มารู้จักหลังคารูปแบบต่างๆกัน

มาดูกันว่าหลังคามีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร เพื่อเลือกใช้ รูปแบบหลังคา ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับความต้องการได้มากที่สุด

หลังคาเพิงหมาแหงน

หลังคาเพิงหมาแหงน (Lean-to or Pitched Roof)

หลังคารูปแบบเรียบง่ายมีความลาดเอียงด้านเดียว เป็นแบบหลังคาที่เกิดจากการสร้างบ้านหรือที่พักชั่วคราวแบบง่ายๆ การใช้หลังคาเพิงหมาแหงนต้องออกแบบให้ด้านที่ลาดเอียงหันไปหาแสงแดดหรือทิศที่มีฝนสาด แต่อย่างไรก็ดี หลังคาประเภทนี้ไม่สามารถป้องกันแดดและฝนได้ดีเท่าไรนัก สำหรับบ้านที่ใช้หลังคาเพิงหมาแหงนอาจแก้ปัญหาเรื่องแดดด้วยการทำแผงกันแดดด้านข้างเพิ่ม รูปแบบหลังคา

หลังคาจั่ว

หลังคาจั่ว (Gable Roof)

เป็นหลังคาที่เกิดจากการนำด้านสูงของหลังคาเพิงหมาแหงนมาชนกันให้เกิดสันหลังคา (Ridge) สามารถกันแดดกันฝนได้ดีในด้านที่มีชายคายื่น ส่วนหน้าจั่วหรือด้านสกัดมักมีปัญหาเรื่องการป้องกันแดดและฝน ซึ่งเราอาจทำชายคาเฉพาะจุดเพิ่มบริเวณเหนือหน้าต่างและประตูเพื่อป้องกันแดดและฝน หลังคาจั่วนิยมใช้กับบ้านในเมืองไทยและบ้านเมืองร้อนทั่วไป การสร้างหลังคาจั่วควรออกแบบให้มีความลาดชันที่พอเหมาะ เพื่อให้น้ำฝนไหลลงได้สะดวก และควรระวังรอยต่อบริเวณสันหลังคา เพราะเป็นจุดที่น้ำฝนรั่วซึมได้ง่าย

หลังคาปั้นหยา

หลังคาปั้นหยา (Hip Roof)

เป็นหลังคาที่พัฒนามาจากหลังคาจั่ว แต่มีชายคาลาดเอียงทั้งสี่ด้าน สามารถกันแดดกันฝนได้รอบ เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของเมืองไทยที่ร้อนและมีฝนตกชุก การก่อสร้างหลังคาปั้นหยาจะยุ่งยากกว่าหลังคาจั่ว เพราะมีรอยต่อของสันหลังคาหรือตะเข้สันมากกว่า

หลังคามนิลา (Hip Gable Roof)

คือหลังคาปั้นหยาที่ปรับให้ด้านสกัดมีหน้าจั่วทั้งสองด้านบริเวณช่วงบนของหลังคา เพื่อรูปทรงที่สวยงามและการระบายอากาศใต้หลังคาที่ดี หลังคาชนิดนี้เป็นแบบหลังคาของบ้านเรือนไทยภาคกลาง เนื่องจากเหมาะกับภูมิประเทศเขตร้อนที่มีฝนตกชุก หลังคามนิลา นอกจากจะมีชายคากันแดดกันฝนทั้งสี่ด้านแล้ว ยังสามารถระบายอากาศร้อนใต้หลังคาออกทางหน้าจั่วได้ด้วย

หลังคาสวิส (Gable Hip Roof)  

หลังคาลูกผสมระหว่างหลังคาจั่วกับหลังคาปั้นหยา รูปทรงคล้ายหลังคาจั่วที่ลบมุมแหลมตรงหน้าจั่วออกเล็กน้อย เป็นหลังคาที่นิยมใช้ในประเทศเมืองหนาว มีความลาดชันของหลังคาค่อนข้างมาก เพื่อให้หิมะสามารถไหลลงมาได้สะดวก และไม่สะสมกันจนกดให้โครงสร้างหลังคาพังลงมา

หลังคารูปแบบ

หลังคาสองชั้น (Monitor Roof)

