ระบบอัตโนมัติในสวน เหมาะสำหรับคนไม่มีเวลา

ปัจจุบันมี ระบบอัตโนมัติในสวน และอุปกรณ์ต่างๆ มากมายที่ทำให้การดูแลสวนง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะ “Internet of Things (IoT)” หรือ “สิ่งที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต”

ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างสะดวก เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์การแสดงผล หรือเครื่องจักร รวมถึง ระบบอัตโนมัติในสวน อีกทั้งยังสามารถควบคุม สั่งการ หรือรวบรวมข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ 

บ้านและสวน จึงจะมาแนะนำ 4 อุปกรณ์ ที่จะช่วยให้คุณมีสวนสวยที่ดีต่อกายและดีต่อใจ เหมาะสำหรับคนไม่มีเวลา ไม่อยู่บ้านหลายวัน หรือคนที่ต้องดูแลบ้านจากระยะไกล

1. เซนเซอร์ (Sensor)

อุปกรณ์ที่มีความสามารถในการตรวจจับหรือวัดค่าต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมแบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีการป้อนข้อมูลหรือควบคุมโดยมนุษย์ในทุกขั้นตอน จากนั้นเซนเซอร์จะทำหน้าที่แปลงสิ่งที่ตรวจจับได้เป็นสัญญาณไฟฟ้าเพื่อนำไปอ่าน วัด ประมวลผล หรือส่งสัญญาณต่อไปยังระบบหรืออุปกรณ์อื่นๆ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อแสดงเป็นผลลัพธ์ที่ต้องการแบบเรียลไทม์ ซึ่งเซนเซอร์ที่มักนำมาใช้ในพื้นที่สวน เช่น 

  • เซนเซอร์ในดิน: สำหรับตรวจสอบระดับความชื้น อุณหภูมิ และสารอาหารในดิน รวมไปถึงการวัดความเป็นกรด-ด่างของดิน เพื่อช่วยวางแผนการใช้น้ำ การรักษาระดับ pH ที่เหมาะสมสำหรับพืชชนิดต่างๆ ช่วยป้องกันการรดน้ำไม้ให้มากเกินหรือน้อยเกินไป และลดการใช้น้ำโดยเปล่าประโยชน์
ระบบอัตโนมัติในสวน
  • เซนเซอร์อากาศ: สำหรับวัดอุณหภูมิ ความชื้น ทิศทางลม ความเร็วลม ปริมาณน้ำฝน และปริมาณความเข้มของแสงแดด เพื่อช่วยในการปรับตารางการรดน้ำให้เหมาะสม อีกทั้งเซนเซอร์บางตัวยังมีฟังก์ชันพิเศษสามารถวัดคุณภาพอากาศจากปริมาณฝุ่นละอองหรือสารมลพิษ หรือเชื่อมต่อเข้ากับระบบการพยากรณ์อากาศ เพื่อเพิ่มความแม่นยำได้อีกด้วย โดยเซนเซอร์อากาศนี้จะเหมาะกับการปลูกต้นไม้ในโรงเรือนที่ต้องการควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตมากเป็นพิเศษ เช่น ระบบพ่นหมอก ระบบทำความร้อน หรือหลอดไฟในโรงเรือนปลูกพืช
  • เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว: เซนเซอร์ที่วัดการเคลื่อนไหวสามารถใช้ตรวจจับการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตต่างๆ โดยการนำมาใช้งานในสวน เช่น ไฟเซนเซอร์สำหรับติดทางเดิน เพื่อให้ส่องสว่างทันทีเมื่อตรวจจับพบความเคลื่อนไหวโดยที่เราไม่ต้องพยายามหาสวิตช์เปิดปิด หรือหากเป็นการเคลื่อนไหวของสัตว์หรือแมลงในสวน ก็อาจเป็นการส่งสัญญาณแจ้งเตือนหรือทำงานร่วมกับอุปกรณ์ขับไล่ เพื่อให้สามารถจัดการกับสัตว์ที่ไม่ได้รับเชิญหรืออาจเป็นอันตรายได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ เซนเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวอาจใช้เป็นส่วนหนึ่งในระบบควบคุมการเคลื่อนไหวของอุปกรณ์ที่ใช้ในการดูแลสวนอื่นๆ เช่น เครื่องตัดหญ้าอัตโนมัติ เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของสิ่งกีดขวางและหลีกเลี่ยงการชนหรืออุบัติเหตุได้อีกด้วย
ระบบอัตโนมัติในสวน

2. ไทม์เมอร์ (Timer) 

