เปลือกหอยแมลงภู่ ขยะจากเศษอาหาร หรือ FOOD WASTE มาใช้เป็นวัสดุเชิงทดลองให้เกิดประโยชน์

เปลี่ยน เปลือกหอยแมลงภู่ ขยะ Food Waste สู่งานออกแบบวัสดุทดแทนหินเทอร์ราซโซ

เชื่อหรือไม่ว่าเศษ เปลือกหอยแมลงภู่ ขยะ Food Waste ที่เหลือจากการประกอบเมนูอาหาร มีปริมาณมากถึง 50,000 ตัน/ปี โดยประมาณเลยทีเดียว และเพื่อไม่ให้ถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า ผู้ออกแบบจากสตูดิโอ STUDIO WØMR จึงเกิดไอเดียนำเปลือกหอยแมลงภู่ ซึ่งมีคุณสมบัติผิวมันวาวคล้ายมุก มาทดลองสู่งานออกแบบที่ให้ชื่อว่า Mussle Shell Terrazzo


Mussle Shell Terrazzo เป็นวัสดุที่เกิดจากการทดลองนำเปลือกหอยแมลงภู่มาใช้เป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิดสีสันและลวดลายแทนการใช้เกล็ดหินทั่วไป ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากขยะอาหารที่มีจำนวนมาก นำมาประยุกต์ร่วมกับการออกแบบโปรเจ็กต์ เหมาะกับพื้นที่แถบชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่มีการประกอบอาชีพทำการประมง หรือมีตลาดจำหน่ายอาหารทะเลในละแวกเดียวกัน


วัสดุ Terrazzo ที่มีสีสันและลวดลายเฉพาะตัวนี้ สามารถใช้เปลือกหอยหลากหลายชนิดมาสร้างสรรค์เป็นผลงานได้ แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือปลอกหอยที่มีประกายมุกเด่นชัด ซึ่งเปลือกหอยแมลงภู่เป็นเปลือกหอยที่มีประกายมุกชัดเจนสะท้อนกับแสงได้อย่างโดดเด่นสวยงาม และสามารถหาได้ง่ายในพื้นที่ นอกจากจะใช้ประโยชน์เป็นวัสดุทางเลือกแล้ว ยังเป็นการลดขยะอาหารได้ดีอีกทางด้วย


โดยสามารถดัดแปลงลักษณะการใช้งานไปใช้ในงานออกแบบได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ตกแต่งพื้น ผนัง และงานเฟอร์นิเจอร์ เหมือนวัสดุ Terrazzo หรือหินขัดทั่วไป


ขั้นตอนการผลิตสามารถทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยนำเปลือกหอยแมลงภู่ที่เหลือทิ้งจากการประกอบอาหารมาทำความสะอาด แล้วบดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือขนาดตามต้องการ นำไปผสมกับปูนซีเมนต์ขาว แล้วหล่อลงแม่พิมพ์ตามการใช้งาน


ซึ่งทางผู้ออกแบบได้ทำการทดลองตัววัสดุด้วยการนำมาทำโต๊ะกลม MUSE side table ที่มีคาแร็กเตอร์โดดเด่นเฉพาะตัว ผลงานนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำขยะจากเศษอาหารมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์งานออกแบบที่ช่วยเพิ่มมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ และยั่งยืน


ออกแบบ : โสภิดา จิตรจำนอง STUDIO WØMR
IG : s.solstice



ภาพ: STUDIO WØMR
เรียบเรียง : Lily J.

Bugar Collection นำพาวัสดุยั่งยืนพื้นถิ่นในวิถีชาวบ้านอย่าง ไม้ไผ่ และไม้ตาล มาสร้างสรรค์เป็นงานออกแบบร่วมสมัย