thai-wood-house

บ้านพื้นถิ่น ที่รีโนเวตจากบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน

thai-wood-house
thai-wood-house

บ้านพื้นถิ่น หลังนี้รีโนเวตมาจากบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนดั้งเดิมที่เคยต่อเติมดัดแปลงมาแล้วหลายครั้ง โดยเน้นปรับแก้ไขปัญหาเดิมของบ้าน และสร้างฟังก์ชันให้เหมาะกับวิถีชีวิตใหม่ด้วยเสน่ห์ของงานช่างฝีมือท้องถิ่น

บ้านพื้นถิ่น
บ้านพื้นถิ่น

หลังจากได้เห็นความงามของบ้านไม้ที่ชื่อว่า “ขนำน้อย” ซึ่งทีมยางนาสตูดิโอได้ออกแบบให้ลูกสาวแล้ว คุณวิภาดา กฤษณามะระ จึงมั่นใจและตัดสินใจให้ทีมยางนารับงานต่ออีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นการปรับปรุง “บ้านอินทร์” ซึ่งเป็นบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนดั้งเดิมที่ติดมากับที่ดิน และผ่านการต่อเติมดัดแปลงให้เข้ากับการใช้งานอยู่หลายครั้งในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ให้กลายเป็น บ้านพื้นถิ่น ที่ดูร่วมสมัย

สถาปนิกเล่าถึงความตั้งใจในการปรับปรุงบ้านหลังนี้ไว้ว่า “เป้าหมายหลักของเราไม่ใช่แค่แก้ไขปัญหาเดิมของบ้าน แต่ยังสร้างชีวิตใหม่หรือสร้างวิถีใหม่ของการอยู่อาศัยในบ้านทั้งในเชิงฟังก์ชันและทางจิตวิญญาน โดยทั้งหมดต้องสอดคล้องไปกับไลฟ์สไตล์และความต้องการใหม่ๆ ของผู้อยู่อาศัยด้วย เราตัดสินใจเพิ่มสเปซภายในด้วยการตัดส่วนต่อเติมที่ไม่จำเป็นออก เอาส่วนเก็บของที่มีมากเกินไปทิ้ง แล้วแทนที่ด้วยโถงทางเข้าที่เปิดโล่งรับแสงและช่วยให้ลมธรรมชาติหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี รวมถึงเป็นช่องเปิดให้มองเห็นพื้นที่สีเขียวภายนอกได้ด้วย”

บ้านพื้นถิ่น
บ้านหลังนี้ชื่อว่า “บ้านอินทร์” เดิมทีเป็นบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนซึ่งเคยต่อเติมจนปิดทึบ แต่ปรับปรุงใหม่ด้วยการนำไม้เก่าและวัสดุที่มีอยู่เดิมมาใช้เปลี่ยนให้กลายเป็นบ้านไม้ที่เปิดโปร่งและอบอุ่น
บ้านพื้นถิ่น
โถงทางเข้าที่ต่อเติมจากบ้านหลักและเปิดให้ทะลุถึงชั้น2 โดยรื้อผนังชั้น 2
ออกแล้วใส่ราวกันตกเข้าไปแทน พร้อมกับเพิ่มช่องแสงให้กับผนังรอบๆ เพื่อทำให้ภายในบ้านสว่างขึ้น
บ้านพื้นถิ่น
ของสะสมส่วนตัวหลายอย่างของคุณแม่ทั้งเฟอร์นิเจอร์เก่า หนังสือ จานชาม เครื่องมือ ของใช้ในครัว ฯลฯ ที่นำมาตกแต่งเพิ่มชีวิตชีวาให้บ้าน

