บ้านไม้ติดน้ำ รับลม และโอบล้อมด้วยวิวภูเขา 

บ้านไม้ติดน้ำ รูปทรงยาวที่ออกแบบให้ทุกห้องมองเห็นวิวธรรมชาติสวยๆ ทั้งบ่อน้ำ ภูเขา และท้องฟ้า ตัวบ้านมีลักษณะเหมือนบ้านใต้ถุนที่สูงเกือบ 4 เมตร ผสมคาแรกเตอร์มาจากบ้านไม้ตึกแถวของจันทบุรีและระยอง

เจ้าของ : คุณนิภา-คุณสุรพล ผลเพิ่ม

Design Directory สถาปนิก : Pomelo Studio โดยคุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ และคุณปรียชนัน สายสาคเรศ

บ้านไม้ติดน้ำ
บ้านไม้ติดน้ำ
บ้านไม้ติดน้ำ
ตัวบ้านหลักแยกออกจากศาลารับแขก เพื่อให้พื้นที่ในบ้านมีความเป็นส่วนตัว โดยที่ศาลารับแขกยังให้มุมมองที่สวยงามสำหรับผู้มาเยือนด้วยเช่นกัน
บ้านไม้ติดน้ำ
ด้านหน้าจั่วของบ้านมองเห็นการผสมผสานความเป็นบ้านไม้กับโครงเหล็กผสมด้วยงานปูนในบางส่วน และบริเวณหลังคายังยกซ้อนหลังคาผืนเล็กไว้ เพื่อเปิดช่องให้ลมร้อนได้ระบายออก

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในบ้านจัดสรรแห่งหนึ่งของจังหวัดระยองมานานกว่า 30 ปี คุณนิภาและคุณสุรพล ผลเพิ่ม จึงตัดสินใจขอเกษียณงานก่อนวัย เพื่อจะได้มีเวลามาสร้าง บ้านไม้ติดน้ำ เพื่อพักผ่อนขท่ามกลางธรรมชาติสวยๆ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ปลูกต้นไม้ และเจริญสติอย่างสงบเงียบ รวมถึงใช้เป็นสถานที่รวมจิตใจให้ลูกๆ ทั้ง 3 คนได้มาอยู่พร้อมหน้ากัน

“เราอยากมีบ้านไม้ที่อยู่นอกเมืองกันมานานแล้ว คิดว่าถึงเวลาจะได้ทำตามความฝันกันเสียที ก็เลยลองขับรถมาหาที่ดิน โดยตั้งใจไว้เลยว่าขออยู่ใกล้ภูเขาใกล้น้ำ เพราะชอบน้ำมากๆ ก่อนหน้านี้เราได้ซื้อที่ตรงอื่นไว้แล้วด้วยแต่ก็ยังไม่ได้ชอบที่สุด จนมาเจอที่ตรงนี้ซึ่งเดิมเป็นทุ่งนา มีแหล่งน้ำใต้ดินของชุมชนเป็นน้ำจากภูเขา ด้วยสภาพแวดล้อมแบบหุบเขาเพราะมีเขาขนาบทั้งสองด้าน เลยมีลมหมุนวนตลอดวัน เจ้าของที่คนเดิมยังบอกว่าชอบมานอนเล่นรับลมอยู่บ่อยๆ เราก็คิดว่าที่นี่แหละเหมาะจะสร้างบ้านพักผ่อนของเรา”

