สเตเดียม คือสถาปัตยกรรมของวัฒนธรรมคอนเสิร์ต จริงหรือไม่

ทุกคนคงคุ้นกับ #กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต ตั้งแต่หลังวิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 ได้เบาบางลง ศิลปินระดับโลกหลายคนหันกลับมาทำเพลง และออกทัวร์คอนเสิร์ตไปทั่วโลก แน่นอนว่าศิลปินเบอร์ใหญ่ไม่ว่าจะทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ต่างมีเกณฑ์การเลือกสถานที่จัดคอนเสิร์ต ปัจจุบันสถานที่จัดคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ มักเป็น สเตเดียม

ย้อนกลับไปในอดีตสถานที่จัดงานมหรสพนั้นคือ สเตเดียม แบบแอมฟิเธียเตอร์ (Amphitheater) หรือ โคลอสเซียม (Colossuem) สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่นั้นก็เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างมาตอบสนองความต้องการเพื่อการบันเทิงของมนุษย์ นั่นคือนนัยสำคัญตั้งแต่อดีตว่ามนุษย์ให้ความสำคัญกับความบันเทิงของคนในเมืองนั่นเอง และเป็นเสน่ห์ที่เชิญชวนดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนได้อย่างน่าเหลือเชื่อ room ชวนดูสเตเดียม แท้จริงแล้วเป็นที่จัดคอนเสิร์ตหรือสนามกีฬา เหมาะสมกับการแสดงคอนเสิร์ตหรือไม่อย่างไร ?

#ทำไมถึงต้องจัดคอนเสิร์ตที่สเตเดียม ข้อดี – ข้อเสีย การจัดคอนเสิร์ตที่สเตเดียม

  • แน่นอนข้อแรกที่ขาดไม่ได้ในกฏเกณฑ์การเลือกสถานที่คือ ฐานแฟนคลับ การรองรับจำนวนคน ยิ่งจุคนมากเท่าไรคอนเสิร์ตนั้นมักได้กำไรจากการขายที่นั่งบัตรมากเท่านั้น
  • พื้นที่บริการ ตั้งแต่ความสะอาดของห้องน้ำที่เพียงพอ ที่จอดดรถ โลเคชั่นการเดินทาง การคมนาคมที่สะดวกสบายที่รองรับคนจำนวนมาก
  • สภาพอากาศ เมื่อสถานที่รองรับคนจำนวนมาก การถ่ายเทอากาศที่สะดวก ไม่แออัดจึงเป็นข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง
  • ข้อสำคัญคือ สเตเดียมส่วนมากที่สร้างมานานหรือที่เก่าแก่ที่ใช้เพื่อเป็นสนามกีฬาเป็นหลักมักไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการออกแบบแสง สี แสง


room ขอชวนมาสำรวจสเตเดียมในโลกยุคปัจจุบันจนไปถึงสเตเดียมที่มีชื่อเสียงที่ใช้ในการใช้จัดคอนเสิร์ตนั้นมีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร

The Sphere Las Vegas


The Sphere Las Vegas หรือ The Msg Sphere ที่ลาสเวกัสเมืองแห่งแสงสีไม่มีวันหลับใหล อาคารทรงกลมสุดไวรัลนี้แน่นอนว่าคงเคยผ่านตานักชมคอนเสิร์ตตัวยงหลายคน และคงใฝ่ฝันว่าสักครั้งหนึ่งจะได้มาชมคอนเสิร์ต ณ ที่แห่งนี้ อาคารนี้ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญทางสเตเดียมโดยเฉพาะ Populous เป็นผู้ออกแบบเดียวกับ Madison Square Garden ใจกลางเมืองนิวยอร์ก ไฮไลต์ที่โดดเด่นที่นี่คืออาคารทรงกลมขนาดใหญ่นั้นเป็นจอ LED ทั้งหมด โดยสามารถเปลี่ยนหน้าตาของมันเป็นอะไรก็ได้ตามต้องการ ซึ่งเข้ากับความงามทรงกลมของสถาปัตยกรรม ภายในมีพื้นที่กว่า 120,000 ตารางเมตร รองรับผู้ใช้งานกว่า 18,000 คน นอกจากเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตแล้วยังสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานที่ได้รับการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ภายในมีจอความชัดสูง 18k ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ได้สัมผัสเทคโนโลยีแบบทันสมัยพร้อมกับรับชมคอนเสิร์ตซึ่งน่าจะเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจของใครหลายคนเลยทีเดียว แน่นอนว่าที่นี่ยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมหาศาลที่คุ้มค่ากับการจ่ายมาเพื่อสัมผัสประสบการณ์  ความงามทางสถาปัตยกรรมที่นี่จึงเรียกได้ว่าเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจไม่แพ้คาสิโนในเมืองลาสเวกัสเลยทีเดียว

