สีสัน เส้นสาย และความหมายที่ซ่อนอยู่ ของ Naisu.chirat

Naisu.chirat นักวาดภาพประกอบและศิลปินที่มีลายเส้นเฉพาะตัว ลายเส้นที่เป็นอิสระจากรูปแบบ และกรอบความคิดใดๆ เพราะเธอเชื่อว่า ศิลปะที่แท้คืออิสระภาพที่บุคคลหนึ่งๆนั้นจะได้แสดงออก ศิลปะคือเรื่องของภายในที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ และประสบการณ์ทั้งจากตัวเองและการที่ได้แลกเปลี่ยนกัน ซึ่งนั่นเป็นที่มาของเส้นสายและสีสันแบบ Impressionism ที่น่าสนใจอย่างที่เห็น ซึ่งวันนี้ room ได้รับเกียรติจาก Naisu.Chirat หรือ คุณไนซ์ ปริยนาถ จิรัฐฐิติกาล มาพูดคุยถึงแนวคิด และที่มาของสไตล์งาน รวมถึงเกร็ดการทำงานอันน่าสนใจ ที่จะเป็นอย่างไรนั้น ก็ต้องขอให้ทุกคนลองไปอ่านดูพร้อมๆกัน

กว่าจะมาเป็น Naisu.chirat

“เราวาดรูปมาตลอดเลย” คุณไนซ์เริ่มต้นเล่าให้เราฟัง “ตั้งแต่จับดินสอได้ก็วาดรูปมาตลอด เราชอบการ์ตูนญี่ปุ่นและโชคดีที่ทางบ้านก็ไม่ได้ว่าอะไร เค้าไม่ได้มีกรอบมาว่าต้องทำอย่างนั้น หรืออย่างนี้ และเพราะอย่างนี้ ทุกๆเวลาว่างตลอดมาของเราก็จะกลายเป็นเวลาของการวาดรูปไปซะหมดเลย”

ภาพประกอบเพลง พายุฤดูร้อน
ศิลปิน เดือน จงมั่นคง
รับชมภาพเคลื่อนไหว : https://www.youtube.com/watch?v=Y2GArvu6Zt0

“แต่ในทางตรงกันข้าม เราก็มีคำถามเหมือนกันเมื่อเป็นผลงานที่มีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเรื่องนึงในความทรงจำก็คือการที่ไนซ์วาดชุดนักเรียนสีดำไปส่งงานคุณครูตอนเด็กๆ คุณครูก็บอกว่าจะให้ดาวเพิ่มนะ ถ้าลบสีดำออกจากชุดนักเรียน เราก็ไม่เข้าใจ เกิดเป็นคำถามว่า ทำไมชุดนักเรียนมันจะเป็นสีดำไม่ได้ล่ะ? มันอาจเปื้อนดิน? อาจเป็นโรงเรียนที่ไม่เหมือนที่อื่น? หรือจริงๆแล้วมันจะเป็นอะไรก็ได้หรือเปล่า?”

บางครั้งเวลาเราเศร้า เส้นมันก็จะออกมาเศร้า เวลาเรามีความสุข เส้นมันก็จะดูสดใสขึ้น

