10 ปี ที่ผ่านมาของ BACC สนทนากับ ผอ. ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ถึง 10 ปี หลังจากนี้ไป

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือที่เราคุ้นกันในชื่อหอศิลป์ BACC นั้น เป็นหอศิลปวัฒนธรรมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ผ่านสื่อศิลปะและกิจกรรมต่าง ๆ มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนนิทรรศการที่น่าสนใจอยู่เสมอ และหอศิลป์แห่งนี้ก็ได้ดำเนินการมาจนครบ 10 ปี แล้ว

ด้วยพันธกิจในการขับเคลื่อนให้ประชาชนเข้าใจคุณค่าและความหลากหลายของศิลปวัฒนธรรมในระดับท้องถิ่นไปจนถึงบริบทของโลก และอย่างที่เป็นข่าวในการต่อสัญญาโดยกรุงเทพมหานครไปอีก 10 ปี วันนี้ room จึงพามาพูดคุยกับ ผอ. ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่-ผู้อำนวยการของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถึง 10 ปี ที่ผ่านมา และอีก 10 ปี ที่หอศิลป์ฯแห่งนี้ กำลังก้าวเดินไป ทั้งบทบาทหน้าที่ที่อาจจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และแนวโน้มของนิยามความเป็นเมืองแห่งศิลปะของกรุงเทพฯ

กทม. เคาะต่อสัญญา อีก 10 ปี ให้กับหอศิลป์
เกิดอะไร? ทำไมถึงเป็นประเด็น?

room : จากข่าวของการต่อสัญญา อีก 10 ปี โดยกรุงเทพมหานครให้กับทางหอศิลป์ฯ จริง ๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น หอศิลป์ฯ ยังดำเนินการเหมือนเดิม หรือมีอะไรเปลี่่ยนแปลงไปหรือไม่?

BACC : “ต้องเรียนก่อนว่าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ BACC ดำเนินการโดย มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งตามหลักการแล้ว เรารับมอบอำนาจการบริหารนโยบายมาจากกรุงเทพมหานครอีกที ด้วยเหตุนี้การดำเนินงานของ BACC จึงมีสถานะเป็นเอกชน ซึ่งพัฒนามาจากวิธีดำเนินการที่ในตอนแรกนั้นบริหารงานโดย สำนักงานวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว พอดำเนินการมาได้ 3 ปี จึงเล็งเห็นว่าการบริหารจัดการองค์กรที่เรียกว่าหอศิลป์ฯ อย่าง BACC ให้ได้ประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีวิธีการเฉพาะ และใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาบริหารจัดการ จึงเกิดเป็น มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขึ้น

“เมื่อการดำเนินการเป็นรูปแบบมูลนิธิ จึงต้องมีการร่างสัญญากันเป็นสัญญาโอนสิทธิ์จากกรุงเทพมหานครให้มูลนิธิเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรมแทนในเดือนสิงหาคมเมื่อปี 2011 จึงได้มีการมอบสิทธิ์อย่างเป็นทางการขึ้น เป็นเหมือนการคลายล๊อกการบริหารจัดการให้กับทาง BACC และนั่นก็คือที่มาของสัญญา 10 ปี ที่กำลังจะหมดลงในเดือนสิงหาคม 2021 นี้ พอดิบพอดี ซึ่งถ้าถามว่าเกิดอะไรขึ้น คนที่ติดตาม BACC มาโดยตลอดคงพอจะรู้ เพราะเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าฝ่าฟันและต่อสู้กันมาโดยตลอด