บ้านไม้ติดน้ำ
เฉลียงนั่งเล่นเชื่อมต่อออกมาจากพื้นที่ส่วนกลางภายในบ้าน เป็นมุมที่ร่มรื่นเกือบตลอดทั้งวัน เพราะอยู่ใต้ร่มเงาชายคาที่ยื่นยาว จึงเป็นพื้นที่ผ่อนคลายที่ดีสำหรับทุกคนในครอบครัว
คุณนิภาและคุณสุรพลนำปลานิลมาปล่อยลงบ่อในช่วงแรกราวร้อยกว่าตัว ตอนนี้ขยายพันธุ์จนเต็มบ่อ รวมกับกุ้งฝอยและปลาที่มาตามธรรมชาติด้วย
บ้านไม้ติดน้ำ
ทางเดินเชื่อมต่อจากศาลารับแขกสู่ทางเดินข้างๆ ตัวบ้านหลัก สามารถชมวิวภูเขาและผืนน้ำไปได้ตลอดทาง โดยมีชายคาที่ยื่นยาวจากชั้นบนช่วยบังแดดให้ร่มรื่นมาจนถึงด้านในสุดที่เป็นชานนั่งเล่นขนาดกว้าง
ที่ผนังหน้าบ้านเพิ่มฟังก์ชันให้เป็นตู้เก็บรองเท้าขนาดใหญ่แบบบิลท์อิน

วิวธรรมชาติและพื้นที่สงบใจ

เริ่มต้นที่ความชอบในบ้านไม้และความโปร่งโล่งสบาย ทั้งคู่จึงมองหาสถาปนิกที่จะมาช่วยออกแบบบ้านจากนิตยสารบ้านและสวนของเรานี่เอง และมาถูกใจในผลงานออกแบบของ คุณเก๋ง-นันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ สถาปนิกจาก Pomelo Studio

“เราบอกคุณเก๋งแค่ว่าชอบบ้านไม้โบราณ บรรยากาศอยู่ในสวน ต้องการความโปร่ง โล่ง สบาย ครอบครัวเรามีกิจกรรมหลักคือเข้าครัวทำอาหารกับลูกๆ 3 คน เราถนัดทำอาหารไทย ลูกชายชอบทำอาหารฝรั่ง อีกคนชอบกาแฟและค็อกเทล ส่วนลูกสาวชอบเล่นดนตรีดูหนังกับพ่อ ที่เหลือก็ให้คุณเก๋งช่วยออกแบบเลย”

บ้านไม้ติดน้ำ
ชั้นล่างของบ้านโชว์โครงสร้างคอนกรีตให้เห็นจากเสากลมๆ ส่วนชั้นบนเป็นโครงสร้างเหล็ก เพราะมีน้ำหนักเบาและช่วยรับการยืดชายคาได้ยาวขึ้น

จากที่ดินประมาณ 5 ไร่ คุณเก๋งได้ออกแบบจัดสรรเป็นพื้นที่สำหรับปลูกบ้านแค่ราว 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือตั้งใจทำเป็นบ่อน้ำขนาดกว้างเพื่อสร้างทัศนียภาพและเพิ่มความเย็นสบายให้ตัวบ้าน โดยมีไอเดียว่า

