ออกแบบ การระบายอากาศ เพื่อให้บ้านหายใจได้

ในวันที่อากาศดี เราจะมีพลังในการทำกิจกรรมต่างๆ  มากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะออกกำลัง ทำอาหาร สะสางงานที่คั่งค้าง หรือแม้แต่งีบหลับเมื่อตื่นขึ้นก็รู้สึกสดชื่นกว่าปกติ เพราะอากาศที่หมุนเวียนอยู่รอบตัวเรานั้นเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญให้กับร่างกาย มาดูกันว่าเราสามารถออกแบบบ้านให้ “หายใจ” เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดี และลดความร้อนได้อย่างไรบ้าง

การระบายอากาศ

การระบายอากาศ จะนำอากาศภายนอกเข้ามาหมุนเวียน และนำความชื้น ฝุ่น สารเคมีที่สะสมออกไปจากตัวบ้าน นอกจากจะทำให้อากาศภายในบ้านสดชื่น ปลอดโปร่งแล้ว ยังลดผลกระทบต่อสุขภาพของคนในบ้านจากมลภาวะในอาคารได้ในระยะยาว และช่วยยืดอายุการใช้งานของตัวบ้านได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งสามารถออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเคลื่อนตัวของอากาศในรูปแบบต่างๆ ดังนี้

การระบายอากาศ ผ่านช่องเปิดด้านเดียว (Single Sided Ventilation)

อาศัยความแตกต่างของอุณหภูมิ ความดัน หรือความชื้นของอากาศระหว่างภายนอก – ภายในอาคาร ซึ่งจะต้องมีความต่างมากพอจึงจะทำให้เกิดการระบายอากาศได้ เช่น ภายในห้องที่ร้อน อากาศจะลอยตัวขึ้นสูง ทำให้เกิดช่องว่างอากาศในส่วนล่างของห้อง อากาศเย็นภายนอกที่มีความดันสูงกว่าจึงไหลเข้ามาแทนที่ ดันอากาศร้อนที่ค้างอยู่ส่วนบนของห้องออกไป ซึ่งรูปแบบนี้จะไม่มีแรงลมช่วยในการไหล หรือถ้ามีก็น้อยมากจนคนในบ้านแทบไม่รู้สึก

  • เหมาะกับห้องที่ต้องการระบายอากาศแต่ไม่ต้องการให้ลมพัดผ่าน เช่น ห้องเก็บของ
  • ความลึกจากช่องเปิดไม่ควรเกิน 2.5 เท่าของความสูงห้อง เพื่อให้ระบายอากาศได้ทั่วถึง
การระบายอากาศ
การระบายอากาศ
ออกแบบฟาซาดคอนกรีตบล็อคเพื่อช่วยกรองแสงให้กับช่องเปิด สามารถระบายอากาศและป้องกันความร้อนจากแดดได้พร้อมๆ กัน – บ้านคุณรุ่งอรุณ  วุฒินาวิน และคุณจรีภรณ์  พักตรานนท์

การระบายอากาศ ผ่านช่องเปิดที่อยู่ตรงข้าม (Cross Ventilation)

อาศัยแรงลมพัดเอาความร้อนและความชื้นออกไปจากห้องและหมุนเวียนอากาศจากภายนอกเข้ามาแทนที่ โดยลมจะไหลเข้าทางช่องเปิดด้านหนึ่ง และออกอีกด้านหนึ่ง โดยการออกแบบช่องเปิดเข้า – ออก ส่งผลต่อรูปแบบการไหล ความเร็ว และทิศทางของลม การทำช่องเปิดแบบนี้คนในบ้านจะรู้สึกถึงแรงลมและภาวะความสบายได้ชัดเจน

  • เหมาะกับห้องใช้งานทั่วไปที่ต้องการระบายอากาศโดยให้ลมพัดผ่าน เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน
  • แนะนำให้ระยะห่างของช่องเปิด 2 ฝั่ง ห่างกันไม่เกิน 5 เท่าของความสูงห้อง จะทำให้แรงลมที่ไหลเข้ามีความสม่ำเสมอ สามารถพาอากาศและความชื้นในห้องให้เคลื่อนตัวและระบายออกไปทางช่องเปิดอีกฝั่งหนึ่งได้
เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีความโปร่ง โล่ง และจัดวางในลักษณะที่ไม่กีดขวางทางลม จะช่วยให้ระบายอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลมพัดผ่านห้องได้สะดวก – The Termitary House ออกแบบโดย Tropical Space