Singapore National Stadium


Singapore National Stadium สนามกีฬาแห่งชาติสิงคโปร์ หลังโควิดมาที่นี่ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมคอนเสิร์ตระดับโลกเลยก็ว่าได้ เพราะเขาก็ยกตัวเองเป็นฮับคอนเสิร์ตของเอเชียเช่นกัน อย่างล่าสุดกับคอนเสิร์ตเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่จัดกันไปถึง 6 รอบ เรียกได้ว่าสเตเดียมแห่งนี้หาเงินจากคอนเสิร์ตได้มากกว่าการแข่งกีฬาเสียอีก ไฮไลต์ที่โดดเด่นของที่นี่คือมีขนาดพื้นที่ใหญ่มากกว่า 350,000 ตารางเมตร รองรับผู้ชมได้มากถึง 55,000 ที่นั่ง ออกแบบโดย Arup Associates ( sports venues), DP Architects ( Non-Sport vennues, QP ), AECOM ( Landscape ) ที่คิดฟังก์ชั่นออกมาได้ย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นหลังคาของสนามที่สามารถเปิด – ปิดได้ ตามความต้องการหรือรองรับทุกสภาพอากาศแน่นอน , ระบบทำความเย็นเนื่องจากสิงคโปร์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสภาพอากาศใกล้เคียงกับบ้านเรา ระบบทำความเย็นจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดียามใช้สเตเดียมแห่งนี้, ระบบระบายน้ำตามมาตรฐานของสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานตามสนนามชั้นนำทั่วโลก ช่วยแก้ปัญหาตอนนฤดูฝน ทำให้น้ำไม่ท่วมขัง ฟังก์ชันอื่น ๆ ที่สามารถรองรับกิจกรรมกีฬาได้อย่างหลากหลาย ที่สำคัญคือโลเคชั่นที่ลงตัว สามารถเดินทางสะดวกได้ตามขนส่งสาธารณะ อาจกล่าวได้ว่าสเตเดียมนี้คือแหล่งเศรษฐกิจและกระตุ้นการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ไม่น้อยเลยทีเดียว

Wembley Stadium 


Wembley Stadium สนามกีฬาเวมบลีย์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เวมบลีย์ ถูกเอ่ยเป็นชื่อแรก ๆ ของสเตเดียมที่มีชื่อเสียงเปี่ยมไปด้วยประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่เพียงแค่การจัดกีฬา แต่ยังเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดัง ตั้งอยู่ที่เบรนต์ ประเทศอังกฤษ ปรับปรุงขึ้นใหม่เมื่อปี 2007 มีขนาดพื้นที่กว่า 170,000 ตารางเมตร จุผู้ชมมากกว่า 90,000 ที่นั่ง เป็นสเตเดียมตัวเลือกแรก ๆ ของการจัดคอนเสิร์ตที่ศิลปินแนวหน้าใฝ่ฝันมาเล่นทีนี่เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นอีกหนึ่งตัววัดความสำเร็จในเส้นทางศิลปินจากฐานแฟนคลับ โดยสเตเดียมนี้ยังเป็นสนามกีฬาได้มาตรฐานยูฟ่าและเป็นสนามกีฬาแห่งชาติของทีมชาติอังกฤษ สนามเวมบลีย์ถูกออกแบบโดย สถาปนิก foster+partners ร่วมกับ populous เป็นสนามที่มีหลังคาใหญ่ที่สุดในโลก เวมบลีย์ยังเป็นสนามกีฬาเอนกประสงค์ที่ใช้ทั้งการจัดกีฬากหลากหลายประเภทและจัดคอนเสิร์ตได้อย่างลงตัว