การรดน้ำต้นไม้นับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลสวน ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องรดน้ำเป็นประจำสม่ำเสมอทุกเช้าหรือเช้า-เย็น เพื่อให้ต้นไม้ฟูสวยสดชื่น แต่หลายคนอาจไม่สะดวกในการรดน้ำหรือรดน้ำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของต้นไม้อุปกรณ์การตั้งเวลา จึงเป็นตัวเลือกที่ช่วยให้ต้นไม้ได้รับปริมาณน้ำที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตได้ในทุกๆ วัน พร้อมๆ กับการช่วยประหยัดเวลาและประหยัดแรงในการดูแลสวน โดยจะใช้ในการควบคุมและกำหนดเวลาการทำงานอุปกรณ์บางอย่าง ให้เป็นไปตามที่ผู้ใช้ต้องการตามเงื่อนไขและเวลาที่ตั้งไว้แบบอัตโนมัติ ส่วนใหญ่จึงนิยมใช้กับการตั้งเวลารดน้ำต้นไม้ อย่าง ระบบสปริงเกลอร์ ระบบน้ำหยด ระบบพ่นหมอก หรือระบบน้ำของหัวน้ำตก  ซึ่งเครื่องตั้งเวลารดน้ำแต่ละรุ่นก็สามารถตั้งค่าได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การตั้งเวลารดน้ำ การตั้งระยะเวลาในการเปิดปิดวาล์วน้ำในแต่ละครั้ง การควบคุมปริมาณน้ำที่ส่งออกไป หรือการแบ่งโซนรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น  ส่วนการติดตั้งชุดควบคุม (Timer Controller) หรือระบบรดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

  • เครื่องตั้งเวลาเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ ระบบแบตเตอรี่ หรือชนิดใช้ถ่าน : ตัวเครื่องจะใช้พลังงานจากถ่านหรือแบตเตอรี่ในการเปิด-ปิดวาล์วน้ำตามเวลาที่กำหนด โดยมีข้อดีคือระบบไม่ซับซ้อน ติดตั้งได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเดินสายไฟให้ยุ่งยาก สามารถซื้ออุปกรณ์จากร้านค้ามาติดตั้งได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่นำเครื่องตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำอัตโนมัติมาต่อเข้ากับก๊อกน้ำทั่วไปที่มีลักษณะเป็นเกลียว และต่อท่อพีอีที่สามารถต่อสปริงเกลอร์ เพื่อส่งน้ำไปตามจุดต่างๆ ในสวน แต่ทั้งนี้แบตเตอรี่ที่ใช้จะมีระยะเวลาจำกัด และแรงดันไฟฟ้าจะลดน้อยลงไปตามอายุการใช้งาน บางครั้งหากถ่านอ่อน ก็อาจทำให้ระบบไม่มีแรงเปิด-ปิดวาล์ว จึงอาจจะมีน้ำไหลทิ้งหรือช่วงที่ต้นไม้ไม่ได้รับน้ำได้ แต่ทั้งนี้ เครื่องตั้งเวลาเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ ระบบแบตเตอรี่ เหมาะสำหรับระบบรดน้ำขนาดเล็กในบริเวณบ้านหรือพื้นที่ที่มีขนาดไม่ใหญ่ เนื่องจากใช้แรงดันจากน้ำจากท่อปกติ ไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบปั้มน้ำโดยตรง และขนาดรูท่อปล่อยน้ำก็มีขนาดเล็ก ทำให้จ่ายน้ำไปที่หัวจ่ายน้ำได้ไม่มาก ดังนั้น แรงดันจึงอาจไม่สูงเพียงพอสำหรับระบบหรือพื้นที่สวนขนาดใหญ่  
ระบบอัตโนมัติในสวน
เครื่องตั้งเวลาเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ ระบบแบตเตอรี่ หรือชนิดใช้ถ่าน
  • เครื่องตั้งเวลาเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ ระบบไฟฟ้า : เป็นการใช้พลังงานจากไฟฟ้าภายในบ้าน โดยมีข้อดีคือ ไม่ต้องกังวลเรื่องของแบตเตอรี่ เพราะตัวเครื่องจะได้รับกระแสไฟอยู่ตลอดเวลา ยกเว้นกรณีไฟฟ้าดับ สามารถใช้กับระบบรดน้ำในพื้นที่ขนาดกลางได้จนถึงขนาดใหญ่ แต่โดยทั่วไปแล้ว หากพื้นที่มีขนาดใหญ่มักจะมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซน เพื่อให้สามารถจัดสรรปริมาณน้ำและแรงดันได้เพียงพอต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น ส่วนข้อเสียก็คือ การติดตั้งจะค่อนข้างซับซ้อนกว่าแบบแบตเตอรี่ โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อเครื่องตั้งเวลาที่เหมาะสม เช่น ตัวเครื่องสัมพันธ์กับแหล่งจ่ายไฟ แรงดันและปริมาณน้ำ มีความทนทานต่อสภาวะแวดล้อม และมีฟังก์ชันในการตั้งเวลาเปิด-ปิดต่างๆ ตามความต้องการ ต่อมาคือการติดตั้งเครื่องตั้งเวลาเปิดปิดน้ำอัตโนมัติไว้ในตำแหน่งที่สะดวกกับการใช้งานและปิดมิดชิด แม้จะเป็นรุ่นที่ระบุว่าสามารถใช้กลางแจ้งหรือที่โล่งได้ จากนั้นให้เชื่อมต่อสายไฟจากเครื่องตั้งเวลาเข้ากับระบบไฟของบ้าน และวาล์วหรือเครื่องปรับปริมาณน้ำที่ต้องการควบคุม ซึ่งหากบริเวณที่ต้องการติดตั้งไม่มีปลั๊กไฟ อาจต้องมีการเดินสายไฟเพิ่มเติม 
ระบบอัตโนมัติในสวน
เครื่องตั้งเวลาเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ ระบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ เครื่องตั้งเวลาเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ ระบบไฟฟ้า ยังสามารถตั้งค่าเครื่องในการควบคุมปั๊มน้ำ และอุปกรณ์เซนเซอร์น้ำฝนหรือเซนเซอร์ในดินร่วมด้วย เพื่อควบคุมการให้น้ำในกรณีที่ความชื้นดินไม่เหมาะสม เช่น ระบบมีการให้น้ำตามเวลาที่ตั้งได้แล้ว แต่ความชื้นในดินน้อยเกินไปไม่ถึงระดับที่เหมาะสม ระบบจะทำการควบคุมวาล์วเพื่อรดน้ำเพิ่มให้ถึงระดับที่เหมาะสม หรือหากในระหว่างการรดน้ำต้นไม้มีฝนตกลงมา ระบบจะตัดการรดน้ำไม่ให้ทำงาน และเว้นระยะเวลาการรดน้ำออกไปเป็นรอบถัดไป หรือจนกว่าเซนเซอร์จะกลับมาแห้ง เพื่อให้การรดน้ำเกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้นได้อีกด้วย 