หลังคาที่มีลักษณะการยกซ้อนกันของหลังคาตามชื่อที่ใช้เรียก มีรูปทรงที่สวยงาม สามารถระบายอากาศและนำแสงสว่างเข้ามาในอาคารได้ดี บางครั้งจะเห็นหลังคาที่ทับซ้อนกันมากกว่าสองชั้น เช่น หลังคาของชาวไทยใหญ่ที่มีการยกซ้อนกันหลายชั้น ปัญหาของหลังคาชนิดนี้คือ การก่อสร้างที่ยุ่งยากมากพอๆกับรูปทรง (ซึ่งจะแปรผันตามความซับซ้อนของจำนวนชั้นหลังคา) และมักมีปัญหาเรื่องการรั่วซึมของน้ำฝนบริเวณรอยต่อของชั้นหลังคา

หลังคาดอร์เมอร์

หลังคาดอร์เมอร์ (Dormer Roof)

หลังคาขนาดเล็กที่เจาะยื่นออกจากหลังคาใหญ่ เพื่อเป็นช่องแสงและระบายอากาศ นิยมใช้ควบคู่กับหลังคาชนิดอื่นๆของบ้านในประเทศที่มีอากาศหนาว แม้ห้องใต้หลังคาจะไม่เหมาะกับบ้านในเมืองไทย แต่เราสามารถนำหลังคาดอร์เมอร์มาประยุกต์ใช้กับหลังคาในบ้านเราด้วยการทำเป็นช่องระบายอากาศใต้หลังคา ดังนั้นจึงมักพบเห็นบ้านที่มีหลังคาประเภทนี้ในเมืองไทยพอสมควร การทำหลังคาดอร์เมอร์ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องระวังเรื่องปัญหาการรั่วซึมของน้ำฝนบริเวณรอยต่อของโครงสร้าง

หลังคาแกมเบรล (Gambrel Roof)

มีลักษณะคล้ายหลังคาจั่ว แต่จะทำสันหลังคาให้มีความลาดเอียงสองช่วง เพื่อเพิ่มพื้นที่ของห้องใต้หลังคาให้สามารถใช้สอยได้มากขึ้น เป็นหลังคาที่นิยมใช้กับบ้านและโรงนาในยุโรปสมัยก่อน พื้นที่ใต้หลังคาใช้เป็นที่เก็บฟางข้าว อาหารสัตว์ พืชผลทางการเกษตรของชาวนาในเมืองหนาว การกันแดดและฝนทำได้ดีในส่วนที่มีชายคายื่นสองด้าน ส่วนด้านหน้าจั่วหรือด้านสกัดไม่สามารถป้องกันแสงแดดและฝนสาดได้

หลังคามังซา (Mansard Roof)

หลังคาของบ้านเมืองหนาวอีกประเภท ใช้ลูกเล่นคล้ายกับหลังคาแกมเบรล เพียงแต่นำเอาหลังคาปั้นหยามาทำให้มีความลาดเอียงเป็นสองช่วงแทน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยของห้องใต้หลังคา โดยมากนิยมทำหลังคาขนาดเล็ก (หลังคาดอร์เมอร์) ซ้อนบนหลังคามังซาอีกทีเพื่อให้แสงสว่างแก่ห้องใต้หลังคา เพราะห้องใต้หลังคาเป็นส่วนที่อบอุ่นที่สุดในฤดูหนาว เนื่องจากเป็นส่วนของบ้านที่โดนแสงแดดโดยตรง แต่เดิมหลังคาชนิดนี้ไม่นิยมทำชายคายื่น จึงไม่ค่อยเหมาะกับบ้านในเมืองไทยเท่าไร หากจะนำมาใช้อาจต้องประยุกต์ให้มีชายคายื่น เพื่อป้องกันแสงแดดและกันฝนสาดด้วย

หลังคารูปแบบ

หลังคาแบน (Flat Roof)

