บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ยาโยอิ คุซามะ

ยาโยอิ คุซามะ เจ้าแม่ลายจุด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018

บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ยาโยอิ คุซามะ
บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ยาโยอิ คุซามะ

บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (ฺBangkok Art Biennale 2018 ) ที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562 ณ สถานที่สำคัญของกรุงเทพ 20 แห่ง หนึ่งในศิลปินที่น่าจับตามากที่สุดคนหนึ่งคงหนีไม่พ้น ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) หรือ เจ้าแม่ลายจุดในตำนาน โดยในเทศกาลครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เธอจะนำผลงานมาจัดแสดงในประเทศไทย หลังจากเมื่อปีที่แล้วได้จัดนิทรรศการแบบเต็มรูปแบบครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สิงคโปร์ ซึ่งมีชาวไทยข้ามน้ำข้ามทะเลไปชมกันมากมาย วันนี้ baanlaesuan.com ขอพาคุณเข้าไปอยู่ในโลกแห่งลวดลายและสีสัน ไปรู้จักกับ 1 ใน 6 ศิลปินที่ห้ามพลาด ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 

ยาโยอิ คุซามะ ในวัยเด็ก
ยาโยอิ คุซามะ ตอน อายุ สิบปี (photo courtesy of © Yayoi Kusama / Studio Yayoi Kusama, Inc.)

ยาโยอิ คุซามะ เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี 1929 เธอเป็นลูกสาวเจ้าของฟาร์มในเมือง มัตสึโมโตะ จังหวัดนากาโนะ ประเทศญี่ปุ่น เธอเริ่มมีอาการเห็นภาพซ้อนตั้งแต่อายุ 10 ปี เธอใช้การวาดภาพเพื่อลอกเลียนสิ่งที่มองเห็นในหัว โดยงานชิ้นแรกๆ ในช่วงมัธยมปลาย เธอมักเป็นการวาดภาพสิ่งรอบตัว คน สัตว์ สิ่งของที่เห็นได้ตรงนั้น โดยนอกจากการใช้กระดาษแล้ว ก็ยังได้ลองใช้กระสอบเป็นเฟรมวาดรูปด้วย หลังจากนั้นเธอก็ได้เข้าศึกษาด้านศิลปะโดยไม่ฟังคำของแม่ที่อยากให้เธอเป็นแค่แม่บ้าน ซึ่งวิชาเอกที่เรียนเป็นด้านภาพเขียนญี่ปุ่นดั้งเดิมหรือ Nihonga ที่ Kyoto Municipal School of Arts and Crafts แต่เธอก็ไม่ได้รู้สึกชื่นชอบกับมันมากนัก

ภาพหัวหอมอันโด่งดัง ของ ยาโยอิ คุซามะ
ภาพวาดรูปหัวหอมแบบเหมือนจริง แต่อยู่บนแบ็คกราวด์ลายตารางหมากรุกที่ระนาบลวงตาด้วยลายเส้นสร้างมิติให้เหมือนกำลังเคลื่อนไหว ผลงานนี้จัดได้ว่าเป็นผลงานช่วงต้นของ ยาโยอิ (1948) ที่มีความโดดเด่นมากที่สุดงานหนึ่ง (photo courtesy of the artist)

เมื่ออายุ 21 ปี การสร้างงานในช่วงยุค 1950 งานของ ยาโยอิ เริ่มสร้างเอกลักษณ์ตัวเองผ่านผลงานชุด Infinity Nets ที่เธอใช้แรงบันดาลใจ (และ ความกังวลใจ) จากการอาการเห็นภาพซ้อนของเธอที่มีมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เธอสร้างผลงานด้วยลวดลาย pattern ซ้ำๆซึ่งเป็นรากฐานของเอกลักษณ์การสร้างงานที่ติดตัวเธอมาจนถึงปัจจุบัน อย่างเช่นผลงาน NO.2 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานชุด Infinity Nets ที่เธอใช้ฝีแปรง(ทิ่ม)วาดลงไปบนผ้าใบให้เป็นร่องจุดซ้ำๆๆกัน เพื่อปลดปล่อยพัฒนาการตัวเองจากความกลัวที่ต้องเห็นภาพหลอนที่เกิดขึ้นซ้ำแบบไม่มี่ที่สิ้นสุด (จึงเป็นที่มาของ ชื่อชุดผลงานนี้)

ผลงานของ ยาโยอิ คุซามะ
ผลงาน No.2 ของ ยาโยอิ คุซามะ ถูกประมูลไปเมื่อปี 2008 ในราคาประมาณ 186,872,625 บาท (Image: Courtesy of the artist/The Creators Project.)

หลังจากเรียนจบ เธอยังคงทำงานต่อในโตเกียว และรู้สึกเบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิตในสังคมญี่ปุ่น อยู่มาวันนึงเธอได้ไปร้านหนังสือมีสองแถวบ้าน แล้วพบกับหนังสือเล่มหนึ่งที่มีภาพวาดของ Georgia O’Keeffe เธอประทับใจภาพนั้นมาก จึงตัดสินใจเขียนจดหมายไปหา Georgia และได้รับการตอบรับ ซึ่งภายหลังเธอบอกว่าจดหมายที่ตอบกลับมาฉบับนั้นได้มอบความกล้าหาญอย่างยิ่งใหญ่ให้เธอ ที่จะย้ายไปทำงานที่ นิวยอร์คในปี 1958  โดยเธอได้นำผลงานภาพวาดเกือบสองพันภาพติดตัวเธอไปด้วยเพื่อเอาไปขายเลี้ยงชีพ และ ได้ตัดสินใจเผาภาพที่เหลือเก็บอยู่ทั้งหมดที่บ้านในเมือง มัตสึโมโตะ เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างแท้จริงที่ นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ยาโยอิ คุซามะ
ยาโยอิ คุซามะ บนฐานของงานประติมากรรมจัดวาง My Flower Bed (1962) ที่ นิวยอร์ค , c.1965 (photo courtesy of © Yayoi Kusama / Studio Yayoi Kusama, Inc.)

