บ้านเชียงใหม่ รีโนเวทแต่พอดี น้อยแต่มาก ลงตัว แบบล้านนามินิมัล

ด้วยองค์ประกอบคุ้นตาของบ้านโมเดิร์นในจังหวัดเชียงใหม่ บ้านปูนสีขาว วงกบไม้ และผนังอิฐแดง แต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนมือ สู่เจ้าของคนใหม่ การใช้งานใหม่ การออกแบบรีโนเวทอย่างเข้าใจ จึงทำให้บ้านหลังนี้ สำเร็จออกมาสวยงามลงตัว แต่ยังเปี่ยมเสน่ห์กลิ่นอายบ้านโมเดิร์นไทย ๆ แบบชาวเจียงใหม่เจ้า แสนจะลงตัว

จากความต้องการมีบ้านพักอาศัยที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน ขนาดกะทัดรัด และสามารถดูแลได้ด้วยตัวเอง คุณหมอเดือน (นันทิสา โชติรสนิรมิต) จึงเริ่มตระเวนมองหาบ้านที่ขายในละแวกที่ต้องการ และได้มาพบกับบ้านเก่าที่ติดป้ายขายในซอยวัดอุโมงค์ ที่อยู่ไม่ไกลจากสถาบันวิจัยในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถานที่ทำงาน และติดต่อ Studio Mai Mai ให้มาช่วยประเมินความเป็นไปได้ในการรีโนเวทบ้านให้ได้ดั่งใจ

#เก็บส่วนดีเดิมเพิ่มเติมส่วนใหม่
หลังจากสถาปนิกจาก Studio Mai Mai สำรวจบ้านจึงพบว่า ตัวบ้านมีความทรุดโทรมตามกาลเวลา (คาดว่ามีอายุราว 30 ปี) มีลักษณะเป็นบ้านสองชั้นเป็นโครงปูนผสมไม้ มีหลังคาเป็นเป็นเพิงหมาแหงนลาดลงมาด้านหลังซ้อนกันสองระดับทำให้เกิดช่องแสงระหว่างหลังคากลางบ้าน เมื่อเห็นว่าตัวบ้านมีโครงสร้าง รูปทรง และสัดส่วนที่สวยงามอยู่แล้ว สถาปนิกและเจ้าของบ้านจึงตัดสินใจยึดโครงสร้างเดิมไว้ และปรับเปลี่ยนเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการการใช้สอยใหม่

#การใช้สอยใหม่ที่เข้ากับวิถีชีวิต
เจ้าของบ้านมีโจทย์ในการทำบ้านใหม่ที่ต้องปรับจากแบบบ้านเดิมคือ อยากให้มีห้องเอนกประสงค์ใกล้ทางเข้าบ้านที่มีห้องนํ้าในตัวแยกขาดจากตัวบ้านหลัก อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องปรับจากแบบบ้านเดิมคือ ชั้นสอง เปลี่ยนจากสามห้องนอนหนึ่งห้องนํ้า ให้เป็นสองห้องนอนใหญ่ที่มีห้องนํ้าในตัว เนื่องจากใกล้บ้านมีที่จอดรถให้เช่าจึงสามารถตัดที่จอดรถหน้าบ้านนำมาใช้ทำสวนหย่อมขนาดเล็กได้ ทำให้บ้านมีสวนทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านที่จะช่วยเพิ่มความร่มรื่นและสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย

#สว่างกว่าสบายกว่า
จากจุดเด่นตรงช่องแสงระหว่างหลังคาของบ้านเดิม สถาปนิกจึงขยายจุดนี้ด้วยการตัดพื้นชั้นสองออกส่วนหนึ่ง ให้แสงจากช่องแสงที่เดิมถูกกั้นไว้ด้วยพื้นและการแบ่งห้องส่องลงมาถึงชั้นล่าง กลายเป็น double space เชื่อมต่อไปถึงห้องนั่งเล่น ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการรีโนเวทครั้งนี้ เพราะแสงที่เพียงพอจะทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกปลอดโปร่ง สดชื่น กระฉับกระเฉง และเริ่มต้นวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเปิด double space ตรงจุดนี้ทำพร้อมไปกับการปรับผังห้องนอนชั้นบนใหม่ให้เป็นสองห้องตามที่เจ้าของบ้านต้องการ

#ส่วนโค้งเว้าท่ามกลางรายละเอียด
เนื่องจากตัวบ้านมีขนาดไม่ใหญ่นัก สถาปนิกจึงต้องการลดความแข็งของอาคารด้วยการเติมเส้นโค้งเข้าตามจุดต่าง ๆ ทั้งส่วนรั้วหน้าบ้าน พื้น ผนัง ราวกันตก อาร์กตกแต่ง ฯลฯ เพื่อเพิ่มความอ่อนโยนให้กับบ้านโดยไม่รบกวนสัดส่วนหลักของอาคาร คลุมโทนบ้านด้วยสีขาว ร่วมกับสีโทนอุ่นจากวัสดุที่สื่อถึงธรรมชาติทั้ง อิฐ กระเบื้อง และไม้ ที่มีพื้นผิวแตกต่างทั้งผิวเรียบเนียนและผิวขรุขระหลายชนิด สอดรับต่อเนื่องกันทั้งภายนอกและภายในอาคาร ส่วนบันไดบ้านที่ติดกับ double space พยายามออกแบบให้ดูโปร่งที่สุด เพื่อให้ไม่รบกวนแสงที่จะกระจายไปในชั้นล่าง มีการเติมสีนํ้าเงินเข้าไปบางส่วนเพื่อเพิ่มมิติและทำให้ตัวบ้านมีรายละเอียดที่น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยเจ้าของบ้านได้ร่วมกับสถาปนิกในการเลือกวัสดุพื้นผิวต่าง ๆ รวมถึงการเลือกเฟอร์นิเจอร์และกระถางต้นไม้ที่ช่วยให้บ้านถูกเติมแต่งอย่างสมบูรณ์

ออกแบบโดย: Studio Mai Mai


เนื้อหา: Ded Chongmankong

เรียบเรียง: Wuthikorn Sut

ภาพ: FANGBakii