room x Living Asean Design Talk 2023 URBAN FUSION / RURAL FLOURISH: Interweaving Urban and Rural Design งานเสวนาทางสถาปัตยกรรมที่ว่าด้วยการถักทอและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เมืองและชนบท

จบลงไปแล้วสำหรับกิจกรรม room x Living Asean Design Talk 2023 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ในธีม URBAN FUSION / RURAL FLOURISH: Interweaving Urban and Rural Design งานเสวนาทางสถาปัตยกรรมที่ว่าด้วยการถักทอและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เมืองและชนบท กิจกรรมหนึ่งในงานบ้านและสวนแฟร์ Midyear ณ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร และนี่คือเนื้อหาที่เกิดขึ้นภายในงาน รวมทั้งภาพบรรยากาศที่หลายคนน่าจะอยากเห็นกัน

งานนี้ได้ 4 สถาปนิกจาก 3 ประเทศ ได้แก่

ม.ล. วรุตม์ วรวรรณ จาก Vin Varavarn Architects Ltd. กรุงเทพฯ คุณศุภวุฒิ บุญมหาธนากร จาก JaiBaanStudio เชียงใหม่ สองตัวแทนจากประเทศไทย นอกจากนั้นก็ยังมี Shunri Nishizawa จาก Nishizawa Architects สถาปนิกจากประเทศเวียดนาม รวมถึง Antonius Richard จาก RAD+ar สถาปนิกจากประเทศอินโดนีเซีย ได้มาร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับงานออกแบบที่มีจุดร่วมคือการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในบริบทเมืองและชนบท ทั้งร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง รวมถึงวิธีคิดที่แตกต่างกันไปตามสภาพบริบท รวมทั้งข้อจำกัดของการทำงานด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น ในงานยังได้วิทยากรรับเชิญพิเศษ คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาร่วมบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับนโยบายและความร่วมมือต่างๆ ที่มีส่วนร่วมผลักดันประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะและคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้คนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งงานเชิงนโยบายและแต่ละงานออกแบบที่สถาปนิกได้ร่วมบรรยายก็ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับทั้งผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ รวมถึงผู้คนต่างสาขาอาชีพผู้สนใจในประเด็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วย

งานเสวนาเริ่มต้นที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ในหัวข้อ “นโยบายการพัฒนาเมือง ต่อการตอบรับการปะทะสังสรรค์ของผู้คนจากต่างที่มา” ประเด็นสำคัญที่ได้จากการเสวนาคือ วิสัยทัศน์ของศานนท์ที่กล่าวถึงเมืองที่อยู่ดี (Livable City) ว่าคือเมืองที่สามารถรองรับผู้คนจากหลากหลายสารทิศที่มาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีคุณภาพ ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้คนโดยเฉพาะการสร้างพื้นที่สาธารณะร่วมกัน

โดยสำหรับศานนท์ เมืองที่ดีไม่ใช่แค่การที่เมืองนั้น ๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดี แต่ต้องเป็นเมืองที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยเป้าหมายหลักของการสร้าง Livable City สำหรับเขาคือการเปิดกว้างให้ทุกคนได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา กล่าวคือ เมื่อทุกคนรับรู้ว่าเมืองเป็นของพวกเขาเอง และเมืองมีพื้นที่และมีกิจกรรมที่เหมาะกับตัวเขาแล้ว เมืองนั้นๆ ไม่เพียงแต่กรุงเทพมหานคร ก็จะสร้างความหวังและการพัฒนาให้กับคนที่อาศัยได้ดีไปพร้อมกันได้

ต่อมา ม.ล.วรุตม์ วรวรรณจาก Vin Varavarn Architects ประเทศไทย เป็นผู้ขึ้นเสวนาต่อ ในหัวข้อ “สถาปัตยกรรมสาธารณะ กับการแก้ปัญหาช่องว่างทางสังคมของผู้คน” มีประเด็นสำคัญคือ การแสดงให้เห็นบทบาทการ ช่วยแก้ปัญหาสังคม ด้วยวิชาชีพสถาปนิกและองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรม

