KAOMAI TEA BARN ( เก๊าไม้ ที บาร์น ) จิบชาในบรรยากาศโรงบ่มยาสูบจากหลายทศวรรษก่อน

Kaomai Tea Barn ( เก๊าไม้ ที บาร์น ) เป็นโรงชาในโครงการ Kaomai Estate 1955 หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ เก๊าไม้ลานนารีสอร์ท ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยโรงชาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคอมมูนิตี้ที่ปัจจุบันประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ ร้านกาแฟ และลานกิจกรรม มี PAVA architects สถาปนิกผู้วาง Master Plan ในช่วงแรกเริ่ม มารับหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากโรงบ่มใบยาสูบสู่โรงชา ผ่านงานสถาปัตยกรรมที่มีความถ่อมตนท่ามกลางธรรมชาติ ด้วยวิธีการรื้อและสร้างใหม่หรือ Reconstruction

ผ่านมา 70 ปี โรงบ่มยาสูบถึงคราวต้องเปลี่ยนหน้าที่ใหม่ ด้วยความต้องการในเชิงฟังก์ชัน และเหตุผลของโครงสร้างที่ทรุดโทรม แต่ถึงแม้จะเป็นการรื้อและสร้างใหม่ แต่ก็ยังคงเก็บร่องรอยที่มีเสน่ห์ของอิฐแต่ละก้อนที่ไม่ซ้ำกันเอาไว้ รวมถึงเสน่ห์ของบรรยากาศที่ตราตรึงใจ ขณะที่สถาปนิกเข้ามาสำรวจอาคารครั้งแรก อย่างปรากฏการณ์ของแสง ยามที่ลอดผ่านช่องแสงด้านบนของอาคารลงมา จากภาพประทับใจดังกล่าว สถาปนิกจึงตั้งใจเก็บอิฐทุกก้อนไว้ รวมถึงรูปแบบอาคารและหลังคา รวมถึงความสูงและช่องแสงเดิม ซึ่งเคยเป็นช่องเสียบไม้ราวยาเอาไว้ทั้งหมด

โดยก่อนการรื้ออาคาร ทางสถาปนิก และช่างต้องเข้าไปวัดระยะอย่างละเอียดว่า ผนังหนึ่งเซ็ตที่จะรื้อออกมามีอิฐก้อนไหน และขนาดเท่าไหร่บ้าง จากนั้นจึงทำสัญลักษณ์ไว้สำหรับนำกลับมาก่อใหม่อีกครั้ง โดยอิฐที่เหลือจากผนังช่วงล่าง เนื่องจากมีบางส่วนต้องติดตั้งกระจก อิฐที่เหลือดังกล่าวจึงถูกนำมาทำเป็นเคาน์เตอร์ทั้งในและนอกโรงชา ส่วนพื้นภายในโรงชาเป็นการปูด้วยอิฐใหม่ ด้วยเหตุผลด้านการรับน้ำหนัก โดยจะเรียงเป็นแพตเทิร์นแบบเรียบง่าย เช่นเดียวกับผนังอาคารเดิมเพื่อสร้างความรู้สึกต่อเนื่อง

จากเป็นโรงบ่มยาสูบที่รับน้ำหนักเฉพาะใบยาสูบ และโครงสร้างผนังเล็กน้อย เมื่อเปลี่ยนมาเป็นโรงชา จึงจำเป็นต้องเสริมเหล็กเข้าไป เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับโครงสร้าง พร้อมกับทำฐานรากใหม่ทั้งหมด โดยมีการสร้างกำแพงกันดินที่ออกแบบให้เป็นที่นั่งได้ในตัวทั้ง 2 ด้าน วิธีดังกล่าวนอกจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงแล้ว ยังช่วยเพิ่มพื้นที่ทางแนวตั้งให้กับชั้น 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ในลักษณะ Sunken Space ทำให้สัดส่วนของอาคารในภาพรวมดูสมส่วน ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ใช้สอยและสร้างมิติการรับรู้ของระดับสายตา เชื่อมโยงกับระดับถนนและธรรมชาติโดยรอบของอาคารด้วย