การระบายอากาศ ขึ้นสู่ช่องเปิดด้านบน (Stack Ventilation)

อาศัยความแตกต่างของอุณหภูมิและการลอยตัวขึ้นของอากาศร้อน (Stack Effect) เนื่องจากมวลอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูงไปที่ฝ้าเพดานของชั้นบนสุดและค่อยๆ ระบายออกตามธรรมชาติ ส่วนอากาศภายนอกห้องก็จะเคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่ ทำให้มีอากาศไหลเวียนเข้าทางชั้นล่างของบ้านอยู่ตลอด ช่วยให้เย็นสบายขึ้นแม้จะไม่รู้สึกถึงแรงลม

  • เหมาะกับส่วนกลางของตัวบ้านที่ลมภายนอกอาจเข้าไม่ถึง บ้านที่เปิดโถงระหว่างชั้นให้เชื่อมถึงกัน โถงบันได และห้องที่มีฝ้าเพดานสูง
คอร์ตกลางระหว่างบ้านทาวน์เฮ้าส์สองหลังที่เรียงต่อกันเป็นแนวยาว ทำหน้าที่เป็นช่องระบายอากาศแนวสูง นำแสงและลมเข้ามาใช้ได้ตลอดแนวลึกของอาคาร – บ้านคุณสุริยะ อัมพันศิริรัตน์

Stack Effect หรือเรียกอีกชื่อว่าปรากฏการณ์ลมลอยตัว คือปฏิกิริยาทางธรรมชาติเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของอากาศ โดยอากาศจะขยายตัวเมื่อได้รับความร้อน ทำให้มีความหนาแน่นลดลงและลอยสูงขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ใต้มวลอากาศร้อนนั้นมีความกดอากาศต่ำกว่าบริเวณโดยรอบ อากาศเย็นที่มีความกดอากาศสูงกว่าจึงเคลื่อนตัวมาแทนที่ จากปรากฏการณ์นี้สามารถนำมาออกแบบการระบายอากาศเพื่อสร้างการหมุนเวียนอากาศเข้าบ้าน โดยออกแบบช่องระบายอากาศส่วนบนของห้องเพื่อช่วยระบายอากาศร้อน ส่วนบริเวณด้านล่างของห้องก็ออกแบบช่องเปิดเพื่อให้อากาศหมุนเวียนเข้าสู่ภายในห้องได้


Q&A : การปรับอุณหภูมิห้องโดยใช้เครื่องปรับอากาศ ถือเป็นการหมุนเวียนอากาศหรือไม่ ?

การใช้เครื่องปรับอากาศไม่ถือเป็นการหมุนเวียนอากาศกับภายนอก เพราะเครื่องปรับอากาศสร้างอากาศเย็นโดยการดูดอากาศภายในห้องมาปรับอุณหภูมิแล้วปล่อยอากาศกลับสู่ห้อง อากาศภายในและภายนอกไม่เกิดการแลกเปลี่ยนกัน ดังนั้น ในห้องที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศ ควรมีการเปิดประตูหรือหน้าต่างเป็นครั้งคราว หรือหากเป็นห้องที่ไม่สามารถเปิดระบายอากาศได้ ก็ควรติดตั้งพัดลมดูดอากาศ และเปิดทิ้งไว้หลังจากปิดเครื่องปรับอากาศแล้วอย่างน้อย 10 นาที เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศและความชื้นออกสู่ภายนอกได้


อ่านต่อฉบับเต็มใน นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนมกราคม 2567

คอลัมน์ Home Expert ม.ค. 67

เรื่องและภาพประกอบ : ณัฐวรา ธวบุรี

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


15 วิธีลดบ้านร้อน

ภูมิปัญญาไทยอยู่สบาย ในบ้านยุคใหม่

ติดตามบ้านและสวน