JOUER ชุมชนสร้างสรรค์ในกลุ่มบ้านเก่าย่านสุขุมวิท

ท่ามกลางความพลุกพล่านของย่านใจกลางกรุง ซอยสุขุมวิท 32 คือซอยเล็ก ๆ ที่แทรกตัวอยู่ข้างอาคารคอนโดมิเนียมสูงตระหง่าน โดยมี Jouer (ฌูเอ้) ชุมชนสร้างสรรค์ขนาดย่อมตั้งอยู่บนที่ดินด้านในสุด ประกอบไปด้วยร้านตัดผม คาเฟ่ขนมหวาน ร้านทำเล็บ ร้านเฟอร์นิเจอร์ สำนักงานสถาปนิก สตูดิโอสร้างสรรค์สิ่งพิมพ์ Risograph ไปจนถึงแกลเลอรี่ศิลปะ ทั้งหมดนี้หลอมรวมอยู่ใน “กลุ่มบ้าน” ย้อนยุค 4 หลังท่ามกลางแมกไม้เขียวชอุ่ม ที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นแหล่งรวมคนทำงานสร้างสรรค์ เปิดให้ผู้ที่ชื่นชอบศิลปะเข้ามาเยี่ยมชมได้อย่างอิสระ แถมในบางช่วงยังมีตลาดนัดศิลปะตามวาระอีกด้วย

Jouer มีจุดเริ่มต้นจาก Dai Mogi เจ้าของร้านตัดผม Rikyu ในเครือของ Boy Tokyo ที่มีชื่อเสียงมานานแล้วกว่า 20 ปี ในประเทศญี่ปุ่น โดดเด่นด้านการผสมผสานการตัดผมเข้ากับศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ และได้เลือกกรุงเทพฯ เป็นสาขาแรกในต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2553 จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา Rikyu ได้ย้ายถิ่นฐานจากซอยสุขุมวิท 24 มายังซอยสุขุมวิท 32 แห่งนี้ แต่แทนที่จะทำร้านตัดผมเพียงอย่างเดียว พวกเขาได้ชักชวนเพื่อน ๆ ในวงการสร้างสรรค์หลายสาขาวิชาชีพให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกครอบครัวใหญ่ด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ วทันยา จันทร์วิทัน และ Takahiro Kume สถาปนิกจาก Bangkok Tokyo Architecture ผู้มีส่วนร่วมเลือกที่ตั้งและปรับปรุงสถานที่ ซึ่งภายหลังได้ชื่อว่า Jouer ที่แปลว่า “เล่น” ในภาษาฝรั่งเศสแห่งนี้

jouer
วทันยา จันทร์วิทัน และ Takahiro Kume สถาปนิกจาก Bangkok Tokyo Architecture

“เดิมทีเราทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วก็เป็นลูกค้าที่ตัดผมอยู่กับร้าน Boy เป็นประจำ” วทันยาเล่าให้ฟังถึงที่มาของการได้มาร่วมที่ Jouer

“ตอนนั้นเราเพิ่งกลับมาได้ 3 ปี ยังไม่มีออฟฟิศเป็นหลักแหล่ง ทางเจ้าของ Rikyu ก็ชวนให้มาช่วยออกแบบร้านตัดผมให้ และชวนมาเช่าอยู่ด้วยกัน เพราะเจ้าของที่ดินเขามีข้อแม้ว่า เขามีบ้านเก่าอยู่ 4 หลัง ถ้าอยากเช่าจะต้องเช่าทุกหลังเลย”

“ทาง Rikyu ตั้งใจอยากจะทำให้มันเป็นคอมมูนิตี้สเปซค่ะ เพราะการที่คนมาตัดผมสำหรับเขา มันไม่ใช่แค่การมาในที่ซึ่งมีช่างตัดผม แต่มันคือการได้รับประสบการณ์อะไรบางอย่าง ซึ่งกลุ่มบ้านเก่าที่มีสวน มีพื้นที่แบบนี้ มันสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างได้ และได้สร้างความเป็นชุมชนด้วย”

Rikyu

บ้านทั้ง 4 หลัง ตั้งอยู่ในในพื้นที่กว้างขวาง และร่มรื่นจากต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิม หลังแรกเป็นของร้าน Rikyu ในร่างของบ้านเก่าหลังใหญ่รีโนเวตใหม่ โดยการรื้อพื้นที่ชั้นล่างออกทั้งหมดเพื่อใช้พื้นที่โล่งปรับเป็นร้านตัดผมได้เต็มที่ และเติมผนังกระจกสร้างความโปร่งโล่งอีกทั้งยังโดดเด่นด้วยการเป็นส่วนแรกที่ผู้คนจะได้พบหลังจากเดินผ่านรั้วเข้ามาในสถานที่

(ภาพ: THANAWATCHU Creative Production)

บนชั้น 2 ของร้านตัดผม Rikyu (ภาพ: THANAWATCHU Creative Production)