“สิ่งแรกเลยที่เป็นประเด็นก็คือการที่ไม่ได้รับงบประมาณเลยมาตลอด 3 ปี หลังนี้ ซึ่งสาเหตุนั่นก็เพราะว่า ตามสัญญาแล้วกรุงเทพมหานครไม่สามารถสนับสนุนทุนให้กับมูลนิธิได้ จากการตีความใหม่เมื่อ 3 ปี ก่อน ทำให้จากเดิมที่จะได้รับทุนอุดหนุนปีละ 40 ล้านบาท ก็เปลี่ยนเป็นนำเงินทุนนั้นไปไว้กับสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว-กรุงเทพมหานคร โดยให้ใช้วิธีแบบราชการคือ ทำเรื่องมาขอเบิกไปใช้ตามวาระและโครงการต่าง ๆ แทน ซึ่งจะเห็นได้ว่าวิธีการเหล่านี้เป็นวิธีที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการทำงานของ BACC เลย ทำให้สุดท้ายก็เกิดเป็นปัญหาที่ขาดทุนอุดหนุนไป เพราะสัญญาเดิมนั้นไม่เอื้ออำนวย”

การระดมทุนทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่า หอศิลป์ฯ แห่งนี้เป็นของทุกคน ถ้าทุกคนยังอยากให้หอศิลป์ฯ ยังอยู่การร่วมมือกันอาจเป็นเรื่องที่จำเป็น

“จนเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา กรรมการมูลนิธิฯ ของเราเองก็ได้พยายามพูดคุยทำความเข้าใจกับคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร จนสามารถปรับแก้ส่วนหนึ่งของสัญญาเดิมได้ เพื่อที่จะคลายล๊อกในส่วนที่กรุงเทพมหานครไม่สามารถอุดหนุนให้ได้ จึงได้เป็นค่าน้ำค่าไฟให้กับหอศิลป์ฯ มา แต่เงินทุนเท่านั้นก็ไม่พอที่จะดำเนินการหอศิลป์ BACC ได้อยู่ดี เพราะ BACC นั้นเป็นองค์กรที่ให้บริการแบบสาธารณะ เป็น Nonprofit Organization เราไม่สามารถเก็บเงินได้แม้แต่ค่าสมาชิกด้วยซ้ำ แต่ในความพยายามเราจีงหาวิธีระดมทุน และทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ มากมายตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่ผ่านมา”

POSTCARD ระดมใจ ที่ทำให้รู้ว่าคนรัก BACC มากกว่าที่คิด

BACC : “เราทำการระดมทุนผ่านแคมเปญต่าง ๆ หลายแคมเปญด้วยกันในปีตั้งแต่ต้นปี 2021 เพื่อให้ตัวหอศิลป์ฯยังคงดำเนินการได้ตามแผน ซึ่งก็คือแผนที่เราส่งให้กับกรุงเทพมหานครไปนั่นแหละ แต่เราต้องดำเนินการเองไปก่อนถึงจะขอทุนมาได้

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราประทับใจและประหลาดใจไปพร้อม ๆ กัน คือการเปิดแคมเปญ “Art in Postcards” เพราะแคมเปญนี้ทำให้เราค้นพบว่า มีคนที่รักเราไม่น้อยเลยทีเดียว วิธีการระดมทุนคือการขอให้มาร่วมบริจาค ไม่มีการบังคับ เริ่มต้นที่ 50 บาท แลกกับการได้รับโปสการ์ด 1 ใบ เงินเท่านี้อาจจะดูเล็กน้อย แต่มันเป็นนัยที่ทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่าหอศิลป์ฯ แห่งนี้เป็นของทุกคน ถ้าทุกคนยังอยากให้หอศิลป์ฯ ยังอยู่ การร่วมมือกันอาจเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งจุดนี้เองที่เราเหมือนได้เสียงตอบรับจากสังคมว่า เรายังมีผู้ชมที่เนืองแน่นขนาดไหน ทำให้เห็นฐานของคนที่ยังอยากให้มีพื้นที่ตรงนี้ชัดว่ายังมีอีกเท่าไหร่ และถ้าถามว่ามากน้อยแค่ไหน ก็บอกได้สั้น ๆ ว่า “ถล่มทลาย”

