พื้นที่กึ่งภายนอก

ไอเดีย พื้นที่กึ่งภายนอก ขนาดจำกัด

พื้นที่กึ่งภายนอก
พื้นที่กึ่งภายนอก

พื้นที่กึ่งภายนอก (Semi – outdoor Space) เป็นพื้นที่ใช้งานใต้ชายคา แต่ไม่ปิดล้อมเป็นห้อง ซึ่งป้องกันแดดฝนได้ในระดับหนึ่ง ทำหน้าที่รองรับการใช้งานที่ต้องการมองเห็นและสัมผัสธรรมชาติ ในบางกรณีก็ใช้เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างอาคาร ซึ่งสามารถแทรกอยู่ตามจุดต่างๆ ในบ้านโดยไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่มาก มาดูกันว่า เราสามารถสร้างพื้นที่กึ่งภายนอกได้ในรูปแบบใดบ้าง

ช่องเปิดบนเพดาน รับแสงธรรมชาติ พื้นที่กึ่งภายนอก

หลังคาโปร่งแสง พื้นที่กึ่งภายนอก

เหมาะสำหรับส่วนใช้งานที่ต้องการรับแสงธรรมชาติมาใช้ในเวลากลางวันทดแทนการใช้ไฟฟ้า ซึ่งออกแบบได้หลากหลายตั้งแต่ช่องกระจกติดตายขนาดเล็กส่องสว่างเฉพาะจุดบริเวณโถงอาคาร ทางเดิน ไปจนถึงโครงสร้างหลังคาเต็มผืน บริเวณเฉลียง ระเบียง ชานบ้าน

พื้นที่กึ่งภายนอก ขนาดจำกัด
หลังคาพอลิคาร์บอเนต มีน้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ราคาย่อมเยา ถ้าเป็นชนิดมีโพรงอากาศจะเกิดคราบสกปรกภายในได้ง่าย
สถานที่ : บ้านคุณอรทัย เจริญเรืองเดช และคุณอภิชาติ พรหมฤทธิ์
หลังคาไฟเบอร์กลาส มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย เมื่อใช้ไปนานๆ อาจมีการเปลี่ยนสีได้
สถานที่ : บ้านคุณณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์
พื้นที่กึ่งภายนอก ขนาดจำกัด
หลังคาอะคริลิก มีความใสคล้ายกระจก แต่มีน้ำหนักเบากว่า ดัดโค้งได้ ทนแรงกระแทกได้ดี
สถานที่ : บ้านคุณ Chun Hooi Tan
พื้นที่กึ่งภายนอก ขนาดจำกัด
หลังคากระจกใส รับน้ำหนักได้ดี แต่ก็มีน้ำหนักมากเช่นกัน แนะนำให้ใช้กระจกลามิเนต ซึ่งมีความปลอดภัยสูง เพราะเมื่อแตกร้าว เศษกระจกจะไม่ร่วงหล่น
สถานที่ : บ้านนายแพทย์ภาคภูมิ- คุณจารุพรรณ  พีรวรสกุล

หลังคาเปิด – ปิดไดพื้นที่กึ่งภายนอก

อาจเป็นระบบอัตโนมัติ หรือเปิด – ปิดด้วยมือ เหมาะกับบริเวณที่ต้องการระบายอากาศ เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว หรือห้องที่ต้องการสร้างมุมรับวิวส่วนตัว เช่น ห้องนอน

สถานที่ : บ้านคุณสิทธิโชค ยอดรักษ์ และสรัญภร พงศ์พฤกษา

ฝ้าเพดานระบบขึงตึง (Stretch Ceiling)

สำหรับบ้านที่ไม่สามารถเจาะช่องเปิด หรือรื้อโครงสร้างได้ สามารถออกแบบฝ้าเพดานด้วย Stretch Ceiling ซึ่งใช้วัสดุประเภทพีวีซี ที่มีความโปร่งแสง สำหรับงานฝ้าเพดานโดยเฉพาะ นำมาขึงตึง และซ่อนไฟไว้ด้านบน เพื่อจำลองแสงธรรมชาติภายในอาคาร ซึ่งให้แสงสม่ำเสมอนวลตาทั่วทั้งผืน คล้ายกระจกฝ้ารับแดดธรรมชาติ