SŌKO Gallery

บ้านหลังนี้ใช้ลานกว้างด้านหน้าร่วมกันกับบ้านหลังที่ 2 ที่ถูกเปลี่ยนเป็น SŌKO แกลเลอรี่ศิลปะที่ปรับปรุงจากบ้านไม้เก่า โดยการทาสีขาว ซึ่งทางสถาปนิกเล่าว่าต้องการคงรูปลักษณ์อาคารเดิมไว้ ขณะเดียวกันก็ทำให้สถานที่นี้ดู “เงียบ” ที่สุด พร้อมกันนั้นก็ได้รื้อเปลือกอาคารด้านหน้าออก แล้วเติมโครงสร้างคอนกรีตให้คล้ายเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายใน หรือระหว่างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เป็นการสร้างสภาวะความก้ำกึ่งและกำกวม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และสีสันในพื้นที่ โดยได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งให้ร้าน Oh, Nelly Nail Studio ร้านทำเล็บสุดสร้างสรรค์ด้วย

ด้านหน้าเป็นที่ตั้งของแกลอรี่ SŌKO และร้านทำเล็บ Oh, Nelly Nail Studio
โครงสร้างคอนกรีตที่ต่อเติมจากตัวบ้าน เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายใน หรือระหว่างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว เป็นการสร้างสภาวะความก้ำกึ่งและกำกวม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และสีสันในพื้นที่

๋Jouer
นิทรรศการ “The L_ST ALBUM” นิทรรศการเดี่ยว โดย ปริวัฒน์ อนันตชินะ (ภาพ: Bangkok Tokyo Architecture)

Spoonful Zakka Cafe

ถัดจากนั้น บ้านหลังที่ 3 ตั้งอยู่ลึกเข้าไปภายในสวน เป็นส่วนของ Spoonful Zakka Café ร้านกาแฟและร้านขนมบรรยากาศอบอุ่นที่เจ้าของร้านออกแบบด้วยตัวเอง ที่นี่เป็นคาเฟ่กลิ่นอายญี่ปุ่น ที่เจ้าของร้าน คุณสิตานัน วุตติเวช ออกแบบภายใต้แนวคิด Nippon Nordic ภายในร้านประกอบด้วย 3 ส่วน Cafe และส่วน Annex ซึ่งรองรับกิจกรรมเวิร์กชอป และงานอีเว้นต์เล็ก ๆ บนชั้น 1 ส่วนบนชั้น 2 เป็นพื้นที่ของ Zakka Gallery ที่มีสินค้าคัดสรรพิเศษจากญี่ปุ่นให้ช้อปกัน พร้อมด้วยนิทรรศการหมุนเวียนเป็นระยะ

  

Lagom – Vintage Scandinavian Furniture

บ้านหลังที่ติดกับแกลเลอรี่ เป็นห้องที่ถูกปรับปรุงเป็นโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์วินเทจสไตล์สแกนดิเนเวียน Lagom นอกจากเฟอร์นิเจอร์วินเทจของแท้จากยุโรปแล้ว ยังมีสินค้าจากญี่ปุ่นที่คัดสรรมาเป็นพิเศษอีกด้วย

Lagom ร้านเฟอร์นิเจอร์วินเทจสไตล์สแกนดิเนเวียน

Neighbor32

บ้านหลังสุดท้าย แบ่งเป็นพื้นที่ของ Neighbor32 สตูดิโอออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และโชว์รูมเก้าอี้แบรนด์ KAOI

witti Studio

Witti Studio สตูดิโอออกแบบของนักสร้างสรรค์งานสิ่งพิมพ์แบบ Risograph ซึ่งก่อตั้งโดย คุณวิทมน นิวัติชัย และ คุณสันติ ตันสุขะ ที่นี่รับทำงานออกแบบ และให้บริการผลิตสิ่งพิมพ์ด้วยระบบเครื่องพิมพ์ Risograph ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

โดยในการเข้ามาออกแบบ และปรับปรุงภาพรวมของสถานที่ Jouer นั้น วทันยากล่าวว่า

“ที่นี่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันมีการแบ่งพื้นที่ที่ชัดเจน ด้วยความที่มันเป็นบ้านของครอบครัวที่อยู่ตรงนี้มานานแล้ว มันทั้งถูกต่อเติม รีโนเวต ทาสีใหม่ ถูกปรับพื้นที่  มีต้นไม้ขึ้นตรงนี้ เก็บของตรงนั้น มันเป็นเหมือนกับมีอะไรมาซ้อนๆ กัน เป็นกายภาพที่น่าสนใจเหมือนเขาวงกตอย่างหนึ่ง ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นได้ในปีเดียว แต่เป็นสิ่งที่ทับถมกันมากว่านาน 30 กว่าปี”

“เราต้องการพูดถึงการเชื่อมต่อกันและกัน จะทำยังไงให้สเปซที่เคยเป็นบ้านพักอาศัยแบบที่มีความเป็นส่วนตัวสุด ๆ ทำให้มันเป็นสาธารณะขึ้นมาได้ โดยที่เปิดให้คนข้างนอกเข้ามาร่วม แล้วคนข้างในก็ยังสามารถทำงานครีเอทีฟของตัวเองได้อย่างสงบ”