“ในแต่ละชุดของโปสการ์ด เราพิมพ์จำนวนจำกัด ซึ่งก็หมดอย่างรวดเร็วสำหรับ 2 ชุดแรก และก็มีเสียงถามไถ่เข้ามาอีกเรื่อย ๆ เราก็เริ่มที่จะทำให้เป็นซีรีส์ที่ต่อเนื่องไปหลังจากนี้ แต่สิ่งนี้ก็เหมือนเป็นปฐมฤกษ์ของการระดมทุนของ BACC เอง เพราะที่ผ่านมาเรายังไม่เคยทำจริงจังเช่นนี้ ส่วนใหญ่คือการหาผู้สนับสนุน แต่นี่คือการระดมทุนจริง ๆ”

เสียงตอบรับจากภาคประชาชนที่ทำให้ BACC ได้ก้าวต่อไป

BACC : “จากการระดมทุนก็เป็นเหมือนเสียงสะท้อนของภาคประชาชนที่ทำให้กรุงเทพมหานครเริ่มเห็นประเด็นนี้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ BACC ได้มีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารของทางกรุงเทพมหานครมีการหารือรายละเอียดกับสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว – กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งได้มีโอกาสหารือกับท่านผู้ว่าอัศวินในที่สุด”

ใช่เพียงเม็ดเงิน แต่คือคนที่พร้อมจะสนับสนุนหอศิลป์ BACC และก้าวไปพร้อมกับเรา

BACC : “ถ้าเป็นแต่เดิมเลยก็คงไม่มีโอกาสได้พูดคุยเช่นนี้ แต่พอมันมีกระแสขึ้นมาทำให้เกิดเป็นประเด็นที่จะต้องพูดคุยสอบถามกัน และในท้ายที่สุด กรุงเทพมหานครก็ได้ออกมายืนยันว่า ไม่เคยมีนโยบายที่จะปิดหอศิลป์ฯ แต่หากจะต้องแก้ไขขั้นตอนอย่างไรก็ต้องมาดูกัน ซึ่งสุดท้ายในที่ประชุมก็สรุปกันว่า กรุงเทพมหานครจะต่อสัญญา่กับทางมูลนิธิฯ ต่อไปอีก 10 ปี อย่างแน่นอน แต่เพื่อให้การต่อสัญญานั้นราบรื่น ก็จำเป็นที่จะต้องคัดสรรให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ให้แล้วเสร็จเสียก่อน จะได้ร่วมยกร่างพร้อมสัญญาใหม่ไปด้วยกันเสียทีเดียว

“พอมาถึงตรงนี้ทุกคนก็เรียกได้ว่าโล่งใจว่าทุกอย่างของหอศิลป์ฯ ยังคงเดิม เพิ่มเติมคือมีสัญญาณว่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้ราบรื่นกว่าที่เคย”

มากกว่าข้อสรุปว่าจะต่อสัญญา คือความพยายามปรับการทำงานเข้าหากัน ด้วยเสียงของประชาชนที่ช่วยให้พลังนี้ชัดเจน

room : ต้องบอกว่าเสียงของประชาชนที่ยังคงต้องการพื้นที่ตรงนี้มีส่วนสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการพูดคุย?

BACC : “เสียงของประชาชนมีส่วนอย่างมากทั้งจากกิจกรรมต่าง ๆ และการระดมทุนที่ผ่านมา ยิ่งพอมีประเด็นเรื่องการหมดสัญญาเข้ามาก็ยิ่งสะท้อนความเป็นห่วงมาจากหลายภาคส่วนเลยทีเดียว ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ มีผลกระทบต่อการจัดแสดง ช่วงที่มีปัญหาเราก็ใช้วิธีลดจำนวนการจัดแสดงต่อปีลง บาง Agenda ที่อยากทำก็อาจจะหายไป ตัว BACC เองตั้งใจที่จะสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ บางครั้งก็ทำไม่ได้ ความเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของเมืองมันได้ถูกลดทอน แล้วทุก ๆ คนก็ห่วงว่ามันจะไปต่อไหวไหม?”

