Infinity Ground นิทรรศการสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ย้อนสู่จุดเริ่มต้นผสานแผ่นดินไทย-ไต้หวัน

Infinity Ground นิทรรศการสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ที่จัดแสดงผลงานของสถาปนิกจาก 8 บริษัทของไทย และไต้หวัน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งแต่ 18 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2566 นอกเหนือไปจากผลงานการออกแบบทรงคุณค่า พื้นที่นิทรรศการยังได้รับการออกแบบให้โดดเด่นให้เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม 9 ยูนิต บอกเล่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรมจากสองแผ่นดิน พร้อมชวนผู้เข้าชมเปิดมุมมองถึงหน้าที่ของสถาปัตยกรรมต่อผืนดินที่ตั้งอยู่ในปัจจุบัน และอนาคต

Infinity Ground – Thailand and Taiwan Contemporary Architecture Exhibition จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย โดยมี คุณเจอร์รี่ หง (Jenchieh Hung) ประธานคณะทำงานนิทรรศการจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ร่วมกับคุณกุลธิดา ทรงกิตติภักดี ผู้ร่วมก่อตั้ง และสถาปนิกหลักจาก HAS Design and Research เป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ และผู้ออกแบบนิทรรศการ

ย้อนไปเมื่อ 5 ปีก่อน HAS Design and Research ออกแบบนิทรรศการจัดแสดงสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยมาแล้วครั้งหนึ่ง ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนจะรับหน้าที่บรรณาธิการต่อยอดเรื่องราวสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่รูปแบบสิ่งพิมพ์ รวมถึงถ่ายทอดความรู้เฉพาะทางนี้ในคลาสเรียนหลายสถาบัน เมื่อได้รับการทาบทามให้สร้างสรรค์นิทรรศการในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะนำข้อมูลการศึกษาวิจัยมาตีความ และนำเสนอให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยคุณกุลธิดาได้อธิบายจุดเริ่มต้นของแนวคิดไว้ว่า

“แนวคิดของ Infinity Ground เริ่มมาตั้งแต่ที่เราทำวิจัยกันเมื่อปลายปีที่แล้ว เราพยายามสื่อสารแก่นแท้ของนิทรรศการผ่านการเชื่อมโยงระหว่างสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทย และไต้หวัน ซึ่งแม้จะอยู่ห่างกันมาก แต่ก็เชื่อมโยงกันผ่านผืนดินหรือ Ground ทั้งยังมีการเชื่อมโยงด้านอื่นๆ เช่น ทางวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม หรือภูมิอากาศ ที่ส่งผลต่อการออกแบบสถาปัตยกรรมด้วย”

“นิทรรศการนี้จึงแบ่งออกเป็น 2 ธีมหลัก ได้แก่ Ground Exchange ‘การแลกเปลี่ยนบนผืนดิน’ ที่เรามองเห็นได้ชัดเจนผ่านเทคโนโลยีการก่อสร้างในระดับสากล ที่สามารถประยุกต์ใช้ในประเทศอื่นๆ ได้ด้วย และ Feeling Ground ‘ความรู้สึกจากผืนดิน’ ให้ความรู้สึกของงานคราฟต์ ใช้เทคนิคของช่างท้องถิ่น มีความสัมพันธ์กับชุมชน และบริบทโดยรอบ”

“Ground Exchanges” การแลกเปลี่ยนวิทยาการทางการก่อสร้างสมัยใหม่ได้กำหนดกรอบทิวทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ซึ่งสะท้อนถึงลักษณะที่อุดมสมบูรณ์ของผืนดิน
“Feeling Grounds” ผสานแนวคิดจากสิ่งแวดล้อมกับงานฝีมือพื้นถิ่น วัสดุและเทคนิคการก่อสร้างที่ตกทอดกันมาได้ถ่ายทอดการรับรู้ทางความรู้สึกผ่านทางผืนดินในหลายมิติ

ผลงานทั้งหมด 16 ผลงาน ได้รับการคัดเลือกจากบริษัทสถาปนิก 8 บริษัทของไทย และไต้หวัน โดยแบ่งได้เป็น 8 กลุ่มย่อย ภายใต้ 2 หมวดหลักดังที่กล่าวไปแล้ว นำไปสู่การออกแบบพื้นที่นิทรรศการในโอบล้อมของยูนิตคล้ายบ้าน 9 หลังที่ดูสูงต่ำไม่เสมอกัน แต่เกิดจากจุดศูนย์กลางเดียวกัน สร้างพลังงานความเคลื่อนไหวที่ดูราวกับหมุนรอบจุดศูนย์กลาง

ภาพ: HAS design and research
การออกแบบเริ่มจากจุดศูนย์กลางของช่องเปิดร่วมกันของหอศิลป์ และโถงนิทรรศการนี้ ทุกยูนิตจะเริ่มจากจุดศูนย์กลางเดียวกัน (ภาพ: HAS design and research)