ปล่อยให้งานเผยสิ่งที่อยู่ข้างใน

“จากจุดนี้เองที่ทำให้ไนซ์เริ่มต้นค้นหาคำตอบ เรียนรู้ และทดลองเกี่ยวกับการวาดภาพ จะบอกว่าเป็นอิสระไหม? จริงๆคำว่าอิสระทางความคิดมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้ในทันทีหรอกนะ สังคมเป็นสิ่งหนึ่งที่คอยตัดสินว่า สิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี มันสร้างความกลัวให้กับการทำแล้ว “ไม่ถูก” กลัวการไม่ได้รับการยอมรับ เพราะการทำงานสร้างสรรค์มันคือการแสดงตัวตนให้คนอื่นได้เห็นใช่มั้ยล่ะ?  พอถึงจุดนึงหลายคนก็เลยกลัวที่จะเอางานไปให้คนอื่นเห็น ไม่อยากถูกตัดสิน เราเองก็เป็น แต่สิ่งที่เราเรียนรู้ และเลือกที่จะทำก็คือ “งั้นก็ทำไปเลย!” เพราะอยากทำ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ทำออกมาแล้วมันจะดีมั้ย ชิ้นแรกมันอาจจะยังไม่ดีก็ได้ ก็ต้องอาศัยการทำไปเรื่อย ๆเพื่อที่จะพัฒนา แต่ว่างานชิ้นแรกมันจะต้องถูกทำออกมาก่อน ตอนนั้นกลัวมาก อย่างงานเซตภาพกาตูนโป๊ทีมีเรื่องเกี่ยวกับเพศออกมา ชิ้นนั้นใช้ความกล้าหาญส่วนตัวเยอะมาก   ก็เลยรับมือด้วยการยอมรับออกมาเลยว่ากลัว ทำไปเลยทั้ง ๆที่กลัว”

“จะบอกว่าไม่กลัว มันก็ไม่ใช่ แต่ถ้าเรามัวแต่กลัวแบบนั้นมันจะไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และสุดท้าย งานมันก็ไม่สามารถสื่อสารหรือ Connect เรากับผู้ชมได้จริงๆ งานที่เราชอบคืองานที่สะท้อนตัวตนกลับมา งานที่มันพูดแทนเรา แทนสิ่งที่เราคิด คนทำกับคนที่มองรู้สึกเชื่อมโยงต่อกัน อาจจะแม้ไม่เคยคุยกันด้วยซ้ำ แบบนั้นมันถึงจะเป็นงานที่เราคิดว่ามันได้สร้างสรรค์ออกไป

“ถึงเรากลัวแต่ก็ทำมันออกมาจนได้ แล้วรู้สึกว่าการทำงานออกมาทั้งที่กลัวอยู่ต้องใช้ความเข้มแข็งมากกว่าการทำงานออกมาโดยที่เรารู้อยู่แล้วว่าจะออกมาดี พอเราทำแล้วพูดว่า “เนี่ยกลัวมากนะ” ก็มีคนมาคุยกับเราว่า “เอ๊ย! งานนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขามากเลย” มันพูดแทนเขาเลย การทำงานเหล่านี้มันเปราะบางมาก ๆกลายเป็นว่างานมันออกมาสื่อสารได้ดีกว่าเดิม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องฝีมือดีอะไรเลย แต่เป็นเรื่องของความกล้าหาญที่จะทำ เรื่องของความตั้งใจมากกว่า”

ตอนวาดก็มีการ improvise เยอะอยู่เหมือนกัน มันสนุกกว่าด้วย ไม่ต้องวางแผนเยอะ แต่ก็ต้องละเอียดพอที่จะพาตัวละครเหล่านั้นให้ไปจนจบเป็นหนึ่งภาพที่ลงตัว

สีสัน เส้นสาย และความหมายที่ซ่อนอยู่

หนึ่งในเอกลักษณ์ที่เราคุ้นเคย Naisu.chirat ก็คือลายเส้นที่ค่อนข้างเป็นอิสระและสีสันที่ผสมผสานกันในแบบ Impressionism นั่นเอง “จริงๆตอนเด็กเราชอบวาดการ์ตูนญี่ปุ่นนะ ไม่ได้วาดเป็นสไตล์ศิลปะอะไรแบบนี้ ก็วาดมาเรื่อยๆ แต่เราก็รับรู้ได้ว่า บางครั้งเวลาเราเศร้า เส้นมันก็จะออกมาเศร้า เวลาเรามีความสุข เส้นมันก็จะดูสดใสขึ้น ก็พัฒนามาเรื่องๆจนพอจับสไตล์ที่เป็นตัวเองได้ ซึ่งนอกจากงานส่วนตัวแล้วเราก็รับวาดภาพประกอบด้วย ซึ่งมันมีโจทย์งานนึงที่เราต้องวาดให้ออกมามีความเป็นผู้ชายนิดนึง เราก็เลยคิดว่าต้องไปศึกษาเพิ่ม และคนที่เราสนใจก็คือ Van Gogh เพราะลายเส้นเขามีความสตรอง และมีความเป็นผู้ชายในภาพ จากจุดนั้นงานของเราก็เริ่มมีส่วนผสมของเขาอยู่ แต่สื่อที่เราใช้ต่างออกไป จะมีความสมัยใหม่หน่อย ก็คือดิจิตอล มีการใส่มุมมองตัวเองเข้าไป ใส่เทคนิคใหม่อื่น ๆ เข้าไปด้วย เช่นงานภาพพิมพ์ญี่ปุ่น งานของศิลปินแนว Surrealism ที่เราสนใจประมาณนั้น”