หอศิลป์ฯของทุกคน และทุกคนมีส่วนร่วม

BACC : “ถ้าในแง่ของจุดเด่นของ BACC คือเราเน้นความเป็น Inclusive เป็นหอศิลป์ฯ ที่ใครจะเข้ามาก็ได้ ซึ่งเราก็คิดว่าในส่วนนี้เราทำได้ดี เรามีกิจกรรที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา และเราก็มีเครือข่ายองค์กรที่ช่วยกันได้ เรามีพันธมิตรที่ดีที่พร้อมจะร่วมกับเราเสมอ

“เมื่อกรุงเทพมหานครเริ่มที่จะเข้าใจวิธีการทำงาน ที่จะช่วยให้หอศิลป์ฯ เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อไปอาจจะมีการ ขายบัตรเข้าชมบ้าง แต่ก็เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมของการเป็นเจ้าของหอศิลป์ฯ แห่งนี้ร่วมกัน ซึ่งก็น่าจะเก็บไม่ได้มากอะไร ด้วยรูปแบบของพื้นที่ BACC เคยถูกออกแบบให้ทำเช่นนั้นได้อยู่แล้ว แต่ว่าด้วยสัญญามันยังทำไม่ได้ ถ้าหากทุกคนรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการช่วยอุดหนุนหอศิลป์ฯ ตรงนี้แล้ว ทุกคนก็จะรู้สึกทะนุถนอมพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น เราคิดว่าน่าจะคล้ายกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่มีการเก็บค่าเข้าชม ต่อไปพื้นที่ตรงนี้ก็จะมีการจัดแสดงในรูปแบบที่ชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน”

ปัจจุบันของหอศิลป์ BACC

room : จากเรื่อง 10 ปี ที่ผ่านมา อยากถามถึงปัจจุบันของ BACC บ้าง กับอาคารและพื้นที่รวมทั้งรูปแบบการจัดแสดง 10 ปี ผ่านมาแล้ว เรียกว่าพื้นที่ตรงนี้ยังตอบสนองการใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่?

BACC : “ถ้าพูดถึงพื้นที่แล้วก็ยังรองรับงานศิลปะได้ดีอยู่ ยังยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนให้รองรับแต่ละนิทรรศการได้ดี แต่ความเก่าความเสื่อมสภาพก็ต้องดูแลกันไป กับเรื่องนิยามของคำว่า “พื้นที่ศิลปะ” ล่าสุดเราก็เพิ่งทำ VR TOUR ไป 3 ชุด เป็นวิดีโอพาเดินชมในแต่ละชั้น (ลิงก์การเดินชม https://bit.ly/3fueODX) เพราะช่วงนั้นมีเหตุการณ์ล็อกดาวน์ผู้คนก็เลยออกมาดูงานไม่ได้ ในการปรับเปลี่ยนวิธีไปตามช่วงเวลา เราก็มีการพยายามหาวิธีการใหม่ ๆ ขอบเขตพื้นที่ใหม่ๆอยู่เสมอ สรุปง่าย ๆ คือในเรื่องพื้นที่การจัดแสดง หรือรูปแบบนั้นไม่ใช่ปัญหาเลย ศิลปะสามารถสื่อสารได้หลากหลายวิธีอยู่แล้ว ถ้าถามว่าพื้นที่ตรงนี้เริ่มเห็นปัญหาอะไร ก็คงเป็นแค่เรื่องการเสื่อมสภาพที่ต้องมีการรีโนเวตกันเท่านั้นเอง”

10 ต่อจากนี้ของ BACC

room : ผ่านมาแล้ว 10 ปี และอีก 10 ปีที่จะมาถึง มีอะไรที่เหมือนเดิม และอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปของ BACC การทำงานศิลปะมีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหนจาก 10 ปีที่ผ่านมา