สถานที่ : บ้านคุณ  บ้านคุณพงศ์พิสุทธิ์ ทูลแก้ว และคุณณัฐณิชา นามประดิษฐ์

สร้างสวนคอร์ตขนาดเล็ก

การทำสวนภายในบ้าน สิ่งสำคัญที่จะทำให้ต้นไม้อยู่ได้ยาวนานคือ ปริมาณแสงที่จะต้องเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้แต่ละชนิด โดยการเปิดช่องแสงบริเวณหลังคาและผนัง นอกจากนั้น การระบายอากาศ ระบายความชื้นภายในดิน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากสภาพแวดล้อมในอาคารจะระบายความชื้นได้ยากกว่าภายนอกอาคาร ต้นไม้จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อราหรือรากเน่าได้ง่าย ดังนั้น ควรวางแผนเรื่องการระบายน้ำในดินและการป้องกันโครงสร้างบ้านเสียหายตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ หากเป็นชั้นที่อยู่ติดกับพื้นดิน ก็สามารถทำกระบะคอนกรีตกั้นไว้ เพื่อป้องกันการแผ่ระบบรากจนสร้างความเสียหายแก่โครงสร้างอาคาร แต่หากพื้นที่ปลูกไม่ได้อยู่ชั้นที่ติดกับพื้นดิน เช่น กระบะปลูกชั้นสอง หรือสวนแนวตั้งภายในอาคาร ควรจัดเตรียมระบบระบายน้ำ และระบบกันซึมของพื้นคอนกรีตให้ดีก่อนจัดสวน

สถานที่ : บ้านคุณพีโรรส เปลี่ยนเชาว์ และคุณพุดคาน มิตรานันท์

ช่องเปิดโถงบันได สร้างพื้นที่กึ่งภายนอกในแนวตั้ง

ออกแบบพื้นที่กึ่งภายนอกให้อยู่ร่วมกับฟังก์ชันที่ใช้เชื่อมระหว่างชั้น เช่น โถงบันได ช่วยในการระบายอากาศ และเปิดรับแสงธรรมชาติส่องทดแทนแสงสว่างจากไฟฟ้าในเวลากลางวัน

สถานที่ : บ้านคุณอนงค์นุช – คุณปกรณ์ ตันมณีวัฒนา

ออกแบบช่องโล่งระหว่างชั้น ให้เห็นทั่วถึงกันทั้งบ้าน

สร้างการเชื่อมต่อระหว่างชั้นบนและชั้นล่าง ทั้งทางสายตาและทางด้านปฏิสัมพันธ์ของคนในอาคาร ซึ่งต้องอาศัยขนาดพึ้นที่ที่กว้างขึ้นมาในระดับหนึ่ง ออกแบบให้คล้ายกับคอร์ตกลางอาคาร ที่สามารถมองเห็นกันได้สะดวกระหว่างชั้น ซึ่งสามารถออกแบบให้เป็นช่องแสงธรรมชาติที่เปิดโล่งตั้งแต่หลังคาลงไปถึงชั้นล่าง

สถานที่ : บ้านคุณเมธ พิทยชาครวัตร และคุณรจนา วิกรานตเสวี

ผนังปรับได้ เชื่อมต่อภายนอก – ภายใน

ออกแบบพื้นที่บางส่วนให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ เช่น ส่วนนั่งเล่นที่ใช้พักผ่อนร่วมกับสมาชิกในบ้าน ในบางโอกาสต้องการขยายการใช้งานออกไปภายนอกบ้าน ก็สามารถเปิดประตูรับธรรมชาติภายนอกได้ โดยเลือกใช้ประตูหรือหน้าต่าง ที่สามารถปรับการเปิด – ปิด เช่น บานเลื่อน บานเฟี้ยม ซึ่งหากออกแบบให้เปิดได้เต็มฝั่งผนัง จะสามารถสร้างความรู้สึกเชื่อมต่อกับภายนอกได้เป็นอย่างดี

สถานที่ : (บ้านคุณสมยศ สุภาพรเหมินทร์ และคุณอูซาบุโระ  ซาโตะ

มีข้อแนะนำว่าห้องที่ต่อเชื่อมกับพื้นที่ส่วนนี้ ควรติดตั้งประตูหน้าต่างที่สามารถล็อค เพื่อกั้นพื้นที่ออกจากส่วนอื่นของบ้านได้ เพื่อให้ห้องอื่นๆ ของบ้านสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยไว้ได้ นอกจากนี้ ผนังภายนอกควรมีชายคาคลุมเพื่อกันฝนสาดย้อนเข้ามาผ่านทางประตูหน้าต่างด้วย


อ่านต่อฉบับเต็มใน นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนธันวาคม 2566


คอลัมน์ Home Expert

เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐวรา ธวบุรี

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


Semi – outdoor Space Design บ้านอยู่สบายด้วย พื้นที่กึ่งภายนอก

บ้านหายใจได้ สร้างสุขภาพดี ลดความร้อน

ติดตามบ้านและสวน