แนวทางการปรับปรุงบ้านนี้ยังเน้นถึงสะท้อนถึงงานฝีมือของช่างท้องถิ่นกับวัสดุที่หาได้ในพื้นที่และใช้อย่างไม่ให้เหลือเศษทิ้งเปล่า จึงมีการนำผนังไม้ทาสีเก่าและชุดประตูหน้าต่างไม้ที่มีอยู่เดิมทั้งหมดมาขัดผิวและเคลือบใหม่เพื่อใช้งานอีกครั้ง เพิ่มเติมด้วยวัสดุใหม่อย่างบล็อกคอนกรีตเข้ามาใช้ผ่านภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัย และออกแบบเปลือกอาคารให้สัมพันธ์กับพื้นที่ภายใน อย่างเปลือกอาคารผนังส่วนหนึ่งที่ใช้ไม้ระแนงถึง 3 แบบเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละช่วงผนัง ซึ่งมาจากการเปิดหลังคาในส่วนโถงทางเข้าบ้านที่ต่อเติมจากบ้านหลักให้ทะลุถึงชั้น 2 โดยรื้อผนังชั้น 2 ออกแล้วใส่ราวกันตกเข้าไปแทน จึงตั้งเสาใหม่ก่อผนังอิฐบล็อกให้เป็นฐาน ส่วนของผนังจึงมีทั้งผนังโครงเหล็กที่มีหน้าต่างบานกระทุ้ง เหนือขึ้นไปเป็นผนังกระจกสลับกับไม้ และผนังบนสุดเป็นช่องลมกรุด้วยมุ้งลวด

บ้านพื้นถิ่น
โครงสร้างภายในเดิมทาด้วยสีเขียวผสมขาว สถาปนิกจึงปรับเปลี่ยนใหม่ให้เป็นสีขาวทั้งหมดเพื่อเพิ่มความโปร่งสว่างและสบายตา รวมถึงย้ายตำแหน่งบันไดใหม่ เพิ่มช่องเปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามามากขึ้น
บ้านพื้นถิ่น
จากโถงทางเข้ามีช่องทางเดินนำเข้าสู่พื้นที่พักผ่อนภายในซึ่งเน้นการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าของคุณแม่ไปตามฟังก์ชันการใช้งานตามชอบ

ปัญหาหลักๆ ในการปรับปรุงบ้านอินทร์ยังมีเรื่องของแสงธรรมชาติ รอยร้าวจากการต่อเติมที่ผ่านมา ปลวกที่ขึ้นตามผนังโครงไม้เก่า และสิ่งมีชีวิตที่วิ่งไปมาบนฝ้าเพดานตอนกลางคืน เนื่องจากบริเวณรอบๆ บ้านเต็มไปด้วยต้นไม้ จึงมักมีสัตว์มาอาศัยอยู่บนฝ้าเพดานชั้นล่างเสมอ สถาปนิกจึงแก้ปัญหาส่วนนี้ด้วยการโชว์โครงสร้างหลังคา และใช้หลังคาสองชั้น โดยมีหลังคาหญ้าแฝกเป็นฉนวนกันความร้อน และใช้วิธีเปิดโล่งเพื่อให้ความร้อนลอยขึ้นสู่ด้านบน เพิ่มช่องบานเกล็ดไม้ในการระบายอากาศให้หมุนเวียนออกไป ประกอบกับใช้ฝ้าเพดานชนิดที่มีพียูโฟม 2 นิ้วกรุเป็นฉนวนกันความร้อนเข้าไประหว่างจันทันเอียงไปตามรูปทรงของหลังคา เพื่อไม่ให้มีพื้นที่สำหรับสัตว์มาอยู่อาศัย และยังมีฉนวนที่เกิดจากช่องอากาศระหว่างแปอีกด้วย จากนั้นประกบด้วยไม้เข้ากับจันทันส่วนที่ยื่นออกมา เป็นการเก็บงานที่ดูมีมิติสวยงาม

