House C กึ่งกลางระหว่างธรรมชาติ และพื้นที่ส่วนตัว

จะเป็นอย่างไรเมื่อ “บ้าน” อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ และผืนดินอย่างแท้จริง นี่คือบ้านในเชียงใหม่ ที่ตั้งใจสัมผัสธรรมชาติอย่างไร้รอยต่อ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Bangkok Tokyo Architecture

House C บ้านหลังนี้ ในเชียงใหม่ โดยเป็นความต้องการของเจ้าของบ้านที่อยากให้การอยู่อาศัยนั้นมีอิสระ และผสานเข้ากับความเป็นธรรมชาติโดยรอบผ่านองค์ประกอบเรียบง่ายของตัวอาคาร บ้านหลังนี้มีห้องรับแขกที่พื้นเป็นดินอัด มีห้องทุกห้องที่เห็นกันได้หมด มีโครงสร้างที่แทบไร้การปรุงแต่ง และนั่นคือหน้าที่ของสถาปัตยกรรมที่เลือกจะทำหน้าที่ในการเป็นที่อยู่อาศัยที่ปรุงแต่งน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างถึงที่สุด

#ออกแบบโดยผสานธรรมชาติเข้าเป็นส่วนหนึ่งอย่างไร้รอยต่อ บ้านหลังนี้มีโจทย์ตั้งแต่แรกเริ่มคือการออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยผสานไปกับธรรมชาติโดยรอบ การออกแบบโครงสร้างทั้งหมดจึงถูกคิดขึ้นโดยไม่ยัดเยียดองค์ประกอบที่มาจนไปกลบความสัมพันธ์โดยรอบเกินไป ทั้ง ผืนดิน ร่มไม้ สัตว์น้อยใหญ่ และธรรมชาติโดยรอบล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรมหลังนี้ด้วยเช่นกัน เป็นที่อยู่อาศัยที่สามารถปรับตัวไปตามสภาวะอากาศได้ ด้วยความเรียบง่ายของโครงสร้าง และความยืดหยุ่นของผังการใช้งานอาคาร บ้านหลังนี้จึงช่วยสร้างความเป็นไปได้ที่น่าสนใจให้การใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย เรียงร้อยไปกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบตามที่ตั้งใจไว้ เพราะเมื่อมองจากภายนอก บ้านหลังนี้จะดูแอบซ่อนเรียบเกลี้ยงเหมือนกล่องที่ถูกปิดไว้ แต่เมื่อเปิดผนังที่ทำหน้าที่เป็นประตูใหญ่ออก พื้นดินลานกลางบ้าน แม่น้ำ ธรรมชาติ และถนนจะต่อเชื่อมหลอมรวมเป็นพื้นที่เดียวกันอย่างไร้รอยต่อเลยทีเดียว

#สัมผัสผืนดิน ห้องรับแขก หรือพื้นที่อเนกประสงค์ ณ ลานกลางบ้าน อาจเรียกได้ว่าเป็น Gathering Space ตามศัพท์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ และในบ้านหลังนี้นั้น พื้นที่ระหว่าง สองปีกของตัวบ้าน คือพื้นดินที่ใช้เทคนิคการอัดดินให้กลายเป็นชานบ้านแบบญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า โดมะ พื้นดินนี้เป็นทั้งห้องรับแขก และพื้นที่ส่วนกลางของบ้านไปพร้อมกัน เป็นความตั้งใจที่จะสอดแทรกความเป็น “ภายนอก” เข้าสู่ภายใน และเชื่อมโยงบ้านหลังนี้กับธรรมชาติโดยรอบได้อย่างดี

พื้นดินอัดนี้ เป็นการออกแบบที่ทำให้บ้านมีการปรับตัวไปตามสภาวะอากาศได้อย่างน่าสนใจ ในหน้าร้อนนั้น ก็สามารถที่จะพรมน้ำเพื่อให้ลมที่พัดผ่านได้รับความชื้นจากพื้นดินเป็นไอเย็นเข้าสู่ตัวบ้านช่วยคลายร้อนได้

#บ้านที่ปรับตัวไปตามการอยู่อาศัย ตามอิสระ และความเป็นไปแห่งการใช้ชีวิตภายใต้หลังคาบ้านที่เป็น Slab คอนกรีตเสริมเหล็ก ได้ครอบคลุมพื้นที่สามส่วน ของบ้านหลังนี้เอาไว้อย่างครบถ้วน มีโครง Slan และ Solar Cell ช่วยบดบังแสงแดด ลดความร้อนที่ด้านบน แต่ผังพื้นอาคารที่ด้านล่างนั้นออกแบบให้เป็นผังเปิดที่เชื่อมโยงทุกส่วนของบ้านได้อย่างลื่นไหล ไม่จำเพาะพื้นที่ใด ๆ อย่างบังคับกะเกณฑ์จนเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย

นอกจากนี้ ในส่วนของการตกแต่งก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย ตามความต้องการของการใช้งาน เป็นเหตุเป็นผล ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้พื้นที่ต่าง ๆ ของบ้าน ได้เติบโต ตามครรลองชีวิต การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นี่จึงเป็นบ้านที่ทั้งเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และสร้างการอยู่อาศัย “อย่างเป็นธรรมชาติ” ด้วยความอ่อนน้อม เรียบง่าย และชัดเจนที่สุดหลังหนึ่งเลยทีเดียว

ภาพ Ratthee Phaisanchotsiri

เรื่อง Wuthikorn Sut