K22 HOUSE บ้านสไตล์โมเดิร์นของเรา 2 GEN

ใครว่าครอบครัวที่มีสองเจเนอเรชั่นระหว่างรุ่นพ่อแม่กับรุ่นลูกจะอยู่ด้วยกันอย่างลงตัวไม่ได้ วันนี้เราขออาสาพาไปทำความรู้จักกับ บ้านสไตล์โมเดิร์น สุดคูลของสองเจน แม้จะต่างความคิด ต่างไลฟ์สไตล์ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ ด้วยแนวคิดการออกแบบที่ผสมผสานทุกความต้องการให้สมดุลและลงตัว จนเกิดเป็น บ้านสไตล์โมเดิร์น ดีไซน์เรียบง่ายแต่แฝงกิมมิกและฟังก์ชันที่ตอบสนองการใช้งาน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความรักความอบอุ่นของสายสัมพันธ์ในครอบครัวแบบไทย ๆ ในรูปแบบครอบครัวขยายได้อีกด้วย

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Junsekino A+D

บ้านสไตล์โมเดิร์น หลังนี้เป็นของครอบครัวอนันต์รัตนสุข โดยมีชื่อเรียกเก๋ ๆ ว่า “K22″ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากสามพี่น้องที่ต้องการบ้านใหม่เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้า แทนการย้ายออกไปอยู่คอนโดมิเนียม โดยคุณกุ๊ก- กุลนุช และคุณกู๊ด- กุลธวัช อนันต์รัตนสุข สองพี่น้องดีไซเนอร์เจ้าของบ้าน ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของการออกแบบและตกแต่งให้ฟังว่า

บ้านสไตล์โมเดิร์น

          “K ย่อมาจากอักษรตัวแรกของชื่อสมาชิกบ้านอนันต์รัตนสุข คือคุณพ่อกิติพงศ์ และลูก ๆ สามคนพี่น้อง ได้แก่ กุ๊ก-กุลนุช, เกิ้ล-กุลวุฒิ และกู๊ด-กุลธวัช สำหรับเลข 22 มาจากบ้านเลขที่ทับยี่สิบสอง”

เดิมทีครอบครัวของคุณกุ๊กอาศัยอยู่ในหมู่บ้านย่านห้วยขวาง และได้ซื้อที่ดินพร้อมบ้านเก่าในหมู่บ้านเดียวกันไว้ เมื่อต้องการมองหาทำเลสำหรับสร้างบ้านหลังใหม่ที่นี่จึงเหมาะสมทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่สะดวกสาย ไม่ไกลจากบ้านหลังเดิมมากนัก แถมยังไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตให้เข้ากับชุมชนใหม่ และเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการสำหรับสมาชิกทุกคนในบ้าน  คุณกุ๊กและคุณกู๊ดต่างเล่าว่าทั้งคู่ได้ช่วยกันรวบรวมเรเฟอเรนซ์และสรุปคอนเซ็ปต์ เพื่อให้สถาปนิกมองเห็นภาพและเข้าใจในสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการได้ง่ายขึ้น โดยมี คุณจูน เซคิโน แห่ง Junsekino Architect and Design มาช่วยสานต่อและดีไซน์บ้านหลังนี้ให้

“เราได้นำความต้องการทั้งหมดของทุกคนในบ้านมารวมกัน โดยมองภาพบ้านให้เป็นภาพเดียวกันก่อน แล้วหาทีมสถาปนิกที่เข้าใจคอนเซ็ปต์เพื่อช่วยสร้างภาพนี้ให้เป็นจริง โดยกู๊ดรับหน้าที่ออกแบบตกแต่งภายใน กุ๊กและกู๊ดจะคุยกับสถาปนิกและจัดหาวัสดุตกแต่ง ทุกอย่างอยู่ภายใต้งบประมาณกับความต้องการของคนในครอบครัว แล้วจึงค่อยคิดวิธีจัดสรรว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างออกมาคุ้มค่าที่สุด”

จากความเข้าใจกันดีระหว่างสถาปนิกกับเจ้าของบ้าน งานที่ออกมาจึงค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ โดยสถาปนิกได้คิดถึงฟังก์ชันการใช้งานด้วยการแบ่งโซนนิ่งให้เหมาะกับแต่ละคนก่อนเป็นอันดับแรก  แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนหน้าตาของบ้านจนได้หน้าตาของบ้านที่ทุกคนแฮปปี้

“ถ้าบ้านเรามีรูปทรงเป็นกล่อง ๆ มันอาจจะดูเป็นออฟฟิศเกินไป คุณพ่อคุณแม่คงไม่ชอบ เพราะบ้านในความหมายในเจเนอเรชั่นของเขาต้องมีลักษณะเป็นหน้าจั่ว ส่วนเราสามพี่น้องชอบสไตล์มินิมัล แต่ไม่ถึงกับมินิมัลจัด เราจึงบริฟคุณจูนว่าเราอยากได้บ้านที่มีหน้าจั่วสไตล์โมเดิร์น ก็เลยได้จั่วอย่างที่เห็น เป็นจั่วที่มีสไตล์และไม่เชย”

ชมห้องนอนชั้น 2 คลิก