บ้านพื้นถิ่น
ภายในห้องนอนของคุณแม่อยู่บริเวณชั้นล่างในรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงจัดวางฟังก์ชันเป็นแนวยาว โดยมีส่วนนอนแบบตั่งไม้อยู่ด้านในสุด
ห้องน้ำภายในห้องนอนของคุณแม่เน้นความสว่างและช่องเปิดรับแสงธรรมชาติ

นอกจากการปรับปรุงบ้านเก่าแล้ว สมาชิกในบ้านยังมีแผนที่แอบฝันกันไว้ด้วยว่าอยากให้บ้านหลังนี้เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับเพื่อนๆ ได้มาอยู่ด้วยกัน โดยมีแนวคิดว่า “เราอยากพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นบ้านสำหรับคนที่มีวิถีชีวิตเหมือนๆ กัน คือต้องการใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่มีลูก พึ่งพาตนเอง ได้มาใช้ชีวิตด้วยกันที่นี่ในช่วงเกษียณอายุ โดยจ้างผู้จัดการ พยาบาล แม่บ้าน คนสวน และช่างเป็นส่วนกลางร่วมกัน”

ฟังก์ชันที่จำเป็นสำหรับการวางผังบ้านใหม่จึงต้องเน้นให้เกิดความต่อเนื่องของพื้นที่ภายใน เพื่อง่ายต่อการปรับเปลี่ยนการใช้งานในอนาคต โดยออกแบบให้ชั้นล่างเป็นพื้นที่ส่วนกลางซึ่งมีครัวเป็นหัวใจหลัก เพื่อใช้ปรุงอาหารและเป็นพื้นที่รับประทานอาหารร่วมกันแล้ว ยังสามารถใช้เป็นที่รับแขกไปในตัว จึงตกแต่งด้วยโต๊ะกลางที่ดัดแปลงจากโต๊ะจัดเลี้ยงของคุณตา แต่เปลี่ยนท็อปให้เป็นกระเบื้อง เพิ่มรัดขาโต๊ะด้านล่างเป็นที่วางของ สถาปนิกยังออกแบบช่องแสงแบบฝาไหลและมีมุกยื่นออกไปสำหรับใช้เป็นที่คว่ำจานได้ แล้วก็มีมุมนั่งเล่น มุมกาแฟ ห้องนอนคุณแม่ พร้อมห้องน้ำของผู้จัดการและพยาบาล ส่วนชั้นบนตั้งใจออกแบบเป็นพื้นที่ให้ลูกสาวได้ใช้สำหรับสอนโยคะและนั่งสมาธิร่วมกัน จึงมีการรื้อผนังเดิมออกเพื่อให้เกิดพื้นที่โล่งใช้งานได้อเนกประสงค์

บ้านพื้นถิ่น
เฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งหมดในบ้านมาจากของสะสมของคุณแม่ที่มาช่วยเติมความอบอุ่นให้บ้านได้ดี
พื้นที่ส่วนกลางมีครัวเป็นหัวใจหลักที่ใช้ทั้งปรุงอาหาร พื้นที่รับประทานอาหารร่วมกัน และรับแขกไปในตัว ตกแต่งด้วยโต๊ะกลางที่ดัดแปลงจากโต๊ะจัดเลี้ยงของคุณตา แต่เปลี่ยนท็อปให้เป็นกระเบื้องเพื่อสามารถเช็ดล้างได้สะดวกขึ้น
ห้องครัวไทย บ้านพื้นถิ่น
ส่วนครัวเป็นแบบผสมระหว่างครัวปูนไทยๆ กับสไตล์โมเดิร์น และสถาปนิกยังออกแบบช่องแสงแบบฝาไหลผสมกับหน้าต่างบานกระทุ้งเพื่อรับแสงและลมธรรมชาติ