Tokyo Dome


Tokyo Dome โตเกียวโดม หรือชื่อเล่นที่เรียกกันว่า The big Egg คอมเพล็กซิตี้ที่รวบรวมกิจกรรมทุกสิ่งอย่าง มีตั้งแต่สเตเดียม สนามแข่งกีฬาอย่างเบสบอล ศูนย์การค้า โรงแรม สปา พิพิธภัณฑ์ ไปจนถึงสวนสนุก ที่สำคัญคือเป็นสถานที่จัดกีฬา และคอนเสิร์ตสำคัญของศิลปินแนวหน้าหากพูดถึงการมาทัวร์คอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่น โตเกียวโดม คือสถานที่ใฝ่ฝันของศิลปิน เพราะสถานที่แห่งนี้ถูกเรียกว่าเป็น “ดินแดนแห่งความฝัน” ของทั้งศิลปินและผู้ชมที่ต่างตั้งหน้าตั้งหน้าเดินทางมายังจุดหมายที่แห่งนี้ ออกแบบโดย Nikken Sekkei, Takenaka Corporation โดยสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลมาจากเมโทรโดมเมืองมินนีอาโพลิส รัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา มีความจุผู้ชมมากกว่า 55,000 คน บนพื้นที่ 112,456 ตารางเมตร การเดินทางที่สะดวกโดยขนส่งสาธารณะใจกลางโตเกียว ที่นี่จึงถือเป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

Rajamangala National Stadium


Rajamangala National Stadium ราชมังคลากีฬาสถาน เป็นสนามกีฬาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความจุที่นั่งมากกว่า 50,000 ที่นั่ง โดยเป็นสนามกลางหรือสนามหลักภายในสนามกีฬาหัวหมากของการกีฬาแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 และ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2531 สนามได้รับการออกแบบโดย รังสรรค ต่อสุวรรณ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2541 เพื่อใช้ในการแข่งขันกัฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพ ปัจจุบันหากมีทัวร์คอนเสิร์ตศิลปินระดับโลกที่นี่มักจะได้การรับเลือก ศิลปินที่เคยมาจัดคอนเสิร์ตที่นี่แล้วคือ coldplay, Lady GAGA, One direction, Ed Sheeran ซึ่งในปี 2024 coldplay จะมาทำทำการแสดงคอนเสิร์ตที่นี่ถึง 2 รอบ และ Ed Sheeran ก็กลับมาทัวร์คอนเสิร์ตที่นี่ซ้ำอีกรอบเช่นกัน โดยครั้งนี้จะมีความพิเศษคือการทำสเตจที่สามารถให้ผู้ชมเห็นได้ 360 องศา

จากตัวอย่างสเตเดียมที่ยกมาเอ่ยในบทความนี้ ก็มักจะมีความเหมือนและแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ และการก่อสร้างที่เจริญก้าวหน้าตามยุคสมัย ตามเทคโนโลยี ที่ได้พัฒนามาถึงในโลกปัจจุบัน อย่างไรแล้วสเตเดียมก็ถูกสร้างมาด้วยจุดประสงค์ที่หลากหลาย แต่ปัจจัยหลักคือเพื่อความบันเทิงของมนุษย์ เมื่อมีจำนวนคนมากมายมหาศาลมาชุมนุมในสถานนที่เดียวกัน สิ่งที่สำคัญคือความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สถานที่จัดคอนเสิร์ต สเตเดียมที่ไหน ที่คุณชอบและอยากไปกลับซ้ำ หรือสเตเดียมที่คุณอยากไปเยือนสักครั้งในชีวิตคือที่ไหนมาเล่าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้เลย!  


เรียบเรียง: Lily J.