มองวงการไม้ด่าง กับนักเพาะพันธุ์ จำหน่ายและสะสมไม้ด่างรุ่นแรก ที่สวนอัญมณี

คุณจิ๋ว-ปราโมทย์ โรจน์เรืองแสง เกิดและเติบโตอยู่กับต้นไม้มาตลอด 65 ปี แม้จะไม่ได้รํ่าเรียนมาทางด้านพฤกษศาสตร์โดยตรง แต่ด้วยความรักความสนใจทําให้เขามุ่งมั่นศึกษาหาความรู้และจริงจังกับการเพาะเลี้ยงต้นไม้จนกลายเป็นนักสะสมไม้ด่างมานานกว่า 40 ปี และคุณพ่อเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทย อีกทั้งความชอบผสมพันธุ์ไม้ใหม่ๆ ยังทําให้เขาสามารถผสมพันธุ์อโกลนีมาซึ่งเคยได้ชื่อว่า “เขียวหมื่นปี”มาตลอด ให้กลายเป็นอโกลนีมาสีแดงได้เป็นคนแรกของโลกเมื่อ 20 ปีก่อน และขายต้นพันธุ์ทั้ง 3 ต้นให้ชาวต่างชาติได้ในราคา 1 ล้านบาทในยุคนั้น ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของสวนอัญมณีซึ่งปลูกต้นไม้ไว้หลากหลายชนิดพันธุ์โดยเฉพาะไม้ด่างเกือบทุกประเภท มีลูกค้าประจําทั้งในประเทศและต่างประเทศ แน่นอนว่าเขาย่อมเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดต้นไม้มาหลายช่วงเลยทีเดียว

ต้นไม้ใหญ่ที่ต้องการแสงแดดจัดก็จะปลูกไว้กลางแจ้งกระจายอยู่ตามมุมกว้างๆ และสร้างความร่มรื่นภายในสวน
กลุ่มไม้ใบที่ต้องการแสงรํา ไรก็ปลูกไว้ภายในโรงเรือน ซึ่งคุณจิ๋วเริ่มต้นจากกลุ่มลิ้นมังกรและขยายไปสู่ไม้ใบประเภทต่างๆ
ฟิโลเดนดรอนก้านส้มใบด่าง มีกําเนิดจากแถบอเมริกาใต้จุดเด่นอยู่ตรงใบรูปหอกขนาดใหญ่คล้ายหัวลูกศร ขอบใบเป็นคลื่น สีเขียวของใบตัดกับก้านสีส้มทรงกระบอกสวยงาม

อยู่กับต้นไม้ตั้งแต่เกิด

“คุณพ่อผมขายต้นไม้ประดับมาตั้งแต่ผมยังไม่เกิด ตลาดต้นไม้ยุคแรกนั้นอยู่ที่วังสราญรมย์ พอปีพ.ศ.2500 ก็ย้ายมาอยู่ตรงคลองหลอดแถวสนามหลวง ตอนนั้นผมเคยไปช่วยคุณพ่อขายด้วย ไม้ประดับที่นิยมกันในช่วงนั้นส่วนใหญ่เป็นไม้นํา เข้าอย่างบอนสี โกสน หน้าวัวตัดดอก กล้วยไม้คัทลียา พอคุณพ่อวางมือก็มาถึงยุคผมที่ไปขายในตลาดนัดจตุจักร ผมไปเจอบอนไซเข้าก็รู้สึกชอบ เมื่อก่อนถือว่าเป็นไม้แปลก ก็เลยลองทํา ขายดู”

คุณจิ๋วบอกว่าเขาชอบคลุกอยู่กับการขายต้นไม้มากกว่าไปเรียนด้านอาชีวะก่อสร้างที่สมัครเรียนไปตามเพื่อน แต่ไม่เคยชอบสิ่งที่เรียนเลย ถึงขั้นเกเรเสียด้วยซํ้า เขากลับมีหัวในเรื่องการเลือกบอนไซนําเข้าจากจีนและญี่ปุ่น โดยอาศัยอ่านหนังสือบอนไซญี่ปุ่นและเข้าป่าไปขุดตอต้นตะโก มะสัง และข่อย มาทําเป็นบอนไซเองตามตําราที่ได้อ่าน จนกระทั่งตั้งชมรมบอนไซและส่งบอนไซเข้าประกวดตามงานต่างๆ