ที่สำคัญคือการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ในห้องนอนส่วนตัวของคุณแม่ให้ครบจบในห้องเดียว ภายใต้ความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ และตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวให้สามารถปรับการใช้งานได้ตามชอบ เพราะคุณแม่เองก็จบด้านด้านมัณฑนศิลป์ตกแต่งภายใน มีของสะสมส่วนตัวหลายอย่างทั้งเฟอร์นิเจอร์เก่า หนังสือ จานชาม เครื่องมือ ของใช้ในครัว ฯลฯ จึงชอบจัดเปลี่ยนย้ายเพื่อให้บ้านสวยน่าอยู่และมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ”

บ้านไม้
ขึ้นสู่ชั้นบนที่ออกแบบให้เป็นลานอเนกประสงค์โล่งๆ สำหรับลูกสาวได้ใช้สอนและฝึกโยคะ สถาปนิกจึงออกแบบชั้นวางของรอบผนังเพิ่มไว้ให้ด้วย
บ้านไม้

พื้นที่สำหรับสอนโยคะและนั่งสมาธิร่วมกัน จึงมีการรื้อผนังเดิมออกเพื่อให้เกิดพื้นที่โล่งใช้งานได้อเนกประสงค์ ส่วนเพดานเน้นใช้วัสดุสีสว่างตา และโชว์โครงสร้างจั่วของหลังคาแทนการปิดทึบแบบเดิม

เจ้าของบ้านกล่าวทิ้งท้ายเมื่องานปรับปรุงจบลงว่า “ที่เราประทับใจกันมากคือการที่สถาปนิกได้ออกแบบในรายละเอียดให้สล่าไม้ได้แสดงทักษะอย่างเต็มที่ สลักและเดือยไม่ได้ถูกซ่อนกลืนไปกับโครงสร้างไม้ แต่กลับถูกโชว์ให้เด่นออกมา ทำให้เห็นถึงความสำคัญของชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ยึดโครงสร้างขนาดใหญ่เอาไว้อย่างมั่นคง และมีเสน่ห์แตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ ขอบคุณทีมสถาปนิกยางนาสตูดิโอและสล่าไม้ ที่ทำให้รู้ว่าที่มาของจินตนาการนั้นมีเหตุและผล”

ชานนั่งเล่น
ชานนั่งเล่นติดสวนอยู่ใต้ระเบียงของลานฝึกโยคะชั้นบน มีการเพิ่มกันสาดระแนงไม้ไผ่มาช่วยกรองแสง
บ้านพื้นถิ่น ระเบียงไม้
ระเบียงไม้ที่ต่อเติมออกมาจากลานฝึกโยคะและใช้เป็นชายคากันแดดให้กับชั้นล่างด้วย
บ้านพื้นถิ่น

อาคารหลังนี้เดิมใช้งานเป็นโรงเลี้ยงหมู แต่ปัจจุบันปรับใช้เป็นที่เก็บของ สถาปนิกได้เปลี่ยนผนังให้เป็นไม้ไผ่โปร่งเพื่อให้แสงและลมธรรมชาติหมุนเวียนคลายความอับทึบได้ดี
หลังคามุงแฝก
หลังคาบริเวณส่วนต่อเติมชั้นล่างมุงด้วยหญ้าแฝกเพื่อช่วยกันแดดกันร้อนและยังซับเสียงตกกระทบทั้งฝนและบรรดาลูกไม้ต่างๆ ให้เบาลงด้วย

เจ้าของ : คุณวิภาดา กฤษณามะระ

ออกแบบ : บริษัทยางนา สตูดิโอ จำกัด โดยคุณเดโชพล รัตนสัจธรรม

เรื่อง : คุณปานเดช บุญเดช

เรียบเรียง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : รุ่งกิจ เจริญวัฒน์

ที่ตั้ง : จังหวัดสิงห์บุรี


บ้านพื้นถิ่น ที่อบอุ่นนุ่มนวลด้วยงานไม้เก่า

รวมแบบ บ้านพื้นถิ่น เรียบง่าย อยู่สบาย

บ้านขนำน้อย บ้านไม้ชั้นเดียวภายใต้โครงสร้างโรงเลี้ยงหมูเก่า