สร้างแบรนด์ต้องเริ่มจากอะไร ? เปิดเคล็ดลับไอเดียจากแบรนด์ Apostofi House แบรนด์ไทยต่อยอดสู่ต่างประเทศ

room พาส่อง Apostofi House และพูดคุยไอเดียกับ คุณ พีท-กษิดิศ ประสิทธิ์รัตนพร ในบ้านหลังใหม่ของแบรนด์ในเครือที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่าง ve/la คาเฟ่ที่มีสาขาป็อปอัพอันดับต้น ๆ ย่านใจกลางเมือง Mediums แบรนด์อุปกรณ์ศิลปะ และอีก 2 ร้านอาหารที่อยู่ในบ้านหลังนี้เช่นกัน


Q: Apostofi House บ้าน 4 ชั้น ที่รวมหลากหลายคอมมูนิตี้ มีแนวทางและความเป็นมาอย่างไร
A: “เราผ่านมาหลาย อย่างตั้งแต่มีสาขาป็อบอัพในห้างดังของกรุงเทพฯ งานอีเว้นต์ ซึ่งตอนนี้เราอยากทำตึกหนึ่งที่รวมแบรนด์ทุกอย่างในบ้านของเราขึ้นมา เพราะสำนักงานเราก็อยู่ในตึกออฟฟิศ เราอยากให้พนักงานในออฟฟิศของเราที่ทำงานครีเอทีฟได้เจอลูกค้าบ้าง ก็เลยอยากสร้างคอมมูนนิตี้สเปซที่ดึงทุกอย่างเข้าหากัน ทั้งกลุ่มลูกค้าเก่าและใหม่ พนักงาน กลุ่มเซอร์วิสให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ที่นี่จึงเกิดการเปิดร้านที่ค่อนข้างแตกต่างจากสาขาที่เราเคยเปิดมา ทั้งที่ mediums สุขุมวิท 42 หรือคาเฟ่ ve/la เราอยากสร้างพื้นที่ปฎิสัมพันธ์ให้ลูกค้าเข้ามารู้จักกับเรา ในแต่ละช่วงเวลานนั้นแตกต่างกัน โปรเจ็กต์นี้เราตั้งเป้าหมายใหม่ไว้ คืออยากให้ลูกค้าเข้ามาในบ้านของเรา เช้ากินกาแฟ เสร็จแล้วสามารถขึ้นไปรับประทานอาหารที่ด้านบนได้ยาว ๆ ถึงเย็น เสมือนได้ใช้เวลาในบ้านทุกช่วงเวลา”


Q: คุณพีทแบ่งแบรนด์ต่าง ๆ ด้วยแนวคิดอะไรบ้าง และเหตุใดจึงไม่ใช้ Apostofi เป็นแบรนด์เดียวไปเลย
A: “เราไม่ได้มองตัวเองว่าเราจะแบรนด์ หรือเปิดบริษัทไปเรื่อย ๆ เริ่มมาด้วย Mediums เปิดร้านขายของอุปกรณ์ศิลปะที่มีมุมขายกาแฟ ช่วงที่เราเปิดคอนเซ็ปต์รีเทลคู่กับคาเฟ่ เริ่มแรกในปีนั้นยังไม่ค่อยเห็นภาพคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจนมากเท่าไหร่ เราเลยอยากลองดู เพราะเราก็ชอบกินกาแฟอยู่แล้ว เราเลยแยกตัว ve/la ออกมา หลังจากนั้นเราก็มีร้านอาหาร garden ที่อยู่บนเซ็นทรัลเวิลด์สาขาแรกที่ทีมเราอยากลองทำ โดยมีเป้าหมายว่าต้องแตกต่างไปจากเดิม ที่บางครั้งอาจจะขี้เล่นมากขึ้น บางครั้งอาจจะจริงจังขึ้นหน่อย หรือว่าสนุกหลุดโลกไปเลยก็ได้ โดยเรากับทีมอยากลองอะไรใหม่ ๆ มากกว่า ทีมเราจะเป็นบริษัทที่ค่อนข้างโฟกัสเรื่องความสวยงาม เมื่อทำโปรดักต์จึงลงไปที่รายละเอียดอย่างลึก มีการรีเสิร์ชดีเทลกันค่อนข้างหนักเช่นกัน”


Q: เรื่องโมเดลธุรกิจ ทำไมถึงเลือกทำเป็นร้านแบบ Pop-Up และร้านแบบ Open Space กลางห้าง
A: “พีทว่าสาขาป็อปอัพของเราแต่ละสาขาไม่เหมือนกัน แต่ละสาขาเราใช้ดีไซเนอร์ไม่ซ้ำกัน เรามีโจทย์หลักที่ให้ผู้ออกแบบคือ Ci แบรนด์ และโลโก้ เราปล่อยให้ดีไซเนอร์ออกแบบ และดูเรื่องความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ของสาขาที่ให้ความแปลกใหม่ หรือสร้างความน่าสนใจให้กับลูกค้าที่แตกต่างกัน”