“ผมทําบอนไซอยู่ 10 ปีแต่ตลาดบอนไซยังไม่กว้างพอ ระหว่างนั้นผมไปเจอรองเท้านารีจากกลุ่มคนขายไม้ป่า ก็รู้สึกชอบเพราะเป็นไม้ที่แปลกดี เลยลองทําลูกผสมและทํา ไม้ขวดขาย จนกระทั่งมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่ต้องแจ้งจดทะเบียนต้นไม้สงวน ซึ่งรองเท้านารีก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย และผมเก็บสะสมพันธุ์ไว้ทั้งหมดราวห้าพันต้นสําหรับใช้เป็นพันธุ์ผสมที่ดีแต่เพื่อตัดภาระการจดทะเบียนทั้งหมดก็เลยยกให้เพื่อนไปหมดเลย เพราะที่จริงวงจรรองเท้านารีรอบมันยาวด้วย ต้องส่งแล็บไปเพาะด้วย ผมเลยเปลี่ยนมาสนใจเพาะพันธุ์อโกลนีมาแทน

“อโกลนีมามีวงจรแค่ 6-8 เดือน แถมเพาะเองที่บ้านได้ ผมใช้เวลารวบรวมพันธุ์และลองผิดลองถูกอยู่สองปี จนดร.สุรวิช วรรณไกโรจน์ชวนกันตั้งชมรมผู้พัฒนาพันธุ์ไม้ประดับขึ้นมาเมื่อปีพ.ศ.2543 จากนั้นผมก็ผสมอโกลนีมาให้ออกมาเป็นสีแดงได้จนต่างชาติมาขอซื้อไป และเป็นจุดเริ่มต้นให้ทํา อโกลนีมาเป็นไม้เศรษฐกิจที่ส่งออกทํา รายได้มาจนถึงทุกวันนี้”

อโกลนีมาสุขสมใจปองแบบแรกที่ผสมขึ้นมาให้มีสีแดงจากที่เคยได้ชื่อว่าเป็นเขียวหมื่นปีมาโดยตลอด
อโกลนีมาด่างสุขสมใจปอง เป็นไม้ด่างตัวใหม่จากสวนอัญมณี
พลูฉลุด่างแบบเกือบครึ่งใบ จากลักษณะการด่างที่ค่อนข้างคงที่จากคู่ใบแรกไปถึงคู่ใบที่สามก็มั่นใจได้ว่าการด่างจะคงที่แบบนี้ต่อไปได้

จากนักเพาะพันธุ์สู่นักสะสมไม้ด่าง

การจะเป็นนักเพาะพันธุ์พืชสําหรับคุณจิ๋วนั้นไม่ใช่แค่คอยหาซื้อพันธุ์ไม้จากแหล่งต่างๆเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าไปหาถึงต้นทางในป่าทุกภาค
ของประเทศไทย ทั้งเพื่อเก็บคัดเลือกพันธุ์ไม้ป่าที่สมบูรณ์และเพื่อศึกษาถึงสภาพแวดล้อมที่แท้จริงของต้นไม้ด้วย ผลพลอยได้จากการเข้าป่าทําให้คุณจิ๋วได้พบกับไม้กลายพันธุ์ที่เกิดจากความบกพร่องทางธรรมชาติ ทําให้ใบออกสีขาวด่างดูแปลกตาและเริ่มต้นเก็บสะสมมาตั้งแต่นั้น

“ผมเห็นว่าสวยแปลกดีก็เลยเริ่มเก็บสะสมแล้วก็ลองเอามาผสมดู ถึงได้เห็นว่าความด่างสามารถถ่ายทอดมารุ่นลูกได้ แต่ก็ทํา ได้ยากกว่าไม้
ปกติ ด้วยความที่ผสมยากไม้ด่างเลยสร้างมูลค่าได้ดี เพราะคนให้ความสนใจและเป็นที่ต้องการของนักสะสม การจะผสมไม้ด่างให้ได้ดีจึงต้องรวมพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไว้เป็นร้อยๆ ต้นเพื่อเพาะลูกออกมาให้เป็นพันๆ ต้น ซึ่งอาจติดด่างแค่หลักสิบ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของต้นพ่อต้นแม่ด้วย ถึงต้องใช้เวลาเป็นปีๆ และมีพื้นที่เพาะเลี้ยงมากๆ มาถึงวันนี้ผมเลยมีไม้ด่างเก็บสะสมไว้มากมายหลายพันธุ์โดยเฉพาะอโกลนีมาด่างแบบต่างๆ”