ที่นิวยอร์ค อิสระในการทำงานของเธอมีเพิ่มมากขึ้น เรียกว่าเป็นฮิปปี้ตัวจริงก็ว่าได้ จากเดิมที่เคยเขียนรูปจากสิ่งรอบตัวประกอบกับความหลอนที่เห็นในหัว กลายมาเป็นสามารถแสดงออกสิ่งที่ตัวเองคิดและรู้สึกได้อย่างอิสระ รวมทั้งการใช้ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในงานศิลปะด้วย รวมทั้งการเริ่มต้นทำงานในสื่อ ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้ง ศิลปะจัดวาง การแสดงสด ทำหนังสั้น ไปจนถึงงานเขียนเรื่องสั้นและบทกวี

การแสดงสดของ ยาโยอิ คุซามะ "Self Obliteration by Dots 1968
การแสดงสดของ ยาโยอิ คุซามะ “Self Obliteration by Dots 1968 ” ขณะที่เธอทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา (photo courtesy of © Yayoi Kusama, Yayoi Kusama Studio Inc)

 

ผลงานของ ยาโยอิ คุซามะ
ผลงาน Insects, 1980 งานคอลลาจผสมกับการเพ้นต์ด้วยสีพาสเทลและสีหมึกบนกระดาษ (photo courtesy of the artist)


เมื่ออายุได้ราว 43 ปี ยาโยอิ คุซามะได้กลับมาอยู่ที่ญี่ปุ่นอีกครั้งเนื่องจากสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แย่ลง ในช่วงนี้เองที่เธอเน้นสร้างผลงานวรรณกรรม และ งานประพันธ์แนวเหนือจริงเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เธอยังได้ผันตัวเองไปเป็นนักค้างานศิลปะแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก และในปี 1977 เธอได้เข้ารักษาอาการทางจิต ที่โรงพยาบาล Seiwa ซึ่งต่อมาเธอสมัครใจพักอยู่ที่นั้นเป็นการถาวร และ มีสตูดิโอทำงานใกล้ๆในย่านชินจุกุ กรุง โตเกียว 

ทุกวันนี้หากพูดถึงยาโยอิ แน่นอนว่าผลงานชิ้นแรกๆ ที่หลายคนคิดถึงคือฟักทองลายจุด ซึ่งจริงๆแล้วเธอเริ่มสร้างผลงานฟักทองมาตั้งแต่ปี 1946 สมัยที่เธอยังอยู่ที่ เมือง มัตสึโมโตะ โดยเธอมีความผูกพัน และ ชื่นชอบในรูปทรงของฟักทองมานานแล้ว เธอเคยกล่าวไว้ถึงเรื่องนี้ว่า

“ฉันรักฟักทอง เพราะรูปทรงของมันดูตลกดี และ ยังให้ความรู้สึก อบอุ่น และ มีลักษณะคล้ายมนุษย์ ความตั้งใจของฉันที่อยากจะทำงานชุดฟักทองจะยังคงมีอยู่ต่อไป มันเป็นความรู้สึกกระตือรือร้นราวกับว่าฉันยังเป็นแค่เด็กน้อยคนหนึ่ง”

นอกจากโลกของศิลปะแล้ว ในปี 2012 ยาโยอิ ยังได้เขย่าวงการแฟชั่นระดับโลก เมื่อเธอได้ไปสร้าง Collection ร่วมกับแบรนด์เครื่องหนังสุดหรูจากฝรั่งเศสอย่าง Louis Vuitton ที่นอกจากจะหยิบลายจุดสีแดงสดมาแต่งแต้มบนกระเป๋า และ เซ็ตเสื้อผ้าแล้ว บุคลิกผมบ๊อบหน้าม้าของเธอยังเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอคอลเล็กชั่นนี้ด้วย วันนี้เรามี วิดิโอ Timelapse จาก Selfridges ห้างชื่อดังในลอนดอน ประเทศอังกฤษมาฝากกัน

สำหรับงาน บางกอก อาร์ต เบียนนา เล่ 2018 ทุกท่านจะได้พบกับ บรรดาฟักทองลายจุดที่เลื่องลือไปทั่วโลก ที่กำลังเดินทางมาให้ชมกันอย่างใกล้ชิดในอีกไม่กี่วันนี้ ที่ เซ็นทรัลเวิลด์ และ สยามพารากอน ตั้งแต่วันที่  19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562 

Yayoi Kusama

Yayoi Kusama
งานประติมากรรมจัดวาง ฟักทองเป่าลม “Inflatable Pumpkins Balloons” ซึ่งจะจัดแสดงที่ เซ็นทรัลเวิร์ล

Yayoi Kusama

ผลงาน ฟักทองสีเงินพื้นผิวสไตล์งานโมเสก  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Silver Pumpkin)
ซึ่งจะจัดแสดงที่ สยามพารากอน

 

ผลงาน ฟักทองสีแดงลายจุดดำ  “I Carry On Living With The Pumpkins” (Red Pumpkin)
ซึ่งจะจัดแสดงที่ สยามพารากอน

เรื่อง: Skiixy

เครดิตภาพ (ภาพ ยาโยอิ  คุซามะ บนสุด และ ภาพผลงานที่จะนำมาจัดแสดงในประเทศไทย):  YAYOI KUSAMA Courtesy of Ota Fine Arts, Tokyo