“นิทรรศการตั้งอยู่บนชั้น L ซึ่งคือชั้นใต้ดินของหอศิลป์ มี Open well ที่ทะลุถึงสกายไลต์ด้านบน เป็นจุดเชื่อมต่อของพื้นที่ทุกชั้น เราเลยตั้งใจให้จุดนี้เป็นไฮไลต์ของนิทรรศการ ตัวอาคารย่อยแต่ละยูนิตนั้นมีหลังคาลาดเอียง โดยมีความสูงที่จุดสูงสุด (2.6 เมตร) และจุดต่ำสุด (2.2 เมตร) เท่ากันทั้งหมด แต่เมื่อมาประกอบกันแล้ว กลับให้ความรู้สึกของความไม่เท่ากัน เหมือนอาคารย่อยนั้นเกยกันไปมา ภายในมีทั้งช่องเปิด ระนาบทึบ พื้นที่ร่ม และสว่าง ซึ่งเปิดโล่ง และต่อเนื่องกัน สื่อถึงลักษณะความเป็นบ้าน นอกจากนี้ ความไม่เท่ากันของแต่ละยูนิต การเล่นกับสโลปหลังคา ทำให้เกิดภาพของความหลากหลาย”

เมื่อลงบันไดมาสู่ชั้นล่าง จะพบกับยูนิตแรกสุด ซึ่งเป็นทางเข้าที่นำเสนอแนวคิด และเนื้อหาแนะนำนิทรรศการ เมื่อผู้ชมเข้าไปภายในสามารถเดินชมทั้ง 8 ยูนิต ก่อนจะวนมาจบที่โถงกลาง และออกทางเดิม โดยบริเวณคอร์ตกลางจะมีเก้าอี้กลม ที่กรุด้วยลามิเนตผิวสะท้อน ซึ่งสะท้อนภาพของยูนิตอาคารทั้งหมด รวมถึงสกายไลต์ด้านบนด้วย เป็นเหมือนตัวแทนของจุดศูนย์กลางของ Infinity Ground ภายใต้บรรยากาศสงบและผ่อนคลาย

“ตอนที่เราออกแบบนิทรรศการ เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้นิทรรศการไม่ต้องถูกกำหนดด้วยเสาของอาคาร แต่ขณะเดียวกันเราพยายามไม่ทำให้เสาหายไป แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการด้วย ดังนั้น โดยรอบตัวยูนิตนิทรรศการ จึงมีแท่นวางโมเดลหน้าตัดกลมล้อไปกับเสา ซึ่งโมเดลเหล่านี้สามารถชมผ่านช่องว่างเล็กๆ บริเวณปลายแหลมด้านในของแต่ละยูนิตได้ด้วย”

ในการเลือกใช้วัสดุ ผู้ออกแบบตั้งใจสร้างความคอนทราสต์ที่น่าสนใจผ่านพื้นผิวที่หลากหลาย เปลือกอาคารรอบนอก ผู้ออกแบบได้ร่วมงานกับทีมติดตั้งอะลูมิเนียมใช้เส้นอะลูมิเนียมหน้าตัดครึ่งวงกลม มาเรียงต่อกันตลอดแนว คอนทราสต์กับผนังเรียบภายใน โดยไฮไลต์อยู่ที่ผนังทางเข้าที่ฉาบเป็นลายหินอ่อนที่ดูมีพื้นผิวขรุขระ และกลับเรียบเนียนเมื่อสัมผัส

“ความท้าทายของโปรเจ็คต์นี้คือมีเวลาให้ติดตั้งในหอศิลป์ได้แค่ 1 วันครึ่ง ดังนั้นเราจึงทดลองติดตั้งก่อน โดยแต่ละยูนิตจะสร้างให้เสร็จที่โรงงาน แล้วจึงถอดประกอบเป็นแผงระนาบ ก่อนจะขนย้ายมาประกอบร่างกันในหอศิลป์อีกที”

ตามไปชมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม ถึง 6 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00-20.00 น.

—————————–

ผู้เข้าร่วมแสดงผลงาน: Architects 49 Limited, Behet Bondzio Lin Architekten, Duangrit Bunnag Architect Limited, MAYU architects, Arsomsilp Community and Environment Architect, Ambi Studio, Department of ARCHITECTURE, Atelier Or
ออกแบบนิทรรศการ: HAS design and research
ผู้สนับสนุน: Alufence, Canon, Jorakay, Saint-Gobain, RichCons, FloraScape

เรื่อง: Lily J. / MNSD
ภาพ: HAS Design and Research

______________________________________________________________________________________________________

MoMA สถาปัตยกรรมร่วมสมัยกับความเป็นไปได้ใหม่ของอะลูมิเนียม