“ก่อนจะเห็นตัวบ้าน ผมตั้งใจให้เข้ามาเจอกับต้นไม้และทางคดเคี้ยวเล็กๆ ก่อนแล้วค่อยมาระเบิดมุมมองออกเป็นผืนน้ำขนาดกว้าง มีศาลารับแขกแยกออกมาจากตัวบ้านชัดเจน แต่ก็ยังมองเห็นภูเขาและน้ำซึ่งเป็นวิวที่ดีที่สุดเหมือนกับตัวบ้านหลัก ส่วนตำแหน่งของบ้านนั้นผมวางให้ชิดขอบที่ดินด้านหนึ่งเพื่อเปิดพื้นที่ที่เหลือเป็นผืนน้ำขนาดใหญ่และภูเขาที่ขนาบทั้งสองฝั่งของบ้าน แล้วออกแบบวางตัวบ้านเป็นแนวยาวเพื่อให้ทุกมุมในบ้านได้เห็นวิวสวยๆ แบบนี้เหมือนกันหมด โดยส่วนใหญ่เจ้าของบ้านอยู่กันสองคน และลูกๆ จะมารวมตัวกันในช่วงวันหยุด ก็เลยต้องออกแบบไม่ให้บ้านดูเวิ้งว้างจนเหงาเวลาลูกๆ ไม่อยู่ แทนที่จะเชื่อมต่อแบบโอเพ่นแปลนก็เลยใช้การแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ หรือคล้ายเป็นห้อง ตั้งแต่ห้องอเนกประสงค์ด้านหน้า ตรงกลางที่เป็นโถงบันได และห้องรับประทานอาหารกับครัวซึ่งเป็นหัวใจหลักของบ้านอยู่ด้านในสุด โดยสามารถปิดกั้นการเข้าถึงแต่ละส่วนแยกกันได้ ช่วยเสริมเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยไปในตัว อีกอย่างคือเจ้าของบ้านมักไปปฏิบัตรธรรมกันปีละครั้ง ผมคิดว่าบ้านก็น่าจะมีพื้นที่เอื้อกับเรื่องนี้ด้วย เลยออกแบบให้มีห้องพระอยู่ชั้นบนตรงกลางบ้านเหมือนเป็นประธานของบ้าน ทุกคนในบ้านต้องเดินผ่านทุกวัน ได้มองเห็นพระและรู้สึกอุ่นใจเสมอ พร้อมกับออกแบบให้มีพื้นที่นั่งสมาธิต่อเนื่องกับระเบียงนอกบ้านที่สามารถเดินจงกรมได้ด้วย”

ห้องรับประทานอาหาร
พื้นที่ใช้สอยชั้นล่างปรับรูปแบบมาจากใต้ถุนบ้านไทยที่ยกเพดานสูงเกือบ 4 เมตร เพื่อให้รู้สึกโปร่งสบาย และยังเปิดผนังทั้งสองด้านให้กว้างได้เต็มที่ผ่านประตูไม้บานเฟี้ยม เพื่อให้ลมหมุนเวียนได้ดี พร้อมกับชมวิวธรรมชาติได้
ห้องรับประทานอาหาร
พื้นที่ส่วนกลางคือหัวใจของบ้านและครอบครัว เพราะเป็นมุมที่ทุกคนในบ้านใช้ทำกิจกรรมร่วมกันเกือบตลอดทั้งวัน ทั้งทำอาหารเครื่องดื่ม นั่งเล่น และสังสรรค์ ภายในพื้นที่เปิดเชื่อมต่อถึงกัน ทั้งมุมรับประทานอาหาร แพนทรี่ และครัวไทยด้านในสุด
ห้องครัว
เดิมทีออกแบบแยกพื้นที่กั้นห้องครัวไทยไว้ แต่ก็มาปรับเปลี่ยนทำบานประตูเลื่อนกว้างให้เชื่อมต่อกับ   แพนทรี่ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานในครัวไทยถูกตัดขาดจากมุมอื่นๆ ของบ้าน
ห้องครัว
ช่องหน้าต่างภายในครัวไทยไม่เพียงแต่จะช่วยเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามา แต่ยังเชื่อมต่อมุมมองออกไปสู่วิวธรรมชาติภายนอกด้วยเช่นกัน

เพิ่มความโปร่งให้บ้านไม้

ชั้นล่างของบ้านมีลักษณะเหมือนใต้ถุนที่สูงเกือบ 4 เมตร ผสมคาแรกเตอร์มาจากบ้านไม้ตึกแถวของจันทบุรีและระยอง โดยเน้นใช้ไม้สักทั้งพื้น ฝ้า เพดานภายใน มีผนังเป็นบานเฟี้ยมไม้ที่สามารถพับเปิดรับวิวได้กว้างเต็มที่ทั้งสองด้าน และบางส่วนเป็นบานเกล็ดไม้ที่สามารถเปิดรับลมหมุนเวียนได้แม้เวลาที่ปิดประตูบานเฟี้ยมทั้งหมด ส่วนบันไดเป็นไม้แดง ชั้นบนของบ้านที่เป็นห้องนอนเน้นผนังกระจกเปิดมุมมองให้เห็นผืนน้ำ ภูเขา และท้องฟ้า แม้แต่ในห้องน้ำก็ทำบานเกล็ดไม้ที่เปิดรับลมและชมวิวได้ด้วย ส่วนภายนอกที่สัมผัสกับแดดและใกล้น้ำก็เปลี่ยนมาใช้ไม้ตะเคียนที่เจ้าของซื้อจากโรงไม้ใกล้บ้าน ยกเว้นศาลาเป็นไม้ประดู่ที่เจ้าของตัดมาจากในสวนตัวเอง