“แต่สีสันที่เราใช้ก็จะเลือกแบบที่เป็นเรา คือมีความ Positive มากกว่า แล้วใส่ Energy ลงไปในเส้น เราเรียกมันว่าเส้น “หยึกหยึย” ละกัน ตรงนี้มันก็มีความเป็นอารมณ์ที่เข้มข้นอยู่เหมือนกันนะ เพราะตอนที่ศึกษา Van Gogh ก็พบว่า เส้นมันมีน้ำหนักกับความรู้สึกหลายๆอย่างปนกันอยู่ อย่าง Van Gogh ที่เราก็รู้กันว่าเป็นคนที่เศร้ามาก แต่ก็ยังรู้สึกได้ถึงความ Positive ที่เค้าใส่ลงไป มันย้ำเตือนให้เห็นถึงพลังของเส้นแต่ละเส้น สีแต่ละสีล้วนส่งอะไรบางอย่างออกมาให้กับผู้ชมได้เสมอ

การคุยกับคนอื่นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญนะ เหมือนกับภาพสะท้อนทำให้เราเห็นว่าที่เราวนจมอยู่ที่เดิมมันเป็นแค่จุดเล็ก ๆ  โลกยังมีอะไรอีกมากมาย ยังมีคนมองอะไรที่ต่างจากเรา 

สำรวจจินตนาการ ค้นลงไปในความรู้สึก

อีกสิ่งที่เราสนใจในผลงานของ Naisu.chirat ก็คือโลกจินตนาการที่ผสมปนเปกันอย่างพิศดารแต่ลงตัว “เรายกตัวอย่างงานโปสเตอร์หนังสั้นละกัน คือเราชอบทำอะไรที่ beyond ความเป็นปกติขึ้นไป เพื่อให้คนเห็นแล้วตั้งคำถามว่า เอ๊ะ ทำไมถึงเอาหนูมาวางตรงนี้ ซึ่งที่ของมันเองสมควรที่จะอยู่ในถังขยะ แต่ดันมาอยู่ตรงเจดีย์วัด ซึ่งเป็นสถานที่สูงส่งในความคิดเรา เราเองอยากตั้งคำถามว่า เวลาบอกกรุงเทพเป็นสถานที่ ๆดี ทำไมถึงเลือกเล่าเฉพาะข้อดี แล้วทำเหมือนว่าขยะหรือที่สิ่งแย่อย่างขยะมันไม่มีอยู่ แล้วการไม่พูด บอกว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่มีอยู่ มันยิ่งทำให้มันมีอยู่ต่อไป”

ภาพวาดประกอบโปสเตอร์หนังสั้นโดย Naisu.Chirat ที่ประกวดชนะรางวัลโปสเตอร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาล Vesuvius International Film Festival June 2021 ประเทศอิตาลี

“ไนซ์ก็มีนะวันที่หมดไฟ แต่เราไม่ปล่อยให้ไฟมันมอดไปเฉยๆไง คือเหนื่อยก็พักก็หาย แต่พักนี่คือก็ไปลองทำสิ่งใหม่ๆ 