ในเวลาทั่วไป ม.ล.วรุตม์ และ Vin Varavarn Architects Ltd. ได้ทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมจนเป็นที่ยอมรับมาแล้วหลายประเภทผลงาน อาทิ บ้านพักอาศัยสำหรับครอบครัวเดี่ยว โครงการที่พักอาศัยขนาดใหญ่อย่างอพาร์ตเมนต์ รวมถึงผลงานเชิงอุตสาหกรรมการบริการอย่าง รีสอร์ต และโรงแรมหลายแห่ง แต่ยังมีอีกความท้าทายหนึ่งสำหรับเขานั่นคือการทำงานด้านการแก้ไขปัญหาสังคม วิธีคิดและองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนผ่านผลงานเชิงช่วยเหลือสังคมหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การออกแบบที่ดีสามารถช่วยให้วิถีชีวิตของคนและสังคมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้ ทั้งยังนำมาซึ่งความสนุกและเป็นพลังด้านบวกให้กับการทำงานของตัวเขาเอง

Shunri Nishizawa จาก Nishizawa Architects ประเทศเวียดนาม ขึ้นเสวนาต่อในหัวข้อ “การออกแบบที่อยู่อาศัย กับการตอบสนองสภาพอากาศและข้อกำจัดในต่างบริบท” มีประเด็นสำคัญคือการแสดงให้เห็นงานออกแบบที่เชื่อมโยงไปกับบริบททางธรรมชาติ อันก็เชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับการใช้ชีวิตของมนุษย์

Nishizawa เป็นสถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้อาศัยและทำงานในประเทศเวียดนามมานานกว่า 15 ปี โดยเขาเชื่อว่าหน้าที่ของสถาปนิกคือผู้ที่จะต้องทำความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ อย่างถ้วนทั่ว ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ พืช อาคารแวดล้อม และบริบทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นวัฒนธรรมด้วยความเคารพและเท่าเทียม ในการจะสร้างสถาปัตยกรรมและพื้นที่ที่โอบรับทุกสิ่งเข้าหากันด้วยความปิติและเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน ผลงานออกแบบที่อยู่อาศัยที่โดดเด่นของ Nishizawa Architects ได้แสดงให้เห็นความสำคัญต่อการ “ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ” ด้วยมุมมองที่ให้ความสำคัญต่อทุกสิ่งไม่ใช่แค่เพียงวัตถุ ซึ่งสิ่งนี้ประเด็นสำคัญที่ Nishizawa พยายามสื่อสารอย่างต่อเนื่องผ่านการสร้างรับรู้ทางสถาปัตยกรรม อันเป็นบทบาทที่เขาจะทำได้ในฐานะสถาปนิกคนหนึ่ง

ต่อเนื่องไปกับหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับบริบทางธรรมชาติ คุณศุภวุฒิ บุญมหาธนากร จากใจบ้านสตูดิโอ ประเทศไทย ขึ้นเสวนาต่อในหัวข้อ “ดุลยภาพระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ผ่านงานออกแบบและฟื้นคืนสภาพแวดล้อม” มีประเด็นสำคัญคือ การแสดงให้เห็นอีกมิติของงานออกแบบที่เน้นการให้ความสำคัญกับธรรมชาติเทียบเท่าหรือมากกว่าตัวมนุษย์เอง