Q: ร้านแบบป็อบอัพกับสแตนอโลนในแต่ละสาขามีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร? กับความแตกต่างในเชิงบริบท
A: “แตกต่างกัน แล้วเราก็ทรีทร้านสแตนอโลนเหมือนบ้านหลังหนึ่ง ทั้งสุขุมวิท และสาขานราธิวาสนี้ ให้คนได้มาใช้เวลาร่วมกับเรา เหมือน Take a get off แต่พอเป็นสแตนอโลนมันเหมือนต้องสร้างประสบการณ์ตั้งแต่หน้าร้าน ซึ่งต้องมีดีเทลต่าง ๆ มากกว่าสาขาป็อบอัพ”


Q: ผลลัพธ์ของการออกแบบร้านลักษณะนี้เป็นอย่างไร – เช่น ร้านแบบเปิดโล่ง ดึงดูดลูกค้าได้ดีกว่าร้านแบบปิดไหม, ความคล่องตัวของร้านป็อบอัพ, การขนย้ายสะดวก, โลเคชั่น, การออกแบบ-ก่อสร้างแบบโมดูลาร์ ไปจนถึงการหมุนเวียนใช้วัสดุอย่างยั่งยืน
A: “ถ้าเป็นร้านแบบป็อบอัพ ve/la จะเคยทำอยู่ 2 เซ็ตที่เป็นบล็อก ใช้รูปแบบโมดูลาร์ เราเคยให้โจทย์ดีไซเนอร์ให้ออกแบบสำหรับงานอีเว้นต์ Thailand coffee fest 5 วัน และมีสาขาป็อบอัพ ต่อที่เซ็นทรัลเอมบาสซี เราเลยให้โจทย์ไปว่าต้องเคลื่อนย้ายได้สะดวก เข้าไปในพื้นที่ใหม่ได้ไม่ดูแปลกแยก โมดูลาร์ที่ได้มาจึงเป็นบล็อกเหลี่ยมที่สามารถทำเพิ่มขนาดต่อไปได้ และเราก็วนใช้เซ็ตนี้นานเกือบปีครึ่ง ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีจากลูกค้าใหม่ทุกรอบ เพราะโลเคชั่นที่เราได้มาที่แตกต่างกันป็อบอัพ รอบแรกก็คือกลางห้างพารากอน รอบ 2 ที่เอ็มบาสซีที่เหมือนป่ากลางเมือง”


Q: เคล็ดลับการออกแบบแบรนด์ในแบบ Apostofi
A: “หลักการดีไซน์เราค่อนข้างเรียบ แต่เราไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นมินิมัล เราอยากให้มันมีบางสิ่งที่ทำให้ลูกค้าติดใจ หรือดึงดูดลูกค้าได้ ดีไซน์ดีเทลเล็ก ๆ ในเชิงรีเทลของ mediums ชั้นวางสินค้าเราก็ดีไซน์เรียบ ๆ ไม่หวือหวา โดยเน้นไปที่โปรดักต์ที่หลากหลายของเรามากกว่า บาร์ 7 สาขา เรามีมาตรฐานของบาร์ให้บาริสต้าทำงานได้สะดวกมากที่สุด เราเน้นออกแบบที่นั่ง และตกแต่งส่วนอื่น ๆ ให้แตกต่างมีเอกลักษณ์แทนมากกว่า


Q: ตลาดต่างประเทศต่างกับไทยอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร?
A: “ตอนนี้เรายังอยู่ในขั้นตอนเซอร์เวย์โลเคชั่นอยู่ แต่มันจะมีเรื่อง Design Language ที่เราจะดึงไปปรับใช้ เป็นกาแฟสเปเชียลตี้ของไทยที่ออกไปเจ้าแรก ๆ ใส่ความร่วมสมัย หรือเอกลักษณ์ของความเป็นไทยเข้าไปถึงยังอยู่ในขั้นตอนที่เรากำลังศึกษาเรียนรู้ไปกับทีม”

Apostofi House เป็นโปรเจ็กต์ที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ที่คุณพีทเริ่มก่อตั้งแบรนด์ 4 แบรนด์ อาทิ vela, mediums, gardensbkk และ norm เร็ว ๆ นี้ ที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกันนี้ จึงอยากให้เป็นพื้นที่สำหรับแฮ้งเอาต์ของลูกค้าและพนักงาน ที่นี่จึงมีโปรมแกรมกิจกรรมที่สามารถอยู่ได้ตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืน ตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม จะมาคนเดียวก็ชิลได้ หรือจะพาครอบครัวมารับประทานอาหาร ที่นี่ก็มีพื้นที่รองรับและอำนวยความสะดวก เติมเต็มย่านนราธิวาสให้คึกคักยิ่งขึ้น



ที่ตั้ง
122 นราธิวาสราชนครินทร์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน 08.00- 20.00 น. (ปิดวันจันทร์)


เรื่อง: Lily J.
ภาพ: นันทิยา

VE/LA AT MEDIUMS ช้อปอุปกรณ์ศิลปะ แวะจิบกาแฟใน คาเฟ่เอกมัย ถูกใจสายอาร์ต