ภายในโรงชาจัดวางฟังก์ชันอย่างเรียบง่าย เคาน์เตอร์ชงชาในร้าน และเคาน์เตอร์บาร์ด้านนอก ได้รับการวางตำแหน่งไว้กึ่งกลางอาคาร มีประตูที่สร้างขึ้นมาใหม่จากประตูรูปแบบเดิมของโรงบ่มยาสูบคั่นเอาไว้ ฐานเคาน์เตอร์ชงชาภายในร้านนอกจากจะแบ่งสัดส่วนสำหรับเป็นตู้ขนมแล้ว ตัวเคาน์เตอร์ยังมีความพิเศษด้วยการออกแบบให้มีช่องเทน้ำชาอยู่ตรงกลาง เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าขณะที่นั่งดื่มชา สามารถชมพิธีกรรมชงชาอันละเอียดอ่อนไปพร้อม ๆ กัน หากสังเกตดี ๆ ภายในโรงชาจะไม่มีป้ายเมนูติดตามผนังหลังเคาน์เตอร์ หรือผนังของร้านเลย แต่จะเป็นใบเมนูให้เลือกแทน เนื่องจากต้องการให้บรรยากาศทั้งภายในและภายนอกโรงชาคงความดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุดนั่นเอง

นอกจากที่นั่งดื่มชาระดับสายตาเดียวกับพื้นดินและธรรมชาติแล้ว ยังได้ออกแบบที่นั่งดื่มชาไว้ที่บริเวณชั้นลอยด้วย โดยชั้นนี้ยังมีพื้นที่จัดอีเวนต์เล็ก ๆ ไว้รองรับ สำหรับโครงสร้างส่วนนี้สถาปนิกเจาะจงเลือกใช้เหล็ก เนื่องจากเหล็กเป็นหนึ่งในสัจวัสดุที่มีความเข้ากับผนังอิฐอย่างไม่ขัดเขิน อีกทั้งคุณสมบัติของโครงสร้างเหล็กยังช่วยให้อาคารแข็งแรงขึ้น แต่เส้นสายของอาคารกลับดูเบาไม่เทอะทะ คงความโดดเด่นและคุณค่าของผนังอิฐเดิมไว้อย่างครบถ้วน ทำให้นอกจากชั้นบนจะเป็นพื้นที่จัดอีเวนต์ได้แล้ว ยังกลายเป็นชายคาให้กับพื้นที่นั่งดื่มชาชั้น 1 ได้ในเวลาเดียวกัน

เมื่อดวงอาทิตย์คล้อยต่ำ แสงไฟที่ลอดผ่านช่องแสงของผนังอิฐจะดูคล้ายกับตะเกียงขนาดใหญ่ที่กำลังส่องแสงอยู่ ตรงนี้เองที่เป็นหนึ่งในความตั้งใจของการอยากรักษามนต์เสน่ห์ของโรงบ่มยาสูบไว้ โดยสถาปนิกได้เลือกวางตำแหน่งของไฟส่องสว่างเท่าที่จำเป็น เพื่อขับเน้นองค์ประกอบภายในโรงชา และผนังอิฐเก่า โดยมีโคมไฟแท่งไม้ทรงกระบอกห้อยลงมาจากด้านบน เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงไม้ราวยาที่เคยใช้ในโรงบ่มยาสูบ ดูโดดเด่นจากไฟตำแหน่งอื่นๆ

———

ที่ตั้ง
1 หมู่ 6 ถนนสายเชียงใหม่ – ฮอด ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
เปิดทุกวันเวลา 08.00-17.00 น.
โทร.08-6428-7481

เจ้าของ : Kaomai Estate 1955
ออกแบบสถาปัตยกรรม : คุณวารัตน์ ลิ่มวิบูลย์ และ คุณพชรพรรณ รัตนานคร จาก PAVA architects (ภาวะ อาร์คิเทคส์)
ออกแบบภายใน : PAVA architects
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : PAVA architects
ที่ปรึกษาออกแบบแสงสว่าง : วัศพล ธีรวนพันธุ์
วิศวกรรมโครงสร้าง : นิล กามอ้อย
ผู้ก่อสร้าง : นิล กามอ้อย และทีมเก๊าไม้

เรื่อง : ektida n.
ภาพ : Spaceshift Studio


GRAPH PHUKET ชุบชีวิตตึกเก่าเป็นคาเฟ่ เพื่อส่งต่อรสชาติกาแฟจากเหนือสู่แดนใต้