พลูฉีกด่างขาว ไม้เลื้อยที่ปลูกเลี้ยงและโตได้ง่ายในแสงแดดรํา ไร เป็นหนึ่งในไม้ที่ช่วยฟอกอากาศได้ด้วย
การผสมพันธุ์ระหว่างลิ้นมังกรกับวาสนาเป็นต้นแรก จนเป็นที่สนใจของต่างชาติ เมื่อนํา ไปศึกษาจึงพบว่าดีเอ็นเอของทั้งคู่คือตัวเดียวกัน
ต้นสีฟัน ไม้ป่าพื้นเมืองจากสระบุรี นอกจากตัวใบเขียวจะมีจุดด่างขาวผสมเป็นความด่างแล้ว เวลาแตกยอดใบอ่อนยังให้สีชมพูสวยงามอีกด้วย จึงเป็นต้นไม้
แปลกและหายากที่มีมูลค่าสูงตามไปด้วย
อโกลนีมา โคชิน ด่างไม้ป่าพื้นเมืองของบ้านเราหรือภาษาบ้านๆเรียกว่า กวักเงินกวักทองที่ผสมไว้เมื่อหลายเดือนกําลังติดเมล็ดด่าง

สวนอัญมณี

“พอดีช่วงที่ผมแต่งงานและย้ายมาอยู่กับภรรยาที่สวนตรงปทุมธานี เราตั้งชื่อกันว่า‘สวนอัญมณี’ เพราะมองว่าต้นไม้ของเราสวยและมีคุณค่าเหมือนอัญมณี ชื่อต้นไม้ที่เราผสมขึ้นมาก็มักจะตั้งชื่อให้อิงกับคํา ว่าอัญมณีไปด้วย อย่างอโกลนีมาอัญมณี ดราเซียนาอัญมณี แนวทางของเราคือพยายามเน้นสร้างพันธุ์ไม้ใหม่ที่เกิดจากสวนของเรา ไม่มีเหมือนที่ไหน ทําให้เรากําหนดราคาได้เองซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกผสมไม้เศรษฐกิจที่ใช้ประดับตกแต่งได้ โดยเฉพาะไม้ด่างที่สร้างรายได้ให้เราได้มากกว่าไม้ทั่วไปหลายเท่า และยิ่งในยุคนี้โซเชียลช่วยได้เยอะเวลาเราผสมต้นอะไรใหม่ๆ ได้ก็แจ้งไปที่พวกนักสะสมไม้หายากและนักเพาะพันธุ์ไม้ที่ต้องการความแตกต่าง”

เพราะความรักในต้นไม้หลากหลายชนิดพันธุ์ คุณจิ๋วและภรรยาจึงปลูกต้นไม้ไว้มากมายบนพื้นที่ 20 ไร่ ทําให้สวนอัญมณีมีตั้งแต่ไม้ใหญ่ที่ต้องการแสงแดดจัด ไม้ร่มรําไร ไม้ที่เพาะเลี้ยงอยู่ในโรงเรือน ไม้สะสม แม้แต่ไม้ตกรุ่นที่ไม่สร้างรายได้ และที่มีอยู่มากก็คือไม้ด่างซึ่งสะสมไว้ตลอด 40 ปี เมื่อถามถึงจํานวนชนิดทั้งหมด คุณจิ๋วถึงกับหัวเราะแล้วตอบว่า

“ผมก็ไม่เคยนับปริมาณเลย ปลูกไปเรื่อย เน้นการผสมพันธุ์ใหม่ๆ มองหาความแตกต่าง อะไรที่คนทํา เยอะแล้วก็ไม่ทํา ผมเคยผสมหน้าวัวใบให้มีสีชมพูได้เป็นคนแรกและได้รางวัลด้วย แต่ช่วงน้าท่วมหนักตอนปี พ.ศ.2554 ต้นไม้ที่ผมปลูกจมน้าตายไปเกือบหมด เพราะไม่มีที่ให้เก็บหนี ขนาดเพื่อนมาช่วยยกขึ้นรถบรรทุกไปก็แล้ว หลังน้าลดผมกับภรรยาคิดว่าจะเลิกทําแล้ว แต่เพื่อนๆ หลายคนก็ช่วยกันขนต้นไม้มาให้ใหม่ บอกว่าไม่อยากให้เราเลิก ถึงได้ลุกขึ้นมาถมที่และลงมือปลูกต้นไม้ใหม่อีกครั้ง อย่างอโกลนีมาก็เพิ่งจะเริ่มกลับมาขยายพันธุ์กันใหม่อย่างจริงจังเพราะเป็นต้นที่สร้างเนื้อสร้างตัวให้เราตั้งแต่รุ่นแรกๆ ตอนนี้รวบรวมพันธุ์ไม้ได้เยอะขึ้น แม้จะไม่เท่าเมื่อก่อน ลิ้นมังกรกับวาสนาก็ยังผสมอยู่ แต่ยังทํา ให้หลากหลายและสวยกว่าเดิมได้ยาก ที่ฉีกแนวได้ก็คือผสมวาสนากับลิ้นมังกรได้เป็นต้นแรกและจะขยายรุ่นต่อๆ ไปดูว่าจะออกมาเป็นอย่างไร”