ศุภวุฒิ และใจบ้านสตูดิโอเป็นสถาปนิกผู้ทำงานเชิงชุมชนจากเชียงใหม่ ประเทศไทย มีบทบาทสำคัญคือการเชื่อมต่อผู้คนในชนบทให้เข้าถึงการพัฒนาด้วยงานออกแบบและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ในฐานะสถาปนิก ศุภวุฒิได้มีโอกาสทำงานออกแบบร่วมกับเจ้าของโครงการอย่างใกล้ชิด และได้ช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ ว่า”เวลา” นั้นเป็นตัวช่วยสำคัญของการฟื้นคืนธรรมชาติให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง พื้นที่ว่างที่ศุภวุฒิและใจบ้านสตูดิโอได้เข้าไปพัฒนาต่างได้รับการแก้ไขปัญหา โดยทั้งต้นไม้ พืชพื้นถิ่น รวมถึงสัตว์ประจำถิ่นก็ได้ฟื้นคืนและกลับมาอาศัยประจำอยู่ในถิ่นเดิมอีกครั้ง อันเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดร่วมกันทั้งคน สัตว์ และธรรมชาติ ที่มีนักออกแบบเป็นดังทูตเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าหากัน

ผู้บรรยายท้ายสุด Antonius Richard จาก RAD+ar ประเทศอินโดนีเซีย เสวนาในหัวข้อ “งานออกแบบต่างมิติ กับการตอบสนองสภาพแวดล้อมและบริบทอันหลากหลาย” มีประเด็นสำคัญคือการนำธรรมชาติเข้าสู่งานออกแบบร่วมสมัย ด้วยมุมมองใหม่ต่อสถาปัตยกรรมภูมิภาคร้อนชื้น

Antonius Richard ร่วมเสนอแนวทางการประยุกต์ธรรมชาติ และแนวคิดยั่งยืนเข้าสู่งานออกแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ภายใต้บริบทของประเทศอินโดนีเซีย สำหรับ Richard งานของ RAD+ar แทบทุกงานเป็นงานเชิงทดลองเพื่อค้นหาแนวทางใหม่ๆ ในการการกระตุ้นผู้คนทั่วไปให้เริ่มใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ผลงานของพวกเขาจึงมีหลากหลายตั้งแต่งานเชิงพาณิชย์ขนาดเล็กใกล้ตัวอย่างคาเฟ่ ร้านอาหาร รวมไปถึงบ้านพักอาศัย ไปจนถึงสำนักงาน และงานเชิงศาสนสถานที่เข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้อย่างมัสยิด ด้วยจุดประสงค์หลักคือการเผยแผ่แนวคิดการอยู่อาศัยอย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นแง่มุมหนึ่งของแนวทางการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนที่ตัวเขาและ RAD+ar ต้องการเผยแผ่ออกไปยังวงกว้างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้นั่นเอง 

จากทั้งหมดนี้ จึงแสดงให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์และเครื่องมือการออกแบบ มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาชีวิตของผู้คนทั้งในบริบทเมืองและชนบท รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเชื่อมโยงการพัฒนาระหว่างพื้นที่สองบริบทให้สอดคล้องและส่งเสริมกันไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืนได้

สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องสถาปัตยกรรมและงานออกแบบ สามารถติดตามเรื่องราวของงานออกแบบที่ดีที่ส่งเสริมคุณภาพการใช้ชีวิต และมีส่วนช่วยส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อมให้พัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด “Betterism” ในแง่มุมอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่เพจ room Books และ เวบไซต์ Living Asean สำหรับเวอร์ชั่น ภาษาอังกฤษ

คุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงาน room x Living Asean Design Talk 2023 โดยเห็นว่าการผลักดันความตระหนักรู้ และองค์ความรู้ในการพัฒนาเมืองมีส่วนกำหนดทิศทางอันควรจะเป็นต่อการอยู่อาศัยในเมืองร่วมกัน และเห็นว่าเวทีที่นำมาซึ่งการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านมุมมองที่หลากหลายของแนวคิดทางสถาปัตยกรรม อาจทำให้ได้รู้สิ่งที่อาจไม่เคยได้รับรู้ ด้วยมุมมองที่แตกต่างจาก เวียดนาม จาก อินโดนีเซีย หรือแม้แต่จากประเทศไทยเอง

เรื่อง: กองบรรณาธิการ room และ Living Asean

ภาพ: คลังภาพบ้านและสวนแฟร์