนสไตล์ป่าร้อนชื้น

ผม ชื่นชอบและรักความเป็นธรรมชาติตั้งแต่เด็กๆ ชอบเที่ยวป่า ชอบบรรยากาศที่สงบ สีเขียวของใบไม้ ความชุ่มชื้น เสียงน้ำตกหรือเสียงน้ำไหลเอื่อยๆของลำธารทำให้รู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย โดยเฉพาะผืนป่าแถวตะวันตกอย่าง “ทีลอซู” ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นน้ำตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สรรค์สร้างทำให้ผมตะลึงทุกครั้งที่ได้เห็น แล้วก็มีอาจารย์เก่งๆที่เป็นแรงบันดาลใจอย่าง อาจารย์ชุมพล นุติประพันธ์ (อาจารย์กรุง ร้านข้าวเม่าข้าวฟ่าง) อาจารย์สุนันท์ สุกใส (ผู้สร้างตำนานป่า จังหวัดระยอง) อาจารย์ควาย นักจัดสวนที่จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้ว) และอีกหลายท่านที่เป็นแนวทางและคอยให้คำแนะนำเสมอมา โดยส่วนตัวแล้วผมเองก็ชื่นชอบดอกไม้ เช่น กล้วยไม้ กุหลาบ ไฮเดรนเยีย  และพิทูเนีย จึงทำให้มีสีสันของดอกไม้เหล่านี้ซ่อนอยู่ในผลงานการจัดสวนของผม ซึ่งเป็นสไตล์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

สวนน้ำตก

สวนป่าร้อนชื้น

เอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงตัวตน

สวน แต่ละสไตล์มีความยากง่ายและเทคนิคแตกต่างกัน ผมมีหลักพื้นฐานอยู่ 3 อย่าง ข้อแรกรู้จักชนิด นิสัย และการจัดวางกลุ่มพรรณไม้ ข้อสอง การเลือกใช้วัสดุและองค์ประกอบของสวนที่บ่งบอกถึงรูปแบบอย่างชัดเจน ข้อสาม ใช้หลักองค์ประกอบเส้นสายทางศิลปะ ทั้งเส้นตรงและเส้นโค้ง รวมถึงการผสมผสานทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน อาศัยจากการสังเกตและประสบการณ์จากการเดินป่าและการปฏิบัติงานจริง สิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดบรรยากาศความสวยงามของสวนได้มากยิ่งขึ้น การใส่เทคนิคพิเศษเข้าไปในสวนก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยดึงอารมณ์และ จินตนาการของผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี เช่น ติดตั้งระบบพ่นหมอกตั้งเวลาอัตโนมติ ซ่อนลำโพงในสวน เปิดเสียงนกร้องเหมือนได้อยู่ท่ามกลางป่าธรรมชาติ สร้างมุมน้ำตกหรือลำธารเล็กๆ มีรากไม้เทียมจำลองหรือเถาวัลย์เกาะเลื้อยอยู่ เป็นการสร้างบรรยากาศที่สงบน่าพักผ่อนและอิงตามหลักรูปแบบของธรรมชาติ ผ่านสายตาเรา แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้สึกที่ส่งต่อไปยังเจ้าของบ้าน

สวนน้ำตก

สวนธรรมชาติ

สไตล์สวนในอนาคต

คิด ว่าน่าจะเป็นเรื่องของนวัตกรรมที่มีเพิ่มมากขึ้น เช่น สวนแนวตั้งแบบใหม่ที่เน้นเรื่องการใช้ชีวิตมากขึ้น ตอบโจทย์คนที่มีพื้นที่จัดสวนน้อยลง  ยกตัวอย่างอาคารแห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เขาปลูกผักกว่า 200 ชนิด ทำนาข้าวด้านในของอาคาร ผลผลิตที่ได้ก็จะนำมาเลี้ยงพนักงาน และส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่รู้จักการเก็บเกี่ยว เพาะปลูก และผลิตอาหารด้วยตัวเอง เป็นแนวคิดที่ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก ส่วนในบ้านเราน่าจะเป็นเรื่องของฟังก์ชันการจัดสวนมากกว่า คือเน้นเรื่องการใช้งานเป็นหลัก ความสวยเป็นรอง หรืออาจมิกซ์แอนด์แมตช์สวนหลายๆแบบเข้าด้วยกันในพื้นที่เดียวกัน รูปแบบอาจเปิดกว้างมากขึ้นโดยไม่มีการจำกัดสไตล์ที่ชัดเจน ส่วนนักจัดสวนที่มีรูปแบบและเอกลักษณ์เฉพาะชัดเจนก็คงสไตล์ที่ถนัดไว้ แต่อาจมีลูกเล่นเพิ่มเข้ามา เช่น โครงสร้างทางสถาปัตย์หรือการตกแต่งภายในที่ผสมผสานรวมไปกับภูมิทัศน์โดยรวม รวมถึงเทคนิคแสงสีเสียงที่ทำให้สามารถใช้สวนได้ทุกช่วงเวลา ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้ครบถ้วนในทุกกิจกรรม

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณวรวุฒิ แก้วสุก

อ่านต่อหน้า3