อโกลนีมาโพธิสัตว์ด่าง มีถิ่นกําเนิดจากทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลิ้นมังกรลูกผสมด่างที่มีหลากหลายรูปทรงและลวดลายด่างที่สวยงามแตกต่างกันไป เช่น ลิ้นมังกรมิ่งมณีด่าง
ลิ้นมังกรอันดามันด่าง

ตลาดต้นไม้ในอนาคต

เนื่องจากตลาดต้นไม้ปัจจุบันกว้างและหลากหลายขึ้นกว่าเมื่อก่อน ต้นไม้ก็มีความแปลกใหม่มากขึ้น เพราะการเดินทางขนส่งช่วยให้การนําเข้าไม้ต่างถิ่นได้สะดวก คนเมืองร้อนเริ่มปลูกเลี้ยงต้นไม้เมืองหนาวได้ คนเมืองหนาวก็ปลูกเลี้ยงไม้เมืองร้อนได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของห้องปรับอุณหภูมิหรือการเลี้ยงแบบ Terrarium รวมถึงยังมี Plant Hunter หรือนักล่าต้นไม้ที่เสาะหาต้นไม้แปลกๆ จากรอบโลกมาขายกัน

“ตลาดต้นไม้ประดับในเมืองไทยน่าจะเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ เรามีนักผสมพันธุ์ไม้เยอะมากเพื่อป้อนตลาดโลก เพราะคนไทยมีทักษะในการปลูกเลี้ยงต้นไม้ได้ดี สภาพอากาศก็อํานวย อย่างลิ้นมังกรเราเลี้ยงสองปีโต แต่ต่างประเทศเลี้ยงกันห้าปี และเราก็ยังมีการตั้งกลุ่มหรือชมรมและจัดประกวดอยู่เรื่อยๆ ทํา ให้เกิดการเคลื่อนไหวและพัฒนาการที่ดี ยิ่งสมัยนี้มีอุปกรณ์ต่างๆ ในการปลูกเลี้ยงและเพาะพันธุ์มากขึ้น ทํา ให้เกิดการขยายที่หลากหลายและได้พันธุ์ไม้ที่สวยขึ้นด้วย

“ผมคิดว่าต้นไม้ที่จะเข้ามาอยู่ในความนิยมของคนทั่วไปได้มักเป็นต้นที่สวยดูแลง่าย เลี้ยงง่าย และราคาไม่แพง อย่างลิ้นมังกร วาสนา โดยเฉพาะอโกลนีมาซึ่งเป็นไม้ใบราคาถูกที่สุด ไม่เหมือนกลุ่มฟิโลเดนดรอนหรือมอนสเตอร่าที่แพงกว่า ซึ่งเหมาะกับพวกนักสะสมที่มีเงินทุน ผมชอบนะที่เห็นคนหันมาสนใจเลี้ยงต้นไม้กันมากขึ้น เพราะโลกเราไม่มีคนไม่มีสัตว์ก็อยู่ได้ แต่ไม่มีพืชไม่ได้ เพราะพืชอยู่กับโลกมาตั้งแต่แรกแล้ว ทํา ให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม คือมองแล้วสวยงามสบายตาและยังให้ออกซิเจนที่สดชื่น ฟอกอากาศ กันฝุ่น กรองแสง สร้างร่มเงา ยิ่งช่วงที่เกิดโรคระบาดแบบนี้ ธรรมชาตินี่แหละที่จะช่วยเยียวยาจิตใจพวกเราได้ดีที่สุด ใครที่เพิ่งจะเริ่มปลูก ผมแนะนํา ว่าให้เริ่มจากต้นที่ชอบ ไม่ต้องตามกระแส เพราะเมื่อเราชอบก็จะหาข้อมูล ตั้งใจดูแลและเลี้ยงออกมาได้ดีแน่นอน”

ที่สามารถตามไปดูไม้ด่างและไม้ผสมใหม่สวยๆได้ที่ Suan Unyamanee

พื้นที่เพาะเลี้ยงไม้กลุ่มอโกลนีมา ซึ่งนิยมปลูกเป็นไม้ประดับกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่อดีต ด้วยความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล และยังเป็นพืชที่ดูดซับสารฟอร์มาลดีไฮด์
ในอากาศได้ดี
พื้นที่เพาะเลี้ยงไม้กลุ่มอโกลนีมา ซึ่งนิยมปลูกเป็นไม้ประดับกันอย่างแพร่หลายตั้งแต่อดีต ด้วยความเชื่อว่าเป็นไม้มงคล และยังเป็นพืชที่ดูดซับสารฟอร์มาลดีไฮด์ในอากาศได้ดี

เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ , สมัชชา วิราพร

อ่านเพิ่มเติมและสั่งซื้อได้ที่นี่