เป็นหลังคาที่มีรูปแบบแบนราบ (แต่ต้องสร้างให้มีความลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อระบายน้ำด้วย) เป็นหลังคาที่นิยมใช้กับบ้านแถบเมืองร้อนแห้งแล้งที่มีลมพายุ เพื่อป้องกันไม่ให้หลังคาถูกพายุพัดปลิวได้ ข้อดีของหลังคาแบนคือ สามารถขึ้นไปใช้งานบนหลังคาได้ หลังคาแบนก่อสร้างด้วยโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กผสมน้ำยากันซึม ข้อควรระวังสำหรับบ้านที่เลือกใช้หลังคาชนิดนี้ก็คือต้องออกแบบและก่อสร้างบริเวณรอยต่อหลังคาให้ดี เพราะเป็นจุดที่มีปัญหาเรื่องน้ำรั่วซึมได้ง่าย ความร้อนเป็นอีกปัญหาหนึ่งของหลังคาประเภทนี้ เพราะรูปแบบหลังคาที่เปิดรับแสงแดดระหว่างวันได้อย่างเต็มที่ จึงควรใช้ฉนวนกันความร้อนควบคู่ไปกับหลังคาแบนด้วย (แต่หากต้องการเพียงรูปทรงของหลังคาแบน เราอาจทำหลังคาแบบอื่นที่สามารถป้องกันฝนและแดดได้ดีกว่า แล้วก่อผนังขึ้นมาปิดส่วนของหลังคาเพื่อให้ได้หน้าตาลักษณะบ้านคล้ายกับหลังคาแบน)

 

หลังคารูปแบบ

หลังคา Deck Roof

หลังคาที่มีรูปแบบพัฒนามาจากหลังคาแบน โดยเพิ่มชายคาเข้าไปรอบอาคารเพื่อให้สามารถป้องกันแดดและฝนได้ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถขึ้นไปใช้งานบนหลังคาได้เช่นเดียวกับหลังคาแบน หลังคาประเภทนี้มักใช้กับบ้านที่มีแปลนซับซ้อนจนขึ้นรูปทรงหลังคาลำบาก หรืออาจใช้ในส่วนที่ไม่ต้องการให้เห็นว่าหลังคามีขนาดใหญ่ บางส่วนของบ้านจึงต้องออกแบบเป็นหลังคา Deck Roof เพื่อให้ภาพรวมของบ้านมีสัดส่วนที่สวยงาม

หลังคารูปแบบ

หลังคารูปแบบใหม่ (Free Form Roof)

วิวัฒนาการของเทคนิคการก่อสร้างและวัสดุมีการพัฒนาตลอดเวลา ทำให้รูปแบบหลังคาพัฒนาไปไกลจากอดีตเป็นอย่างมาก อีกทั้งสถาปนิกและเจ้าของบ้านหลายคนต้องการให้บ้านของตัวเองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากคนอื่น จึงทำให้เราเห็นหน้าตาของหลังคาที่มีรูปทรงแปลกๆมากขึ้น

TIPS

สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการเลือกรูปแบบหลังคาที่เหมาะกับบ้านในเมืองไทย

  • รูปแบบหลังคาที่เหมาะกับบ้านในประเทศไทยควรมีชายคายื่นมากพอที่จะป้องกันแสงแดดและไม่ให้ฝนสาดเข้ามาทางหน้าต่างบ้านทั้งสี่ด้าน โดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกที่มีแดดรุนแรงที่สุด
  • หลังคาไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินไป และควรมีความลาดชันของหลังคามากพอที่จะทำให้น้ำฝนไหลลงได้สะดวก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำรั่วซึมหลังคาได้ง่าย
  • รูปแบบหลังคาไม่ควรซับซ้อนมากจนเกินไป เพราะจะมีปัญหาเรื่องการรั่วซึมของน้ำตรงรอยต่อหลังคาได้
  • พื้นที่ใต้หลังคาจะต้องใหญ่พอที่จะให้มวลอากาศร้อนที่ลอยสูงไม่ส่งผ่านไปยังห้องด้านล่างได้เร็ว และต้องมีการระบายอากาศเพื่อให้อากาศร้อนใต้หลังคาถ่ายเทออกนอกบ้านได้ โดยอาจทำช่องระบายอากาศที่หน้าจั่วของหลังคาหรือฝ้าที่ชายคาและอาจติดฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา เพื่อช่วยให้บ้านมีสภาวะน่าสบายเพิ่มขึ้น ปัจจุบันฉนวนกันความร้อนมีหลายแบบให้เลือกใช้  รูปแบบหลังคา

  • เรื่อง : ศราวุธ จินตชาติ
  • ภาพประกอบ : มาโนช กิตติชีวัน

รวมวัสดุหลังคาน่าใช้ พร้อมราคา

รู้ให้ชัด! ค่าแรงช่าง มุง – ซ่อม – รื้อถอนหลังคา คิดราคาอย่างไร

ติดตามบ้านและสวน