KABOCHA SUSHI LADPRAO 19 รีโนเวทร้านอาหารให้มีเสน่ห์ดั่งงานคราฟต์ญี่ปุ่น

Kabocha Sushi Ladprao 19 เมื่อศิลปะการทำซูชิไม่ต่างไปจากการรังสรรค์งานศิลปะ ที่นี่จึงเปรียบซูชิทุกคำดั่งงานคราฟต์ กับบรรยากาศร้านอาหารญี่ปุ่นที่ออกแบบเหมือนได้มากินข้าวที่บ้านเชฟ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Storage Studio

จากสโลแกน “Crafting the Day with Sushi Happiness” ของ Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิเจ้าอร่อยที่เปิดมาแล้ว 11 สาขา และสำหรับสาขานี้ซึ่งเป็นสาขาแรก และเป็นสาขาเดียวที่เปิดในรูปแบบสแตนอโลน เมื่อถึงคราวต้องรีโนเวตร้านใหม่จึงต้องการบอกชัดถึงเรื่องราวความพิถีพิถันของเชฟทำซูชิ ที่ต้องใช้ความใส่ใจ ไม่ต่างจากการรังสรรค์งานศิลป์ เพื่อให้ซูชิมีความหมายมากกว่าแค่คำว่าอิ่มท้อง

.

Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว
Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว
Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว

ฉลุลายไม้ญี่ปุ่นตกแต่งผ่านฟาซาดไม้ซีดาร์

Storage Studio จึงตีความคำว่างานคราฟต์ตามความต้องการของร้าน Kabocha Sushi ที่ต้องการสื่อถึงเทคนิคการแกะสลักไม้ญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า Yozegi & Kumiko ศิลปะการนำไม้หลากสีรูปทรงเรขาคณิตมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว ผ่านฝีมือวิจิตรของช่างไม้ชาวญี่ปุ่นที่สื่อถึงงานศิลป์ชั้นสูง เช่นเดียวกับร้านคาโบฉะที่เน้นการนำวัตถุดิบหลากหลายมารังสรรค์เป็นเมนูอาหารแสนอร่อย ไม่ต่างไปจากการทำงานคราฟต์

Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว
เมื่อเข้ามาในร้านจะพบกับบรรยากาศราวกับบ้านไม้ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ตรงมุมแคชเชียร์จำลองเหมือนบ้านไม้หลังน้อย
Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว
มองเห็นจั่วหลังคาเหมือนอยู่ในบ้านญี่ปุ่นจริง ๆ

จากชื่อ “คาโบฉะ” ที่แปลว่า ฟักทอง ทีมงานออกแบบจึงเน้นนำลายฟักทอง ซึ่งมีลวดลายคล้ายการแกะสลักไม้ญี่ปุ่นมาใช้เป็นลายกราฟิกฉลุลงบนฟาซาดไม้ซีดาร์ย้อมสี ที่โดดเด่นด้วยหลังคาทรงจั่วหน้าปากซอยลาดพร้าว 19 อันเป็นเอกลักษณ์ของสาขานี้ที่ยังคงเก็บไว้ การออกแบบฟาซาดทำเป็นสองเลเยอร์ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยบังแดดและดูสวยงามเมื่อมองเข้ามาจากภายนอก ส่วนคนที่อยู่ในห้อง Private Room ก็ยังมองออกไปเห็นวิวด้านนอกได้ ผนังสองเลเยอร์นี้ แบ่งเป็นเลเยอร์ไม้ชั้นนอกที่ฉลุเป็นลายฟักทอง และผนังชั้นในฉลุเป็นลายดอกไม้ทั้งเล็กและใหญ่ ตอนกลางคืนติดไฟอัพไลท์ไว้ด้านใน ถ้ามองจากด้านนอกจะเห็นเป็นเงา เมื่อไฟจากในร้านส่องลอดออกมาจะไปกระทบกับลายฉลุฟักทองพอดี เกิดเป็นฟาซาดไม้จริงที่เหมือนดั่งงานคราฟต์สามมิติ ดูสวยงามทั้งกลางวันและกลางคืน

Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว
ผนังด้านข้างเคาน์เตอร์กรุกระจกเงาหลอกตาให้เหมือนพื้นที่เคาน์เตอร์ยาวลึกเข้า เพื่อช่วยแก้ปัญหาพื้นที่แคบ ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้านเดิมเคยประสบมา
Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว
Private room รองรับลูกค้าที่มาเป็นกรุ๊ปหรือครอบครัวใหญ่ ตกแต่งห้องเหมือนเข้าไปอยู่ในบ้านญี่ปุ่นแท้ ๆ 

จำลองบ้านไม้ญี่ปุ่นเหมือนมากินข้าวที่บ้านเชฟ

เมื่อเข้ามาในร้านจะพบกับบรรยากาศราวกับบ้านไม้ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ตรงมุมแคชเชียร์จำลองเหมือนบ้านไม้หลังน้อย ขณะที่เคาน์เตอร์บาร์ยังคงอยู่ตำแหน่งเดิมเพื่อเป็นจุดปะทะสายตา ผนังด้านข้างเคาน์เตอร์กรุกระจกเงาหลอกตาให้เหมือนพื้นที่เคาน์เตอร์ยาวลึกเข้า เพื่อช่วยแก้ปัญหาพื้นที่แคบ ซึ่งเป็นปัญหาที่ร้านเดิมเคยประสบมา

แบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็นก้อนอาคารด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้าจากที่เคยจัดวางโต๊ะและเก้าอี้แบบลอยตัว เมื่อมีงานจัดเลี้ยงก็ใช้วิธีต่อโต๊ะแบบง่าย ๆ แต่ปัจจุบันได้เพิ่มโซนใหม่ให้เป็น Private room รองรับลูกค้าที่มาเป็นกรุ๊ป หรือครอบครัวใหญ่ ตกแต่งห้องเหมือนเข้าไปอยู่ในบ้านญี่ปุ่นแท้ ๆ ปูพื้นด้วยเสื่อทาทามิ นั่งห้อยขาได้ มีช่องกระจกสำหรับมองลอดฟาซาดออกไปเห็นวิวด้านนอก ใช้ประตูบานเลื่อนเหมือนบ้านญี่ปุ่น ด้านบนติดกระจกใสกันเสียงรบกวน มองเห็นจั่วหลังคาเหมือนอยู่ในบ้านญี่ปุ่นจริง ๆ โดยหลังคาที่เห็นนี้ เกิดจาดการลดระดับฝ้าจากที่เคยสูงชันกว่า 45 องศา ให้ลาดต่ำลงมาเหลือ 30 องศา ฝ้าใช้ลามิเนตลายไม้ปิดผิว ซ่อนไฟส่องให้หลังคาสว่างเหมือนบ้านจริง โชว์ให้เห็นมิติที่ตั้งใจให้มองเห็นโครงสร้างของจันทัน แป และอกไก่

Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว
มีที่เก็บของตู้บิลท์อินยาวขนานไปกับแนวเคาน์เตอร์บาร์ สำหรับจัดเก็บสิ่งของที่ใช้ในร้านให้เป็นระเบียบ 
Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว
Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว
กรุผนังด้วยลามิเนตลายไม้สีเข้ม หรือสีไม้วอลนัท ส่วนโต๊ะกรุผิวด้วยลามิเนตไม้สีอ่อน หรือสีไม้ฮิโนกิ 

เปลี่ยนจุดบอดเป็นจุดเด่น

แก้ปัญหาก้อนอาคารด้านหลังที่ทั้งแคบและลึก ด้วยการจัดที่นั่งเรียงขนานไปกับแนวผนังด้านซ้าย จากที่เคยเป็นพื้นที่ให้แขกออกไปสูบบุหรี่ ครั้งนี้ได้เปลี่ยนให้เป็นที่นั่งรองรับลูกค้าได้เต็มที่ มีสีสันด้วยพาร์ทิชันที่ติดสติ๊กเกอร์ลายกราฟิกสีน้ำตาล-เหลือง ช่วยอำพรางสายตาเป็นส่วนตัว กรุผนังด้วยลามิเนตลายไม้สีเข้ม หรือสีไม้วอลนัท ส่วนโต๊ะกรุผิวด้วยลามิเนตไม้สีอ่อน หรือสีไม้ฮิโนกิ ขอบผนังด้านบนซ่อนไฟให้แสงฉาบไล้ลงมาที่ผนัง ช่วยให้โซนนี้ที่ทั้งแคบและลึกดูนี้สว่างขึ้น ลดความอึดอัด และมืดทึบได้อย่างดี เหนือที่นั่งมีคานแขวนโคมไฟที่ยื่นออกมาเลียนแบบคานบ้านญี่ปุ่น ภายในโคมติดไฟที่สั่งทำพิเศษได้ติดไฟดาวน์ไลท์ให้ส่องลงมาที่โต๊ะ ช่วยให้สว่าง แถมยังถ่ายรูปสวย

