ศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio

ศรัณย์ เย็นปัญญา และ 56thStudio กับ 7 ปีของบทบาทที่มากกว่าการเป็นนักออกแบบ

ศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio
ศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio

7 ปีมาแล้วที่ 56th Studio นำโดย ศรัณย์ เย็นปัญญา เริ่มต้นผลิตงานออกแบบสีสันจัดจ้าและรูปลักษณ์สุดแสบ แต่หากจะพูดถึงเฉพาะการทำงาน “ออกแบบ” ของสตูดิโอแห่งนี้ก็คงจะเป็นการมองแค่ด้านเดียว เพราะงานของ 56th Studio นอกจากจะเห็นเป็นรูปธรรมอย่างเฟอร์นิเจอร์ โปรดักต์ดีไซน์ หรือกราฟิกดีไซน์ งานของพวกเขายังพ่วงมากับการทำงานสร้างสรรค์อื่น ๆ เช่น การสร้างแบรนด์ สไตล์ลิ่ง หรือออกแบบภาพลักษณ์โดยรวมให้สินค้า หรือห้างร้านต่าง ๆ เป็นที่น่าจดจำ ศรัณย์ เย็นปัญญา

ศรัณย์ เย็นปัญญา 56thStudioศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio

ด้วยการทำงานที่ผสมผสานและหลากหลาย 56th Studio ได้นิยามการทำงานของพวกเขาว่าเป็นการ “เล่าเรื่อง” โดยเฉพาะผู้ก่อตั้งอย่างคุณศรัณย์ เย็นปัญญา หลังจากศึกษาจบจากสถาบัน Konstfack – University College of Arts, Crafts and Design ด้าน Storytelling โดยตรงจากสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน คุณศรัณย์ได้กลับมาทำงานสร้างสรรค์ในบ้านเกิด โดยมีเรื่องราวความโกลาหลรอบตัวในเมืองไทยเป็นแรงขับเคลื่อนให้เเก่การทำงานของเขา

ศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio

นอกจากนิยามตัวเองว่าเป็นนักเล่าเรื่อง เขายังนิยามตัวเองว่าเป็น Underdog หรือหมารองบ่อน ทั้งจากประสบการณ์ชีวิต การมองเห็นปัญหาในสังคม ความสนใจ รวมถึงรสนิยมต่อสิ่งต่าง ๆ เราจึงจะเห็นได้จากผลงานที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักทั้งการนำลังพลาสติกใส่ผลไม้มาทำเป็นคอลเล็กชั่นเก้าอี้ “Cheap Ass Elites” ผลงานแรก ๆ ที่กระตุกความสนใจผู้คน จนสร้างชื่อเสียงให้เขาเป็นที่รู้จัก

ศรัณย์ เย็นปัญญา 56thStudio
เหล่าเก้าอี้ร้านก๋วยเตี๋ยว “Street Furniture” วางเรียงอยู่ในสตูดิโอสีสันจัดจ้า | https://www.56thstudio.com/street-furniture

หรือการเก้าอี้ร้านก๋วยเตี๋ยวใหม่ในชื่อ “Street Furniture” ที่จัดแสดงในเทศกาลงานออกแบบ Bangkok Design Week 2018 และงานอื่น ๆ อีกมากมาย แต่นอกจากผลงานออกแบบเหล่านี้แล้ว เขายังมีความสนใจที่จะก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจอย่างการออกแบรนด์ของตัวเอง หรือร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่น มิใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นความต้องการจะผลักดันวงการออกแบบให้มีความสร้างสรรค์เเละหลากหลายยิ่งขึ้น ในอันที่จะช่วยสร้างประโยชน์ให้นักออกแบบรุ่นต่อ ๆ ไปได้

จึงน่าสนใจที่จะมาทำความรู้จักการทำงานของเขาให้มากขึ้น รวมถึงแนวคิดต่อแนวทางการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร

ศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio

คุณค่าที่คนมองไม่เห็น

“เราโตมาในนนทบุรี ไม่ใช่ในย่านสร้างสรรค์ที่หรูหราอะไร หรือเกิดมารวยเลย เรามองว่าเราเป็น ‘หมารองบ่อน’ เสมอ เป็น Underdog เราต้องมาเรียนรู้ให้รู้ก่อนว่างานออกแบบที่บอกว่าเป็น ‘Luxury’ มันเป็นยังไง และพอเรารู้แล้วว่า อ๋อ แบบนี้เรียก ‘Luxury’ เหรอ อย่างห้องตัวอย่างในคอนโดฯ ประมาณ 80% ที่หน้าตาเหมือนกันหมด เราก็เลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น เราจะพิสูจน์ให้ดูว่า ‘Luxury’ จริง ๆ มันอยู่ที่ตรงไหน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน”

“มีคำพูดว่าศิลปินส่วนมากงานชิ้นแรกจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกทางเดินของเขาว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่เขาสนใจ เราก็เลยคิดว่างานนี้ (Cheap Ass Elites) เป็นงานที่เป็นที่รู้จักเยอะที่สุด งานนี้มันเป็นตัวตั้งเข็มทิศให้เรา ตอนนั้นคนที่ทำอะไร  ‘Cheap Cheap’ แต่ ‘Chic Chic’ ยังไม่มี ตอนนี้เวลาใครเดินห้างและเห็นวิธีการตกแต่งแนวนี้ ชอบมาถามว่านี่ฝีมือเราหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช่”

ศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio
“Cheap Ass Elites” เก้าอี้จากลังพลาสติกใส่ผลไม้ ผลงานที่กระตุกความสนใจผู้คนจนสร้างชื่อเสียงให้ศรัณย์ เย็นปัญญา เป็นที่รู้จัก | https://www.56thstudio.com/cheap-ass-elites-part-2

ความเชื่อนอกกระแส

“คนจะชอบบอกว่าไม่มีอะไรใหม่อีกแล้วในโลกนี้ ก็ใช่ มันไม่มีอะไรใหม่ในโลกนี้แล้วละ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะหยุดพยายาม ไม่ได้เป็นไฟเขียวว่า พอ ไม่มีอะไรใหม่ เราก็ไปหยิบอะไรบน Pinterest มาปรับนิดหน่อยก็ได้ ต่อให้ในทักษะเดียวกัน ปากกาเดียวกัน ถ้าคุณสื่อสารมาจากตัวตนของคุณ ตัวตนของคุณจะไม่มีทางซ้ำกับคนอื่นได้เลย คิดเหมือนกันแค่ไหน แต่สื่อสารมาจากความเชื่อคนละแบบยังไงมันก็ไม่เหมือน เพียงแต่คุณต้องสื่อสารความเชื่อของคุณให้ได้ เราไม่ควรสร้างบรรทัดฐานว่าเราไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์อะไรใหม่ แค่ทำตามสิ่งที่อยู่ในกระแสนิยม

“เราไม่เคยให้ค่ากับสไตล์เลย ลายเซ็นเราก็ไม่เคยหา เราไม่เคยดั้นด้นว่านี่คือ ‘Very ศรัณย์เย็น’ แต่ว่าเวลาทำงานกับลูกค้าเนี่ย เราเอาปัญหาของเขาขึ้นต้นก่อน ถ้าเราเอาสไตล์ สมมติเรียกว่า ศรัณย์เย็น ขึ้นต้นไปครอบไว้ เราไม่มีทางที่จะขายงานผ่าน ถ้าเขาซื้อลายเซ็นน่ะ เราจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ว่าสิ่งที่เขาซื้อจากเรา เขาซื้อวิธีการแก้ปัญหา วิธีการทำงานร่วมกัน ครั้งหน้าเขาก็ทำกับเราได้อีก เพราะว่าเราเปลี่ยนได้ตลอด แล้วเราก็เชื่อในการ  ‘แก้ปัญหา’ สุด ๆ เลย

“แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือความเชื่อของตัวเอง ความเชื่อที่ว่าเราไม่ให้คุณค่ากับสไตล์ เราให้คุณค่ากับ Point of view เราว่าคุณค่าของนักสร้างสรรค์อยู่ที่ความเชื่อ ซึ่งก็ตรงกับเรื่องของแบรนดิ้ง ถ้าใครเรียนเรื่องแบรนดิ้งก็จะรู้ว่าแบรนดิ้งคือความเชื่อ เราก็เลยคิดว่าคนอาจจะมองว่าเราในแบบไหนก็แล้วแต่ แต่ว่าสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือข้อความที่สื่อออกมา เราเชื่อว่า ‘เรื่อง’ มีอำนาจในการเปลี่ยนคน ในการเปลี่ยนธุรกิจ คือเรามองตัวเองว่าเป็นหมารองบ่อน แล้วเราก็เป็นเช่นนี้ไปตลอด เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนมองว่าไม่มีค่า หรือชุดความคิดที่ ‘ไม่ใช่’ เนี่ย เราก็จะชอบกบฏ แล้วก็ต่อต้านว่า มัน ‘ใช่’ “

ศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio

ส่งต่อความสร้างสรรค์

“เราเริ่มเบื่อและเริ่มไม่เชื่อว่า ทำไมแพลตฟอร์มของงานสร้างสรรค์มันถึงต้องไปกระจุกกันอยู่ในห้างใหญ่ หรือแบรนด์ใหญ่ ๆ เท่านั้น คนจ้างเราเพราะเป็นกระแส ใช้แล้วเก๋ ซึ่งเราไม่เชื่อว่านั่นทำให้เราอยู่ได้นาน ทำให้เราเริ่มทำงานหัตถกรรม เราเริ่มอินกับการได้ทำงานกับชาวบ้าน แล้วเราก็พบว่าจริง ๆ หัตถกรรมเป็นเรื่องการเมือง มันเกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ค่อนข้างสูง เป็นเรื่องโครงสร้างที่ทำให้งานคราฟต์ไทย สามารถสร้างรายได้กระจายสู่รากหญ้า ไม่ไปกระจุกอยู่กับแค่คนบางคน”

“อีกเรื่องหนึ่งคือ สำหรับดีไซเนอร์ตัวเล็ก ๆ หรือคนที่เรียนจบใหม่ มันไม่มีแพลตฟอร์มอะไรรองรับเขา ไม่มีพิมพ์เขียวการเดินทาง นอกจากการเข้าไปทำงานประดับห้างฯ หรือออกมาทำแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งเป็นการทุบกระปุกอย่างเดียว ทั้งที่ในต่างประเทศไม่ใช่แบบนี้ มันมีการแบบเสนองงานกับผู้ลงทุน มันมีระบบ มีแพลตฟอร์ม ที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ในความรู้สึกเราสิ่งที่เราจะทำหลังจากนี้คือการไม่มีค่าย ไม่มีก๊ก ไม่มีเหล่า ถ้าคุณเป็นดีไซเนอร์ คุณต้องรู้จักการป่าวประกาศเหมือนเป็นโทรโข่ง รู้จักจะสื่อสารกับสื่อ รู้จักว่าจะเก็บเกี่ยวเงินเข้ากระเป๋าเขายังไง เราก็เลยพยายามสร้างแพลตฟอร์มตรงนี้ขึ้นเป็นแพลตฟอร์มระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ”

“ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับคราฟต์เลย คราฟต์ต้นน้ำคือชาวบ้าน พอไม่มีดีไซน์ก็อยู่กลางน้ำ ต้นน้ำก็ไปขายปลายน้ำไม่ได้ เพราะไม่รู้จะไปขายที่ไหน หรือในห้างใหญ่ที่งานเก๋มาก แต่ก็ไม่สามารถไปควบคุมชาวบ้านได้เพราะเขาติดต่อได้แต่ผ่านการฝากขาย เพราะฉะนั้นของก็รับมาเฉพาะที่ชาวบ้านยอมวางบิลสามเดือน ก็เป็นวงจรอุบาทว์ไม่จบสักที”