“ผมเคยออกแบบบ้านไม้มาหลายหลังแล้ว รู้เลยว่าต้องอาศัยการดูแลค่อนข้างเยอะ สำหรับหลังนี้เลยช่วยลดภาระการดูแลให้เจ้าของด้วยการเสริมวัสดุคอนกรีตและเหล็กเพื่อลดพื้นที่ของไม้ลง  แต่ก็ยังดูกลมกลืนกันด้วยการปรุงแต่งให้น้อย เน้นตัวสัจจะวัสดุเป็นหลัก มีการเปลี่ยนโครงสร้างชั้นบนให้เป็นเหล็กเพื่อลดน้ำหนักและใช้ประโยชน์ในเรื่องการดันโครงเหล็กให้ยื่นยาวเพื่อขยายชายคาออกไปให้เยอะที่สุด ช่วยบังแสงแดดไม่ให้ปะทะกับตัวบ้าน และยังสร้างร่มเงาให้เฉลียงนั่งเล่นด้านล่าง เจ้าของบ้านสามารถออกมาใช้งานได้ตลอดวัน รวมทั้งเพิ่ม “คอสอง” เป็นช่องรับแสงธรรมชาติเข้าบ้าน เพื่อให้ภายในโปร่งสว่างและมองเห็นธรรมชาติภายนอกได้มากขึ้นอีก”

บันได
บันไดบริเวณกลางบ้านยึดด้วยโครงเหล็กให้ดูเบา แล้วใช้แผ่นไม้แดงที่เจ้าของซื้อสะสมไว้ปูในส่วนของขั้นบันได
บ้านไม้ติดน้ำ
โถงบันไดชั้นบนมองเห็นแนวโครงไม้สวยๆ ที่ตั้งใจเปิดโชว์ไว้ให้เห็นความงานของไม้ที่กลมกลืนไปกับพื้นและฝ้าเพดาน
บ้านไม้ติดน้ำ
บ้านไม้ติดน้ำ
โถงโปร่งบริเวณชั้นบนเปิดเป็นสเปซโล่งๆ สำหรับรับลมโดยมีเบื้องหน้าเป็นวิวภูเขา เงยหน้าขึ้นไปก็เห็นท้องฟ้ากว้าง เจ้าของบ้านตั้งใจตกแต่งมุมนี้ให้เป็นห้องสมุด แต่ยังรอเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และการใช้งาน
บ้านไม้ติดน้ำ ห้องนอน
ห้องนอนหลักปูพื้นและผนังด้วยไม้มะค่าที่ให้โทนสีออกเข้ม เพราะเป็นไม้ที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ ผสมกับฝ้าเพดานไม้สักสีสว่างตา พร้อมด้วยช่องหน้าต่างที่ยื่นออกไป โดยเพิ่มดีไซน์ให้เป็นที่นั่งเล่นแบบเบย์วินโดว์ ซึ่งมีมู่ลี่ไม้ช่วยกรองแสง
ห้องนอน
ทุกห้องนอนในบ้านมีเลย์เอาต์เหมือนกัน แตกต่างแค่เฉพาะส่วนใช้งานที่ยื่นออกไปทางริมผนังด้านข้าง อย่างห้องนอนลูกชายห้องนี้ออกแบบให้เป็นโต๊ะทำงานเล็กๆ โดยติดผ้าม่านไว้ให้รูดปิดได้เมื่อต้องการพรางมุมทำงานไว้ เพื่อสร้างบรรยากาศการพักผ่อนให้ห้องนอน