BACC ไม่ได้นำเสนอแต่เพียงผลงานของศิลปินเพียงเท่านั้น แต่ยังสนใจใน “ประเด็น” หรือ “Issue” ที่จะผลักดันเมืองกรุงเทพฯ ของเราให้ไปข้างหน้าได้เช่นกัน เพื่อสร้างให้เกิดการพูดถึง สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องบางเรื่องให้สังคมได้นำมาถกกัน ก่อนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้น ผ่านกระบวนการและการทำงานร่วมกับคนทำงานศิลปะ รวมทั้งคนทำงานสร้างสรรค์ด้วย

BACC : “ในอีก 10 ปี ต่อจากนี้ ในตัวของคอนเทนต์ถือว่าไม่ได้ต่างไปจากหลักการการทำงาน เพราะโดยธรรมชาติของงานเราได้วิวัฒนาการมาตามยุคสมัย และประเด็นของสังคมในช่วงนั้น ๆ อยู่แล้ว อย่างนิทรรศการที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนกรกฏาคม 2564 นี้ ก็จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้นำเสนอแต่เพียงผลงานของศิลปินเท่านั้น แต่ยังสนใจใน “ประเด็น” หรือ “Issue” ที่จะผลักดันเมืองกรุงเทพฯ ของเราให้ไปข้างหน้า สร้างให้เกิดการพูดถึงและตระหนักในเรื่องบางเรื่อง เพื่อให้สังคมได้นำมาถกกัน ก่อนนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้น ผ่านกระบวนการและการทำงานร่วมกับคนทำงานศิลปะ รวมทั้งคนทำงานสร้างสรรค์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก นักออกแบบผังเมือง นักวิจัย หรืออะไรก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับเมือง เพราะอย่าลืมว่า เราคือ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” อะไรที่เกี่ยวกับเมืองก็เรียกว่าครอบคลุมอยู่ในความสนใจของเราทั้งหมด นี่คือ Agenda ที่เราจะต้องสร้างให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเรามีพื้นที่แล้วก็จะนำงานทั่วไปมาจัดแสดง อันนั้นมันเป็นมิวเซียม หรือเป็น แกลเลอรี่ในยุคเก่าไปละ เรามองว่าหอศิลป์ฯยุคใหม่ที่วิวัฒน์ไปกับความเปลี่ยนแปลงได้ มันคือสิ่งที่เราควรทำ เราเป็นกลไกหนึ่งของ Creator ในสังคม ให้ศิลปะมีบทบาทช่วยผลักดันอีกแรง”

room : อะไรคือจุดเด่นที่สุดของ BACC?

BACC : “ด้วยความแข็งแรงของฐานที่เราสร้างมาตลอด 10 ปี เราจึงสามารถสร้างการเชื่อมโยงผู้คนจากหลากหลายสาขาเข้าด้วยกันได้ ทุก ๆ คนเชื่อใน BACC และสิ่งนี้ก็น่าจะกลับไปตอบโจทย์แรกเริ่มของกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการพื้นที่แลกเปลี่ยนและเรียนรู้กันของเมือง ผลักดัน Agenda ต่าง ๆ สู่คนหมู่มากได้ ความ “Inclusive” ของเรา รวมทั้งวิธีการทำงานที่ลงลึก บางนิทรรศการเราเตรียมงานกันเป็นปีสองปี ทำการบ้านและใช้เวลาอย่างไม่ฉาบฉวย เราคิดเสมอว่า BACC ต้องเป็นผู้นำที่จะนำเสนอสิ่งเหล่านี้ให้กับสังคม เป็นมาตรฐานให้กับสังคม ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราเชื่อก็คือการที่เหล่าศิลปินและนักสร้างสรรค์นั้น เป็นมนุษย์ที่มีความสามารถพิเศษ พวกเขาจะสามารถจับชีพจร และเห็นอะไรในสังคมที่น่าจะหยิบมาพูดได้ก่อนคนอื่น และเราก็จะเสนอสิ่งเหล่านั้นออกไป