“หรืออย่างงานภาพประกอบ ส่วนหนึ่งคือเราเริ่มสนใจ Fairy tale ในแง่ที่เรื่องราวต่างๆที่เราได้ยินมา มันมีความแตกต่างหรือเนื้อหามากไปกว่านั้น สโนว์ไวท์ในเวอร์ชั่นต่างๆก็มีการกระทำและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปหมด ตรงนี้มันทำให้เราอยากผูกเรื่องราวที่พิเศษขึ้นมาในภาพ อยากสร้างมุมมองใหม่ๆที่นำไปสู่การตั้งคำถามถึงสิ่งที่มีอยู่ พยายามจะทำให้มันออกมาสดใหม่มากที่สุด ก่อนทำก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ตอนทำก็ลองนำเอาตรงนี้มาใส่ดู เอาอันนี้ไปวางตรงนั้นนะ กลับไปตอบคำถามในเรื่องความไม่กลัวผิด แม้ว่าสีจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ภูเขาก็ให้เป็นสีน้ำเงินไปเลย แม้จะวางเรื่องสีให้มันออกมาเข้ากันไว้บ้าง แต่ตอนวาดก็มีการ improvise เยอะอยู่เหมือนกัน มันสนุกกว่าด้วย ไม่ต้องวางแผนเยอะ แต่ก็ต้องละเอียดพอที่จะพาตัวละครเหล่านั้นให้ไปจนจบเป็นหนึ่งภาพที่ลงตัว”

เติมไฟให้แก่กัน ในวันที่ฉันจม

สุดท้าย ด้วยความที่ Naisu.chirat แลดูเป็นศิลปินที่เปี่ยมไปด้วย Positive Energy และ จินตนาการที่เหมือนจะไร้ที่สิ้นสุด เราจึงอยากรู้ว่าเธอทำได้อย่างไรกับการเติมเชื้อไฟดีๆให้สร้างสรรค์ได้ตลอดเวลา “ไนซ์ก็มีนะวันที่หมดไฟ แต่เราไม่ปล่อยให้ไฟมันมอดไปเฉยๆไง คือเหนื่อยก็พักก็หาย แต่พักนี่คือก็ไปลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่างง่ายมากๆก็ไปซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆมาใส่ก็ได้ ไปดูหนัง ฟังเพลง ดูหนัง สังเกตคน หรือไปคุยกับคนอื่นก็เป็นเรื่องที่ดีมากๆเช่นเดียวกัน เพราะถ้ามัวแต่อยู่กับตัวเองมันก็จะวนไม่ไปไหนเสียที”

“การคุยกับคนอื่นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญนะ เหมือนกับภาพสะท้อนทำให้เราเห็นว่าที่เราวนจมอยู่ที่เดิมมันเป็นแค่จุดเล็ก ๆ  โลกยังมีอะไรอีกมากมาย ยังมีคนมองอะไรที่ต่างจากเรา สนใจอะไรที่แตกต่างจากเราไปเลยก็มี แต่ก็ยังคุยกันรู้เรื่องได้ แล้วก็จะพาตัวเราไปพบสิ่งใหม่ หลุดออกไปจากกรอบที่เราติดอยู่ได้ ต้องดึงตัวเองหน่อยว่าอย่าจมกับสิ่งเดิม ๆ คุยกับคนอื่นก็ช่วยมากเหมือนกัน คุยกับคนที่มี Passion คนที่มีเป้าหมายแน่วแน่และตั้งใจ รู้สึกได้แรงบันดาลใจ เลยอยากที่จะมีพลังใจแบบนั้น”

ในอนาคตอันใกล้ และช่องทางติดตามผลงาน

“ถ้าเป็นอนาคตอันใกล้ ก็อยากจะลองใช้สื่อใหม่ๆ medium ใหม่ ๆ อยากรู้ว่างานจะไปอยู่ตรงไหนได้อีก เราชอบ storytelling ด้วยอยู่แล้ว เพราะเริ่มมาจากการวาดการ์ตูน สิ่งที่ต่อไปที่จะทำก็อยากที่เล่าเรื่องต่อไป แล้วก็เป็นสร้างสรรค์งานที่ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเคยชินนี่แหละ ส่วนช่องทางการติดตามผลงาน ก็สามารถแวะมาชมกันได้ที่ อินสตาแกรม naisu.chirat (https://www.instagram.com/naisu.chirat)“


ภาพ : naisu.chirat
เรื่อง : เหมือนแพร สุรารักษ์
เรียบเรียง : Wuthikorn Sut