วทันยากล่าวเพิ่มเติมว่า ความท้าทายของที่นี่คือการจัดการกับบ้านเก่าต่างอายุ ที่มีที่มาที่ไปต่างกัน วัสดุต่างกัน บ้างเป็นบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก บ้างเป็นบ้านไม้ บ้างมีการต่อเติมทับถมกัน บ้างเป็นการก่อสร้างโดยไม่มีสถาปนิกออกแบบ แต่เมื่อรวมกันแล้ว เขากล่าวว่าเป็นเรื่องน่าค้นหามากกว่าเป็นอุปสรรค

“เราไม่เชื่อว่ามันมีความงามแค่หนึ่งเดียว ความงามมันไม่ใช่สิ่งที่ควบคุมได้ คิดว่ามันเป็นอะไรที่มันเกิดจากไทม์ไลน์ หมายความว่า มันจะถูกผลิตขึ้นจากสถานที่ด้วย เพราะฉะนั้นเราก็คิดว่าของเก่าของใหม่มันอยู่ด้วยกันได้ เราเพียงปล่อยให้มันเป็นธรรมชาติไป เหมือนการให้ความหมายใหม่กับสิ่งที่มีอยู่แล้ว”

บริเวณสำนักงานของ Bangkok Tokyo Architecture

สำหรับ Jouer การออกแบบส่วนใหญ่จึงเป็นการทำเฉพาะจุด คงสภาพเดิมไว้ผสมผสานกับการเติมสิ่งใหม่ตามความเหมาะสม โดยให้บรรยากาศของความเป็นบ้านเก่าแต่เดิมดำรงความเป็นสถานที่ไว้ ตามแนวคิดที่สถาปนิกกล่าวว่า

“เราคิดว่างานสถาปัตยกรรมที่ประสบความสำเร็จมันไม่ต้องมีสถาปนิกมาเกี่ยวข้องเสมอไป การที่เราสร้างแค่ระบบหรือ สร้างแค่แพลตฟอร์มขึ้นมาที่คนสามารถใช้งานได้ ไม่ต้องให้สถาปนิกออกแบบให้ตลอดเวลา เราคือว่ามันน่าสนใจกว่าให้สถาปนิกทำทั้งหมด”

เหมือนที่เราได้เห็นการที่พื้นที่ถูกใช้จัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ อยู่บ่อยครั้ง เช่น ตลาดนัด Jouer ARIGATO Market เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2563 ตลาดนัดศิลปะและงานออกแบบที่ผู้คนในแวดวงสร้างสรรค์วงการต่าง ๆ มาร่วมออกร้านอย่างคึกคัก รวมถึงการได้เคยเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรม Bangkok Design Week 2020 โดยที่กิจกรรมทั้งหมดนี้ สถาปนิกกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้ “ออกแบบ” พื้นที่ใดๆ ไว้เพื่อการจัดกิจกรรมอย่างเฉพาะเจาะจง แต่เป็นตัวสถานที่เองที่ได้ผลิตบรรยากาศของงานสร้างสรรค์ขึ้น และเป็นความอิสระของพื้นที่ ที่เอื้อให้ผู้คนได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรี

ตลาดนัด Jouer ARIGATO Market กุมภาพันธ์ ปีพ.ศ.2563 (ภาพ: Wittamon Niwattichai)
ตลาดนัด Jouer ARIGATO Market กุมภาพันธ์ ปีพ.ศ.2563 (ภาพ: Wittamon Niwattichai)
ตลาดนัด Jouer ARIGATO Market กุมภาพันธ์ ปีพ.ศ. 2563 (ภาพ: Wittamon Niwattichai)

ดังที่สถาปนิกกล่าวปิดท้ายว่า “จริงๆ ความคิดสร้างสรรค์มันไม่ได้จำกัดอยู่ที่แค่คนกลุ่มหนึ่ง การที่คุณเป็นแม่บ้านคุณอาจจะครีเอทีฟกว่าดีไซเนอร์ก็ได้ มันคือสิ่งที่ดั้งเดิมมาก ๆ ที่อยู่ในตัวตนมนุษย์เรา เราเองก็รู้สึกอย่างนั้น”

“พอเมืองมันพัฒนาไปเรื่อย ๆ มันมีหลายอย่างที่มาจำกัด มาบีบคั้น หรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มันเยอะแยะไปหมด มันคือสิ่งที่กดความสร้างสรรค์ที่อยู่ในธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์เอาไว้ แล้วมีพื้นที่อย่างนี้ที่มันอิสระ ที่คนได้พบปะกัน มันก็ทำให้ปลุกความสร้างสรรค์ที่อยู่ในทุกๆ คนมันออกมาได้”

ติดต่อ
โครงการ Jouer ซอยสุขุมวิท 32
เปิดทุกวันยกเว้นวันพุธ 10.00-18.00 น.
Facebook: @jouer32

ออกแบบ : Bangkok Tokyo Architecture (www.btarchitecture.jp / [email protected])


ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล และตามที่ระบุไว้ใต้ภาพ
เรื่อง : กรกฎา


TERRA BEAN TO BAR คาเฟ่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากป่าดงดิบต้นกำเนิดแห่งโกโก้