3. ปลั๊กไฟอัจฉริยะ (Smart Plug)       

คือปลั๊กไฟบ้านที่ผสมผสานเทคโนโลยีการเชื่อมต่อด้วยสัญญาณไวไฟ เพื่อให้สามารถสั่งงานควบคุมการเปิด-ปิดอุปกรณ์ต่างๆ ได้ด้วยระบบไฟบ้าน โดยมีข้อดีคือราคาค่อนข้างถูกและใช้งานง่าย เพียงแค่ซื้อปลั๊กไฟอัจฉริยะมาเชื่อมต่อกับเต้าเสียบไฟของบ้าน โดยไม่ต้องดัดแปลงหรือแก้ไขระบบไฟฟ้าในบ้าน เพื่อให้ตัวเครื่องเป็นสื่อกลางคลื่นสัญญาณไวไฟกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการใช้งาน เช่น ระบบรดน้ำ ปั๊มน้ำ จากนั้นให้โหลดแอปพลิเคชัน SMART PLUG สำหรับระบบ iOS หรือ Android เพื่อควบคุมการทำงานของระบบตามฟังก์ชันต่างๆ ที่มีให้เลือก เช่น ตั้งเวลาในการทำงานเปิด-ปิด แยกช่วงวันของสัปดาห์ ตั้งหน่วงเวลา ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามที่มีอินเตอร์เน็ตก็สามารถเชื่อมต่อได้ทุกที่ทุกเวลา

การเลือกปลั๊กไฟอัจฉริยะอาจพิจารณาจากความสามารถในการเชื่อมต่อและตั้งค่าผ่านสมาร์ทโฟน การติดตามการทำงานแบบเรียลไทม์ การกำหนดเวลาอัตโนมัติ รวมถึงควรมีไฟแจ้งเตือนสถานะการทำงานขณะติดตั้งมาให้ เพื่อที่จะได้ทราบว่าปลั๊กตัวไหนกำลังทำงานหรือมีปัญหา ซึ่งราคาของปลั๊กแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อก็จะแตกต่างกันออกไปตามคุณสมบัติของปลั๊กที่ต้องการ ส่วนสีสันและดีไซน์ให้เลือกตามความชื่นชอบหรือสไตล์ของบ้าน

4. เว็ปไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับคนรักสวน

นอกจาก ระบบอัตโนมัติในสวน การรู้ข้อมูลและความต้องการของต้นไม้แต่ละชนิดเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้การดูแลสวนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและง่ายขึ้น โดยจะสามารถเลือกต้นไม้ที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมช่วยวางแผนการดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ย หรือตัดแต่ง ไปจนถึงการแก้ปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นไม้แต่ละชนิด

  • PLANT LIBRARY – การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชนิดของต้นไม้ไม่ว่าจะเป็น ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ความต้องการดิน แสงแดด ความชื้น และอุณหภูมิที่เหมาะสม สามารถค้นหาได้บนเว็บไซต์ของบ้านและสวน https://www.baanlaesuan.com/plants ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่รวบข้อมูลพรรณไม้ไว้กว่า 1,800 ชนิด ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก
  • APPLICATION – แอปพลิเคชันถือเป็นรูปแบบการพัฒนาฐานข้อมูล (Big Data) และการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับความนิยม สำหรับคนรักสวนและต้นไม้สามารถใช้เป็นแหล่งหาความรู้ประกอบการวางแผนการดูแลต้นไม้ โดยเลือกใช้ได้หลากหลายตามความต้องการทั้งในรูปแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชันได้ในระบบปฏิบัติการ iOS และ Android