จัดการระบบน้ำอย่างยั่งยืน

เพราะรักที่จะอยู่ใกล้น้ำจึงต้องมีการออกแบบระบบน้ำเพื่อให้บ่อน้ำคงความใสสะอาด ขณะเดียวกันก็ต้องรองรับการไหลล้นของน้ำฝนและน้ำจากภูเขา และไม่กีดขวางทางน้ำของเพื่อนบ้านในชุมชนด้วย ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่เจ้าของบ้านเข้ามาดูแลงานก่อสร้างตั้งแต่ต้นจนเข้าสู่ช่วงฤดูฝนหนักๆ จึงทำให้เห็นปัญหาน้ำฝนชะหน้าดินและนำพาของเสียเข้ามาสู่บ่อน้ำในบ้านตัวเอง ด้วยความที่คุณนิภาเป็นคนช่างสังเกตและชอบทดลองตามวิชาชีพที่เคยทำงานในห้องแล็บเคมี ส่วนคุณสุรพลเองก็อาศัยประสบการณ์เรื่องการบำบัดน้ำเสียจากงานประจำมา จึงช่วยกันออกแบบแก้ปัญหาและจัดการทิศทางของน้ำให้ยั่งยืนขึ้น

“บ่อน้ำที่บ้านเราส่วนใหญ่เป็นน้ำฝนกับน้ำใต้ดิน เราแทบจะไม่ได้ขุดเพิ่มเลย มีแต่ถมดินเพื่อทำขอบกั้นน้ำมากกว่า พอผ่านฝนฤดูเดียวน้ำก็เต็มบ่อแล้ว ยิ่งในช่วงหน้าแล้งน้ำจะยิ่งใสมาก ตอนที่ยังไม่วางระบบพอฝนตกแป๊บเดียวน้ำในบ่อเราเขียวอื๋อเลย และยิ่งเห็นความแรงจากน้ำหลากในฤดูฝนที่ซัดหน้าดินกับหินก้อนเล็กก้อนน้อยที่เราถมไว้พังทลาย ก็เลยต้องทำรั้วคอนกรีตกั้นเอาไว้ แต่กั้นอย่างเดียวไม่ได้เพราะน้ำจะไปท่วมลงคลองเพื่อนบ้านหมด เลยต้องวางท่อปูนฝังลงดินเป็นเมตรๆ เพื่อรับน้ำที่ไหลจากภูเขาด้านบนระบายลงไปที่คลองรอบๆ ช่วยทำให้บ่อน้ำเราใสตลอดทุกฤดูโดยไม่โดนน้ำจากคลองมาผสมด้วย แล้วก็ยังทำท่อที่มีวาล์วเปิด-ปิดเพื่อรักษาระดับน้ำในบ่อให้พอดีตามต้องการ เวลาน้ำฝนลงเยอะก็ปล่อยออกท่อที่ฝังไว้รอบๆ ได้เหมือนกัน”

ห้องน้ำ
มีการลดสเต็ปของพื้นห้องน้ำชั้นบนให้ต่ำกว่าระดับพื้นห้องนอน เพื่อคงรูปทรงของชายคาที่ยื่นยาวมาป้องกันแดดไว้ให้กลมกลืนเป็นผืนเดียว จึงทำบันไดขั้นเล็กๆ ไว้ให้เดินเชื่อมต่อลงไปได้
ห้องน้ำ
เพื่อไม่ให้ห้องน้ำที่ตกแต่งด้วยงานไม้ดูทึบและอับชื้น จึงมีการเน้นใช้ช่องหน้าต่างรับแสงธรรมชาติ ส่วนเพดานสกายไลต์รวมถึงช่องคอสองที่ผนังด้านบนติดเพดานมาช่วยเพิ่มความโปร่งและสว่างตา
ห้องน้ำ
เพิ่มมุมอ่างอาบน้ำไว้เพื่อรองรับการผ่อนคลายเวลาลูกๆ กลับมาพักผ่อนที่บ้าน บริเวณหน้าต่างติดบานเกล็ดไม้ที่ปรับช่องรับแสงและมุมมองได้เมื่อต้องการความเป็นส่วนตัว

ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันตามธรรมชาติ

แม้การอยู่อาศัยในบ้านไม้ที่เปิดโล่งจะเป็นความฝันของใครหลายคน แต่ก็มักตามมาด้วยความกังวลเรื่องสรรพสัตว์ต่างๆ ตามธรรมชาติ ทั้งยุง จิ้งจก และแมลง ซึ่งเจ้าของบ้านหลังนี้บอกเคล็ดลับน่ารักๆ ทิ้งท้ายไว้ว่า

“ส่วนใหญ่เราใช้ชีวิตอยู่กลางบ้านเป็นหลักซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ติดมุ้งลวดเลย เราชอบอยู่กับธรรมชาติและต้องการให้ลมเข้าบ้าน ซึ่งลมค่อนข้างแรงก็เลยช่วยลดปัญหายุงไปได้บ้าง และส่วนใหญ่ยุงกับแมลงมาแค่ช่วงหัวค่ำ เราจะใช้วิธีเปิดไฟนอกบ้านล่อแมลงออกไปในช่วงเวลานั้น ซึ่งก็มีจิ้งจกมาช่วยกินแมลง ตอนเช้าก็แค่กวาดเศษแมลงที่เหลือกับมูลจิ้งจกลงบ่อน้ำไปเลี้ยงปลา ยังดีที่เราอยู่ไกลถนนฝุ่นก็เลยน้อย เมื่อเทียบกับความสุขที่ได้รับลมสดชื่นเย็นสบายกลางธรรมชาติสวยๆ เรื่องพวกนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา ทุกวันนี้ก็ยังสนุกที่จะได้ทดลองปรับเปลี่ยนอะไรอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้อยู่บ้านนี้ได้อย่างสบายที่สุด”

บ้านไม้ติดน้ำ
มีการเจาะช่องแสงไว้ด้านบนบานเฟี้ยม เสริมจากบานเกล็ดไม้ที่ช่วยเปิดรับแสงเข้าบ้าน รวมถึงช่องคอสองที่เป็นกระจกใสเพื่อให้แสงยังคงผ่านได้แม้เวลาต้องปิดประตู
บ้านไม้ติดน้ำ
เป็นคำแนะนำจากช่างพื้นถิ่นที่ให้ติดแผ่นไม้เล็กๆ ระหว่างบานปิด ซึ่งเรียกว่า “อกเรา” คล้ายกับที่ใช้กันตามประตูโบสถ์ เพื่อปิดร่องไม้เวลาที่ไม้หดในช่วงฤดูหนาว
 
บ้านไม้ติดน้ำ
บริเวณระเบียงชั้นบนมีคานคอนกรีตค่อนข้างหนายื่นออกมา แต่สถาปนิกออกแบบระแนงเหล็กโปร่งครอบไว้ทำให้รู้สึกเบาและสบายตาขึ้น
บ้านไม้ติดน้ำ
ที่จริงแล้วโครงสร้างชั้นบนเป็นเหล็กแต่หุ้มผิวด้วยงานไม้เพื่อความสวยงามของบ้านไม้และยังดูต่อเนื่องไปกับฝ้าเพดานไม้ได้อย่างกลมกลืน

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, ธนายุต วิลาทัน

สไตล์ : Suntreeya


บ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ที่เกาะเกร็ด

รวมบ้านไม้โมเดิร์นกลิ่นอายไทย