“เพราะปัญหาโครงสร้างจริง ๆ ก็ลึกกว่านั้น อย่างสาเกญี่ปุ่นที่พัฒนาจนเป็นวัฒนธรรมเขา ทุกชุมชนจะมีเหล้าสาเก มีเหล้าชุมชน มีเหล้าบ๊วยต่าง ๆ ทุกคนทำได้อย่างอิสระ ขณะที่สุราชุมชนเรา ให้ทำกันอยู่เท่านี้นะ นิดหน่อย ถ้าทำเป็นเชิงพาณิชย์ก็ถูกห้าม แล้วมันถูกห้ามเพราะอะไร ถ้าเราค้นคว้าลึกก็จะรู้ ซึ่งน่าเบื่อมาก และถึงแม้ว่าเราไปซื้อเพราะสงสารคุณป้า มันก็ซื้อได้ครั้งเดียว ไม่มีทางยั่งยืน ถ้ามันไม่เก๋ ไม่สวยจริง ๆ มันก็จะมีไม่มีกี่คนที่ได้เงินจากเราในฐานะงานคราฟต์ มนุษย์สร้างสรรค์ก็จะรู้ว่ามันไม่มีทางเลยที่เราจะเห็นอะไรใหม่ ๆ ถ้าเราไม่เข้าไป Disrupt โครงสร้าง ดังนั้นภารกิจนี้จะเป็น Lifetime Mission ก็ว่าได้ แต่อย่างน้อยเราเป็นหินก้อนเล็ก ๆ ที่สร้างแรงกระเพื่อมก็ยังดี”

ศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio ศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio

Problem Solving

“จริง ๆ ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ยุค ‘Transformation’ ตอนนี้ลูกค้าหรือผู้ประกอบการที่ทำงานร่วมกับเรา คือคนที่ต้องการให้เราไปช่วยแก้ปัญหา หรือเปลี่ยนอะไรบางอย่างด้วยงานความคิดสร้างสรรค์ อย่างโรงงานทอผ้าที่ทำด้วยกันมาปีกว่า ๆ จนได้เป็นหุ้นส่วนกัน มันจึงเป็นความสัมพันธ์ที่มันไม่ฉายฉวย เราเข้าไปดูลึกจริง ๆ ว่าการลงทุนเขามาจากตรงไหน หรือจะใช้กระบวนการสร้างสรรค์ช่วยอย่างไรได้บ้าง”

“เรามีความเชื่อเดิมตั้งแต่ทำงานปีแรกคือ ‘สิ่งที่คุณมองข้ามว่าไม่มีค่า คุณมองว่าเชย ฉันจะทำให้ดูว่ามันทำให้ดีได้ ซึ่งเรื่องนี้ถูกพูดซ้ำตลอด ที่นักลงทุนอาจจะเห็นว่าเราอินดี้ เอาตะกร้าพลาสติกมาหั่น แต่พอเข้าปีที่ 7 เขารู้แล้วว่าเราได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานต่าง ๆ งานก็ยังประหลาดเหมือนเดิมไม่ได้ลดดีกรีลง เพียงแค่ก้าวขาเข้ามาในโลกธุรกิจมากขึ้น มันทำให้เราเติบโต และเข้าใจธุรกิจมากขึ้น”

“และตอนนี้เรามี In-house แบรนด์ ชื่อ ‘Citizen of Nowhere’ 100% เป็นงานที่ผลิตจากชาวบ้านจากเหนือใต้ออกตกของเราเสื่อกระจูดทางภาคใต้ที่เป็น war zone มีความขัดแย้งหรือภาคอีสานก็เยอะ เพราะว่าอีสานเนี่ยคราฟต์มันถูกจริตเรา เพราะมันสนุก และ cheap มันก็มี accent อะไรบางอย่าง แบรนด์นี้เราควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำ ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ หรือทำงานต้นน้ำร่วมกับชาวบ้าน มาถึงกลางน้ำก็คือการแปรรูป การดีไซน์ก็อยู่ที่เรา และเราก็ควบคุมเรื่องปลายน้ำเอง เราไม่วางขายกับห้างเราใช้วิธีป็อปอัพ ถ้าทำงานร่วมกับห้างเราก็ใช้วิธีการจัดนิทรรศการป็อปอัพสโตร์ที่มันมีพื้นที่เล่าเรื่อง เพราะเรารู้สึกว่าคราฟต์มันจำเป็นต้องควบคุมทั้งหมด ไม่อย่างนั้นมันจะไม่สำเร็จ ถ้าเดิน OTOP ที่งานของเมืองทองฯ ก็จะไม่เจอของแบบเรา เพราะเราต้องการเจาะตลาดใหม่ สร้างเรื่องใหม่ ภาษาใหม่ให้กับชุดความรู้เดิม ๆ”

ศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudioศรันย์ เย็นปัญญา 56thStudio

เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: นันทิยา, 56thStudio