เหนือที่นั่งมีคานแขวนโคมไฟที่ยื่นออกมาเลียนแบบคานบ้านญี่ปุ่น 
Kabocha Sushi Ladprao 19 ร้านซูชิ ลาดพร้าว
โชว์ให้เห็นมิติที่ตั้งใจให้มองเห็นโครงสร้างของจันทัน แป และอกไก่

ผนังด้านขวาเป็นอีกโซนที่มีที่นั่ง 2 โต๊ะ ตกแต่งผนังด้วยลายกราฟิกที่เปรียบเสมือน Identity Design ของร้านนี้ เช่น ลายฟักทอง ปลาแซลมอน ลายดอกไม้ และอักษรญี่ปุ่น หุ้มเสาเหล็กเดิมด้วยไม้ลามิเนตเหมือนเสาบ้านจริง เพดานกรุไม้ลามิเนตตกแต่งเป็นเส้นกริด คล้ายแพตเทิร์นฝ้าเพดานใน Katsura Imperial Villa เพิ่มลูกเล่นด้วยการสลับสีอ่อนและเข้ม เพื่อพรางงานระบบ ไฟ และเครื่องปรับอากาศ มีที่เก็บของตู้บิลท์อินยาวขนานไปกับแนวเคาน์เตอร์บาร์ สำหรับจัดเก็บสิ่งของที่ใช้ในร้านให้เป็นระเบียบ เปลี่ยนจากร้านที่เคยรกในอดีต ให้มีพื้นที่จัดเก็บสิ่งของที่หยิบใช้ได้ง่าย และมีระเบียบมากขึ้น ด้านหลังเคาน์เตอร์ภายในครัวมองเห็นลายกราฟิกให้คนมองเข้าไปยังมีฉากหลังที่สวยงาม

เนื้อปลาคุณภาพ และความพิถิพิถันในการหั่นชิ้นปลา ตกแต่งอย่างสวยงาม
Sushi Set A รวมซูชิ 8 คำจากวัตถุดิบพรีเมียม
ซูชิที่รังสรรค์ขึ้นจากวัตถุดิบสดใหม่ และความชำนาญของเชฟ
Special Otoro Don ฟินไปกับวัตถุดิบสดสะอาดระดับพรีเมียม

ความพิเศษของที่นี่จึงไม่เพียงแต่การรีโนเวตร้านให้ประทับใจลูกค้า แต่เหนืออื่นใดคือการสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ให้เอื้อต่อการใช้งานของเชฟและพนักงานทุกคน เพื่อให้ทุกสเตชั่นสามารถใช้งานได้จริง สะดวก เหมาะสมกับการทำงาน เมื่อบรรยากาศการทำงานดีย่อมสะท้อนไปถึงหน้าตาและรสชาติของอาหาร พร้อมจัดเสิร์ฟความประทับใจไปกับชุดอาหารสุดพรีเมียม ใส่ใจรายละเอียดดั่งงานคราฟต์

ที่ตั้ง
คาโบฉะ ซูชิ สาขาลาดพร้าว 19 ถนนลาดพร้าว แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
พิกัด https://maps.app.goo.gl/ypM1qugak1s1A4hR6?g_st=ic
สอบถามโปรโมชั่น สาขาลาดพร้าว : https://page.line.me/gfm0232u

ออกแบบ : วิชชาธร ประเสริฐสุข, พนิต ลีลาศิลปวงศ์ และศุภิญญา ดิษฐวิบูลย์
บริษัท สตอเรจ สตูดิโอ (https://www.storage-studio.com/)

เรื่อง : Phattaraphon
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม และกสิณ สนลา