“เราไม่ได้เป็น Museum แต่เป็น Art and Cultural Center เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติแล้ว การดำเนินการก็จะปรับเปลี่ยนไปตามวิธีการนำเสนอในประเด็นต่าง ๆ อยู่แล้ว พื้นที่ตรงนี้เปิดกว้างให้กับ “ศิลปะที่หลากหลาย” โดยมี Core Value คือ Agenda ที่เกี่ยวกับเมือง โลกทุกวันนี้มัน Cross ข้ามศาสตร์กันไปหมดอยู่แล้ว มันอาจจะไม่สามารถอธิบายทั้งหมดทั้งมวลได้ถ้าเรามองจากแค่มุมเดียว แต่เมื่อคนจากต่างสาขาเข้ามาร่วมกันมันก็จะมองเห็นมุมที่มากขึ้น”

10 ปีที่ผ่านมา เราเหมือนเป็น Hub ที่ทุกคนจะเข้ามาเชื่อมโยงทำงานร่วมกัน แต่ในขณะเดียวกันเราก็เป็น Lab ด้วย ซึ่ง 10 ปีข้างหน้า ความเป็นพื้นที่ทดลองที่ทุก ๆ คนสามารถเข้ามาร่วมกันได้จะชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะวิธีการเดิม ๆ อาจตอบโจทย์ปัจจุบันไม่ได้แล้ว

ทิ้งท้ายถึง หอศิลป์ฯ
ในวันที่ทุกอย่างเป็นดิจิตอล

room : สุดท้ายกับคำถามจากคนทำงานศิลปะถึงทิศทางของคำว่า “หอศิลป์” ในยุคที่ทุกอย่างดูจะกลายเป็นดิจิทัลไปหมดแล้ว ในฐานะของผู้ที่ทำงานและผลักดันหอศิลป์ BACC คุณลักษขณามีความเห็นอย่างไรครับ

BACC : “ส่วนตัวแล้วกล้าพูดได้ว่า ความเป็นหอศิลป์ฯ นี้ ยังไงก็ไม่ตาย ความเป็น First Hand Experience ที่ต้องมาสัมผัสจริง ๆ ยังเป็นที่ต้องการอยู่ “ประสบการณ์จริงในพื้นที่จริง” ยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเลือกทดแทนได้ ยิ่งงานที่เป็นกระบวนการก็จำเป็นที่ผู้เข้าชมต้องมีความสนใจร่วมด้วย ความพิเศษตรงนี้ทำให้ยังไงหอศิลป์ฯ ก็ไม่ตาย นี่แค่พูดถึงในมุมมองผู้ชมนะ กับผู้สร้างสรรค์ผลงานก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งถ้าลองจินตนาการ การชมงาน Master Piece จากหน้าจอ กับการได้มาเห็นของจริงขนาด 10 เมตร ตรงหน้า มันเป็นประสบการณ์ที่แทนกันไม่ได้เลย พื้นที่ตรงนี้ยังเป็นอะไรที่น่าสนใจอยู่เสมอ”

และนี่ก็คือบทสัมภาษณ์ถึง 10 ปี ที่ผ่านมา และ อีก 10 ปี ต่อจากนี้ ของหอศิลป์ BACC ที่เราทุกคนต่างคุ้นเคย ซึ่งล้วนแล้วแต่น่าสนใจและ room เองก็ตื่นเต้นไปด้วยเมื่อได้ฟังวิสัยทัศน์ รวมทั้งสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ณ พื้นที่แห่งศิลปวัฒนธรรม หรือหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ของทุกคนตรงนี้


ภาพ : นันทิยา
เรื่อง : Wuthikorn Sut